ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพจากที่เกิดเหตุ...

ที่เกิดเหตุที่ทุกวันนี้ยังมีเหตุให้เกิดอย่างสม่ำเสมอ...ที่กำลังมีเหตุ...กำลังรอความหวังจากฝนฤดูกาลใหม่ ตกลงมาชะล้างคราบเลือดในที่เกิดเหตุให้สะอาดบริสุทธิ์ดังเดิมอย่างที่เคยเป็นมา...

 

 

 

ณรรธราวุธ เมืองสุข

ศูนย์ข่าวชายแดนใต้ : สัมผัสและเรียบเรียง

 

คงมีไม่บ่อยครั้งหรอกที่คนหนุ่มสองคนซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคง จัดการแพ็คกระเป๋าเป้คนละใบนั่งรถไฟสายใต้ฝ่าคืนหนาวลงมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้  หาก 2 คนนั้นไม่ใช่ 1 นักเขียนที่หลายคนส่ายหัวเพราะไม่เข้าใจแนว กับอีก 1 ช่างภาพหนุ่มที่อนาคตอันสดใสในวงการยังรออยู่ข้างหน้า แต่เหตุผลแรกที่เขาตัดสินใจลงมา ก็แค่อยากติดตามนักเขียนในดวงใจลงไปทำงาน -พูดกี่ครั้งๆ ใครก็ไม่เข้าใจเหตุผล

 

โปรเจคท์ลงพื้นที่เป้าหมาย -เก็บข้อมูลหนึ่งปีเพื่อเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม มีนักเขียนไม่กี่คนในประเทศนี้ที่ลงทุนทำเช่นนั้น แต่ "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" นักสัมภาษณ์ที่มีชื่อคนหนึ่ง (ทั้งที่ใครหลายคนบอกว่าเป็นนักสัมภาษณ์มือหนึ่ง แต่เจ้าตัวไม่เคยยินดียินร้าย และบางอารมณ์ที่ใครพูดย้ำ เขามักตะโกนถามเสียงดังว่า -จริงหรือวะ!) ลงมือทำเช่นนั้น เป้าหมายที่ดีควรจะเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถบอีสาน เชิงดอยหนาวกับหมู่บ้านชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ แต่เขากลับชี้นิ้วลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในขณะที่เสียงระเบิดและเสียงปืนยังดังก้องอยู่ในพื้นที่ ไม่รู้เขาใช้อะไรตัดสินใจจึงโทรศัพท์ไปคุยกับ "ภัทระ คำพิทักษ์" อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อขอลงมาอาศัยร่มชายคาของ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ซึ่งภัทระ หรือ "พี่โม่ง" ของน้องๆปลุกปั้นขึ้นเป็นโต๊ะข่าวเพื่อสันติภาพ ที่ปัตตานี

 

ต้นปี 2549 ทีมงานศูนย์ข่าวอิศราออกไปตระเวนทอดผ้าป่าหลายวัดใน 3 จังหวัดกับ "ป๋าเปลว"แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และคณะนักข่าวจากกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาที่ศูนย์ข่าวใน มอ.ปัตตานี ต้องสะดุ้งระคนแปลกใจ เมื่อพบกับสองหนุ่มในเสื้อยืดเก่าๆ สีขาวและกางเกงยีนส์สีซีด เป้ใบโตคนละใบบอกว่าการมาครั้งนี้เขาตัดสินใจกันดีแล้ว ปะแรกยังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะทั้งสองคนโกนศรีษะเตียนโล่งเหมือนกัน ใส่แว่นดำเหมือนกัน พอปะสองจึงแยกแยะออกว่าคนที่มีหนวดเคราครึ้มคือ "หนึ่ง" วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ส่วนคนหน้าโล่งๆ และอายุอานามยังเป็นหนุ่มวัยเบญจเพศนั้นยังไม่รู้จัก ได้รับการแนะนำผ่านนักสัมภาษณ์อีกทีว่า นี่คือช่างภาพ "ของเขา" "เต้" ธวัชชัย พัฒนาภรณ์

