Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เชาวฤทธิ์ แดงซอน *
เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์แห่งประเทศไทย

เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์แห่งประเทศไทย เสนอโครงการถุงยางอนามัยป้องกันสังคม แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริง ในวันพฤหัสบดี ที่ 30 กันยายนนี้ ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ วัยใสไกลเอดส์ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร โดยตัวโครงการเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศของผู้ใหญ่ ต่อวัยรุ่น ดึงสภาพความเป็นจริงในสังคมมาสนับสนุนแนวคิด เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

จากกรณี เรื่องนักเรียนกับเซ็กซ์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เสียงสะท้อนจากเวทีต่างๆ ทำให้พบว่า สังคมยังขาดความเข้าใจและมีอคติต่อการทำงานของเยาวชนและถุงยางอนามัย ทำให้เยาวชนทำงานยาก และปัญหาเรื่องเพศในเยาวชนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เครือข่ายฯ จึงได้จัดทำโครงการ "ถุงยางอนามัยป้องกันสังคม" เพื่อรณรงค์ให้สังคมเข้าใจและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องเพศ มีสิทธิ เข้าถึงบริการ มีทางเลือกในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ

โครงการถุงยางอนามัยป้องกันสังคม เป็นการใช้บทเรียนชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการป่วยด้วยเอดส์เนื่องจากภ ูมิคุ้มกันบกพร่อง และพยายามหาวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่นเดียวกัน ภูมิคุ้มกันสังคมในปัจจุบันที่มีความบกพร่องทั้งระบบครอบครัว เศรษฐกิจ การศึกษาและสภาวะแวดล้อม ทำให้เด็กและเยาวชนขาดที่พึ่ง ขาดความรู้ ทักษะและถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมให้มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย

การทำให้เยาวชนมีความตระหนักในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ได้ จะทำให้เยาวชนได้ผ่านเรียนรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษาที่รอบด้าน เท่าทันต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิตนเองและผู้อื่น รู้จักใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารต่อรองได้

นายเชาวฤทธิ์ แดงซอน และนายกิตติพันธ์ กันจินะ เยาวชนแกนนำที่ร่วมกันพัฒนาโครงการนี้ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า วัยรุ่นเผชิญกับเรื่องการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ การท้องที่ไม่พร้อม และต้องทำแท้ง ระบบทุนนิยมที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่วัยรุ่น เห็นการพลอดรักในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และสังคมโดยส่วนใหญ่ก็เห็นว่าวัยรุ่นปัจจุบันมีเซ็กซ์เร็วขึ้น บ่อยขึ้นและฉาบฉวย ปัญหาที่ตามมามากมาย

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข่มขืน การติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้น เรื่องเศรษฐกิจ การขายบริการ เด็กกำพร้า ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งสิ้น แต่เราต้องมองย้อนไปว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดนั้นเป็นเช่นไร อาจสรุปได้ว่า 1.ปัจจุบันวัยรุ่นรับสื่อได้กว้างขึ้นและได้ทุกชนิด 2. วัยรุ่นเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์เร็วเป็นเรื่องปกติ เพราะเห็นคนอื่นทำ ตัวเองก็สามารถทำได้ 3.ปัจจุบันวัยรุ่นย้ายเข้ามาอยู่ในหอพัก ซึ่งห่างไกลจากครอบครัว

4.เป็นเรื่องของธรรมชาติในช่วงวัยนี้ที่จะมีความต้องการทางเพศ และหาทางปลดปล่อย และ 5.เรื่องการศึกษา ที่ยังไม่ครอบคลุมถึงทักษะการใช้ชีวิตที่รอบด้านมิติของข้อมูลข่าวสารที่นักเรียนสามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีเหล่านั้น เราต้องทำความเข้าใจว่าแม้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่มองว่าวัยรุ่น ปัจจุบันนี้ มีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้นง่ายขึ้นและฉาบฉวย

แต่คุณพ่อและคุณแม่ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่หลายท่านเคยเล่าให้ฟังว่าท่านก็แต่งงานตอนอายุ 18-19 และอย่าลืมว่า เอดส์เพิ่งเข้ามาเมื่อ 20 กว่าปี เมื่อก่อนคนไม่ต้องมีเงื่อนไขของการเรียน หากแต่งงาน หากท้อง ก็ยอมรับได้ แต่ปัจจุบัน หากท้องนั่นหมายถึงหมดอนาคต คนไม่มีทางเลือก หรือชีวิตก็จะถูกตัดสินโดยคนใดคนหนึ่งให้หมดอนาคต แล้วเด็กที่เกิดมาจะต้องโตขึ้นเป็นเยาวชนในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

