Skip to main content
sharethis

โดย .....รวงข้าว


 


มติ ครม. 12 มิถุนายน เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฝพ.) รักษาระดับน้ำไว้ที่ 106 -108 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับกักเก็บน้ำปกติของเขื่อนปากมูล เท่ากับเป็นการปิดเขื่อนถาวรนั่นเอง


 


ตำนานเขื่อนปากมูลที่ดูเหมือนลงตัวแล้ว ผู้เดือดร้อนทำใจให้ยอมรับได้บ้าง กำลังเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ จากการกดดันของนายทหารที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผู้บัญชาการทหารบกเป็นโดยตำแหน่ง)


 


เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่หมู่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สันเขื่อนสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร ด้วยบประมาณก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท ที่มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้าง โดยที่ประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ


 



ภาพจาก http://www.searin.org


 


กฟผ.เริ่มต้นสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534 ท่ามกลางการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด


 


เขื่อนสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2537


 


การต่อสู้คัดด้านเริ่มโดยชาวบ้านจาก 5 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.ตาลสุม และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราธานี ที่ได้ปิดถนนหน้าศาลากลางจังหวัดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 คัดค้านโครงการก่อนจะเริ่มการก่อสร้าง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ การต่อสู้เข้มข้นมากขึ้นเมื่อเริ่มลงมือก่อสร้าง


 


มีข้อเรียกร้องให้ชะลอการสร้าง และให้ กฟผ.เปิดเผยข้อเท็จเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบการสร้างเขื่อนปากมูลจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล กฟผ. นักวิชาการ และชาวบ้าน


 


เดือนมีนาคม 2536 มีการบุกยึดระเบิดและเครื่องมือก่อสร้างเขื่อน ขบวนการต่อสู้ถูกทำให้แตกแยก มีกลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อน ที่นำโดยนายเอนก บรรเทา อดีตกำนันในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขว้างก้อนหินเข้าใส่และทุบตีผู้ร่วมชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน และเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ได้เกิดการปะทะกันอีกครั้งจนมีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส


 


มีการรวมตัวร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ อีก 47 กรณี มีมติครม. สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา รับรองการแก้ไขปัญหาทั้ง 47 กรณี แต่ไม่มีความคืบหน้าด้านการปฏิบัติ


 


รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาและจัดหาที่ดิน 15 ไร่ หรือจ่ายเป็นเงิน 7 แสนบาทต่อครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหาให้กลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ตามคำเรียกร้อง


 


เดือนเมษายน 2542 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ยกเลิกมติครม.ของรัฐบาลพลเอกชวลิต ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีนโยบายจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่โครงการที่สร้างเสร็จไปแล้ว นำมาสู่การตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ที่ริมสันเขื่อนปากมูล ของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกว่า 5 พันคน และปีต่อมา บุกยึดพ้นที่จอดรถข้างโรงปั่นไฟตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน7 เพื่อกดดันให้ กฟผ.เจรจาเปิดประตูกั้นน้ำทั้ง 8 บาน


 


กฟผ.นำชาวบ้านที่จัดตั้งไว้เข้ารื้อถอนแม่มูนมั่นยืน 7 เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2543 และเข้ารื้อถอนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน7 อีกครั้งระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน มีการยิงปืน ทำร้ายขับไล่ผู้ร่วมชุมนุม ทำลายทรัพย์สินและจุดไฟเผาบ้านผู้ชุมนุมทั้งหมู่บ้าน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก


 


หลังการเปิดใช้เขื่อนปากมูล ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอาชีพการทำประมงได้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเปิดเขื่อนมาโดยตลอด ข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบเป็นเรื่องราวที่ต่อสู้กันมายาวนานตั้งแต่รัฐบาลชวน มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ และมีการศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้เสนอแนวทางแก้ไขปํญหา 4 แนวทาง คือ


1.ปิดประตูน้ำใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดทั้งปี


2.ให้เปิดประตูน้ำช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เป็นเวลา 5 เดือน


3.เปิดประตูน้ำจากเดือนเมษายน-พฤศจิกายน


   รวม 8 เดือน เป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงปลายฤดูฝน


4. เปิดประตูระบายน้ำตลอดทั้งปี


 


ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยสรุปทางเลือกที่ 4. เหมาะสมมากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้มากกว่า 8,000 ครัวเรือน การผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ไม่ได้ผลิตจากเขื่อนปากมูลก็ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่มีบทบาทต่อการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชนด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อนจนกว่าความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะการปัจจุบัน (ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีกำลังไฟฟ้าสำรองในระบบอยู่มากไม่จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล)


 


รัฐบาลทักษิณ โดยมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้ทางเลือกเปิดเขื่อน โดยยกประตูน้ำสุดประตูหมดทั้ง 8 บาน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม และมีมติครม.เปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นเปิดเขื่อน เพื่อให้ปลาอพยพขึ้นมาวางไข่


 


มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ไม่ใช้ทางเลือกจากข้อมูล และข้อเสนอที่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หากมาจากข้อเสนอของกรมชลประทาน และกรมประมง และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปไม่ได้


 


แม้เป็นมติที่ขัดต่อความต้องการของชาวบ้าน แต่อย่างน้อยการเปิดเขื่อนเป็นเวลา 4 เดือนก็ยังมีพื้นที่และช่วงเวลาให้ประกอบอาชีพประมงได้บ้าง ทำให้ยังมีช่องทางหายใจกันอยู่


 


หลังการรัฐประหาร มีมติครม.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งหมดสุดบานประตูเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กระบวนการดำเนินงานมาจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด


 


เมื่อมีการยกเลิกศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) เปลี่ยนเป็นศูนย์ขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และศจพ. มาขึ้นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน และมีนายทหารเข้ามาเคลื่อนไหวให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร ชาวบ้านจึงพยายามขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้รับการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีว่าจะเปิดเขื่อนปากมูล ตามมติ ครม. เดิม (สมัยทักษิณ)


 


กลไก กอ.รมน. อ้างว่างานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ศจพ. ที่มีประธาน คมช. เป็นผู้อำนวยการ และได้แต่งตั้งให้พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน (ขึ้นกับ ศจพ.) เป็นผู้ดำเนินการ คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากร ได้รับแจ้งให้งดการประชุม เพื่อพิจารณาการเปิดประตูน้ำ แต่มีการประชุมปัญหาปากมูลภายใต้กลไกของ กอ.รมน. 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และ 4 มิถุนายน มีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงมติครม. ที่ให้เปิดประตูน้ำเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นมติครม.เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนให้รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ 106-108 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ระดับน้ำ 108 ม.รทก. ระดับกักเก็บน้ำปกติของเขื่อน เมื่อมีการปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟ ระดับน้ำจะเหลืออยู่ที่ 106 ม.รทก.) เขื่อนยังใช้งานตามปกติไม่มีการเปิด การรักษาระดับน้ำที่ 106 - 108 ม.รทก. เป็นการเลี่ยงบาลีเท่านั้น


 


มีเหตุผลที่ใช้อ้างในการปิดเขื่อนถาวร 2 ประการ คือ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมของกรมชลประทาน และมีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้เปิดเขื่อนถาวรร้อยละ 96 ของประชาชนในพื้นที่ แต่มีประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า มีการใช้เล่ห์กลต่างๆ มากมาย ให้ประชาชนลงชื่อให้มีการเปิดเขื่อนถาวร


 


การปิดเขื่อนถาวรตามมติ ครม. 12 มิถุนายน 2550 จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและความเสียหายของระบบนิเวศวิทยาอย่างร้ายแรง เริ่มต้นด้วยความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่เตรียมเครื่องมือทางการประมงไว้ ด้วยการกู้หนี้มาลงทุนก่อน


 


การกลับมติไปมาของครม. ที่เกี่ยวโยงไปกับอำนาจที่ซ้อนอยู่จนต้องปิดเขื่อนปากมูลถาวร จะเพิ่มปัญหาไปทำไม


 


จมูกที่ถูกอุดรูหายใจ จะทำให้ร่างต้องดิ้นรนต่อสู้สลัดผู้อุดจมูกออกไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียของทุกฝ่าย นั่นก็เพื่อการอยู่รอดของชีวิต


 


ตำนานการต่อสู้เกือบ 20 ปีของชุมชนลุ่มน้ำมูลที่ผ่านการสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา กำลังถูกกำหนดให้เข้าสู่บริบทของการต่อสู้ครั้งใหม่


 


 


เอกสารประกอบ


สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2543


กรุงเทพธุรกิจ 21 มิถุนายน 2550

แถลงการณ์ ให้ครม.ทบทวนมติปิดเขื่อนปากมูลของคณะกรรมการ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net