 

"เราสบายๆนะ นอนตรงไหนก็ได้ ถ้านายลงพื้นที่ไหนก็บอก เราอาจขอติดรถไปด้วย" ผู้มาเยือนบอกด้วยอาการที่ไม่มีเกร็ง แต่คนที่ถูกบอกสิต้องเกร็ง เพราะไม่รู้จะวางตัวหรือต้อนรับขวัญใจที่ไม่เคยเจอตัว "เป็นๆ" อย่างไรดี

 

แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีและกลมกลืนอย่างคาดไม่ถึง...

 

จากนั้น คนทั้งเมืองก็พบกับ " เดินเป็นคู่ดูโอเลย...คู่หูหัวโล้นสองคน น่ารักมาก" นั่นคือปากคำจากเจ้าของร้านหนังสือรายหนึ่ง

 

"เดินมานึกว่าเป็นพี่กับน้อง นี่ถ้าอีกคนโกนเครารับรองว่าไม่รู้หรอกใครเป็นใคร" เสียงบอกเล่าจากปากแม่ค้าข้าวแกงมุสลิมแห่งหนึ่ง หลังจากทั้งคู่เป็นขาประจำทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยง

 

"กล้องถ่ายรูปเขาสวยมาก แปลกดี" กล้องถ่ายรูป Rolleicord กล่องสี่เหลี่ยมสีดำเก่าๆ แต่ดูเก๋ที่แขวนอยู่ในคอของเต้ ธวัชชัยกลายเป็นของแปลกสำหรับเมืองนี้ ไปที่ไหนใครก็มองหวั่นๆ นึกว่ากล่องต้องสงสัย

 

เด็กบางคนร้องไห้จ้ามาแล้วเมื่อกล่องนี้หันไปหา เพราะคิดว่าเป็นกล่องดูดวิญญาณ..

 

เป็นเรื่องพิลึกที่เคยอ่านแต่ในหนังสือ คนสองคนดั้นด้นไปสู่เมืองแปลก ไปอาศัยกับคนที่ไม่รู้จัก...แล้วเขามีวิธีการปรับตัวอย่างไร?

 

"มีสนามฟุตบอลไหมแถวนี้?" วรพจน์ พันธุ์พงศ์ถาม ใครบางคนบอกว่ามี ถ้าไม่ถึงกับเกรงใจนักฟุตบอลหน้าดุที่เดินกันเกลื่อนสนามก็เชิญแต่งองค์ทรงเครื่องไปวาดลวดลายได้ ทั้งสองคนไม่ยี่หระต่อคำเตือน เย็นนั้นเขาตระเวนไปหาซื้อรองเท้าผ้าใบ และเดินไปยกมือขอเข้าสนามลงดวลกับเจ้าถิ่น

 

มิตรภาพและความผูกพันก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆกับกลุ่มคนที่ทิ้งบ้านห่างเมืองมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ บางคืนเรานั่งถกกันดึกดื่นหรือยันใกล้สว่าง -จะว่า "ถก" ไม่เชิงนัก ก็เมื่อคนอื่นนั่งถกอยู่คนเดียว แต่คู่สนทนาทั้งสองมัวนั่งหัวเราะกับแก้วน้ำสีอำพันในมือ ยกเว้นเจอเรื่องถูกใจ สามารถต่อปากต่ออารมณ์กันได้ยันเช้า เว้นแต่เสียง "ตูม" ที่ดังแว่วแต่ไกลๆ จะบังคับให้เราวางแก้วและรีบเข้านอนแต่หัวค่ำ ตอนเช้าถึงรู้ว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด

 

บางคนบอกว่า ความสัมพันที่ว่ามันมาจากการ "ร่วมเป็นร่วมตาย" แต่เต้ ธวัชชัยแย้งว่า "ฝนตกขี้หมูไหล..."มากกว่า

