Skip to main content
sharethis

พลเมืองเหนือ รายงาน


 


เขตพื้นที่สีแดง "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ของภาคเหนือตอนบน คือภาพสะท้อนที่ถูกผูกโยงเข้าสู่ขุมอำนาจเก่าอย่างช่วยไม่ได้


 


สื่อ นักวิชาการ ต่างชาติ ทหาร รวมทั้งคนของรัฐบาลบางคนชี้ถึงการทรงอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรีคนเมืองผู้อยู่แดนไกล มองไกลถึงว่าผลประชามติครั้งนี้เสมือนการปลดปล่อยคนไทยรักไทยออกจากความกลัว มีเบียดสถานการณ์เลือกตั้งครั้งหน้าให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น


 


แต่ปัจจัยคงมิใช่เพราะอำนาจเก่าทั้งหมด เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีส่วนส่งผลให้เขตภาคเหนือเกิดการกากบาทในช่องไม่เห็นชอบ รวมไปถึงสถานการณ์ปกครองประเทศใต้เงาท็อปบู๊ท และความต้วมเตี้ยมของรัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน


 


เพียงแต่น้ำหนักจะเทไปในส่วนใดมากกว่าเท่านั้น


 


ซึ่งหากมองลึกใช้แว่นขยายเจาะในพื้นที่จะรู้ว่า อำนาจเก่าหรือใหม่ อำนาจใดที่ทรงอิทธิพล


 


ในระดับชาติ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติจากเสียงของประชาชนราว 14 ล้านคน แต่ก็มีอีกราว 10 ล้านคนที่ไม่ยอมรับ และต้องไม่ลืมด้วยว่าประชาชนอีกราว 20 ล้านที่ไม่แสดงความเห็นต่อประชามติครั้งนี้


 


ในระดับจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด มี 24 จังหวัดที่ไม่รับร่าง นั่นคือภาคอิสาน 17 จังหวัดและภาคเหนือ 7 จังหวัด


 


ในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ฐานที่มั่นเหนียวแน่นอันเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย มีถึง 7 จังหวัดที่ไม่รับร่าง แน่นอนว่า เชียงใหม่อันเป็นกล่องดวงใจของทักษิณ หากไม่มีเสื้อสีแดงเข้าแถวมาลงประชามติ หรือใบปลิวบิดเบือนรัฐธรรมนูญเกลื่อนตลาดอุ้ยทา หรือย่านสารภี ก็คงจะเป็นเรื่องแปลกแน่


 


เสียงชาวเชียงใหม่ที่ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 ไม่ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เคยมี แต่คะแนนไม่รับร่างขี่คะแนนที่รับอยู่นับแสนคะแนน และมีบัตรเสีย ร่วม 22,000 ใบ น่าสนใจ


 


ในระดับอำเภอ มี 17 อำเภอที่เสียงของการไม่รับร่างสูงกว่า ส่วน 7 อำเภอที่รับร่างนั้นต้องดูว่าพื้นที่ไหน ?


 


เชียงดาว พร้าว ฝาง แม่แตง เวียงแหง สะเมิง อมก๋อย ล้วนแต่เป็นชนบนพื้นที่สูงและมีคนพื้นราบบางส่วนที่เสียงราชการและเสียงของนักการเมืองเปลี่ยนขั้วพอจะทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจ


 


นายอำเภอนายหนึ่งของอำเภอที่มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญบอกว่า ใช้วิธีรณรงค์คือประชุมบ่อยๆ เวลาประชุม อบต.กำนันผู้ใหญ่บ้าน จะพูดเสมอว่าให้ใช้สติ และสมองให้มาก รู้จักคิดให้มาก นึกถึงบุญคุณแผ่นดินว่ายิ่งใหญ่กว่าบุญคุณของใคร ให้มองย้อนปี 4-5 ปี บ้านเมืองเกิดอะไร ยกพระราชดำรัชในหลวงเรื่องส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ซึ่งชาวเขาบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ที่เพิ่งได้รับสัญชาติและคิดในเรื่องนี้กันมาก ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญก็ยกข้อดีข้อด้อยให้ฟังในบางเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเขา เชื่อว่าเมื่อได้ข้อมูล ไม่มีปัจจัยที่ทำให้เขวเหมือนตอนการเลือกตั้ง ความเป็นตัวของตัวเองส่งผลให้ยอมรับร่าง ในพื้นที่จะมีใบปลิวสารพัดรูปแบบก็ตาม


 


นายอำเภอท่านนี้ยืนยันว่า อำนาจเก่ายังคงมีผ่านการเป็นหนี้บุญคุณก่อนหน้านี้ การสนับสนุนค่าอาหารในการประชุมยังมาจากอดีตส.ส. ผ่านโครงข่ายที่วางไว้อยู่ อยู่ที่แกนนำและราชการจะสร้างสำนึกและเข้มข้นในการรณรงค์เข้าถึงแค่ไหนเท่านั้น


 


ขณะที่นายอำเภออีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอำเภอที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเปอร์เซ็นต์ที่สูงแห่งหนึ่งของเชียงใหม่บอกว่า ใช้การรณรงค์แจ้งแกนนำ พลังชุมชน จากนั้นเขาก็จะเข้าไปประชุมชาวบ้านต่อตามอำนาจหน้าที่เอง และในพื้นที่ก็ไม่เคยเห็น ส.ส.เก่ามารณรงค์ใดใด


 


ส่วนคะแนนในเขตเมืองและฐานของชนชั้นกลาง เช่นอำเภอเมือง หาง ดง และสันทราย เสียงไม่เห็นชอบที่สูงกว่าเห็นชอบอยู่นั้น นักวิชาการเชื่อว่าเป็นผลจากการรับข้อมูล 2 ด้านของเนื้อหารัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่ยอมรับว่าปัจจัยที่มาจากรัฐธรรมนูญและสภาพเศรษฐกิจและการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันก็มีผลของการไม่ปลื้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


