Skip to main content
sharethis

ประชาไท 21 เม.ย. 50 -  เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมัชชาคนจน จัดโครงการสัมมนาเรื่อง ข้อเสนอสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน โดยในช่วงเช้ามีเวทีสัมมนาเรื่อง "ประชาธิปไตยที่กินได้"


 



นายไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวเปรียบเทียบข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาคนจนกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแยกตามประเด็นข้อเสนอต่างๆ


 


การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ทุกภาคเผชิญปัญหานี้ตลอดในระยะนานมาแล้ว ที่ชุมชนลุกขึ้นมา อ้างอิงสิทธิในจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่สองแนว แนวที่หนึ่งคืออ้างอิงจากวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีต ว่าเราจัดการมาตั้งแต่อดีตแล้ว แล้วจากรัฐธรรมนูญปี 40 ก็เป็นครั้งแรกที่เราอ้างอิงรัฐธรรมนูญ คล้ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญก็เป็นตัวที่ยอมรับว่าการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รัฐรับรองว่าชุมชนมีอำนาจที่จะจัดการได้


 


ปัญหาที่ผ่านมา มีการยืนยันในสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมาตลอด แล้วก็ประสบปัญหาตลอด เนื่องจากรัฐไปเขียนว่า "รับรองในหลักการทั่วไป" แต่จะให้ใช้แบบไหน ใช้ได้หรือไม่ ก็ไปมอบให้การออกกฎหมาย คือ ฝ่ายบริหารหรือสภา ที่ต้อง "ให้สิทธิ" อีกครั้งหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การโต้แย้งว่าชุมชนจะสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ บางพื้นที่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับก็ปฏิบัติได้ บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับก็ทำไม่ได้ อุปสรรคใหญ่อยู่ตรงนี้


 


นอกจากนี้ สิทธิในการจัดการทรัพยากร กลับไปเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีนัยยะถึงชุมชนที่อยู่มายาวนานมาก ในกฎหมายน่าจะต้องการหมายถึงชนเผ่าเป็นหลัก ซึ่งอยู่ดั้งเดิมจริงๆ ซึ่งในความหมายของรัฐธรรมนูญ 40 นี่ก็เป็นปัญหา


 


สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ และเกิดการต่อสู้เรื่องนี้ตลอดเวลา ว่าใครจะเข้าถึง ใครจะจัดการ แล้วจัดการแล้วจะเป็นธรรมหรือไม่


 


รัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างใหม่ ก็ขยายเรื่องชุมชนเป็น 3 กลุ่ม ชุมชนธรรมดารองรับทุกชุมชน, ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ก็หมายความว่าไม่จำกัดเฉพาะชุมชนดั้งเดิมอย่างเดียว แต่คือทุกชุมชน นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญใหม่เขียนไป


 


แล้วข้อจำกัดที่ว่า "ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ" ก็ไม่มีอีกแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลบเรื่องนี้ทิ้งไปทั้งหมด


 


ทั้งนี้ มาตรการจะเป็นจริงหรือไม่ มีมาตรการสองอย่างในรัฐธรรมนูฐฉบับใหม่ หนึ่งคือ ให้มีผลทันที ใช้สิทธิทางศาลได้เลย หมายความว่าถ้าเกิดการโต้แย้งกันขึ้น เช่นสิทธิในการจัดการป่า ประชาชนสามารถอ้างอิงไปสู่ศาลได้เลย โดยไม่ต้องมีกฎหมายลูก สอง ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลบอกว่า ให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้เสร็จภายใน 1 ปี


 


เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากข้อเสนอเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะมีเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ จะมีผลอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


เราจะกำหนดการพัฒนาชีวิตตนเองได้หรือไม่


ที่ผ่านมา การพัฒนาถูกกำหนดโดยภาครัฐมาตลอด แล้วเราจะกำหนดการพัฒนาตัวเองได้ไหม เรามีสิทธิไหม นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นที่มาของโครงการ กิจกรรมที่จัดเยอะแยะไปหมด เนื่องจากรัฐมีอำนาจในการจัดการการพัฒนา ในการกำหนดโครงการ การพัฒนา ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น


 


นี่ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ชัดเจนมาก


 


ถ้าดูในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญคือ ต่อไปถ้าองค์กรท้องถิ่นจะทำงานพัฒนา จะต้องฟังชุมชนทั้งหมด แล้วต้องทำรายงาน เหมือนรายงานประจำปีแก่ชุมชนด้วย การมีโครงการ การมีแผน ทำอะไรต่างๆ ต้องฟังความเห็น เรื่องนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าถ้ามีแผนจะพัฒนาระดับชาติ  เช่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ จากเดิม ที่ระบุในมาตรา 58 ว่า กิจกรรมและโครงการต่างๆ ต้องฟังความเห็นชุมชนด้วย ในฉบับใหม่นี้รวมถึงแผนพัฒนาต่างๆ ด้วย


