Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1…….

บ่ายคล้อยของวันที่ 8 สิงหาคม 2547 ครบรอบ 16 ปี 8888 (เหตุการณ์ 8 สิงหาคม1988) อีกหนึ่งปีที่งานรำลึกการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองที่ประชาชนจากพม่าระหกระเหินมาพักพิงอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้บริเวณงานกลายเป็นที่นัดพบของคนงาน อดีตนักศึกษา รวมทั้งนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากพม่า

หนึ่งในนั้นคือฮาน(นามสมมุติ) ชายหนุ่มสัญชาติกะเหรี่ยง วัย 32 ซึ่งเป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่ฮานเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในเมืองไทย โดยวันนี้ฮานผันตัวเองมาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการปกป้องสิทธิของเพื่อนแรงงานพลัดถิ่นด้วยกัน สิ่งที่เขาเผชิญรวมทั้งเรื่องราวของเพื่อนร่วมแผ่นดินที่ได้รับรู้เป็นแรงกระตุ้นให้ฮานต้องโดดเข้ามารับภารกิจในฐานะเลขาธิการสหภาพแรงงานกะเหรี่ยง

ฮานเปิดฉากพูดคุยย้อนถึงเส้นทางในอดีตของเขาว่าหนทางสู่เมืองไทยของเขาเริ่มเมื่อปี 2538 หลังจากที่จบเกรด 10 (เทียบเท่าม.6)ได้ 2 ปี เมื่อไม่มีงานทำเขาจึงตัดสินใจจากบ้านซึ่งอยู่ใกล้เมืองเมาะละแหม่งไปหาลุงที่เมืองเปะอยู่ใกล้เกาะสอง ฝั่งไทยคือจังหวัดระนอง จากนั้นอีก1 เดือน ฮานและเพื่อนเดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับเรือส่งถ่าน โดยต้องเสียเงินประมาณ 1 พันกว่าจ๊าตและต้องช่วยทำงานในเรือด้วยซึ่งใช้เวลากว่า 1 เดือนจึงมาถึงเมืองไทยด้านจังหวัดระนอง

ชีวิตการทำงานของฮานเริ่มต้นที่ลูกเรือมหาชัย สมุทรสงคราม ได้ค่าแรง 2,200 บาท/เดือน แต่งานหนักทำได้เพียง 5 วันนายจ้างให้ออก ฮานเล่าปนเสียงหัวเราะที่นายจ้างมองว่าเขาทำงานหนักไม่ได้ เขาจึงย้ายมาทำงานที่โรงงานปลาซึ่งต้องเข้างานตั้งแต่ 6 โมงเช้าเลิกงาน 3-4 ทุ่มได้ค่าแรง 3 พันบาท/เดือน ซึ่งงานหนักมากจนแทบไม่มีเวลาพัก ช่วง 8-9 เดือน ต่อมาฮานได้ย้ายงานอีก 2 ครั้ง

จนกระทั่งย้ายไปอยู่ที่โรงงานด้ายได้ประมาณเดือนกว่าก็ประสบอุบัติเหตุรถชนขาหัก ต้องหยุดงานไป 3-4 เดือน แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็ไม่สามารถทำงานที่เดิมได้เพราะมีปัญหาในการยืนนานๆ จึงย้ายไปทำงานที่โรงงานทอผ้า ราชบุรีได้เงินเดือน 8-9 พันบาท/เดือน

"เป็นงานที่ผมได้ค่าแรงมากแต่ก็ไม่มีเงินเท่าไหร่ เพราะช่วงนั้นประเทศไทยเริ่มเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน ถ้ามีคนรู้จักมาหาผมก็ให้เงินเขา อยู่ได้ 10 เดือนก็อยากกลับบ้านเพราะไม่ได้ติดต่อเลย ตอนนั้นมีเพื่อนจากหมู่บ้านเดียวกันมาส่งข่าวว่าพ่อแม่อยากให้กลับบ้าน แต่ก็ไม่มีเงินแล้วพอดีถูกล็อตเตอรี่ได้เงิน 4 พันบาทเลยกลับบ้าน" ฮานพูดแกมหัวเราะเพราะดูเหมือนชีวิตของเขาจะมีความบังเอิญเสมอ

ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรีเป็นเส้นทางที่ฮานเลือกในการกลับบ้านถึงแม้ว่าจะไม่เคยไปก็ตาม เขาเล่าว่าระหว่างขึ้นรถโดยสารจากกาญจนบุรีไปที่สังขละบุรีได้มีตำรวจมาค้นกระเป๋าและยึดนาฬิกาข้อมือรวมทั้งเงินไป 700 บาท ซึ่งนับเป็นโชคดีที่เงินจำนวนอีก 2 พันบาทฮานซ่อนไว้ที่ตลับเทปตามคำแนะนำของเพื่อน และเมื่อฮานบอกว่าไม่มีเงินค่ารถตำรวจคนนั้นจึงคืนเงินให้ 200 บาท

แต่แล้วฮานก็ต้องมาเจอด่านตรวจของตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)อีกครั้ง ซึ่งคนพม่าที่โดยสารมาทั้ง 6 คนต้องจ่ายเงินคนละ 500 บาท แต่เขามีเงินไม่พอและหากจะนำเงินที่ซ่อนไว้ออกมาก็กลัวว่าจะถูกยึดทั้งหมด สุดท้ายฮานจึงถูกกักตัวไว้ที่ด่านตชด. โดยกลางวันต้องช่วยทำงาน ทำอาหาร ตักน้ำ รวมทั้งนวดในตอนกลางคืน

อยู่ได้ 3 วัน หัวหน้าตชด.ได้ชวนให้ฮานอยู่ช่วยงานต่อโดยจะให้ค่าจ้างวันละ 100 บาท แต่เขายืนยันว่าอยากกลับบ้าน จึงได้ค่ารถจากหัวหน้าตชด. 300 บาท แต่ปรากฏว่าหมวก รองเท้า กระเป๋าเงิน รวมทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าพวกตชด.นำไปแบ่งกัน เขาจึงไปตามหมวกและกระเป๋าเสื้อผ้าคืน

ฮานเล่าต่อว่าเมื่อนั่งรถมาจนถึงสังขละบุรีก็มีรถมอเตอร์ไซด์มารับบอกว่าจะไปส่งที่ชายแดนค่ารถ 100 บาท ซึ่งเขาเองคิดว่าคนขับรถคงมีการติดต่อกับตชด.ที่ด่านมาก่อนแล้วจึงรู้ว่าเขาจะไปไหน เมื่อไปถึงชายแดน ก็มีรถกระบะมาจอดและถามเป็นภาษาพม่าว่าเขาจะไปไหน และเมื่อเขาตอบว่าจะไปพม่าก็ถูกเรียกให้ขึ้นรถแล้วเขาก็ถูกพาไปที่ป้อมของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยยึดกระเป๋าเขาไว้และปล่อยตัวให้ไปหาเงิน 500 บาทมาไถ่คืน เขาจึงไปยืมเงินกับเพื่อนมาให้ ซึ่งเมื่อได้กระเป๋าคืนฮานอยู่ที่สังขละบุรีต่อประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงเดินทางกลับบ้านโดยใช้เวลานั่งรถประมาณ 1 วัน

2…….

