Skip to main content
sharethis

โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


 


 


หนังสือพิมพ์ไทยในปัจจุบัน กำลังยืนอยู่บนทางแพร่งที่สำคัญทางการเมืองหลังจากเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน สื่อต่างชาติเองก็ตกตะลึงกับจุดยืนสื่อไทยที่ส่วนใหญ่สนับสนุนหรือไม่ก็เห็นใจคณะผู้ก่อการอยู่ลึกๆ


 


เกิดอะไรขึ้นกับหนังสือพิมพ์ที่เรียกตนเองว่า ก้าวหน้าฉบับต่างๆ ทั้งภาษาไทยและเทศ ทำไมพวกเขาเหล่านั้นที่ทำหน้าที่สื่อ และมักถูกมองว่า เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์จรรโลงไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยในเมืองไทยกลับมาเขียนเชียร์ให้ความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร


 


คงไม่ต้องเท้าความกันให้มาก ว่ากลุ่มชนชั้นกลางและอภิสิทธิ์ชนเก่านั้นได้ออกมาต่อต้านการละเมิดสิทธิและทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวก


 


ทักษิณและพวกนั้นถูกกล่าวหา (อย่างค่อนข้างจะน่าเชื่อถือมาก) ว่ากระทำการละเมิดกฎหมาย ทำลายกฎเกณฑ์บ้านเมืองสารพัด จนกระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯลาออกขยายตัวมากขึ้นทุกที แต่ในขณะเดียวกันคนยากคนจนในชนบทจำนวนมากยังคงพอใจกับโครงการประชานิยมสารพัดรูปแบบ


 


ในประเทศที่คน 60 เปอร์เซนต์ของสังคมเป็นคนจน คนชนบทนั้น การที่หนังสือพิมพ์ไทยไม่ใส่ใจเสนอความเห็น ความรู้สึกของเขาต่อการกระทำรัฐประหาร ย่อมมิต่างจากการปฏิเสธความมีตัวตนของคนส่วนใหญ่ในสังคม


 


หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เสนอว่า การกระทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้กระทั่งถึงกับสรุปว่า เป็นสิ่งที่ดีต่ออนาคตประชาธิปไตยไทย


 


มิหนำซ้ำสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ยังช่วยสร้างความเชื่อที่คลาดเคลื่อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ในขณะที่พวกเขามิได้สนใจสัมภาษณ์คนชนบททั่วไปอย่างลึกซึ้งแต่อย่างใด


 


อีกประการหนึ่ง คือการที่สมาคมองค์กรวิชาชีพสื่อ กระปรี้กระเปร่ากับการคัดสรรเสนอตัวแทนของพวกตน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจในองค์กรสื่อ เช่น บรรณาธิการ หรือเจ้าของสื่อ) เพื่อเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมัชชาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งองค์กรเหล่านั้นเสมือนหนึ่งเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร โดยพวกเขาอ้างว่า จะเข้าไปช่วยต่อสู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อและอื่นๆ


 


บทบาทเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่า หนังสือพิมพ์ไทยในปัจจุบันเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางและชนชั้นนำมากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ "คุณภาพ" ที่เคยต่อสู้มาหลายทศวรรษเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย จนกระทั่งชนชั้นกลางมีเสรีภาพมีสิทธิมากในปัจจุบัน มิได้คิดที่จะขยายบทบาทการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ในประเทศ พวกเขามิสามารถเรียกตนเอง ว่าเป็นพลังแห่งประชาธิปไตยต่อไปได้ หากพวกเขาสนใจเพียงแค่ผลประโยชน์ของชนชั้นกลางและชนชั้นนำ (ซึ่งก็คือชนชั้นของพวกเขาเอง)


 


มิหนำซ้ำการที่พวกเขาออกมาสนับสนุนคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อมชี้ให้เห็นว่า พวกเขากำลังจะกลายเป็นพลังแห่งการต่อต้านประชาธิปไตยไปด้วยซ้ำ เพราะอ่านดูหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็มักจะพบข้อความทำนองว่า สังคมนี้คงเหมาะที่จะมีการปกครองโดยระบบอุปถัมภ์โดยชนชั้นนำที่อ้างว่ามีคุณธรรมอยู่ทั่วไป และคนส่วนใหญ่ที่ไร้การศึกษา น่าจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ตามและผู้ถูกปกครองก็เพียงพอ เพราะพวกเขาได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาได้ตัดสินใจผิดในการเลือกนายทักษิณซ้ำแล้วซ้ำอีก


 


หากทว่าสังคมนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรในเมื่อความเห็นของคนส่วนใหญ่ได้รับการปฏิเสธ เพิกเฉย หรือแม้กระทั่งดูถูกจากสื่อที่เรียกตนเองว่ามีคุณภาพและเชิดชูประชาธิปไตย


 


จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ว่า ทำไมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนพยายามผลักดัน คิดค้นสื่อทางเลือกที่ให้พื้นที่กับชาวบ้านและคนส่วนใหญ่มากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จมากน้อยต่างกันไป แต่คำถามที่สำคัญยังคงอยู่ที่หนังสือพิมพ์กระแสหลักที่อ้างว่ามีคุณภาพ พวกเขาจะปิดหู ปิดตา ไม่รับรู้ และสร้างความเป็นชายขอบให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศต่อไปอีกนานแค่ไหน


 


แน่นอนพวกเขาสามารถพยายามคิดแทนคนที่เหลือในสังคมต่อไปได้ แต่นั่นก็หมายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดการปะทะกันในสังคม เนื่องจากความไม่เท่าเทียม การขาดซึ่งเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยน และการขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต


 


 


--------------------------- 


ทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียนที่นำเสนอ ณ การประชุมสิทธิมนุษยชนประจำปีครั้งที่ 2 ฯ เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net