เมื่อผู้ใหญ่ไม่อยากให้เกิดปัญหาท้อง-แท้ง แต่ยังมีทัศนคติที่รังเกียจถุงยางอนามัย มองถุงยางอนามัยซึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่จะป้องกันสังคม เป็นเรื่องของการหมกมุ่น และยั่วยุ และพยายามแก้ปัญหาโดยการตัดสินโดยพื้นฐานจากทัศนคติด้านลบเหล่านี้ เราต้องทำงานกับเรื่องทัศนคติ เพราะพฤติกรรม มีอิทธิพลมาจากทัศนคติ จึงมีเป้าหมายของโครงการนี้ คือ เปลี่ยนทัศนคติผู้ใหญ่ ต่อเรื่องเพศในเยาวชน

นางสาวปนัดดา ขวัญทอง แกนนำเยาวชนจากภาคตะวันออก กล่าวเสริมว่า การทำให้เยาวชนมีความตระหนักในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศ สัมพันธ์ได้ จะทำให้เยาวชนได้ผ่านเรียนรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษาที่รอบด้าน เท่าทันต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิตนเองและผู้อื่นรู้จักใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์การสื่อสารต่อรองได้ เพราะเราจะสอนถึงมิติของถุงยางและทัศนคติ ไม่ใช่สอนแค่การใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นอย่างเดียว

โครงการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข่มขืน เพราะกระบวนการนี้จะให้การศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างแนวคิดเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย จะมีการให้ความรู้ในด้านทัศนคติ การคิด การตัดสินใจ การไม่เลือกปฏิบัติ การวิพากษ์ถึงสถานการณ์ต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และความสัมพันธ์กับผู้อื่น กระบวนการนี้จะทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาการขายบริการทางเพศ หรือปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งจะช่วยลดปัญหาการท้องที่ไม่พร้อม และการทำแท้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ถุงยางเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดชนิดหนึ่ง เมื่อคนตระหนักเรื่องการใช้ถุงยางและมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถุงยางแล้ว ก็จะสามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่อย่างรอบด้าน

แล้วผลที่ตามมา จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อการติดเชื้อเอดส์ลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็จะลดลงไปด้วย และจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาจากการติดเชื้ออื่นๆ เช่น เรื่องเด็กที่ได้รับผลกระทบ สุขภาพจิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง คนชราที่ต้องรับภาระ ฯลฯ

โดยกระบวนการของโครงการนี้จะมีแผนการดำเนินกิจกรรมในห้าภูมิภาคมุ่งเน้นการทำงาน สี่ด้านคือ 1.การเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเยาวชนที่มีฐานการทำงานในชุมชน 200 กลุ่มทั่วประเทศ การอบรมเสริมทักษะการทำงานเรื่องเอดส์/เพศศึกษา การสร้างพฤติกรรมที่ปลอดภัย เพื่อให้แกนนำสามารถคิดค้นงานรณรงค์ กิจกรรมหนุนเสริมความเข้มแข็งภายในกลุ่มและงานเครือข่ายภายในภาค รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในและนอกโรงเรียน อบรมเสริมทักษะเยาวชน 5 ภาค

2. การรณรงค์สาธารณะ สร้างความตระหนักให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักในการใช้ถุงยางอนามัยและสร้างพฤติกรรมที่ปลอดภัย ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ถุงยางอนามัย ผ่าน 5 เว็ปไซต์, 50 สถานีวิทยุบทความทางหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน ศูนย์ข่าวเยาวชนแต่ละภาค สร้างอาสาสมัครเยาวชนร่วมรณรงค์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ มีการติดตามอาสาสมัคร และมีผู้ประสานอาสาสมัคร พัฒนาเยาวชนให้เป็นนักข่าว นักเขียนเพื่อสื่อสารกับสังคม

3. ยกระดับการทำงานของกลุ่มเยาวชนและอาสาสมัครในชุมชน ให้เป็นศูนย์บริการข้อมูลความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา สิทธิหน้าที่และบริการอุปกรณ์ป้องกันฯ แก่เด็กและเยาวชน มีผู้ประสานงานอาสาสมัคร และ 4. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับครูผู้ปกครองและองค์กรทางสังคม สร้างกิจกรรมพฤติกรรมที่ปลอดภัย และการพัฒนาเยาวชน เวทีเชื่อมความสัมพันธ์เยาวชน ผู้ปกครอง ชี้วัดจากเป้าหมาย คือ มีตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยในโรงเรียน ไม่โดนตำหนิ มีถุงยางเพียงพอและเข้าถึง มีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน มีแหล่งบริการที่เป็นมิตร มีนักพูดเยาวชนมากขึ้น

รายงานพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net