เมื่อกลับไปถึงบ้านสิ่งที่ฮานพบก็คือมีกองกำลังของกะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)อยู่ที่หมู่บ้าน ซึ่งหากไม่พอใจก็จะทำร้ายชาวบ้าน โดยเฉพาะมุสลิมที่ถูกคุกคามอย่างหนักโดยการเผาบ้านไปถึง 7 หลังคา นอกจากนี้ยังมีการกินเหล้าแล้วทะเลาะกันจนถึงขั้นยิงกันตาย เมื่อเขาไปถามผู้ใหญ่บ้านว่าทำไมถึงไม่จัดการปล่อยให้มาทำร้ายชาวบ้าน ก็ได้คำตอบว่าทำอะไรไม่ได้

"มีทหาร DKBA มาชวนให้ผมไปทำงานด้วย บอกว่าจะให้เป็นหัวหน้า ผมก็ลองคิดดูอยู่ 2 เดือนว่าถ้าไปทำแล้วจะแก้อะไรที่ไม่ดีได้ไหม แต่ผมคิดว่าทำไม่ได้แน่นอน ยิ่งกินเหล้าคงคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าไม่เป็นทหารก็คงอยู่ที่หมู่บ้านไม่ได้ ยายก็กลัวเลยไล่ให้ผมกลับเมืองไทย" ฮานเล่าต่อด้วยท่วงท่าที่ชินชากับการต้องเดินทางไกลจากบ้านเกิด

ปี 2541หลังจากกลับบ้านได้เพียง 5-6 เดือน ฮานจึงหนีกลับเมืองไทย เนื่องจากพ่อแม่อยากให้เขาแต่งงานและอยู่ที่บ้าน แต่ฮานและยายคิดว่ายังไงคงอยู่ไม่ได้ เขาจึงเดินทางกลับเมืองไทยด้วยเงินติดตัวเพียง 200 จ๊าต(ประมาณ50 บาท)พร้อมกับน้องชายเพื่อน โดยระหว่างทางฮานพบกับชาวบ้านที่นำวัวไปขายที่ชายแดนเขาจึงขอเดินทางไปด้วย โดยระหว่างทางก็ต้องคอยหลบทั้งทหารพม่า มอญ และกะเหรี่ยง ประมาณ 15 วันจึงถึงชายแดน (ถ้าเดินปกติ 3 วัน)

เมื่อมาถึงชายแดนฮานต้องเสียเงินที่ด่านอีกคนละ 4,800 บาทโดยเพื่อนที่อยู่ที่กาญจนบุรีให้ยืมก่อน และเมื่อติดต่อกับโรงงานเก่าที่ราชบุรีปรากฏว่ายังไม่รับคน ฮานจึงไปทำงานที่สวนปลูกกุหลาบและผัก ค่าจ้าง 2,100 บาท/เดือน ซึ่งฮานตั้งใจว่าจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้เพื่อน แต่แล้วพอสิ้นเดือนเจ้าของสวนขายผักหมดก็หายไปเลยไม่จ่ายค่าแรง ฮานจึงย้ายไปขายของที่ร้านในตลาด ต้องทำงานตั้งแต่ตี 3 - 2 ทุ่มได้ค่าแรงวันละ 100 บาท แต่ทำได้เพียง 1 เดือนก็ไปเลี้ยงหมูต่อที่เพชรบุรี 2 เดือนหลังจากนั้นฮานก็ถูกไล่ออกเพราะป่วยหยุดงานแล้วไม่ได้บอก ฮานจึงขอมาทำงานกับเถ้าแก่ที่มาก่อสร้างโรงหมู

1 เดือนต่อมาฮานไปทำงานโรงงานน้ำตาลทรายที่มหาชัย แล้วย้ายไปโรงงานเส้นหมี่ แต่ที่นั่นฮานพบว่ามีปัญหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่โรงงานไม่อนุญาตให้คนงานนำอาหารไปกินเอง โดยโรงงานจัดให้และหักเงินเดือน และเมื่อมีตำรวจมาจับก็จะมีการจับไปบางคนโดยนำไปปล่อยที่ชายแดนแล้วให้กลับมา แต่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเงินที่ให้ตำรวจและค่าเดินทางกลับมาคนงานต้องช่วยกันจ่ายเอง ทำให้เขา

