Skip to main content
sharethis


อู โอน ถั่น ประท้วงเดี่ยวต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลทหารพม่า ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าจับตัวไป (ที่มาของภาพ : สถานีโทรทัศน์ DVB http://english.dvb.no/)


 


หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลพม่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวแกนนำกลุ่มต่อต้าน 13 คน เนื่องจากพยายามบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ แต่รายงานดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาใดๆ โดยการจับกุมมีขึ้น 2 วัน หลังแกนนำกลุ่มนี้พร้อมด้วยผู้สนับสนุนกว่า 400 คนร่วมกันเดินขบวนประท้วงในกรุงย่างกุ้ง เพื่อแสดงการต่อต้านที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันเท่าตัวโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่มีกระแสข่าวลืออย่างกว้างขวางในกรุงย่างกุ้งว่าจะมีการจัดการประท้วงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันทั่วประเทศ ซึ่งทางการพม่าได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์


ต่อมามี


 


กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยราว 150 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้เดินขบวนบริเวณชานกรุงย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้ง 13 คน ต่อมามีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลราว 200 คน เข้าขัดขวางการเดินขบวนประท้วง และมีการจับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐราว 10 คน


 


"เราถูกจับอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรม" ผู้ประท้วงที่ถูกบังคับให้ขึ้นรถตะโกนบอก เหตุดังกล่าวเกิดต่อหน้าสายตาประชาชนที่ยืนดูริมถนน โดยประชาชนจำนวนหนึ่งตบมือให้กำลังใจผู้ประท้วง ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปเมืองอินเส่ง สถานที่คุมตัวนักโทษการเมือง


 


นายจ่อ จ่อ กล่าวว่า เหตุชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นเนื่องจากทหารพม่าจับกุมนายมิน โก่ หน่าย อดีตผู้นำการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในพม่าเมื่อปี 2531 ซึ่งเคยถูกจับและได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 นายจี่มิ นายมินเช ยา รวมทั้งเพื่อนรวม 13 คน โดยรัฐบาลพม่าได้สั่งให้ทหารใช้รถยนต์ไปจับถึงบ้านทุกคนในเขตเมืองย่างกุ้งตลอดคืนที่ผ่านมา ข้อหาผิดกฎหมายความมั่นคง


 


นางโอนห์ ฮลา ผู้ที่มีบทบาทในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลพม่าผู้หนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมตัว 8 คนซึ่งเป็นหญิง 6 คนและชาย 2 คนหลังควบคุมตัวไว้นาน 5 ชั่วโมงในข้อหาก่อการประท้วงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของทางการทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งที่ทำให้ราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันนางฮลาได้ขอคำอธิบายว่าเหตุใดพวกของนางจึงถูกจับ แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและ ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 คน ถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารที่สัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมการประท้วงใด ๆ อีกต่อไป


 


ด้านสำนักข่าว Christian Solidarity Worldwide รายงานเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ว่า รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดปราบนักประท้วงที่ดำเนินการประท้วงต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันขึ้นคิดเป็น 500 เปอร์เซ็นต์ โดยการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงใหญ่ในรอบสิบปี มีประชาชนราว 400 คนประท้วงตามถนนสายหลักในกรุงย่างกุ้ง จากนั้น กลุ่มผู้ประท้วงราว 20 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มสมาคมเอกภาพแห่งชาติ (USDA) ทำร้ายร่างกายและลากขึ้นรถบรรทุกหลายคันและพาตัวไป


 


แกนนำหลายคนที่ถูกจับ เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง หลายคนเคยเป็นแกนนำประท้วงเหตุการณ์ 8-8-88 หรือเมื่อวันที่  8 ส.ค. 1988 ซึ่งมี นายมินโกนาย และนายโกโกยี ผู้นำนักศึกษาปี 1988 รวมอยู่ด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ประท้วงนับพันถูกสังหารและคุมขังเป็นเวลาหลายปี โดยมินโกนายถูกจำคุกเป็นเวลากว่า 16 ปี และนายโกโกยีถูกจำคุกเป็นเวลา 15 ปีด้วยเช่นกัน


 


นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเคยถูกทางการพม่าทรมานด้วยวิธีต่างๆ ระหว่างที่ถูกจองจำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามคาดว่าแกนนำทั้งหมดจะถูกทางการกล่าวหา ในข้อหาทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกได้จนถึง  20 ปี


 


ขณะที่พบว่ามีการประท้วงรัฐบาลพม่าหน้าสถานทูตพม่าในกรุงลอนดอนและเมืองอื่นๆ ทั่วโลกในสัปดาห์นี้ ด้านเจ้าหน้าที่ Christian Solidarity Worldwide"s (CSW) Advocacy Officer for South Asia, นาย Benedict Rogers กล่าวว่าแสดงคำนับต่อความกล้าหาญของประชาชนในพม่า ที่ยอมเสี่ยงต่อการถูกจับ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่เสี่ยงชีวิตเพื่อประท้วงรัฐบาลพม่าในครั้งนี้ และประกาศยืนเคียงข้างประชาชนชาวพม่าด้วยความมั่นคงและเป็นปึกแผ่น


 


และเมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีชาวพม่าจำนวน 10 คนที่ถูกเนรเทศจากพม่า ได้ประท้วงทั้งคืน โดยประท้วงด้วยการอดอาหารให้ครบ 24 ชั่วโมง


 


ด้านนาย Stuart Windsor ผู้อำนวยการ CSW"s National กล่าวว่า มีการรายงานว่ามีการจับกุมผู้ประท้วงและเสริมกำลังทหารทั่วกรุงย่างกุ้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เห็นได้จากเหตุการณ์ในปี 1988 (2531) ว่าทหารได้ทำอะไรกับประชาชนไว้บ้าง โดยความผิดทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความผิดของรัฐบาลพม่าที่ทำการละเมิดความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้การข่มขืน ทรมาน เกณฑ์ทหารเด็ก และบังคับใช้แรงงาน และดูเหมือนว่าตัวเลขการกระทำเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง


 


เขากล่าวเพิ่มเติมว่า  นานาชาติไม่ควรทำเหมือนคนตาบอดไม่สนใจการกระทำของรัฐบาลพม่าอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องไปยังยูเอ็นให้ช่วยเหลือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกันกับที่เรียกร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษ ให้เข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์เท่าที่สามารถทำได้


 


ต่อมาในวันที่ 24 ส.ค. กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาพม่า" หรือเอ็มดีซีประมาณ 40 คน ชุมนุมกันในกรุงย่างกุ้งอีก เพื่อแสดงการต่อต้านที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมัน โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน


 


อย่างไรก็ตาม หลังกลุ่มผู้ประท้วงเริ่มเดินขบวนได้เพียง 5 นาที ก็ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลประมาณ 20 คนขัดขวางไว้ และตะโกนใส่กัน ก่อนที่ผู้ประท้วงราว 10 คนจะขึ้นรถบรรทุกออกไป ส่วนที่เหลือนั่งเป็นลูกโซ่ เพื่อต่อต้านการจับกุม แต่ถูกกองกำลังความมั่นคงบังคับให้ขึ้นรถบรรทุกตามออกไป ทั้งนี้การประท้วงดังกล่าวมีขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วในสัปดาห์นี้


 


ต่อมาวันที่ 25 หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของทางการพม่ารายงานว่า รัฐบาลจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวแล้วอย่างน้อย 63 คน หลังมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน ซึ่งรวมทั้งสมาชิกกลุ่ม 88 เจนเนอเรชั่น สตูเด้นท์ จำนวน 13 คน โดยแหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวทั้ง 13 คนถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำอินเซนแล้ว


 


เมื่อวันที่ 26 ส.ค. เจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้รวบตัวนายถิน คะยอ อายุ 44 ปี หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงที่ทางการตามล่าชนิดพลิกแผ่นดินมาหลายวันได้แล้ว และจับกุมผู้ประท้วงเพิ่มอีก 13 ราย พยานผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่า นายถิน คะยอ ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าจับกุมได้เมื่อวันเสาร์ พร้อมด้วยชายอีกคน โดยทั้งคู่ร้องตะโกนด่าทอรัฐบาลขณะถูกควบคุมตัวไป รายงานข่าวแจ้งว่า นายถินมีแผนจะไปเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลต่อหากไม่ถูกจับกุม ซึ่งนับแต่ต้นปีนี้ นายถินถูกจับกุมมาแล้ว 3 ครั้ง ในข้อหาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล


 


ล่าสุดวันที่ 27 ส.ค. 50 ชาวพม่าราว 50 คนนำโดยนายจ่อ วิน สมาชิกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรคฝ่ายค้านสำคัญพากันเดินขบวนอย่างสงบ ไม่มีป้ายประท้วง ไม่มีการตะโกนคำขวัญ แต่เดินประท้วงเงียบๆ ไปตามถนนในเมืองพะโคที่อยู่ห่างจากนครย่างกุ้ง ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 75 กิโลเมตร แม้จะเป็นการเดินขบวนเงียบๆ แต่เรียกความสนใจจากประชาชนได้เป็นจำนวนมากที่พากันยืนเรียงรายปรบมือให้กับผู้เดินขบวนทั้งหมด


 


ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ตำรวจจับกุมคนทั้งหมดนำตัวไปสอบปากคำยังสถานีตำรวจพะโค กักตัวคนทั้งหมดไว้เป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนปล่อยตัวเป็นอิสระในที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนราว 100 คน แห่ติดตามผู้ถูกจับกุมตัวไปตลอดทางและรวมตัวกันหน้าสำนักงานตำรวจเพราะเกรงว่าจะมีการทารุณกรรมต่อผู้ถูกจับกุมทั้งหมด


 


นายจ่อ วิน เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่า ประชาชนทั้งหมดกดดันจนในที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องปล่อยตัวพวกตนโดยไม่ได้ทำร้ายร่างกายหรือกระทำการไม่เหมาะสมอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายจ่อ วิน และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีรายอื่นๆ ยืนกรานจะประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันต่อไป เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน


 


ขณะที่นายชาร์ลส เพทรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมสหประชาชาติในพม่า กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นในพม่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวพม่าอย่างมาก เนื่องจากครอบครัวชาวพม่าเกือบร้อยละ 90 มีฐานะยากจน มีรายได้เฉลี่ยเพียง 35 บาทต่อวัน ดังนั้นการขึ้นราคาน้ำมันจะยิ่งทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นในการดำรงชีวิต และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้สนใจกับความเป็นอยู่ของประชาชน


 


การประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมไปแล้วอย่างน้อย 56 คน ในขณะที่สมาคมผู้ให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) หรือเอเอพีพี เชื่อว่าผู้ถูกจับกุมอาจมีถึงอย่างน้อย 100 คน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำอินเส่ง ซึ่งคาดว่าจะตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่วิทยุทางการพม่าระบุว่า นายมิน โก่ หน่าย กับพวกอีก 12 คนที่ถูกจับกุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากำลังถูกสอบสวนและจะมีการดำเนินคดีตามข้อหายุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นต่อไป 


 


ที่มา : สำนักข่าวเชื่อม


 


อ่านข่าวก่อนหน้า :


สหรัฐ แคนาดา และยูเอ็นประท้วงพม่ากรณีจับกุมผู้ประท้วงรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net