Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปะติดปะต่อ

ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่โครงการน้ำเทิน 2 ที่ดิฉันมี เรียกได้ว่าเป็นชิ้นเป็นอันขนานแท้ นั่นคือกระจัดกระจายอยู่ และไม่ปะติดปะต่อ .ในตอนแรกก็เข้าใจว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 จะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ป่าอะนุลักนากาย - น้ำเทิน แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

มากกว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด โครงการน้ำเทิน 2 ใช้พื้นที่ต่อเนื่องกว้างไกลกว่านั้น ที่ราบสูงนากาย พื้นที่เขตอะนุลักนากาย - น้ำเทิน และแม่น้ำเซบั้งไฟ คือสายใยที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้

วันนี้ขอพูดถึงเขตอะนุลักนากาย - น้ำเทินก่อน

รายงานสรุปการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ศึกษาโดย รัฐบาลลาวและบริษัท น้ำเทิน 2 จำกัด พบว่า พื้นที่ของเขตอะนุลักนากาย - น้ำเทินจะได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จากการเป็นพื้นที่ระบายน้ำของโครงการ น้ำเทิน 2

ป่านากายอยู่ในแขวงคำม่วนทางตอนกลางของประเทศลาว ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติฟองยา - เคบังของประเทศเวียดนาม

ป่านากาย เป็นเขต "อะนุลักซีวะนานาพันแห่งซาด" (NBCA) ที่ใหญ่ที่สุดของลาว มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เขตอะนุลักซีวะนานาพันแห่งซาดนากาย - น้ำเทิน" (Nakai - Nam Thuen National Biodiversity Conservation Area) มีพื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,300,000 ไร่ (ขนาดใกล้เคียงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของไทย)

เขตอะนุลักนากาย - น้ำเทิน เป็นแหล่งของสัตว์ป่าหายากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น หมีควาย เสือลายเมฆ หมีหมา เสือโคร่ง แรดชวา และที่ไม่พบในที่อื่นเลยก็คือ เก้งยักษ์ และซาวหล้า (saola, spindlehorn mountain goat, Vu Quang Ox - Pseudoryx nghetinhensis) เป็นสัตว์ในตระกูล Muntjacซึ่งพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 จัดเป็นสัตว์ในบัญชี IUCN Red List

เขตอะนุลักนากาย - น้ำเทิน เป็นพื้นที่ที่พบว่ามีสัตว์ถูกคุกคาม และใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ช้างเอเชีย เสือ และเป็ดก่าปีกขาว

สำหรับสัตว์น้ำนั้น พบว่ามีปลาหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่

ประชากรมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่อะนุลัก นากาย - น้ำเทิน มีประมาณ 5,700 คน17 หมู่บ้าน ประกอบด้วย3 ชนเผ่าหลัก ๆ ได้แก่ เบรา ไวติก และไทกาได ดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยง/ล่าสัตว์ปลูกข้าวได้พอกินประมาณ 2-3 เดือน นอกจากนั้นใช้วิธีแลกเปลี่ยนผลิตผลจากป่า

ป่าลาวบ่แม่นป่าไทย

อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ในพื้นที่อะนุลัก มีประชากรมนุษย์อาศัยอยู่ได้อย่างไร คำตอบนั้นง่ายเพียงอ่านชื่อเขตอะนุลักให้จบความ "เขตอะนุลักซีวะนานาพันแห่งซาด" ก็จะพบว่า ป่าเมืองลาวเขารวมมนุษย์อยู่ใน "ซีวะนานาพัน" ด้วยซึ่งข้อนี้ต่างจากประเทศไทยมาก

ทั้งนี้การจัดการเขตอะนุลัก ของลาวนั้นมุ่งอยู่ที่การรักษาสภาพธรรมชาติโดยปรองดองกับวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่นมากกว่าผลประโยชน์ทางท่องเที่ยว

ด้านหนึ่งก็คือป่าเมืองลาวนั้นยังสมบูรณ์เกินกว่านักท่องเที่ยวจะฝันถึงการ "เที่ยวละไม" (จากข้อมูลสัตว์ป่าข้างต้น คงพอจินตนาการได้ถึงความรกชัฏ)

แนวคิดการจัดการป่าลักษณะนี้เป็นวิธีคิดจากค่ายยุโรป ซึ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในประเทศโลกที่สามมานาน และดูเหมือนว่าจะเป็นทิศทางที่สอดคล้องเหมาะสมกับการอะนุลักในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าการจัดการป่าแบบอเมริกันซึ่งแยกคนออกจากป่าและสัตว์ป่า

รู้ไม่มาก ยากจะเข้าถึง

ทั้งหมดนี้คือเท่าที่รู้และเป็นข้อมูลชั้นที่ 2 (หรืออาจจะถึงขั้น 3 4 5) เพราะดิฉันเองไม่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสข้อมูลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง

การถกเถียงกันถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเขตอะนุลักระหว่าง เอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศ กับผู้ดำเนินโครงการ น้ำเทิน 2 ยังอยู่บนข้อมูลที่จำกัด และต้องยอมรับว่าข้อมูลที่รัฐบาลลาวและบริษัทน้ำเทิน 2 นำเสนอในรายงานผลกระทบฯ อาจจะเป็นข้อมูลที่มากที่สุดที่มีอยู่ขณะนี้

อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับสภาพป่าและสัตว์ป่าในเขตอะนุลักนากายที่มีอยู่ขณะนี้ดิฉันคิดว่าควรจะนำหน้าด้วยวลี "อย่างน้อยที่สุด" เพราะน่าจะยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกมาก

และการที่เราตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ "น้ำเทิน 2" โดยที่เรายังไม่รู้อีกมาก เราอาจจะไม่มีโอกาสค้นพบสิ่งที่เราไม่รู้อีกต่อไป

ศรัณย์ บุญประเสริฐ (พี่สันต์เจ้าเก่า)ซึ่งช่วยค้นข้อมูลบางส่วนพร้อมบริจาคข้อมูลเท่าที่มี (ไม่มาก) ให้ดิฉันคาดการณ์ว่า "น่าจะยังไม่มีการศึกษาและสำรวจพื้นที่ป่านากายอย่างจริงจัง" ทั้งให้ความเห็นว่า รัฐบาลลาวเองก็อาจไม่รู้จักพื้นที่ป่าแห่งนี้ดีพอ อนุมานจากวิธีการประกาศเขต "อะนุลักซีวะนานาพันแห่งซาด" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะ "ประกาศเอาไว้ก่อน" แต่ยังไม่เคยเข้าไปสำรวจ ทั้งนี้ก็ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และข้อจำกัดของรัฐบาลลาวเอง

ดิฉันเชื่อว่าต้องมี "คนนอก" เข้าไปถึงพื้นที่ป่าอะนุลักแห่งนี้ เพียงแต่ตอนนี้ดิฉันยังไม่พบคนคนนั้น

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net