สวิง ตันอุด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากเชียงใหม่ เชื่อว่าการตัดสินใจลงประชามติของประชาชนมาจากหลายเงื่อนไข ในหลายพื้นที่ประเมินภาพได้ก่อนว่า ประชาชนถกกันในเนื้อหาเป็นส่วนน้อย ประชามติกลายเป็นเครื่องมือประลองกำลังทางการเมือง มีเหตุผลของความประทับใจในผลงานของรัฐบาลเก่า รวมทั้งความไม่ประทับใจผลงานของรัฐบาลมาจากรัฐประหาร มาปะปน แต่ผลคะแนนก็น่าพอใจ เพราะเป็นพื้นที่รัฐบาลเก่าและคะแนนสูสีไม่ขาดลอยเช่นนี้ก็ถือว่า สสร.ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว


 


ส่วนที่จังหวัดอื่นๆ คืนหมาหอนก่อนการประชามติก็มีอิทธิฤทธิ์ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง กระแสผู้นำระดับหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบต.ลงพื้นที่ในเวลากลางคืนระดมคนไปใช้สิทธิเช่นเดียวกับทางราชการ ประเด็นของศาสนา การยกเลิกบัตรทองหากรับร่างรัฐธรรมนูญมีรายงานว่าถูกหยิบยกมาใช้ในพื้นที่นี้ ใบปลิวอย่างน้อย 5 ฉบับได้ทำหน้าที่ ผลคะแนนปรากฏสะท้อนออกมาให้ได้ตระหนัก เมื่อแพร่ มีเพียงอำเภอวังชิ้นอำเภอเดียวที่มีเสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ ที่เหลือไม่ปลื้ม ลำปาง ทั้ง 13 อำเภอ มี 2 อำเภอ คือ อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอแม่เมาะ เท่านั้นที่เห็นชอบ ส่วนอีก 11 อำเภอไม่เห็นชอบ พะเยา พื้นที่ 7 อำเภอ 2 กิ่ง ทั้งนี้มีเพียง 2 อำเภอ คือ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน ที่เห็นชอบ


 


เชียงราย มีเพียง อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งโดยมากเป็นชาวไทยภูเขา ที่ผ่านความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่เสียงไม่เห็นชอบสูงกว่าเห็นชอบร่วม 1.5 แสนแต้ม น่านนั้นใน 16 อำเภอไม่เห็นชอบรวดทั้งหมด มีเพียงแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือตอนบนที่มีผู้เห็นชอบในการลงประชามติครั้งนี้สูงกว่าผู้ไม่เห็นชอบเกือบเท่าตัว ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษ


 


การลงประชามติครั้งนี้บ่งชี้อะไรได้หลายหลาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองทั้งอดีต และในอนาคต เป็นการหยั่งอำนาจกันอย่างเห็นได้ชัดในหลายกรณีนับจากนี้


 


ประเด็นแรกปฏิเสธภาพ สงครามระหว่างคมช. กับขั้วอำนาจเก่าไม่ได้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ได้กลายเป็น "รธน.ฉบับคมช." ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 40 นั้นแม้จะมาจากประชาชนแต่ก็ต้องยกให้เป็น "รธน.ฉบับทักษิณ" เพราะสามารถเข้าถึงและล็อครัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้ปราศจากการตรวจสอบอย่างอยู่หมัด


 


การลงประชามติในครั้งนี้จึงกลายเป็นการประลองกำลังระหว่าง คมช. และทักษิณ โดยผู้ตัดสินก็คือประชาชนที่มาใช้สิทธิ ซึ่งผลก็ออกมาให้เห็นแล้วว่า คมช.แม้จะเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็เฉียวฉิว ส่วนทักษิณนั้น เหมือนจะแพ้ แต่(ดูให้ดี) ชนะ


 


ประเด็นต่อมา จังหวัดที่ไม่เห็นชอบกับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 24 จังหวัดประกอบด้วย ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, น่าน, พะเยา, ลำพูน และลำปาง และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่า 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ยโสธร, ชัยภูมิ, อำนาจเจริญ, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, อุดรธานี, เลย, หนองคาย, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, สกลนคร, นครพนม และมุกดาหาร


 


ประเมินการเลือกตั้งในครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นประมาณปลายปีนี้ โดยนับจากจำนวน ส.ส.เมื่อปี 48 ที่มีที่นั่งทั้งหมด 400 ที่นั่ง แบ่งเป็น กทม. 37 คน ภาคกลาง 97 คน ภาคใต้ 54 คน ภาคอีสาน 136 คน ภาคเหนือ 76 คน ไม่ว่าจะนับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือจำนวน ส.ส.ในจังหวัดที่ไม่รับร่าง ก็ยังคงมีคะแนนเสียงที่มากกว่า 3 ภาคและเป็นเสียง ส.ส.ที่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ซึ่งนับว่าไม่อาจประมาทขั้วอำนาจเก่าได้อย่างสิ้นเชิง


 


การเลือกตั้งในครั้งหน้ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่กลุ่มขั้วเก่าจะฟาดเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งใหม่ภายใน 30 วันหลังจากวันที่ลงประชามติจะมีใครเป็น "ขุนพล" และ "หัวหมู่ทะลวงฟัน" คะแนนเสียงในพื้นที่ต่างๆ นั้นจะเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าค่าตัวของคนที่สามารถกุมพื้นที่สีแดงนั้นจะต้องพุ่งปรี๊ด!!! ชนิดที่ว่าหน้ามือเป็นหลังมือแน่


 


ที่มา : นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ พลเมืองเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net