Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 ก.ย. 2549 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "วิพากษ์สื่อในสภาวการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง"


 


นายอลงกรณ์ อรรคแสง นักศึกษาปริญญาเอก รุ่น 5 สาขาการสื่อสารทางการเมือง คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวในฐานะตัวแทนของรุ่นว่า จากการที่องค์กรสื่อทั้ง 3 องค์กรออกมาวิพากษ์การเปิดตัวของสื่อใหม่อย่าง เดอะรีพอร์ตเตอร์และสถานีโทรทัศน์ เอ็มวีวันว่าเป็นสื่อเทียมที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนั้น เห็นด้วยว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เนื่องเนื้อหาข่าว และทีมงานมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล มีการแก้ต่างให้ตลอด ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าตั้งขึ้นเพื่ออะไร


 


อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยกับการบอกว่า สื่อใหม่นี้เป็นสื่อเทียม เพราะในทางทฤษฎี อุดมการณ์ทางการเมืองมีหลายอุดมการณ์ แต่ละอุดมการณ์ก็พยายามช่วงชิงการนำหรือพื้นที่ในการเผยแพร่อุดมการณ์ของตัวเอง เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลย่อมพยายามสร้างเครื่องมือเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของตัวเอง ฉะนั้น จึงไม่น่าจะเรียกว่าสื่อเทียม คำถามคือ สื่อทุกวันนี้มีความเป็นกลางจริงหรือ ทำไมอยู่ดีๆ เอ็มวีวันเปิดตัวมาแล้วถึงเรียกเขาว่าสื่อเทียม ถูกมองว่ามีอคติและเอียงข้างรัฐบาล


 


นายอลงกรณ์ย้ำว่า เขาไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล แต่ขอถามกลับกันว่า ตอนที่เอเอสทีวีหรือผู้จัดการ ใช้สื่อของตัวเองในการโจมตีรัฐบาล และให้ข่าวด้านเดียว ถ้าใครติดตามข่าวในช่วงการชุมนุมจะเห็นว่า เว็บไซต์ผู้จัดการจะเสนอแต่ข่าวการชุมนุม โจมตีรัฐบาล ข่าวอื่นมีน้อยมาก คำถามคือ ในเมื่อผู้จัดการทั้งเว็บไซต์และเอเอสทีวีทำข่าวแบบเอียงข้าง ทำไมเอเอสทีวี และผู้จัดการจึงไม่เป็นสื่อเทียม ทำไมในขณะนั้นผู้สื่อข่าวหรือสมาคมต่างๆ ไม่ออกมาโจมตีบ้าง


 


เขาตั้งคำถามอีกว่า ในเมื่อเรียกร้องให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน เมื่อมีสื่อใหม่ที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน ทำไมถึงเรียกเขาว่าเป็นสื่อเทียม หมายความว่ามีความพยายามโอบกอดคำว่า เสรีภาพไว้ใช้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งสื่อแท้มีความชอบธรรมแค่ไหนที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพเอาไว้ ดังนั้น เมื่อเข้าใจธรรมชาติของการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมือง สื่อที่อยู่คนละขั้วกับที่เรียกว่า สื่อเทียม ควรจะปรับตัวอย่างไร


 


อีกประเด็นหนึ่งคือ การทำงานของสื่อในปัจจุบันเป็นการสร้างความจริงแบบมักง่าย ทำแต่ข่าวปิงปองมากเกินไป การทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวนมีน้อยมาก เมื่อสื่อมวลชนไม่สามารถทำข่าวเจาะได้ก็จะมีข่าวด้านเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ก็เข้าใจว่าสื่อเองมีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเมืองและงบประมาณ จึงเสนอให้มีการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของสื่อ


 


ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ถ้าจะวิพากษ์สื่อ คงต้องวิพากษ์วิทยุโทรทัศน์กันมากๆ เพราะหากพูดถึงสื่อเทียม ก็คงเป็นโทรทัศน์ เพราะเสนอแต่สิ่งมอมเมา จะเห็นแต่เรื่องเซ็กส์ เรื่องกีฬา แข่งขันร้องเพลง ตลกโปกฮา แต่ไม่มีใครออกมาบอกว่าต้องปฏิรูปทีวี


 


ในเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง สื่อทีวีละเลยเฉยชากับเรื่องการเมือง เวทีทางการเมืองไปต่อสู้กันทางหน้าหนังสือพิมพ์ ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ การเกิดของทีวีผ่านดาวเทียมเกิดเร็วกว่ากติกา จึงเป็นจุดแข็งของเอเอสทีวีที่ถ่ายทอดจากต่างประเทศ ทำให้รัฐควบคุมสื่อไม่ได้ ขณะที่สื่อของรัฐถูกคุมหมดแล้ว ดังนั้น สื่อใหม่ที่เลือกข้างอย่างเอเอสทีวีจึงเกิดขึ้น เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการรับรู้เรื่องการเมืองที่ยังไม่เท่าเทียมกัน คนที่ดูช่อง 3 5 7 9 11 ที่ไม่มีความหวังก็ต้องมาดูเอเอสทีวี แม้ยังไม่เข้ามาตรฐานของความเป็นวิชาชีพ แต่ก็ทำให้คนได้ปลดปล่อยได้แสดงออก ฟังสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูดอยากจะฟัง ซึ่งไม่มีในพื้นที่สื่อสาธารณะ


 


สุภิญญากล่าวอีกว่า ช่อง 3 5 7 9 11 เป็นฟรีทีวี ประชาชนไม่ต้องเสียค่ารับชม แต่ที่จริงก็จ่ายผ่านภาษี และสินค้าที่โฆษณาทางทีวี สื่อจึงต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง แต่กลับไปขึ้นตรงต่ออำนาจรัฐ รัฐเองก็ถือโอกาสใช้มั่วๆ จริงๆ แล้ว สื่อเหล่านี้เป็นของรัฐ ไม่ใช่พรรคหรือรัฐบาล แต่ทุกรัฐบาลที่เข้ามา โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ก็เอาสื่อมาเป็นของตัวเอง ใช้อย่างเต็มที่และไม่แบ่งให้คนอื่นใช้


 


เมื่อก่อน รายการกรองสถานการณ์ของช่อง 11 ฝ่ายค้าน ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาออกได้ แต่ 6 ปีที่ผ่านมา มีการขึ้นบัญชีดำไม่ให้ฝ่ายค้าน เอ็นจีโอมาออก นี่คือความเก็บกดของประชาชนที่มาแสดงออกผ่านเอเอสทีวี รัฐบาลเห็นก็ทนไม่ได้ ก็พยายามใช้กลไกกติกาต่างๆ มากลั่นแกล้ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐอีกต่อไป นับเป็นข้อดีของทุนนิยมเสรีที่ทำให้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาเติมช่องว่างได้ เมื่อรัฐไม่สามารถควบคุมสื่อเอกชนที่เกิดใหม่ๆ ได้ ไม่สามารถปิดเว็บไซต์ สกัดกั้นทีวีผ่านดาวเทียมได้ ก็เลยมาสู่จุดที่อยากจะทำขึ้นมาเอง ซึ่งเราก็รู้กันว่าไม่ใช่วิธีที่ฉลาด สื่อจะอายุสั้นและตายไปเอง จึงอาจไม่ต้องกังวลมากนัก


 


เธอกล่าวด้วยว่า การที่องค์การสื่อออกมาไม่ใช่แค่ความกังวลว่า สื่อจะเปลี่ยนความคิดคนชั่วข้ามคืน แต่เป็นความกังวลที่สะท้อนไปยังระบอบทักษิณและรัฐบาลอีกครั้งว่า ทำไมไม่รู้จักสรุปบทเรียน ถอยเพื่อรับฟัง หยุดทบทวนบ้าง ตอกย้ำว่ารัฐไม่เข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพ ต่อไปจะทำให้สังคมเละเทะวุ่นวาย เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน สถาบันสื่ออาจถูกดิสเครดิต เมื่อนั้นคนจะขาดความเชื่อมั่น เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันอื่นๆ ที่เป็นอิสระ อำนาจรัฐที่เข้มแข็งจะเข้ามาแทรกแซงได้ ทำให้สังคมระส่ำระสาย คนที่มีอำนาจมากกว่าก็จะได้เปรียบ เพราะฉะนั้น จะเห็นบทบาทของสื่อเอกชนมากขึ้น อาจเห็นเอเอสทีวีที่ใช้เสรีภาพจนเกินเหตุ แต่สุดท้ายก็ยืนยันว่า เสรีภาพของประชาชน เสรีภาพของสื่อไม่มีคำว่ามากเกินไป ถ้าเป็นเสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพทางการเมืองที่แท้จริง ส่วนการอ้างถึงเสรีภาพของเดอะรีพอร์ตเตอร์ ที่รู้ชัดเจนว่า มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง จะทำให้ความหมายของเสรีภาพผิดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net