 


เรื่องสวัสดิการสังคม


ที่เพิ่มขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ เรื่องผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐต้องให้การช่วยเหลือ เมื่อเขียนแบบนี้ แปลว่าไม่ใช่เรื่อง "สิทธิในการมีที่อยู่อาศัย" แต่เป็นเรื่อง "รัฐให้ความช่วยเหลือ" เช่นเดียวกัน ในเรื่องสวัสดิการ เรียนหนังสือ สาธารณะ ผู้สูงอายุ ในเรื่องสวัสดิการทั้งหมด แม้จะมีข้อเสนอว่าให้ทำแบบถ้วนหน้า แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเขียนแบบเดิม คือจะช่วยเหลือเฉพาะคนที่อ่อนแอ


 


อีกข้อเสนอของประชาชน คือเรื่องภาษี ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่มีเรื่องระบบภาษี ไม่ว่าภาษีมรดก ทรัพย์สิน ไม่มีเขียนเอาไว้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งถ้าจะสร้างความเป็นธรรม ต้องจัดระบบภาษีทั้งหมดใหม่


 


เรื่องปฏิรูปที่ดิน


ที่ผ่านมาเคยมีการพูดถึงการปฏิรูปที่ดินครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2517 ว่าต้องจัดที่ดินโดยการปฏิรูปที่ดิน หลังจากนั้นก็ไม่เคยเขียนเรื่องนี้อีกเลย มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อความว่า "ต้องมีการปฏิรูปที่ดินด้วย และใช้วิธีการอื่นด้วย"  


 


การมีส่วนร่วมทางการเมือง


เรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิการเมือง การรวมตัว เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีที่เปลี่ยนคือเรื่องการลงรับสมัครเลือกตั้งนั้น เฉพาะ ส.ส.ที่ไม่ต้องมีวุฒิปริญญาตรี แต่ ส.ว.ยังต้องมีวุฒิปริญญาตรีอยู่


 


การเสนอกฎหมาย ลดจำนวนการเข้าชื่อจากห้าหมื่นเหลือสองหมื่น การเสอนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหลือสองหมื่น และมีการเสนอให้เข้าชื่อหนึ่งแสนคนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 


ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังมีอยู่ บอกว่าให้มีองค์กรขึ้นมาเพื่อการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่รายละเอียดจะเป็นยังไง ที่จะสร้างกลการการตรวจสอบตำรวจ อัยการ การฟ้องคดีทั้งหมด ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แต่รายละเอียดจะเป็นยังไงเป็นเรื่องข้างหน้า


 


ถ้าดูจากแนวทางโดยรวมของรัฐธรรมนูญ กับข้อเสนอที่สมัชชาคนจนเสนอมา มีบางเรื่องที่มีอยู่ บางเรื่องยังไม่มี แต่สิ่งที่หน้าห่วงไม่ใช่เรื่องนี้


 


อคติหนึ่งของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ "โรคทักษิณโฟเบีย" เป็นโรคกลัวระบบทักษิณ


เดิม รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาอำนาจให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง แล้วมีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง และให้ประชาชนเข้มแข็ง และมีการกระจายอำนาจที่เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบ และส่วนต่างๆ เหล่านี้ต้องสมดุลกัน แต่ปรากฏว่ามันไปโผล่ที่ฝ่ายบริหารเข้มแข็งอย่างเดียว มันเลยเสียสมดุลหมด


 


แล้วเวลานี้ แก้ปัญหาอย่างไร ก็ไปพยายามทอนอำนาจฝ่ายบริหาร ให้ถูกตรวจสอบ หนักข้อมาก


 


แล้วแก้ปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่างไร จากเดิมฝ่ายบริหารแทรกแซงแต่งตั้ง ควบคุม กำกับได้ ก็เปลี่ยน ถ่ายโอนอำนาจเหล่านี้มาอยู่ที่ศาลแทน เพราะคนที่จะตั้งองค์กรอิสระทั้งหลายได้ คือประธาน 3 ศาล บวกด้วยสองคนคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนฝ่ายค้าน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล รวมจำนวนเป็น 5 คนซึ่งเสียงข้างมากคือ 3 เสียง ...ประธาน 3 ศาล


 


