Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : วันสตรีแห่งสหภาพพม่า


  เสียงจากนักโทษการเมืองหญิง...จากบ้านริมทะเลสาบ ถึงคุกอินเซน


 


รายงานโดย : สุภัตรา ภูมิประภาส


 


 



 


 


62 ปี ดอว์ซู


วันที่19 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันที่ผู้หญิงจากประเทศพม่าจะร่วมกันจัดงานฉลอง "วันสตรีแห่งสหภาพพม่า" ไปพร้อมๆ กับการฉลองวาระครบรอบวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี หรือ "ดอว์ซู" ของชาวพม่า


19 มิถุนายนปีนี้ (2550) เป็นวาระครบรอบวันเกิดปีที่ 62 ของออง ซาน ซูจี


แต่เธอยังคงถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักของริมทะเลสาบอินยา  


เป็นปีที่ 5 ของการถูกจองจำครั้งล่าสุด


เสียงเรียกร้องที่ก้องมาจากทุกมุมโลกให้คณะเผด็จการทหารพม่าปล่อยเธอเป็นอิสระนั้น ไม่บังเกิดผลใด


 


เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจีต้องตกเป็นนักโทษการเมืองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านับรวมได้ยาวนานกว่า 11 ปี


เธอถูกกักบริเวณครั้งแล้วครั้งเล่าโดยปราศจากข้อหา


ครั้งหลังสุดนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม  2546 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างฝูงชนที่มาฟังปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี กับมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เหตุเกิดที่เมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า


ตลอด 4 ปีของการถูกกักบริเวณครั้งหลังสุดนี้ นอกจากคนใกล้ชิดเพียง 2 คนที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมบ้านกับซูจีแล้ว รัฐบาลฯ อนุญาตแพทย์ไปตรวจสุขภาพเธอได้เดือนละ 2 ครั้ง


นอกจากนี้แล้ว  มีเพียงนายอิบราฮิม กัมบารี รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่าให้เข้าพบกับนางอองซาน ซูจี ที่เกสต์เฮาส์หลังหนึ่งของกองทัพพม่าในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีที่แล้ว


ภาพล่าสุดของดอว์ซูที่ปรากฏต่อสาธารณชน คือภาพที่เธอถ่ายคู่กับนายกัมบารีในวันนั้น


 


 


นักโทษการเมืองในพม่า


ออง ซาน ซูจีกลายเป็นนักโทษการเมืองที่ทำให้ประชาคมโลกได้รู้จักประเทศพม่าในมุมของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง


ประเทศพม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักโทษการเมืองมากที่สุดในโลก ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าคุมขังนักโทษการเมืองไว้ทั้งหมดจำนวน 1,114 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 6  เมษายน 2550 รวบรวมโดยสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง (พม่า) -AAPP)


นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่คณะเผด็จการทหารทำการรัฐประหารและปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองร่างกุ้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (เหตุการณ์ 8888) เป็นต้นมา ได้มีการจับกุมคุมขังนักการเมืองและ สมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกิจกรรมทางสังคม นักข่าว นักเขียนตลอดจนประชาชนจำนวนหลายพันคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลทหารฯ


จากรายงานของสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา มีนักโทษการเมือง 127 คนเสียชีวิตในคุกเพราะสภาพการจองจำและการถูกทรมาน (ตัวเลขจากรายงานของ AAPP ณวันที่ 23 พฤษภาคม 2549)  นักโทษการเมืองอีกจำนวนมากเสียชีวิตภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัวไม่นาน


 


 


นักโทษหญิง


นางออง ซาน ซูจี  เป็นหนึ่งในจำนวนนักโทษการเมืองหญิงของพม่า แต่นอกจากเรื่องราวของเธอแล้ว แทบไม่มีใครรู้ว่า มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับเพทภัยทางการเมืองอยู่ในคุกต่างๆ ในประเทศพม่า 


ดอว์ ออง ซาน ซูจี เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ "จดหมายจากพม่า" ว่า "ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรีจำนวนมากที่ถูกจับขังเนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ..."


บางคนถูกจับเพียงเพราะใส่เสื้อที่มีรูปนางออง ซาน ซูจี


บางคนถูกจับเพราะมีหนังสือของนางออง ซาน ซูจี อยู่ในครอบครอง


ผู้หญิงหลายคนถูกจับเพราะสามีเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี


 


ในจำนวนนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขัง ทรมานจนเสียชีวิตในคุกนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง 4 คนรวมอยู่ด้วย คือ


ดอว์ ติน ซอว์ อู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐมอญ
ดอว์ ซาน ซาน วิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเมืองร่างกุ้ง
ดอว์ เส่ง ติน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐคะฉิ่น
ดอว์ เม เพียว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐฉาน


            สำหรับนางออง ซาน ซูจี นั้น แม้จะถูกกักขังอยู่ในบริเวณบ้านพักริมทะเลสาบอินยาของตัวเองก็ตาม แต่เธอก็อยู่ในสภาพขัดสนเช่นกัน ดอว์ซูเคยเล่าสภาพของตัวเองในระหว่างที่ถูกกักบริเวณไว้ว่า


            "บางครั้งดิฉันแทบไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับประทาน ร่างกายของดิฉันอ่อนแอมาก ผมร่วงดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หัวใจดิฉันเต้นแรง แทบหายใจไม่ออก น้ำหนักของดิฉันลดลงจาก 106 ปอนด์ เหลือเพียง 90 ปอนด์"


ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองหญิงอีก 56 คนที่ถูกจองจำอยู่ตามคุกต่างๆ ในประเทศพม่า


            ต่อไปนี้คือบางส่วนของชีวิตในคุกหญิงของพม่าที่เล่าโดยอดีตนักโทษการเมืองหญิงคนอื่นๆ


 


 


ข้อมูลจากสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง (พม่า)


Assistance Association for Political Prisoners (Burma)


 


การถูกคุกคามทางเพศ


ดอว์ ซูซู มอ สมาชิกองค์การนักศึกษาเขียนเล่าประสบการณ์ในระหว่างที่ถูกจับและคุมขังเมื่อปี 2534 ไว้ว่า


"ระหว่างที่ถูกสอบสวน ฉันถูกบังคับให้นั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นยืนสลับกันไปโดยชูมือทั้งสองไว้ด้วย เมื่อใดก็ตามที่ฉันหยุดเพราะความอ่อนล้า ฉันจะถูกไม้หวายฟาดที่สะโพกและหัวนม ฉันถูกทรมานแบบนี้ตลอดคืน เวลาที่ฉันพยายามที่จะกระชับผ้าโสร่งที่ใส่อยู่ให้แน่นขึ้น พวกเขาจะฟาดที่แขนฉัน แล้วขู่ว่าถ้าฉันไม่พูดความจริง เขาจะช่วยกันถอดผ้าสโร่งของฉัน" 


 


ดอว์ ติน ติน มอ นักศึกษามหาวิทยาลัย เล่าว่า ระหว่างถูกสอบสวน เจ้าหน้าที่เอาผ้าคลุมหน้าเธอไว้ พวกเขาตบตีเธอ และขู่เธอว่า "เธอคงไม่ลืมนะว่า เธอยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่" ตินตินมอบอกว่า คำขู่นั้นทำให้เธอหวาดกลัวยิ่งกว่าการถูกตบตีเสียอีก


 


การทรมาน


ดอว์ ทัน จ่วย สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ถูกจับกุมและคุมขังระหว่างปี 2534-2539 เล่าประสบการณ์ในคุกว่า


"รัฐบาลทหารฯ ประกาศกับชาวโลกว่า ไม่มีการทรมานนักโทษการเมืองในพม่า แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นในคุกที่ดิฉันอยู่คือ นักโทษการเมืองหญิง 2 คนถูกผู้คุมสั่งให้หันหน้าแนบกำแพงคุก แล้วก็เฆี่ยนพวกเธอด้วยหวาย การกระทำแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการทรมานหรือ?"


 


 


สภาพในคุก


แพทย์หญิง ขิ่น มาจี ถูกจับกุมเพราะมีหนังสือ "เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว" (Freedom from Fear) และหนังสือ "จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย" (From Dictatorship to Democracy) ไว้ในครอบครอง เธอถูกจองจำอยู่ที่คุกเมืองมันดาเลย์เป็นเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2539-2545


            แพทย์หญิง ขิ่น มาจี เล่าว่าเวลาที่มีการอนุญาตให้ตัวแทนจากองค์กรต่างประเทศมาเยี่ยมชมสภาพคุกนั้น นักโทษก็จะได้กินข้าวสีขาวและแกงที่อยู่ในสภาพปกติที่สามารถรับประทานได้