3……

ปี 2542 ฮานกลับมาทำงานที่โรงงานทอผ้าที่ราชบุรีอีกครั้ง และต่อมาเขาได้เข้าร่วมกับกลุ่มของทหารกะเหรี่ยง ซึ่งมีคนงานเป็นสมาชิกจำนวนมากเพราะจะได้รับบัตรสมาชิกโดยตำรวจไม่จับหากมีบัตร หลังจากเป็นสมาชิกได้ 5 เดือนก็มีผู้ใหญ่ในกลุ่มออกมาตั้งสหภาพแรงงานกะเหรี่ยงฮานจึงย้ายมาด้วย และ 5 เดือนต่อมาฮานจึงลาออกจากงานมาเรียนคอมพิวเตอร์ที่กรุงเทพเพื่อช่วยงานองค์กร

"ตอนเป็นสมาชิกใหม่ๆผมก็ไม่รู้มาก รู้แต่ว่าทำงานกับคนงาน เพราะผมเองก็เคยเจอปัญหาเยอะ คิดอยู่ตลอดเวลาว่าใครจะแก้ไขได้บ้าง เช่น ตอนที่ผมโดนรถชนไม่ใช่ความผิดของผม แล้วผมจะไปหาใครได้ มีใครที่จะดูแลให้" ฮานเล่าให้ฟังถึงแรงดลใจสำคัญของเขา

สิ่งที่ฮานทำในช่วงแรกนั้นคือการไปรับคนงานที่ตกงานมาพักอยู่ที่สำนักงานขององค์กรชั่วคราว ซึ่งต้องทำงานอยู่คนเดียวเพราะผู้ใหญ่ที่ก่อตั้งองค์กรนั้นยังทำงานที่โรงงานเพื่อหาเงินดูแลครอบครัวรวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายขององค์กรด้วย ฮานจึงเป็นเพียงคนเดียวที่ออกจากงานมาทำงานองค์กรเต็มตัว

ปีต่อมาฮานได้ช่วยงานในการติดต่อกับคนงานเนื่องจากคนทำงานอีกคนพูดพม่าไม่ได้ งานที่ทำเริ่มมีการเก็บข้อมูล เช่น ประวัติ การทำงาน จำนวนคนงานในโรงงาน ข้อมูลคนที่หายไป คนที่ไม่ได้เงินเดือน ซึ่งฮานเองบอกว่างานที่ทำนั้นก็ไม่ได้ช่วยเฉพาะคนกะเหรี่ยงแต่ช่วยทุกคนที่มาจากพม่า ซึ่งต่อมาจึงได้รู้จักและประสานงานกับองค์กรอื่นๆที่ทำงานด้านแรงงานด้วยกัน เช่น องค์กรแรงงานของพม่า ซึ่งมีการเก็บข้อมูลการบังคับใช้แรงงานในพม่าและข้อมูลแรงงานพม่าในประเทศไทยเพื่อส่งให้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) ซึ่งมีการช่วยเหลือในเรื่องคดีโดยร่วมกับสภาทนายความ ดังนั้นงานของฮานจึงเป็นการนำข้อมูลที่จัดทำส่งต่อให้ทนายความในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น นายจ้างไม่ให้ค่าแรง การติดตามคนหาย รวมทั้งเชื่อมต่อให้คนงานที่มีปัญหาเข้าถึงกระบวนการในการเรียกร้องสิทธิ์

เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆที่รุมเร้าไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานที่มีจำนวนจำกัด คนทำงานที่มีน้อย นอกจากนี้บางปัญหาก็ใช้เวลานานมากเมื่อเป็นคดีความ เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คอยตอกย้ำให้สภาพปัญหายากยิ่งในการแก้ไข การพูดคุยสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิที่พวกเขามีอยู่และต้องได้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ฮานและเพื่อนพยายามทำ

