สสส.เปิดรับคนผลิตสื่อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน”

สสส. ประกาศเปิดรับคนรุ่นใหม่ผลิตสื่อออนไลน์ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” หวังใช้สื่อปลูกฝัง ป้องกันเด็ก ก่อนโรคอ้วนทำสุขภาพกาย-ใจเสื่อม

สถานการณ์เด็กอ้วนเข้าขั้นวิกฤติ หลังพบสถิติเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มร้อยละ 36 คาด ปี 58 เด็กอ้วนมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 เสี่ยงการเกิดโรค ชี้ ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มออกกำลังกายช่วยได้ ด้าน สสส. รุดจับมือนักโฆษณา-นักวิชาการ ประกาศรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ประกวดคลิปออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” หวังปลุก และปลูก กระตุ้นสังคมเข้าใจ สนใจ ใส่ใจ ปัญหา อย่าเพิกเฉย ก่อนเด็กไทยเป็นโรคอ้วนลุกลาม เรื่อรัง

โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว พร้อมเปิดรับโครงการประกวดคลิปออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” เพื่อรณรงค์สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในเยาวชน ผ่านกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน

โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีสถิติค้นพบว่า อุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามสถิติสรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก มีรายงานว่า เฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 ซึ่งกรมอนามัยได้เคยประมาณการเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 นั่นหมายความว่า ในเด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความเสี่ยงต่อไปก็เป็นโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ

“สถานการณ์โรคอ้วนในเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามออกมาเตือนหลายต่อหลายครั้งว่า สถานการณ์น่าห่วงมาก สาเหตุก็ล้วนมาจากการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่สูงและน้ำตาลเกินขนาด อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย มีแป้งมาก รสจัด ประเภทหวานจัด มันจัด เค็มจัด รวมทั้งอาหารจานด่วน น้ำอัดลม ไอศกรีม ขนมหวานต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กติดรสหวาน และมักเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอาหารที่มีประโยชน์จะเลือกกินน้อย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใย ที่สำคัญไม่ชอบออกกำลังกายจึงทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคอ้วนกับเด็กเหล่านี้ ดังนั้นต้อง ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ และออกกำลังกาย จะช่วยได้” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว

ด้านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กในวันนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า ถ้าปล่อยให้เด็กวัยก่อนวัยเรียนอ้วนเกินโดยไม่ควบคุมน้ำหนัก จะทำให้เด็กที่เป็นอนาคตของชาติโตขึ้นไปเป็นคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 และเมื่อเด็กเหล่านี้โตเข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังอ้วนอยู่ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนสูงถึงร้อยละ 80 และเมื่อผู้ใหญ่อ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ส่งผลให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาควบคุมไม่ให้เด็กอ้วน เพราะถ้าไม่ควบคุมวันนี้วิกฤติและหายนะจะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคตแน่นอน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกมารณรงค์เรื่องลดอ้วน ลดพุงในผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ แต่นั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือการแก้ปัญหาจาก “เด็ก” เพราะการแก้ปัญหาที่เด็กจะทำให้เกิดผลระยะยาว เหตุผลเพราะการลดน้ำหนักในเด็กจะลดและควบคุมได้ดีว่าในผู้ใหญ่

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การลดน้ำหนักในเด็กเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก ให้เด็กกินอาหารที่ถูกหลักปลูกฝังพฤติกรรมการกินผัก ผลไม้ ไม่กินหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้ แต่หากยังปล่อยให้เด็กอ้วนอยู่ เด็กคนนั้นจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากว่าเด็กที่ไม่อ้วน เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะกดทับลงไปที่ขา ทำให้เดินขาโก่ง กระดูกโก่งโค้งงอ บริเวณคอจะดำเป็นปื้น จะมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ เวลานอนจะหายใจลำบาก ถ้าเป็นมากรุนแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา อีกทั้งเด็กอ้วนมักจะมีผลเสียทางสุขภาพจิตจะโดนเพื่อนล้อ, หาเสื้อผ้าใส่, เคลื่อนไหวช้า, ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นได้ไม่คล่องตัวจนกลายเป็นปมด้อยให้กับเด็ก เกิดผลเสียทางด้านจิตใจ ที่สำคัญจะเห็นได้ชัดว่าเด็กอ้วนจะมีสมาธิในการเรียนน้อยกว่าเด็กไม่อ้วน เพราะเด็กอ้วนจะมีความรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีสมาธิในการเรียนลดลง ส่งผลให้ผลการเรียนตกต่ำกว่าเด็กที่ไม่อ้วนได้

