Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 พ.ย.49 เมื่อวันพุธที่ 29 พ.ย. 2549 เวลา 10.45 น. ที่ห้องเพทาย โรงแรมรัตนโกสินทร์ "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ได้แถลงนัดชุมนุมและเดินขบวนในวันรัฐธรรมนูญ อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2549 เพื่อทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ล้มสมัชชาแห่งชาติ ยกเลิกกฎอัยการศึกทุกพื้นที่ ขับไล่เผด็จการให้พ้นจากการเมืองไทย


                                                    


โดยจะเริ่มชุมนุมตั้งแต่เวลา 16.00 น. ที่สนามหลวง และในเวลา 18.00 น. จะเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเผารัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) และจุดเทียนส่องทางประชาธิปไตย


 


สำหรับในวันอาทิตย์ ที่ 3 ธันวาคม ซึ่งเดิมเครือข่าย19กันยาฯ ได้นัดชุมนุมที่สนามหลวงนั้น จำเป็นต้องยกเลิกไป เนื่องจากมูลนิธิ 5 ธันวา มหาราช ได้ใช้สนามหลวงในการจัดงานพระราชพิธี


 


000


 


ใบแถลงข่าว


ชุมนุม-เดินขบวนต้านรัฐประหาร วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม


 


เป็นเวลาสองเดือนเศษนับแต่คณะเผด็จการ คปค.(ปัจจุบันคือ คมช.)ยึดอำนาจ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง ตามอำเภอใจ ควบคุม แทรกแซง ยกเลิก สถาบันการเมืองหลักและองค์กรอิสระ จับกุมคุมขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ปิดกั้นควบคุมสื่อ ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฯลฯ เป็นการกระทำที่ ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา ไม่เชื่อมั่นการแก้ปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่อดกลั้นต่อความแตกต่างทางการเมือง ไม่สนใจความเสียหายร้ายแรงในอนาคต แต่กลับเชื่อมั่นในวิถีทางแบบเผด็จการซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้เติบโตต่อไปในภายหน้า


 


ซึ่งต่อมาได้มีความพยายามสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่องผ่านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ยังคงให้อำนาจล้นฟ้าแก่ คมช.เช่นเดิม การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ ตลอดจนแต่งตั้งพวกพ้องของตนเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ความพยายามเสนอให้นายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง(ผ่านชนชั้นนำทางวิชาการ) หากข้อเสนอนี้สำเร็จก็จะเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ของการเมืองไทย ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกระบวนการสมัชชาแห่งชาติ เหล่าเผด็จการรู้ดีว่าแม้รัฐธรรมนูญมิใช่ทั้งหมดของอำนาจทางการเมือง แต่รัฐธรรมนูญคือแกนกลางของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กล่าวคือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน สถาบันการเมืองกับสถาบันการเมือง สถาบันการเมืองกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน เป็นต้น หรือกล่าวอีกอย่างคือ รัฐธรรมนูญคือข้อตกลงแม่บทที่จะบอกว่าใครควรมีอำนาจ และใช้อำนาจได้อย่างไร มากน้อยเพียงใด นั่นคือ การเข้าไปจัดการกับอำนาจทั้งในระดับบนและระดับล่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนพร้อม ๆ กัน


 


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสมัชชาแห่งชาตินั้นเปิดโอกาสให้คณะเผด็จการสามารถควบคุมแทรกแซงได้แทบทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระบวนการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้หากการลงประชามติไม่ผ่าน


 


แนวโน้มการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในภาวะที่เผด็จการเข้มแข็ง-ประชาชนอ่อนแอ คือ ประชาชนจะมีอำนาจน้อยลง สถาบันประเพณี เช่น ทหาร ศาล องคมนตรี ฯลฯ จะมีอำนาจเพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุดย่อมนำไปสู่การเป็นสังคม-การเมืองใต้บงการของกลุ่ม-สถาบันการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น


 


ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2549 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ขอประกาศขยายพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองไปสู่สนามหลวง "ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ยกเลิกรัฐธรรมนูญเผด็จการ(ฉบับชั่วคราว) ล้มสมัชชาแห่งชาติ ยกเลิกกฎอัยการศึกทุกพื้นที่ ขับไล่เผด็จการให้พ้นจากการเมืองไทย"


 


พวกเรายืนยันสิทธิในการต่อต้านล้มล้างเผด็จการทุกรูปแบบ เผด็จการจงยุติการสืบทอดอำนาจ ยกเลิกกฎอัยการศึก กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 จัดการเลือกตั้ง ก่อนเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป


 


โดยจะจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านเผด็จการ ดังนี้คือ


 


-การชุมนุม-อภิปรายทางการเมือง


-เดินขบวนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเผารัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ จุดเทียนไว้อาลัยและส่องนำทางแก่ประชาธิปไตย


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


29 พฤศจิกายน 2549


แถลง ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์


 


 


 


หมายเหตุ : เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จะจัดกิจกรรมต้านรัฐประหาร ณ สนามหลวง ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-20.00 น. จนกว่าเผด็จการจะออกไป ประชาธิปไตยจะกลับมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net