Skip to main content
sharethis

           

 

ชื่อของรุ่งมณี เมฆโสภณ เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักข่าวอาวุโสที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน เขียนประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับอินโดจีนโดยเฉพาะกัมพูชา หนังสือของรุ่งมณีได้ชื่อว่าเป็น “หนังสือขายดี” มาโดยตลอด เมื่อปลายปีที่แล้ว รุ่งมณีสร้างความแปลกใจให้กับแวดวงผู้ที่ติดตามงานของเธอมาครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยการเขียนหนังสือเรื่อง “สตรีหมายเลข ๐” ซึ่งมีกลิ่นอายของนวนิยายทางการเมืองมากกว่าจะเป็นสารคดีทางการเมืองอย่างที่เคยเขียนก่อนหน้านั้น แต่พอมาถึงงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ รุ่งมณีกลับมีหนังสือที่ฉีกแนวไปมากกว่าทุกเล่มที่ผ่านมา

            หนังสือเล่มใหม่ของรุ่งมณีชื่อ “ดอกไม้ในสวน”

            “สำหรับคนที่รู้จักตัวนักเขียนหรือรู้จักชีวิตส่วนตัวของผู้เขียนคงไม่แปลกใจค่ะ” รุ่งมณีตอบคำถามแรกเมื่อถูกถามว่า ทำไมเธอถึงหันมาเขียนหนังสือในแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

            รุ่งมณีเช่นเดียวกับผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยที่เล่นเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ มีผู้ติดตามหลายพันคน ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งเพื่อนฝูงที่รู้จักกันมาเนิ่นนาน และ “เพื่อนใหม่” โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มนักอ่านติดตามงานเขียนของเธอ บรรดา “เพื่อนใหม่” เหล่านี้แม้บางคนอาจจะไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาเลย แต่ก็กลายมาเป็นคนรู้จักคุ้นเคยผ่านสื่อทางเลือกนี้

            “คนเหล่านี้ละค่ะที่จะรู้จักตัวตนของดิฉันมากไปกว่าการรู้จักผ่านตัวอักษรในหนังสือเท่านั้น คนเหล่านี้จะไม่แปลกใจที่ดิฉันเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องบ้านเรื่องสวน เรื่องดอกไม้ในสวน”

            ถ้าใครเคยติดตามหน้าเฟซบุ๊กของรุ่งมณี จะรู้ว่าเธอไม่เคยใช้สื่อทางเลือกนี้เป็นช่องทางในการถกแถลงทางการเมืองไม่ว่าเรื่องใดทั้งสิ้น แต่เธอให้หน้าเฟซบุ๊กบอกเล่าถึงชีวิตและวิถีการดำเนินชีวิตของเธอ

            “เรื่องราวทางการเมืองบางเรื่องบางประเด็น ถ้าจะพูดต้องพูดกันยาว ๆ และบางเรื่องที่เราคิดก็ไม่อาจอรรถาธิบายอย่างหมดจดได้ เมื่อทำไม่ได้อย่างที่ใจต้องการก็เลยละที่จะพูดถึงเรื่องพวกนั้น และหันมาเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันกันวันต่อวันมากกว่า ส่วนมากก็ขึ้นรูปอาหาร หรือขึ้นภาพธรรมชาติที่พบเห็น ภาพที่เรารู้สึกประทับใจ ที่อยากให้คนเป็น ‘เพื่อน’ ได้เห็น ได้รับรู้ บางคนมองว่าไร้สาระ แต่สำหรับดิฉันไม่ไร้สาระ ถ้าเราจะคบหาเป็น ‘เพื่อน’ กับใครสักคน เราคงอยากรู้จักมากไปกว่าความคิดทางการเมือง จริงไหมคะ”

หนังสือ “ดอกไม้ในสวน” ผลงานเล่มล่าสุดของรุ่งมณีนี้เป็นผลงานรวมเล่มเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้ที่บ้านสวนของเธอที่จังหวัดนครนายก ซึ่งเธอและวสันต์ ภัยหลีกลี้ คู่ชีวิตไปซื้อที่ดินไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2554 และเริ่มปลูกต้นไม้เพิ่มเติมที่สวนแห่งนั้น โดยเฉพาะไม้ไทยที่ค่อนข้างหายาก

“ก็ค่อย ๆ ปลูกค่ะ ร้องเพลงอุทยานดอกไม้ ชมผกา จำปา จำปี กุหลาบ ราตรี....แล้วก็ไล่ปลูกไป บางต้นก็ออกดอกทันใจ บ้างต้นก็ต้องรอเป็นปีกว่าจะมีดอกให้เห็น บางต้นก็ปลูกตั้งแต่ต้นเล็ก ๆ บางต้นก็ไปล้อมต้นใหญ่มา มีหลากหลายคละกันไป”

โดยปกติเมื่อต้นไม้ออกดอก รุ่งมณีก็มักจะถ่ายรูปมาขึ้นเฟซบุ๊กพร้อมทั้งเล่าเรื่องราวของต้นไม้นั้น เป็นการเล่าสู่กันฟัง “จากเพื่อนถึงเพื่อน” แต่ต่อมา ทางแฟนเพจ Man Nature ซึ่งอยู่ในความดูแลของอาจารย์จันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุลและลดาวัลย์ พิทยพิบูลย์ ขอให้รุ่งมณีเขียนสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับบ้านสวนและคุณภาพชีวิตให้

นอกจากเขียนเรื่องต้นไม้ใบหญ้าในสวนแล้ว รุ่งมณียังเขียนมินิซีรีส์ “บ้านสวนในฝัน” อีกด้วย