“โรคอ้วนในเด็ก เป็นโรคที่ผู้ใหญ่รังแกเด็กโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้ใหญ่ พ่อแม่ คนเลี้ยงดูหยิบยื่นโรคอ้วนให้กับเด็กมากกว่าที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง เด็กเกิดมาเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใหญ่ที่มีค่านิยามว่า “เด็กอ้วนคือเด็กสมบูรณ์ เด็กอ้วนคือเด็กที่แข็งแรง” เลยให้ลูกกินจนส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็กตามมา ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เริ่มจากการรักลูกให้ถูกวิธี และไม่ควรปล่อยให้ลูกเข้าข่ายเด็กอ้วน โดย 1.ปรับพฤติกรรมการกิน สร้างนิสัยเรื่องการกินให้พอดีตั้งแต่เล็ก ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหิว หรือกินไม่อิ่ม งดอาหารหวานจัด มันจัด กินผักผลไม้มากขึ้น 2.ปรับพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กจดจ่ออยู่หน้าจอโทรทัศน์ เล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ ตลอดทั้งวัน เพราะโอกาสที่เด็กจะออกไปกระโดดโลดเต้น เล่นกีฬา หรืออกกำลังกายมีน้อย ต่อมา 3.ให้ความสำคัญในสิ่งแวดล้อม ด้านอาหาร เพราะในตลาดมีทั้งอาหารว่าง น้ำอัดลม ขนมกุบกรอบ ที่อุดมไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และแป้ง เมื่อเด็กไม่มีทางเลือกต้องกินเหล่านี้ และเมื่อดูถึงสถิติเด็กไทยวัยเรียน ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบประจำ หากปล่อยให้กินอยู่แบบนี้พอระยะเวลาห่างกัน 3 ปี เด็กจะกินเพิ่ม 2 เท่า ด้านสถานที่ ที่สนามกีฬา สวนสาธารณะ มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อเด็กที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ควรหากิจกรรมหรือสถานที่เพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายเพื่ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 4.อิทธิพลของอาหารต่างชาติ ที่ทะลักเข้ามาในบ้านเมืองเรา ทำให้เด็กได้กินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันสูง คอเลสเตอรอลสูง ฟาสต์ฟู้ด จั๊งค์ฟู้ด มากเกินความจำเป็น และ 5.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ลูกกินเอง อาหารจานด่วน หาได้ง่ายๆ จึงเป็นทางเลือกที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ลูก เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หมูทอด ไก่ทอดกับข้าวเหนียว เด็กจึงได้กินแต่คาร์โบไฮเดรท โปรตีน กับน้ำมันตลอดเวลา จึงส่งผลให้ “อ้วน” เด็กไม่มีโอกาสได้กินน้ำพริก แกงส้ม แกงจืด หรืออื่นๆ ตามที่ร่างกายต้องการ โดยทั้งหมดผู้ที่สามารถช่วยเด็กไม่ให้อ้วนได้ คือ อันดับที่ 1.พ่อ แม่ ซึ่งผู้เป็นพ่อ แม่ ต้องไม่คิดว่าเรื่องการสอนและปลูกฝังเป็นเรื่องของโรงเรียน พ่อ แม่ ควรมีบทบาท มีความสำคัญ เป็นอันดับแรก อันดับที่ 2 ก็คือสถานการศึกษา โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก อันดับที่ 3. ผู้บริหารที่รับผิดชอบการดูแลสิทธิเด็ก ไม่เฉพาะผู้ที่ดูแลด้านสุขภาพอย่างเดียว แต่ผู้ที่กำกับดูแลคุ้มครองสิทธิเด็กทั้งหลายจะต้องเข้ามาช่วยไม่ให้เด็กอ้วน เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข แพทย์ พยาบาล องค์การปกครองทางท้องถิ่น ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทที่จะช่วยให้เด็กทำไม่ให้เด็กอ้วน และอันดับที่ 4 สื่อมวลชน เพราะในปัจจุบัน สื่อมวลชนมีบทบาทและมีอิทธิพลสูงมากที่จะทำให้เด็กอ้วนหรือผอมหรือมีภาวะโภชนาการปกติได้ สรุปแล้วเรื่องอ้วนนั้นไม่ใช่เป็นหน้าที่ของคนใดเพียงคนเดียวแต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องช่วยกัน โดยเฉพาะสื่อ ถ้าสื่อดีเด็กสามารถเข้าถึงสื่อได้ ยิ่งสื่อที่เด็กทำเชื่อว่าจะยิ่งเข้าถึงเด็กด้วยกันได้ง่ายขึ้น จากนั้นเมื่อเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทุกฝ่ายเข้าใจและร่วมมือ ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะสามารถโน้มน้าวให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมได้” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กล่าว