"หลายครั้งมีคนงานมาเล่าปัญหา เช่น ที่ พังงาเขาไปรับจ้างกรีดยางแต่ถูกตำรวจยึดรถไปและเรียกเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาขอให้ช่วยแต่ก็ไม่รู้จะช่วยยังไง สถานะเราก็ไม่ต่างกัน การเจรจากับตำรวจเราทำเองไม่ไ ด้ บางกรณีที่คนหายต้องใช้เวลานานหรือบางคนก็ตามไม่ได้จริงๆจนบางทีคนที่มาติดต่อเราก็ไม่เข้าใจในข้อจำกัดว่าทำไมเราช่วยได้แค่นี้" ฮานระบาย

เมื่อพูดถึงนโยบายการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลในปีนี้ ฮานเองคิดว่ายังไม่มีความชัดเจนนัก ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนไม่มีนายจ้างจะสามารถไปจดทะเบียนได้หรือไม่ก็ไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจน และประกาศที่มีการเผยแพร่อยู่ก็ไม่ได้ระบุไว้ หรือแม้แต่กรณีที่เจ้าบ้านที่พักอยู่ไม่ไปรับรองให้จะสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางที่ก็ตอบไม่ได้ ตอบไม่ตรงกัน ดังนั้นเขาจึงคาดว่ายังมีคนงานอีกมากที่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนตามกำหนด

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับนโยบายนี้ ฮานยิ้มเนือยๆก่อนจะตอบว่าก็ดี เพราะถ้าหากว่าไม่มีการจดทะเบียนคนที่ไม่ได้ทำงานอาจจะถูกจับส่งกลับ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องกลับเข้ามาอีกอยู่ดีแต่มีบัตรก็ดีกว่าถ้าไม่มีบัตรเลยก็ลำบากมาก ไปโรงพยาบาลก็ไม่ได้ ต้องกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกจับ แต่หลายคนก็กลัวว่าจะไม่ได้ทำงานกับนายจ้างเดิม

ส่วนความมั่นใจหลังจากจดทะเบียนนั้น ฮานเล่าให้ฟังว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเพื่อนคนงาน 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน ถูกตำรวจจับที่บริเวณหน้าสะพานลอยเดอะมอลล์ บางแค โดยเพื่อนผู้หญิง 2 คนนั้นจดทะเบียนแล้วและทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ที่เดียวกัน ส่วนผู้ชายไม่ได้ไปจดทะเบียน แต่เนื่องจากนายจ้างซึ่งเป็นสามีภรรยาทะเลาะและแยกทางกันทำให้ต้องออกจากงาน โดยวันที่ถูกจับนั้นอยู่ระหว่างที่กำลังจะไปหางานใหม่

จากนั้นตำรวจได้ยึดใบลงทะเบียนแล้วนำทั้ง 3 คนไปที่โรงพักและบอกว่าทั้ง 3 คนไม่ได้จดทะเบียน โดยตำรวจปล่อยตัวผู้หญิง 1 คนให้ไปหาเงินมาเสียค่าปรับรวม 4 พันบาท แต่สุดท้ายทั้ง 3 คนต้องเสียค่าปรับรวม 9 พันบาทและไม่ได้รับใบลงทะเบียนคืน

"อย่างนี้เป็นความผิดของใคร เพราะเราก็จดทะเบียนแล้วยังถูกจับ ผมเองก็ช่วยอะไรไม่ได้เพราะมีเวลาไม่มากตำรวจเร่งรัดให้เขาหาเงินไปให้ รู้ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ตอนนี้ก็ไม่รู้เป็นยังไง " ฮานเล่าด้วยความคับแค้นใจ

แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ฮานและเพื่อนยังต้องใช้ชีวิตต่อสู้ในเมืองนี้ ชะตาชีวิตที่ไม่อาจเลือกได้ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญเพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้าจึงทำให้การพูดคุยถึงประชาธิปไตย การต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองดูห่างไกลออกไปทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่จะคอยย้ำเตือนเรื่องราวและร่องรอยความทรงจำของพวกเขานั่นคือคำตอบที่ว่า...ทำไมวันนี้เขายังกลับบ้านไม่ได้

บทความพิเศษโดย : ศูนยข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net