ตอนที่เขียนนั้นก็มุ่งแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อ่านของเพจ Man Nature เป็นหลัก แต่รุ่งมณีก็ได้นำมาเสนอผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กของเธอเองด้วย

“พอเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์เรื่อง ‘บ้านสวนในฝัน’ จากเสียงสะท้อนที่เข้ามาก็ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่มีความฝันคล้าย ๆ กัน คืออยากมีสวน อยากมีบ้านหลังเล็ก ๆ ในสวน แต่เขาก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร บางคนก็เริ่มไปแล้วและเจอปัญหาคล้าย ๆ กันก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ในหมู่คนคอเดียวกัน มีบางคนพิมพ์เก็บไว้ทุกตอนก็มีค่ะ”

รุ่งมณีเล่าว่า คนที่สนใจ “บ้านสวนในฝัน” ไม่ได้มีเฉพาะคนที่เตรียมตัวเกษียณหรือไปใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบกับธรรมชาติเท่านั้น แต่เป็นคนหลายวัยที่สนใจเรื่องต้นไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ รวมเลยไปถึงไม้ผลและพืชผักสวนครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีพร้อมที่บ้านสวนของเธอและคู่ชีวิต

เนื่องจากนครนายกอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มาก และเมื่อบ้านพักหลังน้อยเสร็จสมบูรณ์ รุ่งมณีและคู่ชีวิต จึงใช้ยามว่างส่วนใหญ่ที่จังหวัดนครนายก

หลายคนอาจจะสงสัยว่า รุ่งมณีเอาความรู้ที่ไหนมาเขียนเรื่องราวของต้นไม้ดอกไม้ เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเธอในฐานะนักข่าวหรือนักเขียนเรื่องการเมืองเสียมากกว่า

รุ่งมณีหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเล่าให้ฟังว่า โดยพื้นเพนั้น เธอเป็นเด็กชาวสวนราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี ยายมีสวนขนาดใหญ่ที่ปลูกไม้นานาพรรณ และทุกปิดเทอมเธอจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านสวน ประสบการณ์เหล่านี้ฝังรากลึกในใจเธอ และเมื่อสวนของยายกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยไม่คงสภาพสวนเช่นเดิม สิ่งที่รุ่งมณีฝันและอยากทำในบั้นปลายชีวิตคือมีบ้านสวนกลางแมกไม้ เพื่อที่เธอจะได้หวนนึกถึงอดีตในวัยเยาว์ที่อบอุ่นที่บ้านสวนของยาย ซึ่งก็ต้องนับว่ารุ่งมณีโชคดีที่สามารถทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้...

“อย่าฝันอย่างเดียวค่ะ ฝันแล้วต้องลงมือทำด้วย ทำสวนนี้ไม่มีแต่ภาครื่นรมย์อย่างเดียวนะคะ มีภาคเหงื่อไหลไคลย้อย ต้องลงแรงและเอาใจใส่ แต่ไม่เหนื่อยเปล่าค่ะ สิ่งที่ย้อนกลับมาหานั้น ทำให้หายเหนื่อยเลยค่ะ เมื่อเห็นต้นไม้ออกดอกออกผล”

นอกจากจะมีอดีตกับสวนที่ราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรีแล้ว รุ่งมณียังมีความรู้ทางด้านชีววิทยาเป็นพื้นฐาน “เรียนมาทางด้านศึกษาศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมีค่ะ”

ไม่เพียงแต่เท่านั้น รุ่งมณียังเคยไปเรียนจัดสวนที่มหาวิทยาเกษตรศาสตร์อีกด้วย

“สำหรับความรู้นั้นดิฉันพอมีติดตัวอยู่บ้างจากการเป็นเด็กบ้านสวนราษฎร์บูรณะ ซึ่งที่บ้านสวนไม่ได้มีแค่ไม้ผล แต่มีไม้ดอกไม้ประดับรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังเรียนจบมาทางด้านชีววิทยา ส่วนความไม่รู้ก็ได้อาศัยถามไถ่บรรดาผู้รู้และค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เอามาผนวกเข้ากับความรู้ที่มีอยู่...ดิฉันเองก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมทุกวันระหว่างที่เขียนก่อนจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ดิฉันต้องขอขอบคุณแหล่งข้อมูลทั้งหลายที่ดิฉันได้นำความรู้มาแบ่งปันกันด้วยนะคะ” รุ่งมณีเล่าตอนหนึ่ง

แม้ในหนังสือ “ดอกไม้ในสวน” จะมีไม้ดอกให้ชื่นชมมากมายหลายชนิด แต่รุ่งมณีบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

นอกจากที่ดินที่ปลูกบ้านกลางสวนแล้ว รุ่งมณียังเล่าว่า เธอและสามียังมีที่ดินอีกผืนหนึ่งไม่ไกลไปจากบ้านสวนนัก ที่นั่นทำนาปีและปลูกป่าเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ ซึ่งรุ่งมณีและสามีถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การลงทุนเชิงพาณิชย์...

“เป็นการลงทุนกับแผ่นดินค่ะ ยังไม่ได้คิดเชิงพาณิชย์ใดใดทั้งสิ้น ก็ทำกันตามแรงตามกำลังที่มี กำไรที่ได้ในเวลานี้คือคุณภาพชีวิตที่ดีค่ะ” รุ่งมณีกล่าว

 

หมายเหตุ : หนังสือจะมีวางจำหน่ายเฉพาะที่บูทสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ M01 โซน C1 สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 7 เมษายน พบกับผู้เขียนได้ในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมและวันที่ 3 เมษายน ที่บูทดังกล่าวระหว่างเวลา 16.00 – 18.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net