แล้ววิธีเลือกองค์กรอิสระ เนื่องจากวุฒิสภาออกแบบว่ามาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น วุฒิไม่มีอำนาจเลือก แต่มีอำนาจรับรอง พอกรรมการสรรหาองค์กรอิสระไปอยู่ที่วุฒิ ถ้าวุฒิเห็นด้วยก็รับรอง ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ส่งกลับมาที่กรรมการสรรหา กรรมการสรรหาส่งเสียงเป็นเอกฉันท์อย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ก็หมายความว่า อำนาจเลือกองค์กรอิสระต่อไปในอนาคต ถ่ายโอนมาที่ศาล เปลี่ยนจากวุฒิ มาที่ศาล


 


อำนาจหลักไปอยู่ที่ศาล แม้แต่การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาก็มีองค์ประกอบกรรมการสรรหาจาก ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตัวแทนศาลปกครอง  ทั้งหมดเหล่านี้ มาจากการสรรหาโดยศาล มารวมกันเป็นกรรมการสรรหาส.ว. แนวคิดก็คือถ่ายโอนอำนาจ ไม่เชื่อว่าถ้ามีวุฒิสภา หรือฝ่ายการเมือง เลือกองค์กรอิสระ ก็กลับมาที่ศาล โดยเชื่อว่าศาลจะสถาปนาตรวจสอบอำนาจได้ และจะเดินหน้าได้ นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญนี้เขียน


 


ข้ออ่อน ถ้ากรรมการสรรหาเป็นศาล ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นคือ แนวโน้มที่เป็นไปได้ว่าศาลจะเลือกใคร ก็คือ ข้าราชการ เขาจะเห็นอธิบดี ปลัดกระทรวง ชนชั้นนำที่เป็นราชการ ในนี้ไม่ให้ฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงราษฎรทั้งหลาย ไม่เห็นหัวอยู่แล้ว


 


แท้จริง คือการสถาปนาระบบอำมาตยาธิปไตยซ่อนอยู่ลึกๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ให้ศาลเป็นคนสถาปนาอำนาจ


 


ถ้าศาลเป็นฝ่ายมีอำนาจขนาดนี้ จะเกิดกระบวนการแทรกแซงได้ไหม ถ้าได้ จะแทรกแซงการตัดสินคดีได้หรือไม่ ….ได้ มันจะลามไป แทนที่อย่างน้อย ... อย่างน้อยที่น่าจะพอเชื่อได้ว่าการตัดสินคดีบางคดียังเป็นอิสระ แต่ถ้าให้ตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขนาดนี้ ผลของมันคือ ถ้าถูกแทรกแซงได้ โอกาสที่จะถูกแทรกแซงการตัดสินคดีก็เกิดขึ้นได้ นี่คือจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


เพราะแนวคิดที่ไม่เชื่อว่าถ้าเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจจากฝ่ายบริหารมันจะไปถึงประชาชน ข้อเสนอพวกเราคือ เมื่อองค์กรอิสระถ้าถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง ก็ต้องแก้สองเรื่อง เรื่องกรรมการสรรหาควรเพิ่มองค์กรภาคประชาชนเข้าไป เรื่องนี้ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่กรรมการสิทธิฯ ซึ่งมีองค์ประกอบการสรรหาที่ดีที่สุด รวม 11 ฝ่าย เป็นกรรมการสรรหาที่หลากหลาย แล้วมันจึงเป็นอิสระเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น แล้วมันเป็นตัวอย่างได้ แต่ปรากฏว่าในครั้งนี้ ก็กลับไปลดจำนวนกรรมการสรรหาเหลือแค่ 5 คน ถามว่าทำไม อธิบายไมได้ แต่นี่คือสิ่งที่มันจะเกิด


 


แนวโน้มของมันคือ โอกาสที่ข้าราชการจะเป็นใหญ่กว่าพรรคการเมืองจะสูงขึ้นแน่ ภาคประชาชนนอกจากจะเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนแล้ว ยังต้องเผชิญกับระบบราชการทั้งระบบ


 


ถึงคราววิกฤติ จะให้ใครตัดสินใจ ถึงที่สุดก็อยู่ที่ศาล มีสามศาล มีองค์กรอิสระที่ศาลเลือกมากับมือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราถ่ายโอนอำนาจแบบประหลาดๆ เราถ่ายโอนอำนาจไปให้ตุลาการสูงที่สุดเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ไม่รู้เกิดจากอคติอะไรสักอย่าง นี่คือดำรงอยู่ ครอบงำสังคมไทยในเวลานี้


 


แทนที่จะถ่ายโอนอำนาจจากการเมืองไปสู่ประชาชน มันไม่ใช่ องค์กรอิสระที่ใช้อำนาจจริง วุฒิที่ใช้อำนาจจริง อำนาจการถอดถอนสุดท้ายอยู่ที่ศาลฎีกา ทั้งหมดอยู่ที่ศาลค่อนข้างมาก