ส่วนนายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พ่อแม่-ผู้ปกครองรุ่นใหม่ตระหนักถึงอันตรายในการเลี้ยงดูให้เด็กอ้วน และเปลี่ยนทัศนคติจากความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า เด็กอ้วนคือเด็กน่ารัก เป็น เด็กอ้วนคือเด็กป่วย น่าเป็นห่วง ต้องแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับการพัฒนาความสามารถด้านการสร้างสรรค์สื่อจากมืออาชีพและเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกในทางสร้างสรรค์ โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลป์วัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงร่วมกับ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้เปิดตัวโครงการประกวดคลิปออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” รับสมัครเยาวชนนักเรียน นิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่จำกัดสาขาและคณะที่ศึกษาอยู่ ร่วมส่งผลงานคลิปออนไลน์รณรงค์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถกำหนดความยาวและรูปแบบได้ เช่น ทำคลิปสั้นๆ หลายเรื่องออกมาเป็นชุด เช่น ความยาว 15 วินาที 3 เรื่อง, ทำคลิป 30 วินาที 2 เรื่องต่อกัน หรือแต่ละเรื่องจบในตัว, ทำคลิป 30 วินาที เรื่องเดียว จบในตัว, ทำคลิป 15 วินาที เป็นทีเซอร์ (teaser) แล้วเฉลยในคลิป 60 วินาที, ทำคลิป 60 วินาที เรื่องเดียว จบในตัว ฯลฯ โดยผู้เข้าประกวดต้องตระหนักว่า มีทุนสนับสนุนการผลิตทีมละ 15,000 บาท ต้องคำนวณให้แน่ใจว่า สามารถผลิตได้จริงในวงเงินดังกล่าว ที่สำคัญคลิปที่ส่งประกวดนี้จะต้องสามารถใช้รณรงค์ให้ได้ในกลุ่มพ่อ แม่ ผู้ปกครอง คนรุ่นใหม่ หรือในวัยที่กำลังสร้างครอบครัว และมีลูก ผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media), อินเตอร์เน็ต (internet), การค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ล (Google), ยูทูป (YouTube), การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนในเฟสบุค (Facebook), อินสตาแกรม (Instragram), ไลน์ (line) และ ว็อทสแอ้ป (Whats app) ได้

“โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครได้ที่ www.PINGs.in.th , www.artculture4health.com และที่ www.adassothai.com รับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2556 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 02-591-6461-5 และ 02-612-6996 -7 ต่อ 102 ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 ทีม จะได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิตคลิปออนไลน์จากนักโฆษณามืออาชีพ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ในช่วงเดือนกันยายน  2556 จากนั้นผลงานคลิปออนไลน์ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 10 เรื่อง จะถูกตัดสินหาสุดยอดผลงานในเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยทุกรางวัลจะได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล โดยรางวัลชนะเลิศรับเงินรางวัล 50,000 บาท, รองชนะเลิศ อันดับที่ 1 รับเงินรางวัล 30,000 บาท, รองชนะเลิศ อันดับที่ 2 รับเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลมวลชนจำนวน 2 รางวัล รับเงินรางวัลรางวัลละ 5,000 บาท ทั้งนี้ผลงานทั้ง 10 เรื่องจะถูกนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างมีกลยุทธ์ และใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลักต่างๆ เพื่อให้แพร่หลายในวงกว้างต่อไป” นายวิทวัส ชัยปาณี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท