Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชาวบ้าน


 


 


1 พ.ค.50  -  "ถ้าจะไม่ต้องเสียเวลามาพิจารณากันมากมาย ก็ใช้ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่สนช.เสนอไปเลย"นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เสนอระหว่างการประชุมกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ป่าชุมชน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจากหลายองค์กรเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงเหตุผล


 


ทั้งนี้ ทางเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือเสนอให้ยึดหลักตามมาตรา 18 และ 25 เนื่องจากเป็นสิทธิเบื้องต้นในการขออนุญาตให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัดระดับชาติ พิจารณาว่าเห็นสมควรหรือไม่อนุญาตให้จัดตั้งได้หรือไม่ ซึ่งมีหลักการในการพิจารณาอย่างรอบคอบอยู่แล้ว


 


รวมถึงประเด็น การใช้ประโยชน์ (หมวดคำนิยามของป่า และมาตราที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรา 34 ) ก็เป็นการเปลี่ยนหลักการใช้ตามอำเภอใจมาเป็นการใช้อย่างมีระเบียบแบบแผน และควบคุมโดยชุมชน ซึ่งมีประสบการณ์ว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นควรยึดตามร่างของสนช. ทั้งในหมวดคำนิยามและการทำไม้


 


อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายลง ขอให้ยุติการพิจารณาและยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปดีกว่าการมีพ.ร.บ.ป่าชุมชน ในลักษณะที่บูดเบี้ยวออกมาบังคับใช้


 


ในส่วนขององค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยนั้น กลับมีความคิดแตกต่างออกไป


 


"องค์กรอนุรักษ์ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ. ป่าชุมชน เฉพาะนอกเขตอนุรักษ์เท่านั้น" นางวัฒนา วชิโรดม ผู้ประสานงานองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ


 


ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ฯ ยังเสนอให้ยกระดับหลักการ แนวคิด และวิธีดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในแต่ละลุ่มน้ำย่อย ตามแนวทางของสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ  ให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ


 


โดยจัดให้มีการดำเนินการเช่นนี้กับทุกชุมชน(1,000-2,000 ชุมชน) ที่อยู่บนพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารในและละลุ่มน้ำย่อย โดยให้ชุมชนที่อยู่กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้มีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการ บริหารจัดการในลุ่มน้ำย่อยนั้นๆ ด้วย  ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนและความพร้อมของทุกฝ่าย ไม่ใช่การสั่งการที่เน้นปริมาณและเร่งเอาผลงานมาประชาสัมพันธ์เพื่อตนเองหรือองค์กรของตนเองซึ่งจะนำมาสู่ความล้มเหลวในที่สุด


 


นอกจากนั้นยังเสนอให้จัดตั้งองค์กรหรือมูลนิธิอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเพื่อระดมทุนจากทุกภาคส่วน  ที่ใช้น้ำ ไฟฟ้า และภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพื่อทำงานประสาน  ส่งเสริม สนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ และ ติดตามการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับ ส่วนราชการต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


สำหรับองค์กรอนุรักษ์ฯ  ประกอบไปด้วยองค์กรจากหลายภาคส่วน อาทิ สมาพันธ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ อาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมเหมืองฝาย กลุ่มเกษตรกร กลุ่มลุ่มน้ำย่อม ชมรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม


 


นายอำพล จินดาวัฒนะ  โฆษกประจำคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในขั้นตอนของการพิจารณานั้น ทางเราต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก และใช้ร่างที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอมาประกอบการพิจารณาควบคู่กันไป อย่างไรก็ดี กมธ.ไม่ได้มีร่างฯ ของใครที่เป็นธงอยู่ในใจ 


 


สำหรับความเห็นและข้อเสนอต่างๆ ที่เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ และองค์กรอนุรักษ์ได้ชี้แจงในวันนี้ ทางกมธ.จะรับไปประกอบการพิจารณา ส่วนการประชุมครั้งหน้าจะมีการพิจารณารายละเอียดลงลึกไปในเนื้อหารายมาตราต่างๆ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net