            "แต่เมื่อพวกเขากลับไป ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพเดิม บางครั้งข้าวที่เอามาให้นักโทษมีกลิ่นเหมือนขี้หมู ฉันต้องอุดจมูกตัวเองแล้วพยายามไม่มองมันตอนที่ตักเข้าปาก"


 


ซาน ซาน น๋วย  นักเขียนสตรีชาวพม่าถูกจับพร้อมกับบุตรสาวด้วยข้อหา "ผลิตและส่งรายงานต่อต้านรัฐบาลให้สถานีวิทยุต่างประเทศและสำนักข่าวต่างประเทศ" ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี เธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจำขังอยู่ 7 ปี ซาน ซาน น๋วยได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านักโทษการเมืองหญิงคนอื่นๆ เพราะเธอเป็นที่รู้จักในสังคมพม่าและให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศติดตามคดีของเธออย่างใกล้ชิด เธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนกรกฏาคม 2544


            "ฉันกับลูกสาวถูกขังอยู่ในห้องขังเดียวกันเป็นเวลา 5 ปี 7 เดือน หลังจากที่ลูกสาวฉันได้รับการปล่อยตัวไป ฉันต้องถูกขังเดี่ยวในห้องแคบๆ อยู่กว่าปี ตามกฎของเรือนจำ ฉันต้องอยู่แต่ในห้องขังทั้งวัน นอกจากเวลาวันละ 35 นาทีช่วงเช้า และ 25 นาทีช่วงบ่ายที่ฉันได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาช่วงนี้อาบน้ำ ซักผ้า หรือเดินออกกำลังได้"


 


ดอว์ เอเอ วิน ถูกจับกุมด้วยข้อหาเผยแพร่ภาพและวีดีทัศน์การปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี เธอถูกพิพากษาจำคุก 7 ปี


            "ฉันถูกขังรวมกับนักโทษหญิงคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด คดีลักทรัพย์ประมาณ 300 คน และผู้คุมหญิงก็ปฏิบัติกับฉันราวกับว่า ฉันเป็นอาชญากร ผู้คุมจะใช้หวายฟาดเวลาที่พวกนักโทษส่งเสียงดัง"


 


ยี ยี ทุน ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกิจกรรมทางการเมือง เธอถูกจองจำในคุกระหว่างปี 2540 - 2545


            "หลังจากถูกขังอยู่ 11 เดือนที่คุกอินเซน ฉันถูกย้ายไปขังที่คุกเมืองทราวดี ที่คุกอินเซนตอนนั้นมีแออัดไปด้วยนักโทษการเมืองประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองหญิงอยู่ 10 คนที่ถูกย้ายไปอยู่คุกนอกเมืองแห่งอื่นๆ ตอนที่ถูกขนย้ายนั้น ฉันคิดไปถึงภาพการขนย้ายนักโทษชาวยิวไปยังค่ายกักกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่รู้ว่าจะถูกพาไปไหน"


 


 


0 0 0


 


ข้อมูลจากศูนย์กลางนานาชาติว่าด้วยเรือนจำศึกษา (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2548)


International for Prison Studies, King"s College, London


 


ประเทศพม่ามีเรือนจำกลาง 2 แห่ง คือคุกอินเซน และคุกมันดาเลย์ และคุกอื่นๆอีก 39 แห่งทั่วประเทศ


นอกจากนี้มีค่ายคุมขังนักโทษสำหรับการใช้แรงงานหนักอีก ดังนี้


 


ค่ายแรงงานเหมืองหิน 17 แห่ง


ค่ายแรงงานเกษตรกรรม 18 แห่ง


ค่ายแรงงานปศุสัตว์ 2 แห่ง


ค่ายแรงงานก่อสร้างถนน 8 แห่ง


ค่ายแรงงานก่อสร้างทางรถไฟ 1 แห่ง


ค่ายแรงงานไร่ยางพารา 1 แห่ง


ศูนย์นักโทษหญิง 1 แห่ง


ค่ายฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด 2 แห่ง


 


จำนวนนักโทษหญิงเป็น 17.8 % ของจำนวนนักโทษทั้งหมดประมาณ 60,000 คน (ตัวเลขปี 2548) ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าความสามารถในการรองรับของเรือนจำและเจ้าหน้าที่ คิดเป็น 144.3%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net