Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ, 9 สิงหาคม 2566  –  เนื่องใน “วันช้างโลก” 12 สิงหาคม  องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ปล่อย MV “ไปให้สุดหยุดโชว์ช้าง” แต่งโดย ตั้ง-ตะวันวาด วนวิทย์ ‘TangBadVoice’ ประกบ MV โดย มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยเบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่รู้ในการฝึกช้างเพื่อแสดงโชว์ พร้อมสนับสนุนท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบรับเทรนด์โลก

ในโอกาสวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันช้างโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection  องค์กรที่ยืนหยัดเคียงข้าง ปกป้องชีวิตและสวัสดิภาพของสัตว์อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการส่งเสริมสวัสดิภาพช้างอย่างเป็นรูปธรรม ได้จัดทำมิวสิควิดีโอเพลง “ไปให้สุดหยุดดูโชว์ช้าง” ร่วมกับ ตั้ง ตะวันวาด วนวิทย์ ‘TangBadVoice’ ศิลปิน HIPHOP ช่างภาพสายสตรีท และผู้กำกับภาพในกองถ่ายภาพยนตร์ชื่อดัง โดยได้รับแรงบัลดาลใจจากเพลงคุ้นหูอย่าง เพลง ‘ช้าง’ เผยเบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่รู้ระหว่างการฝึกช้างที่เต็มไปด้วยความรุุนแรง และความโหดร้ายทารุณ

ตั้ง ตะวันวาด เล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ว่า “เกือบทุกคนผูกพันกับช้างมาตั้งแต่ยังเด็ก คุ้นเคยกับเพลง ‘ช้าง’ หลายคนก็คงเคยดูโชว์ช้าง แต่พอผมได้เห็นเบื้องหลังความโหดร้ายของการฝึกช้างแล้ว พูดไม่ออก จึงขอถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาเป็นเพลง อยากให้ทุกคนรู้ว่า การดูโชว์ช้างคือการสนับสนุนวงจรการทำร้ายช้างอย่างไม่สิ้นสุด และผมอยากลองตั้งคำถามว่า ถ้าเรารู้เบื้องหลังความโหดร้ายของโชว์ช้างแล้วเราจะมีความสุขบนความทุกข์ของช้างได้จริงเหรอ”

ตั้งเสริมว่า “การทารุณกรรมสัตว์เพื่อความบันเทิงควรหยุดได้แล้วที่รุ่นเรา และเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบตามเทรนโลกที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์อย่างแท้จริง” 

มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เล่าถึงความรู้สึก “รู้ไหมคะว่ามันเป็นความฝันอย่างหนึ่งของมารีญาที่จะได้แรปกับ ‘TangBadVoice’ ถึงจะร้องแค่เพียงท่อนสองท่อน ก็ดีใจมากเลยค่ะที่ได้มา Featuring กับพี่เขาในเพลงที่มีความหมายมากๆ สำหรับคนที่รักช้าง และดีใจที่พี่เขาแต่งเพลงนี้เพื่อช้างไทย มารีญาอยากให้ทุกคนได้ลองดูเอ็มวีซึ่งสะท้อนเรื่องของช้างที่เรารัก แต่อาจไม่เคยรู้ว่า การแสดงโชว์ช้างนั้นมีที่มาจากการฝึกที่โหดร้ายตั้งแต่ช้างยังเล็ก ไปจนถึงการที่ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ อย่าง การเดินสองขา เต้น วาดรูป ฯลฯ เพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยว  นี่คือเหตุผลหลักที่ ‘องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก’ รณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราได้ร่วมสร้างโลกที่น่าอยู่มากขึ้น สำหรับทั้งมนุษย์และสัตว์ค่ะ”

“ทุกวันนี้พบว่าหลายประเทศเริ่มปรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เน้นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ สนับสนุนให้ “ช้าง” ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็น “ช้าง” มีอิสระ ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ  ไม่ถูกบังคับหรือถูกล่ามโซ่ตลอดเวลา หากรักช้าง อยากดูช้าง ขอให้ดูในที่อยู่ตามธรรมชาติ อย่าง อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเลือกท่องเที่ยวเฉพาะ ‘ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง’ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพช้าง ไม่มีกิจกรรม โชว์ช้าง ฯลฯ”   มารีญา เสริม

ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระบุ ปัจจุบันในประเทศไทย มีช้างกว่า 4,000 ตัว ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านกิจรรมโชว์ช้าง ขี่ช้าง เดินสองขา วาดรูป ขี่จักรยาน หรือแสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติอื่นๆ  ซึ่งส่วนใหญ่มีเบื้องหลังที่เลวร้าย ตั้งแต่การพรากลูกช้างมาจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก นำมาฝึกตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เชื่อง เชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งต้องใช้วิธีที่รุนแรง ช้างจะถูกกักขัง บังคับ ถูกใช้งานอย่างหนัก ถูกขอสับ ถูกล่ามโช่ ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติในแบบที่ควรจะเป็น ทำให้ช้างบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ทุกข์ทรมานตั้งแต่เกิดจนตาย

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพช้างไทยภายใต้ แคมเปญ ‘ให้ช้างกลับไปเป็นช้าง’ รณรงค์ไม่ให้ช้างถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเพื่อความบันเทิง สนับสนุนให้ช้างมีสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมผลักดันให้เกิด 'ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย' ฉบับภาคประชาสังคม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกมีสำนักงาน 14 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อปกป้องสัตว์จากความทุกข์ทรมาน มาเป็นเวลา 55 ปีโดยมุ่งเน้นการยกระดับ สวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทุกข์ทรมาน และการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้ดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ โครงการส่งเสริมระบบอาหารอย่างยั่งยืน โดยยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ช้างไทยให้ดีขึ้นและเพื่อให้สัตว์ป่าทุกตัวได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างมีอิสระตามธรรมชาติโดยตระหนักถึงความสำคัญ ของคุณภาพชีวิตสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net