Skip to main content
sharethis
Event Date

เวทีเสียงประชาชนลุ่มน้ำโขง เรื่อง “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับโครงการเขื่อนไซยะบุรี” วันที่ 19 มีนาคม 2554 ณ หอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กำหนดการ 09.00 – 09.15 พิธีเปิด โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 09.15 – 09.45 ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พญานาค ปลาแดก และคนในลุ่มน้ำโขง” โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม 09.45 – 12.00 การอภิปราย เรื่อง “เขื่อนไซยะบุรี และผลกระทบกับคนลุ่มน้ำโขง” - นายมนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ - ดร.ชวลิต วิทยานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา - สว.สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ - นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ที่ปรึกษา นสพ.มติชน ดำเนินรายการโดย ดร.สพสันติ์ เพชรคำ 12.00 – 13.00 พัก 13.00 – 16.00 เปิดเวทีเสียงประชาชนลุ่มน้ำโขง อภิปรายนำโดย - สาทิตย์ วงศ์หนองเตย - นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - เจเรมีย์ เบิร์ด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง - นายเหลาไท นิลนวล ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำโขง - นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณา - ผู้แทนกลุ่มรักษ์เชียงของ ดำเนินการการโดย นายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ บก.อีสานบีสวีคซ์ 16.00 – 16.15 แสดงเจตนารมย์และยื่นจดหมายข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง ความเป็นมา ชุมชนในลุ่มน้ำโขงเป็นชุมชนที่ทำประมงน้ำจืดมากที่สุดในโลก ความมั่งคงด้านอาหาร และการดำรงชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำ กล่าวกันว่า ผู้คนประมาณเกือบ 30 ล้านคนที่อยู่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในรัศมี 15 กิโลเมตรของแม่น้ำโขงทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในจำนวนนี้มากกว่า 2 ล้านคน อยู่ในชุมชนภายในรัศมี 5 กิโลเมตรที่ติดลำน้ำโขง ดำรงชีวิตด้วยการทำประมงทั้งเพื่อบริโภคและขายเป็นรายได้เกือบตลอดทั้งปี รวมถึงการทำเกษตรริมฝั่งโขงในยามที่น้ำโขงลดระดับลง การเกษตรริมแม่น้ำโขงและการทำประมงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านริมฝั่งโขงและใกล้เคียง ตัวอย่างเช่น ชุมชนในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีรายได้จากการปลูกผักริมน้ำโขง การทำประมง และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ (เช่น การจับแมลง) ประมาณ 50,000-150,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทั้งนี้ ทรัพยากรประมงยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนของประชาชนโดยเฉพาะที่มีฐานะยากจนถึง 49-80 % ของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปัจจุบัน แม่น้ำโขงตอนล่างกำลังมีแผนโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก 12 แห่ง (อยู่ในลาว 8 เขื่อน, บริเวณพรมแดนไทย-ลาว 2 เขื่อน, ในกัมพูชา 2 เขื่อน) เขื่อนทั้ง 12 แห่ง จะทำให้ช่วงความยาวของแม่น้ำโขงทางตอนล่าง 1,833 กิโลเมตร แปรสภาพกลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีระยะทางรวมกันถึง 1,020 กิโลเมตร (หรือร้อยละ 55) โดยเฉพาะ 6 เขื่อนตอนบน ได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม และเขื่อนปากชมนั้น จะแปรเปลี่ยนแม่น้ำโขงในช่วงนี้ให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและการดำรงชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง โดยในขณะนี้ เขื่อนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ โครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดไซยะบุรี ใน สปป.ลาว เขื่อนนี้ลงทุนโดยบริษัทจากประเทศไทย เงินลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ของไทย และไฟฟ้าจากเขื่อนนี้จะส่งขายให้กับประเทศไทยเกือบทั้งหมด (95 %) ขณะนี้เหลือแต่เพียงขั้นตอนการเซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทผู้ลงทุนโครงการ เขื่อนไซยะบุรีห่างขึ้นไปจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยเพียง 200 กิโลเมตร ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับชาวบ้านแถบอำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนนี้มากที่สุด และชาวบ้านตลอดพรมแดนไทย-ลาวว่า เขื่อนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรน้ำที่นำเสนอในเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรี ระบุว่ารายงานการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการสรุปว่า เขื่อนนี้จะไม่มีผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้แต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ตลอดริมน้ำโขงยังไม่รับรู้ว่า ขณะนี้รัฐบาลในประเทศแม่น้ำโขงกำลังวางแผนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยเฉพาะโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเอกสารข้อมูลของโครงการถูกปิดเป็นความลับ อย่างไรก็ดี ข้อวิตกของประชาชนต่อผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนแห่งนี้ในประเด็นหลักๆ คือ การปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาบึกที่จะว่ายขึ้นไปวางไข่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย การขึ้นลงของระดับน้ำอย่างฉับพลันถึงกว่า 3 เมตรในเขตอำเภอเชียงคาน และการสูญเสียธาตุอาหารของดินที่พัดพามากับตะกอน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบั้งไฟพญานาค จากการกักเก็บและการปล่อยน้ำของเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ จากการศึกษาที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยฝ่ายต่าง ๆ หรือแม้แต่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจัดทำขึ้นเอง ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงทั้ง 12 เขื่อนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความสำคัญระดับโลก มูลค่าการประมงที่สูงถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท อีกทั้งพื้นที่การเกษตร เกษตรริมฝั่งน้ำโขง ตะกอนในแม่น้ำที่เอื้ออำนวยต่อความอุดมสมบูรณ์ของปากแม่น้ำโขง และการสูญหายไปของพื้นที่ชุ่มน้ำตามลำน้ำโขง รวมไปถึงการสูญเสียความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนหลายล้านคนทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างถาวร และไม่อาจฟื้นฟูกลับคืนมา บรรเทา หรือจ่ายค่าทดแทนได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากรในภูมิภาคแม่น้ำโขงทบทวีมากยิ่งขึ้น และจะทำให้ปัญหาความยากจนในภูมิภาคเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการจำเป็นต้องรับรู้และแสดงความเห็นทั้งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนทั้งหมดในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้งนี้ ประชาชนไทยมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ดังนั้นทางสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ร่วมประชุมกับสภาองค์กรชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำโขง เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์จากปรากฏการณ์ข้างต้นดังกล่าว และมีมติเห็นสมควรจัดทำโครงการเวทีเสียงประชาชนคนลุ่มน้ำโขงขึ้น โดยมีรายละเอียดของโครงการดังนี้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ประชาชนลุ่มน้ำโขงได้รับรู้ข้อมูล และมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และข้อห่วงใยต่อผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก 2. เพื่อให้ประชาชนลุ่มน้ำโขงได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอ เพื่อยื่นต่อรัฐบาลไทย คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในโครงการเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก องค์กรร่วมจัด - คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร - สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง - หอการค้าจังหวัดสกลนคร - คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล (ภาคประชาชน) - สมาคมส่งเสริมเกษตรกรรมลุ่มน้ำโขง - องค์การบริหารส่วนตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร - มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net