 

ปัตตานี ยะลา นราธิวาสในมุมมองผ่านกล้อง Rolleicord ของเต้ กลายเป็นเมืองที่งดงามยิ่งขึ้น (อาจจะมากกว่าดวงตาของคนปกติที่ไม่รู้ว่าในมุมของคนทำงานศิลปะ เขาเลือกมองมันในมุมไหน...) จากวันก็เป็นเดือนและหลายเดือน...กล้องถ่ายรูปในมือของเต้ ธวัชชัยยังทำหน้าที่ของมันอย่างไม่บกพร่อง แม้จะเก่าและดูขี้โรค นอกจากอาการงอแงบ้างในบางคราว เมื่อเหตุการณ์สำคัญมาถึง มันก็ทำหน้าที่ต่อไปได้... ที่เกิดเหตุอย่างบ้านกูจิงลือปะ วัดพรหมประสิทธิ์ ฯลฯ ถูกบันทึกโดยช่างภาพหนุ่มอย่างละเอียดทุกแง่มุม และอย่างไม่รู้จักเบื่อ

 

เฉกเช่นปากกาและสมุดบันทึกในมือของหนึ่ง วรพจน์ก็จดได้ไม่รู้เบื่อเล่มแล้วเล่มเล่า ตัวละครและฉาก เขาละเอียดกับมันราวกับว่าหากขาดหายไปสักเล็กน้อย หนังสือเล่มที่เขาวางแผนเอาไว้จะไม่สมบูรณ์ ซึ่งเขารู้ดีว่า นั่นไม่ใช่มาตรฐานของมืออาชีพ

 

นักข่าวอย่างเราๆ ก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของนักเขียนและช่างภาพมืออาชีพ แต่ลึกๆ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะนำวิธีการทำงานของเขาไปใช้ได้สักเท่าไหร่ เพราะรายละเอียดของงานต่างกันลิบ

 

แต่อย่างน้อย...การได้ชีวิตร่วมกับ "คนเช่นนี้" มันไม่น่าเบื่ออย่างที่หลายคนว่า...

 

รถไฟสายใต้นำเขาทั้งสองกลับกรุงเทพมหานครไปหลายครั้ง แต่ละครั้ง ทำเอาคนที่อยู่ภายในบ้านสองชั้นใต้เงาสนที่ปัตตานีถึงกับออกอาการเหงา นานนับเดือนทั้งสองกลับมาพร้อมฟิล์มขาวดำในมือจากที่เกิดเหตุ ฝีมือของเต้ ธวัชชัยและหนังสือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์เอามาฝากคนทางนี้ ตัวละครในภาพถ่ายของเต้ มักจะได้ภาพถ่ายที่ล้างด้วยฝีมือของช่างภาพเองเป็นของฝาก

 

และครั้งสุดท้ายที่รถไฟสายใต้นำเขาทั้งสองกลับไป เราพร่ำบอกแก่กันว่า สักวันหนึ่งคงจะได้ "ร่วมใจ" กันอีกสักตั้ง ตราบใดที่เสียงระเบิดและเสียงปืนมันยังคงเป็นเสียงที่บาดลึกลงไปในใจของคนที่โหยหาสันติภาพ -เราจะนิ่งนอนใจอยู่ได้อย่างไร...

 

ประตูแห่งชายแดนใต้ ยังเปิดต้อนรับผู้มาเยือนอย่างคนทั้งสองเสมอ แม้ภายใต้การทำงานอย่างละเอียดละออและแฝงไว้ด้วยความปรารถนาดีต่อผืนแผ่นดิน ทั้งสองบอกว่ากำลังกาย-ใจของเขาทั้งสองรวมทั้งผู้สื่อข่าวเพื่อสันติภาพทุกคนที่มีอยู่ หมายรวมทั้งทหาร ตำรวจทุกคนในพื้นที่คงไม่สามารถทำให้เปลวเพลิงแห่งชายแดนใต้มอดลงไปได้

 

ต้องใช้ "หัวใจ" ของคนไทยทุกคนเข้าร่วมด้วย -อาจจะใช้เวลานาน แต่มันก็คุ้มค่า...

 

โปสการ์ดที่เป็นรูป "เด็กสาวปอเนาะ" 3 คนภาพขาวดำ ฝีมือของเต้ ธวัชัยเพิ่งเดินทางมาถึงนราธิวาสเมื่อเที่ยงวันนี้ ภาพนี้เคยประกอบหนังสือ "ที่เกิดเหตุ" ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์มาแล้ว เลยเป็นภาพที่ติดตาสำหรับใครหลายคน ใต้ภาพมีบรรยาย "นิทรรศการภาพถ่ายที่เกิดเหตุ" บันทึก 1 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงชื่อเจ้าของงานว่า ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และลงวันที่จัดงานว่า 29 กันยายน -26 ตุลาคม 2550On Art Gallery พร้อมข้อความ

 

"เราควรเป็นมิตรกันมิใช่หรือ ในเมืองอันงดงามเช่นนี้

เราควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมิใช่หรือ

ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน"

           

พร้อมกับข้อความที่เขียนด้วยลายมือเชื้อเชิญให้เพื่อนไปร่วมงาน เพื่อนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะหยุดภารกิจที่ทำอยู่ขณะนี้ขึ้นรถไฟสายใต้กลับสู่เมืองหลวงได้หรือไม่

 

เพราะพื้นที่เกิดเหตุยังมีเมฆฝนมืดทมึน ส่อเค้าว่า "พายุใหญ่" กำลังมา...

 

เพื่อนสำทับว่า นอกจากภาพถ่ายขาวดำ 50 ชิ้นที่บอกเล่าเรื่องราวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านกล้องสี่เหลี่ยมขี้โรคตัวนั้น ยังมีภาพฝีมือกัลยาณมิตรอย่าง "โจ้ NG" หรือยุทธนา อัจฉริยะวิญญู แห่งเนชั่นแนล จีโอกราฟิก, วิจิตต์ แซ่เฮง จากค่ายสารคดี, รวมทั้งภาพจากกล้อง "ก๊อกแก๊ก" แต่มุมมองไม่ธรรมดาของคนเขียนที่เกิดเหตุ พี่หนึ่ง วรพจน์ก็ไม่พลาดที่จะร่วมแจม

 

คนรู้ใจสัตว์อย่าง "หม่อมเชน" ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ก็นำภาพเก่าที่เคยถ่ายขณะมาใช้ชีวิตอย่างยาวนานแถบเทือกเขาบูโดเข้าร่วมแสดงในงานของน้องด้วย

 

ดนตรีจากฝีมือคน(กลัว)ป่วยอย่าง "มาโนช พุฒตาล" ก็ใช่ว่าจะหาฟังสดง่าย แต่เพื่อน้องและมองเห็นเป้าหมายของภาพทุกภาพที่สื่อ เขายินดีแบกกีต้าร์ขึ้นเวทีสร้างบรรยกาศให้กับงานวันที่ 29 กันยายนนี้

 

คือกลุ่มคนที่รักศิลปะ และมองเห็นเช่นเดียวกันว่า ภายใต้ความเชี่ยวชาญและความสนใจเฉพาะ เขาจะทำอะไรเพื่อแผ่นดินขวานทองผืนนี้ได้บ้าง

 

ที่เกิดเหตุที่ทุกวันนี้ยังมีเหตุให้เกิดอย่างสม่ำเสมอ...

 

ที่กำลังมีเหตุ...กำลังรอความหวังจากฝนฤดูกาลใหม่ ตกลงมาชะล้างคราบเลือดในที่เกิดเหตุให้สะอาดบริสุทธิ์ดังเดิมอย่างที่เคยเป็นมา...  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท