Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ : เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.พระนครศรีอยุธยา ออกตรวจร้านขายประทัด ดอกไม้ไฟในตัวจังหวัด

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ( www.trf.or.th)

นักวิจัยเตือนภัยเหตุระเบิดโรงงานพลุ ชี้เป็นอุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายที่ซ้ำซ้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในรอบยี่สิบปี เกิดอุบัติเหตุจากการระเบิดของวัตถุระเบิดเช่นนี้มาแล้วถึง 18 ครั้ง 7 ครั้งในจำนวนนี้เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ ย้ำผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับดอกไม้ไฟ ทั้งที่อยู่ในโรงงานผลิต โกดังจัดเก็บ หรือ ร้านค้าดอกไม้ไฟ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และโรงงานผลิตรวมถึงร้านค้า ต้องได้รับการควบคุมดูแลจากหน่วยราชการที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

จากเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบุญเหลือดอกไม้ไฟ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ซึ่งเป็นโรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต โดยที่เหตุเกิดขึ้นขณะลำเลียงพลุเตรียมนำส่งให้ลูกค้าสำหรับใช้ในเทศกาลลอยกระทง

จากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 พบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดจากวัตถุระเบิด 18 ครั้ง 7 ครั้งในจำนวนนี้เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ ตัวอย่างเช่น

วันที่ 17 ตุลาคม 2543 โรงงานพลุประทัดดอกไม้ไฟย่านหนอกจอกระเบิด เป็นโรงงานที่ดัดแปลงบ้านเป็นโรงงาน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 7 ราย

วันที่ 22 สิงหาคม 2543 โรงงานดอกไม้ไฟในชุมชนหนองบัว จ.เชียงราย ระเบิดมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย เกิดจากการใช้สว่านไฟฟ้าเจาะรูเพื่อใส่สายชนวน ขณะมีการบรรจุดินระเบิดใส่บั้งไฟยักษ์

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ร้านขายพลุที่ตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ระเบิดเนื่องจากการจุดประทัดสาธิตให้ลูกค้า ความตกใจทำให้โยนประทัดลงไปที่แผงขาย เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 84 ราย

โดยที่ความเสียหายทั้งหมดนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนที่เกิดขึ้นอีกมากมาย

รศ.สุชาตา ชินนะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า "จากเหตุการณ์เหล่านี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า เมื่อมีการทำงานเกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายที่ระเบิดได้ มีสิ่งที่พึงระวังคือ การระมัดระวังมิให้เกิดการเสียดสีและการใช้ประกายไฟหรือความร้อนในบริเวณที่มีวัตถุระเบิด เพราะอาจจะนำมาซึ่งสาเหตุแห่งการเกิดปฏิกิริยาของวัตถุระเบิด ทำให้เกิดระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างรุนแรงได้ในที่สุด เนื่องเพราะในโรงงานผลิต หรือแม้กระทั่งร้านขายพลุดอกไม้ไฟ จะมีสารวัตถุระเบิดเช่นนี้อยู่เป็นจำนวนมาก" วัตถุระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการทำดอกไม้เพลิงนั้น มีทั้งดินระเบิด โปแตสเซียมคลอเรต แอมโมเนียมไนเตรต ฯลฯ ซึ่งสารเคมีเพื่อใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิงเหล่านี้ ถือว่าเป็นวัตถุระเบิด มี พรบ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ กำหนดให้มีการอนุญาตในการนำเข้า ทั้งนี้ จากการติดตามการนำเข้าของสารเคมีดังกล่าว ในพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับสารกลุ่มที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยและวัตถุระเบิด พบว่า มีการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ในปี พ.ศ.2545 และ 2546 เป็นจำนวน 8,292 และ 7,615 ตัน ตามลำดับ

อีกทั้ง ดอกไม้เพลิง (Fireworks) ก็เป็นสินค้าเคมีภัณฑ์อันตรายในพิกัดศุลกากร 3604.10 0 009 มีสถิตินำเข้าในปี พ.ศ.2545 และ 2546 เป็นน้ำหนัก 4,559 และ 4,829 ตัน เป็นมูลค่า 94.9 และ 93.8 ล้านบาท โดยมีผู้นำเข้ารวม 13 และ 15 ราย ตามลำดับ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถค้นติดตามความรู้เรื่องสารเคมีอันตรายได้จาก ฐานการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ที่http://www.chemtrack.org

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุระเบิด ควรเป็นผู้มีความรู้และได้รับการอนุญาตเท่านั้น มิฉะนั้นก็ยังคงจะมีการระเบิดจากการทำพลุและดอกไม้ไฟในชุมชนเกิดขึ้นได้อีก เมื่อยังมีการดัดแปลงบ้านเป็นโรงงานผลิตที่ไม่มีใบอนุญาตเช่นนี้อยู่ ทั้งนี้การควบคุมดูแลโรงงานผลิตดอกไม้เพลิงนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมทหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย

รายงานพิเศษ
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net