 



นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราควรทำร่างฉบับที่ 19 เพราะมั่นใจได้ว่าฉบับที่ 18 จะไปไม่รอด เพราะหากบังคับใช้ ก็จะเกิดวิกฤติภายในหนึ่งปี และยังสะท้อนความน่าเป็นห่วงว่า การรวมศูนย์ที่เข้าไปสู่การตัดสินใจที่ศาล และข้างหลังศาล ท้ายสุดมันทำให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้นมากในระบบราชการ


 


นายอรรถจักรกล่าวว่า จากข้อเสนอของสมัชชาคนจน มาจากการคิดหลายระดับ คือ คิดถึงการวางตัวเองในฐานะชาวบ้าน ว่าชาวบ้านในฐานะพลเมืองหนึ่งคนควรจะวางยังไง พร้อมกันนั้น ก็คิดในฐานะของตัวเอง และคิดในฐานะที่เป็นชุมชน ว่าจะวางยังไงในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ


 


เขากล่าวว่า การคิด 3 ระดับนี้ เป็นความคิดที่ลึกซึ้งและก้าวหน้า บนฐานความคิดต่างๆ ทั้งหมดจะอธิบายสามเรื่อง คือ หนึ่ง ชาวบ้านในฐานะที่เป็นพลเมืองควรจะได้อะไรจากรัฐ สอง ชาวบ้านในฐานะที่เป็นสมาชิกชุมชน ควรจะมีสิทธิอะไร และการแก้ความไม่เสมอภาคของสังคม


 


นายอรรถจักรกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องคิดวันนี้คือ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่น่าจะผ่าน คปค. หรือ คมช.ต้องเอา

40 มา และให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 


เขากล่าวว่า รัฐธรรมนูญดูเหมือนว่าเอาใจชุมชน แต่อีกฝั่งก็ไปเพิ่มอำนาจของระบบราชการ วึ่งผลักสังคมตกเหวและตกเหวเร็วขึ้นด้วย


 



นายสุธี ประศาสน์เศรษฐ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ ตัวรัฐเอง ภาคราชการ ธุรกิจ กลุ่มทุน ต่างก็เป็นฝ่ายสูบเอาทรัพยากร แย่งชิงเอาเปรียบภาคประชาชนอยู่ตลอด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ส่งเสริมโครงสร้างเหล่านี้ และสถาปนาระบบอำมาตยาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น


 


นอกจากนั้นอิทธิพลของทุนข้ามชาติ องค์การเหนือรัฐต่างๆ เช่น UN, IMF เป็นเสมือนรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่ปรากฏเข้ามาโดยไม่ต้องบัญญัติ โดยการเข้ามากำหนดนโยบายของรัฐทางอ้อม ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งเสริมกลไกตลาด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รัฐไม่มีอธิปไตยที่จะกำหนดนโยบายของตนเอง ต้องเดินตามนโยบายที่ผูกพันจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาชนเองก็ได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายเหล่านี้อีกที  


 


นายสุธีเห็นว่าภาคประชาชนจำเป็นต้องถอยกลับมาตรวจสอบตนเอง ทบทวนประสบการณ์เก่าที่ผ่านมา และสร้างกลุ่มเครือข่ายเพิ่มเติม เขายืนยันว่าประชาชนต้องเชื่อว่ากำหนดอนาคตของตัวเองได้ และมั่นใจว่าตัวเองคือพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 


 



นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารัฐธรรมนูญนี้เกิดในบริบทที่ไม่ไว้ใจภาคประชาชน คนยากจน เพราะมองว่าคนจนเป็นเหยื่อของประชานิยมในสมัยทักษิณ มองว่าการเมืองภาคประชาชนไร้น้ำยา รัฐธรรมนูญนี้จึงเป็น "รัฐธรรมนูญสีเหลือง" ที่เกิดจากการประสานประนีประนอมของพลังอำนาจตามประเพณี ได้แก่ระบบราชการ ทหาร สถาบันจารีตดั้งเดิม ขณะที่ลดกดอำนาจของภาคธุรกิจการเมืองลง


 


แต่สถานการณ์ในปัจจุบันไม่สามารถย้อนกลับไปเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" อย่างในยุคพลเอกเปรม เพราะภาคสังคมมีการเติบโต ภาคประชาชนมีบทบาทเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของพลังฝ่ายนี้ได้ เขาจึงอยากเรียกประชาธิปไตยยุคนี้ว่า "ประชาธิปไตยค่อนใบ" ที่จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนบ้าง แต่ก็มองภาคประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net