Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบ กกต. เรื่องการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ห้ามดึงสถาบันมาข้องเกี่ยว พรรคการเมืองใด ๆ เข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ ช่วงพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน - ระบุการชี้ชวนบุคคลมารวมกลุ่มเพื่อเสนอตัวสมัครรับเลือกเป็น สว. อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย - แจงผู้สมัคร สว.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในวันสมัคร

 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ การใช้เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารไม่เกินขนาด เอ 4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร

ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารแนะนำตัวตามวรรคหนึ่ง จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้

นอกจากนี้ ผู้สมัครยังสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น รวมถึงให้ผู้สมัครแจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัครหรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดก่อนวันดำเนินการ ยกเว้นสามี ภรรยา หรือบุตร

กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับแจ้งเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจแจ้งให้ผู้สมัครดำเนินการใดเพื่อแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นไม่ดำเนินการตามที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจนำมาเป็นเหตุดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบ คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดได้

ข้อห้ามในการแนะนำตัวของ สว.

ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว

นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(2) ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

(3) แจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

(4) แนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

(5) แนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(6) จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

ตลอดจน ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ

ระบุการชี้ชวนบุคคลมารวมกลุ่มเพื่อเสนอตัวสมัครรับเลือกเป็น สว. อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 เพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่าตามที่มีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ / ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม 20 กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ที่ปรากฏในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ

ปรากฏว่า มีบุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก กรอกข้อมูลส่วนตัว จุดยืน วิสัยทัศน์ และข้อมูลอื่น ๆ ลงในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้จัดแคมเปญทำการรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของตนเอง อันเป็นการจัดตั้งบุคคลให้มาเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา นั้น

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงขอแจ้งให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อย่าได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งจุดยืนของตนเองให้เผยแพร่และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ใด ๆ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูล และพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือมีผู้ร้องเรียนว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย สำนักงาน ฯ จะดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในทันที

แจงผู้สมัคร สว.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในวันสมัคร

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ยังออกเอกสารเผยแพร่การตอบข้อหารือเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ว่าสำหรับกรณีผู้ที่จะสมัคร  สว.หากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 14 (21) กำหนดว่าผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันสมัครรับเลือกเป็น สว. บุคคลซึ่งสมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด  ย่อมถือว่าบุคคลนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครตามมาตรา 14 (21) ส่วนกรณีบุคคลดำรงตำแหน่งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น สำนักงาน กกต.เห็นว่า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  มาตรา 4 กำหนดคำนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่า  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สว. ข้าราชการการเมืองอื่น  และตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง  ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา  กรณีตามข้อหารือเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องเทียบเคียงจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

กกต. แจงด้วยว่ากรณีบุคคลดำรงตำแหน่งคณะกรรมการชุมชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชน พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่สอง พ.ศ.2566 ข้อ 16 และ ข้อ 18 วรรคสอง  จะถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าไม่ต้องลาออกในวันรับสมัครหรือไม่ และกี่วัน   ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543  ลงวันที่ 14 ก.พ.43 สรุปลักษณะของ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ โดยเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย  รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำโดยอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐและมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย ดังนั้น บุคคลใดจะมีสถานะ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ ควรหารือไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อวินิจฉัยว่าตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนอยู่ในความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐตามแนวคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นหรือไม่

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 และ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. พ.ศ. 2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net