เครือข่าย 19 กันยาฯ จับผิดโฆษณา สสร. แหกตาประชาชน

ธัญธิดา แสงวิจิตต์  

 

รวมพลัง ลงประชามติ

"เห็นชอบ"

รัฐธรรมนูญใหม่

ให้เมืองไทยมี

"การเลือกตั้ง" 

อันเนื่องจากข้อความการโฆษณาข้างต้นจากหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ดังนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ตัวแทนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จึงได้เดินทางไปยังหน้ารัฐสภาเพื่อแถลงการณ์ประนามการกระทำของคณะกรรมธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ในการลงโฆษณาตามหน้าสื่อต่างๆ โดยมีเนื้อหาที่เป็นเท็จและปิดปังข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน รวมทั้งยังจับผิดโฆษณาดังกล่าว และแก้ไขข้อความใหม่ เป็น

รวมพลัง ลงประชามติ

ไม่

"เห็นชอบ"

รัฐธรรมนูญใหม่

เมืองไทยมี

"การเลือกตั้ง"

ได้

เพื่อแสดงให้สื่อมวลชนเห็นถึงทางเลือกและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องพร้อมทั้งนำแผ่นโฆษณาของ สสร.มาเผาเพื่อแสดงให้ทาง สสร. เห็นว่าทางเครือข่ายรู้ฯเท่าทันและไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว  
 
ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ภายใต้หัวข้อ "ประณามประชาสัมพันธ์อัปยศ"เพื่อประณามการกระทำในครั้งนี้ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ได้ให้ความเห็นต่อพฤติกรรมดังกล่าวว่าข้อความดังกล่าวว่ามีลักษณะที่เป็นเท็จ เพราะว่าแท้จริงแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะรัฐประหารเองที่จะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ ซึ่งไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะของผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงไม่มีหน้าที่ที่จะมาทำการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน เนื่องจากการที่มีผู้บริหารหนังสือพิมพ์บางฉบับเข้ามาอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนุญ การโฆษณาจึงทำให้หนังสือพิมพ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าโฆษณา  
 

ทางเครือข่าย 19 กันยาฯ จึงมีเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงแสดงจุดยืนร่วมกันในการปฏิเสธการลงโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ให้ยึดถือจริธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ว่าต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน เพราะว่ามิฉะนั้นแล้ว สือมวลชนอาจจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าได้ร่วมกับคณะรัฐประหารในการหลอกลวงคนทั้งประเทศ  
 

นอกจากนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ประณามการประชาสัมพันธ์อัปยศในครั้งนี้ ยังได้ท้าทายไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า หากว่ามั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ดีและสนองผลประโยชน์ของประชาชนจริง ก็ขอให้นำเนื้อหาของรัฐธรรมนุญมาลงโฆษณาเผยแพร่ ไม่ใช่นำข้อความอันเป็นเท็จมาหลอกลวงประชาชน  

รวมทั้งหากทาง สภาร่างรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ก็ขอให้คณะรัฐประหารประกาศและรับรองว่า ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว จะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาประกาศใช้ เพื่อให้ประชาชนเห็นทางเลือกทั้ง 2 แนวทาง อันจะทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องตามแนวทางประธิปไตย 
 

นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง เลขานุการเครือข่าย 19 กันยาฯ ได้เปิดเผยว่า "ขณะนี้ทางเครือข่าย 19 กันยาฯได้เตรียมสำนวนฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งระงับการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งทางเครือข่ายฯจะแถลงรายละเอียดอีกครั้งเร็วๆนี้อย่างแน่นอน

จากนั้นจึงได้กล่าวเชิญชวนประชาชนผู้รักประชิปไตยร่วมลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการรัฐประหารและป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคต 





แถลงการณ์

ประณามประชาสัมพันธ์อัปยศ 

      ถึงแม้ "ประชามติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 ของคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น เป็นประชามติที่มีความแปลกและพิสดารเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ เป็นประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหาร -ผู้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540- ได้แต่งตั้งขึ้น  และถ้าประชาชนไม่เลือกร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ก็เป็นอำนาจที่พวกเขาจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขแล้วบังคับใช้ พร้อมทั้งสำทับว่า  หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ก็ไม่รับประกันว่าอาจจะได้รัฐธรรมนูญที่ "ล้าหลัง" กว่าก็ได้ แต่กระนั้นคณะรัฐประหารเองก็ยังเกรงกลัวว่า ประชาชนจะลงประชามติล้มร่างรัฐธรรมนูญของตน นั่นเท่ากับว่า ประชาชนได้ปฏิเสธผลผลิตของคณะรัฐประหาร คือ รัฐธรรมนูญ และการรัฐประหารไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้งัดกลยุทธ์ มาตรการต่างๆ ทั้งข่มขู่ โกหกหลอกลวง โน้มน้าว ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหารมากขึ้น

      ล่าสุดคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐประหารได้ลงโฆษณาอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์หลายฉบับด้วยข้อความว่า

      รวมพลังลงประชามติ

      "เห็นชอบ"

      รัฐธรรมนูญใหม่

      ให้เมืองไทยมี

      "การเลือกตั้ง"

      ทาง "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" มีความเห็นต่อพฤติกรรมดังกล่าวและข้อเสนอดังต่อไปนี้

 1. เราขอประณามพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากข้อความที่ปรากฏนั้นเป็นเท็จ เพราะแท้จริงแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐประหารเองที่จะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ภายใน 30 วัน ซึ่งไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าแต่อย่างใด และถ้าจะเกิดการล่าช้าก็เกิดจากความพยายามในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มิใช่ผลของการลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

      2. สภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะของผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นผู้ได้เสียโดยตรงไม่มีหน้าที่จะมาทำการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนุญฉบับนี้ เพราะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน (confrict of interest) อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันการมีผู้บริหารหนังสือพิมพ์บางฉบับเข้าไปอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญและหนังสือพิมพ์ของตนได้รับโฆษณาอย่างมหาศาล เช่นกรณีนายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารในเครือมติชนนั้นก่อให้เกิดความเคลือบแคลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

      3. เราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงแสดงจุดยืนที่จะปฏิเสธการลงโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เพราะปรากฏอย่างชัดเจนใน ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 4 ว่า "หนังสือพิมพ์ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำและความครบถ้วน" เพราะมิเช่นนั้นแล้วท่านจะได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ได้ร่วมกับคณะรัฐประหารในการหลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ

      4. เราขอท้าทายไปยังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทุกคน หากมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ดีและสนองผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ก็ขอให้นำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาโฆษณา ไม่ใช่นำข้อความอันเป็นเท็จมาหลอกลวงประชาชน และหากมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ก็ขอให้คณะรัฐประหารกล้าประกาศและรับรองว่า ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติความเห็นชอบของประชาชนแล้ว จะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มาประกาศใช้ เพื่อให้ประชาชนเห็นรูปธรรมของทางเลือกทั้ง 2 ทาง อันจะทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจลงประชามติได้ถูกต้อง

      ทั้งนี้ "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ประชาธิปไตย ร่วมลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการรัฐประหาร และเพื่อเป็นการกำจัดทั้งเมล็ดพันธ์และเนื้อดินที่จะปูทางไปสู่การรัฐประหารในอนาคต 

โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับ ล้มรัฐประหาร

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

28 มิถุนายน 2550

แถลง ณ หน้าอาคารรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท