Skip to main content
sharethis

 


 


การเมือง


 


 


"คณิน"ชี้รธน.50สกัด"มาร์ค"นั่งนายกฯ โหรฟันธง"หมัก"ก็แห้ว


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และนักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการจับขั้วทางการเมืองในขณะนี้ว่า ควรปล่อยให้พรรคพลังประชาชน ซึ่งมีเสียงข้างมากถึง 233 คน เป็นรัฐบาล และควรให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นฝ่ายค้าน เพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ควรให้โอกาสนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน บริหารประเทศไปก่อน หากมีปัญหาก็สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เอื้อประโยชน์อยู่แล้ว เนื่องจากถ้าจะอภิปรายนายกรัฐมนตรีก็ใช้เสียงเพียง 96 เสียง หรือเสียง ส.ส.จำนวน 1 ใน 4 ก็สามารถเปิดอภิปรายได้แล้ว


 


"ผมไม่เข้าใจทำไมถึงต้องยื้อให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป ทั้งที่ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ พร้อมที่จะขับเคลื่อนหลังจากเลือกตั้ง ขณะนี้ดูเหมือนนักการเมืองกำลังจับประเทศขึงพืด ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนและคนที่วิ่งเต้นประสานเรื่องนี้ไม่ได้มีภูมิหลังหรือภาพลักษณ์ดีในสายตาของประชาชนทั่วไป " นายคณิน กล่าว


 


นายคณินระบุว่า แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จับขั้วกับพรรคการเมืองเล็กทั้งหมด 5 พรรค ก็รวม ส.ส.ได้เพียง 247 คนเท่านั้น และโดดเดี่ยวพรรคพลังประชาชน 233 เสียง ให้เป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำงานลำบาก เริ่มตั้งแต่เลือกนายกรัฐมนตรี จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ส.ส.จากพรรคต่างๆ จะยกมือสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากผ่านด่านนี้ไปได้ หลังจากนั้นเมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีก็จะต้องมี ส.ส.36 คน ไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลดลงเหลือ 211 เสียง ขณะที่เมื่อมีการเสนอกฎหมายยากที่จะผ่านสภา เพราะรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีสิทธิที่จะยกมือสนับสนุนได้


 


รายงานข่าวแจ้งว่าสาเหตุที่พรรคพลังประชาชนพยายามจะรวมทุกพรรคให้เข้าร่วมรัฐบาล เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 177 ระบุว่า "รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้เข้าประชุมในเรื่องใด รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุม และให้นำเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 125 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"



ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งการปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น



 


เผยมฌ.-รวมใจ-ปชร.จับขั้วพปช.แล้ว


ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน แถลงข่าวยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องทำอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีอะไรต้องปิดบังซ่อนเร้น ขณะนี้มีพรรคการเมือง 3 พรรคที่ตอบรับแล้ว คือ พรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา และประชาราช ตอบตกลงในหลักการร่วมกันที่จะมาร่วมทำงานเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ทำให้พรรคพลังประชาชนมี ส.ส.254 เสียง


 


โดยนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค และผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้ประสานกับตัวแทนทั้ง 3 พรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของพรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน ยังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยกัน ส่วนพรรคที่ 4 และพรรคที่ 5 กำลังติดต่อประสานงานกันอยู่ เพื่อรวบรวมให้ได้ถึง 315 เสียง และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายหลังวันที่ 3 มกราคม 2551



ทั้งนี้ จะแถลงภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งหมดแล้ว โดยจะมีการแถลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ นพ.สุรพงษ์กล่าวและว่า ยังมีพรรคการเมืองอีกอย่างน้อย 2 พรรค อยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อให้ได้รัฐบาล 280-300 เสียง



นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การพูดคุยเรื่องการร่วมงานเป็นไปด้วยดี ไม่มีเรื่องการต่อรอง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม และเข้าใจว่า นายสมัครเป็นนักการเมืองอาวุโส ทุกคนให้ความนับถือ จึงเป็นที่แน่นอนว่า พรรคพลังประชาชนเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล และมีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน นอกจากนี้ ยืนยันว่าพรรคชาติไทยไม่ได้ต่อรอง 6 เก้าอี้สำคัญอย่างที่เป็นข่าว


 


"ผมฝากถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้องการให้พักผ่อนให้มากๆ และเตรียมตัวทำงานในฐานะฝ่ายค้านให้ดี" นพ.สุรพงษ์ กล่าว พร้อมกันนี้ยังแสดงความมั่นใจกรณี กกต.แจกใบเหลือง ใบแดง ว่า พรรคพลังประชาชนไม่มีปัญหา โดยเฉพาะแจกใบเหลือง 3 ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา และจะไม่กระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะมั่นใจว่า หากมีการเลือกตั้งซ่อม ก็จะยังได้รับการตอบรับจากประชาชน


 


ขณะที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ รมว.กลาโหม ระบุว่ายังหวังลึกๆ ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาลว่า พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ ลืมถอดเครื่องแบบทหารออกมาพูดเสียก่อน เลยมีน้ำหนัก ก็อาจจะพูดในฐานะเป็นคนไทย แต่พูดในฐานะ รมว.กลาโหม ก็อาจจะทำให้คนสงสัย แต่ไม่เป็นปัญหา เรื่องพูดเล็กพูดน้อยอะไร เพราะเรามีความตั้งใจแก้ปัญหาประเทศชาติมากกว่าที่จะมองตัวบุคคล


 


"การพูด กกต.โดยมีนัย ก็พูดได้ แต่ให้พูดว่าพรรคอะไรได้บ้างนั้น เราได้พูดคุยกันว่าขอให้ผลของ กกต.ออกมาก่อน และกรณีเรื่องเช็กบิลนั้น เรามองเคียดแค้นแล้วกลัว เพราะคนยุมันเยอะ วันนี้ถ้าไม่มีคนยุ และไม่ต้องให้ข้อมูลผิดอะไรตรงๆ สังคมอยู่ได้ นายยงยุทธ กล่าว


 


ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง เชื่อมั่นด้วยว่า เรื่องใบแดง ใบเหลือง จะไม่ใช่อุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเชื่อว่า เอาเข้าจริงการให้ใบแดง ใบเหลือง จะมีเพียงไม่กี่ใบเท่านั้น ที่คาดกันว่าจะมีมากเป็น 20-30 ใบนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


 


นายสมัครกล่าวว่า พอใจที่สามารถรวบรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว 254 เสียง โดยระบุว่า หากได้มากกว่านี้อีกก็คงดี ซึ่งกำลังการเจรจาอยู่ โดยพรรคจะแถลงข่าวภายหลังวันที่ 3 มกราคม ซึ่ง กกต.รับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว


 


 


"นพดล"จวก"เติ้ง"ต่อรองนั่งนายกฯ


นายนพดลปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า นายบรรหารต่อรองขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแลกกับการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนว่า พรรคพลังประชาชนคงไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้ และนายบรรหาร ต้องหันกลับไปดูตัวเองด้วยว่ามีอำนาจต่อรองแค่ไหนถึงขั้นขอตำแหน่งนายกฯ ซึ่งนายบรรหาร ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนด้วย



ด้านน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ตอบโต้นายนพดลว่านายบรรหารได้ปฏิเสธข่าวไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่นายนพดลออกมาพูดให้ข่าวเพื่อให้คนอื่นเสียหาย โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่าข้อมูลที่นำมาอ้างอิงนั้นจริงหรือไม่ พิสูจน์ได้หรือไม่ แต่ต้องการจะพูดให้พวกของตัวเองดูดี แต่ทำคนอื่นเสียหาย


 


"อยากถามหาความเป็นสุภาพบุรุษของนายนพดลว่ามีหรือไม่ หากตัวเองโดนเช่นนี้บ้างจะรู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องใจเขาใจเราง่ายๆ พรรคชาติไทยมีอายุนานกว่า 30 ปี เป็นพรรคเก่าแก่อันดับ2 ซึ่งมีความอาวุโสทางการเมืองมากกว่าพรรคที่เกิดใหม่ หากเราจะปรับตัวก็เป็นการปรับตัวของเรา เพื่อให้ทันต่อกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ใช่จะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับใครได้"



 


พปช.เผย"บรรหาร"ตั้งแง่ไม่เอารวมใจฯ


แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชนเปิดเผยเบื้องต้นว่า ได้ประสานไปยัง 3 พรรคเล็ก คือ พรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ซึ่งมี ส.ส.รวมกันได้ 21 คน และเมื่อบวกกับพรรคพลังประชาชน ที่มี ส.ส.จำนวน 233 คน จะได้ ส.ส.254 คน ยังไม่นับรวมพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ซึ่งนายบรรหารส่งตัวแทนมายังพรรคพร้อมกับยื่นเงื่อนไขว่าจะมาร่วมก็ต่อเมื่อไม่มีพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เนื่องจากมีความขัดแย้งกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้


 


แหล่งข่าวเผยว่านายบรรหารได้โทรศัพท์มายัง ร.ต.อ.เฉลิม และนายสมัคร โดยมีท่าทีที่อ่อนลง แต่ยังยืนยันจะขอ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป


 


อย่างไรก็ตามช่วงเย็นวันเดียวกัน แกนนำพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินได้ไปที่บ้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แกนนำพรรคชาติไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอีกครั้ง และหารือข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชาชน รวมทั้งคุยกันเรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นว่าประสานความร่วมมือกันอย่างไร ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน



 


"เติ้ง"ยันจับขั้วเพื่อแผ่นดินแน่น


นายบรรหารกล่าวถึงกรณีพรรคขนาดเล็กรวมกันตั้งชื่อว่า "กลุ่ม 21" ไปรวมกับ 233 เสียง ก็เป็น 254 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นว่า ไม่มีปัญหา พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า ข่าวพรรคเพื่อแผ่นดินไปจับมือพรรคพลังประชาชนแล้วเป็นเพียงข่าวปล่อย ซึ่งพรรคชาติไทยกับพรรคเพื่อแผ่นดินมีจุดยืนร่วมกันตามที่ได้ประกาศชัดเจนแล้ว แต่ตอนนี้รอเพียงใบเหลือง ใบแดงก่อน เพราะถ้าใบแดงออกมาสัก 10 ใบ จะเกิดความผันแปร เพราะแต่ละพรรคจะเหลือกี่ที่นั่งเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ถึงจะรวมกันอย่างไรก็ยังยากลำบาก ดังนั้นขอให้อดใจรอสักนิด


 


ทั้งนี้นายบรรหารปฏิเสธข่าวพรรคชาติไทยยื่นเงื่อนไขขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนว่า รับรองว่าไม่มีเด็ดขาด ใครอยากนั่งก็ไป ไม่ขอแย่งกับใคร อยู่ตรงนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว อย่าให้ไปกินยาแก้ปวดหัว หรือยาแก้เครียดอีกเลย แค่นี้พอแล้ว เพราะคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ทั้งโชคดีโชคร้ายผสมกัน เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ส่วนข่าวขอตำแหน่งรัฐมนตรี 6 กระทรวง ผู้สื่อข่าวเขียนกันเอง ปล่อยกันเองหรือเปล่า



 


"เฮียตือ" ชี้ใบแดงสถานการณ์พลิก


นายสมศักดิ์ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า กระแสข่าวจะมีการลอยแพพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวเป็นเรื่องเร็วเกินไป สถานการณ์เรายังไม่รู้ จนกว่าจะมีการประกาศใบเหลือง ใบแดงเสร็จ เพราะการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังวันที่ 13 มกราคม 2551 การเมืองจึงจะนิ่ง


 


ต้องดูว่าพรรคที่เป็นแกนนำเมื่อไปจับมือกับใครแล้ว จะเกิดความมั่นคงในสภาหรือไม่ การเรียกร้องความเชื่อมั่นให้ผู้คนเป็นเรื่องใหญ่ หากจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมามีเสียงปริ่มน้ำ ง่อนแง่น ใครจะเชื่อมั่น ดังนั้นขอให้รอหลัง 13 มกราคม ตัวเลขจริงๆ ใครคืออะไร แม้ว่าตอนนี้สูตรพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากคำนึงเรื่องเสถียรภาพ แต่เราไม่รู้ว่า หลังสัปดาห์นี้จะมีการโดนใบเหลือง ใบแดงกี่ใบ" นายสมศักดิ์ กล่าว


 


นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคใดพรรคหนึ่งนั้น นอกจากตัวเลขส.ส.แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศ เพราะประเทศบอบช้ำมานานแล้ว การตัดสินใจต้องยึดประเทศเป็นตัวตั้ง สถาบันทั้ง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก และความสมานฉันท์ ซึ่งการตัดสินใจยึดหลัก 3 ประการนี้แล้ว จะต้องดูว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพหรือไม่ ประเทศชาติไปได้หรือไม่


 


ส่วนคนที่อยู่ต่างประเทศจะเป็นตัวแปรหนึ่งหรือไม่นั้นนายสมศักดิ์ กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ ถ้าเป็นจริงก็คงไม่มีใครรับ เพราะคนที่อยู่ต่างประเทศเป็น 1 ใน 111 ผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ถ้าเข้ามาแทรกแซงจะส่งผลต่อการเมืองทั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง


 


 


เพื่อแผ่นดินโต้แตก2 ฝ่าย


นายวัฒนา อัศวเหม ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน ยืนยันว่า ความเห็นของพรรคไม่ได้แบ่งเป็น 2 ขั้ว อย่างที่เป็นข่าว และการตัดสินใจจะร่วมรัฐบาลหรือไม่จะต้องเป็นความเห็นของกรรมการบริหารพรรค และคงจะได้ข้อสรุปเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง พร้อมปฏิเสธว่า ไม่ทราบที่มาของการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี 6 กระทรวง และเงินสนับสนุน 1,000 ล้านบาท


 


ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนมีความพยายามสลายขั้วระหว่างพรรคเพื่อแผ่นดินกับพรรคชาติไทยนั้น นายวัฒนา กล่าวว่า พรรคอื่นตนไม่ทราบ รู้แต่เรื่องของพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีเอกภาพ ขณะนี้เรายังคุยกับพรรคชาติไทยอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะต้องยึดถือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความปรองดองเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เคยร่วมงานกับนายสมัครสมัยอยู่พรรคประชากรไทย ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวถึงทิศทางการเมืองร่วมกันหรือไม่ นายวัฒนา ย้อนถามว่า คุณถามถึงคนชื่ออะไรนะ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายวัฒนา กล่าวว่า ผมไม่รู้จักคนคนนี้"


 


ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า การตัดสินใจจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใดจะอยู่ภายใต้จุดยืนเดิม คือ การให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจและมีความสมานฉันท์ ซึ่งวันนี้กรรมการบริหารพรรคจะร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ส่วนข่าวที่บอกว่าผมป่วยไม่เป็นความจริง ผมไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ ยังยิ้มและยังหัวเราะได้ ผมขอให้สื่อมวลชนรับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวของตัวเองด้วย นายสุวิทย์ กล่าว


 


ส่วนแนวโน้มที่จะร่วมงานกับใครนั้นนายสุวิทย์ กล่าวว่า กำลังพิจารณา ซึ่งจะมีการพูดคุยกันระหว่างพรรคการเมืองว่าจะมีอุดมการณ์อย่างไร เพราะต้องการทำให้ปัญหาการเผชิญหน้ายุติลง ความสมานฉันท์เกิดขึ้น และเห็นว่าการหารือกับพรรคชาติไทยเป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่พรรคใดจะตัดสินใจอย่างไร แต่ขณะนี้พรรคยังไม่ได้ตกปากรับคำกับใครอย่างเป็นทางการ และเห็นว่าพรรคทำใจได้ทั้งการเป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล


 


นายสุวิทย์กล่าวว่า การมีจุดยืนร่วมกับพรรคชาติไทยไม่ได้เป็นการต่อรองทางการเมือง และเชื่อว่าไม่นานคงเห็นความชัดเจน ทั้งนี้ พรรคจะเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.อีกครั้งในวันที่ 27 ธันวาคม



 


เสธ.หนั่นเผยมีโอกาสเกิดงูเห่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านสนามบินน้ำของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แกนนำพรรคชาติไทย มีการนัดรับประทานค่ำของแกนนำพรรคชาติไทยและแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน อาทิ หัวหน้าพรรคชาติไทย หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน นายวัฒนา อัศวเหม นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายพินิจ จารุสมบัติ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย



พล.ต.สนั่น กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะนัดกินข้าวกันทุกเย็น แล้วแต่ว่าจะไปกินที่บ้านใคร


 


เมื่อถามว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มองการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อย่างไร พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ที่สุดของที่สุด ถ้าทำได้ก็เป็นผู้วิเศษ เนื่องจากคะแนนสูสีกันมากและเชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะยืดเยื้อออกไปหลังปีใหม่ และยินดีด้วยหากพรรคพลังประชาชนสามารถรวม 3 พรรคเล็กเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะไปร่วมหรือไม่ ยังไม่ทราบต้องไปถามนายบรรหาร และนายสุวิทย์



ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแนวโน้มที่จะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า จะโน้มเอียงอย่างไร ต้องคิดว่าเรามีตัวเลขอยู่เท่าไร และจากสถานการณ์ตัวเลข ส.ส.ค่อนข้างใกล้เคียงกันนั้น พล.ต.สนั่น ยอมรับว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดงูเห่ารอบสอง



 


"ประชัย"พ้อประชาชนไม่เลือกอย่าโทษกัน


นายประชัยเลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือร่วมกับพรรคเล็กในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ตอนนี้ตนไม่มีอำนาจที่จะเจรจาต่อรองกับใคร เพราะประชาชนไม่ได้มอบความไว้วางใจให้เลยแม้แต่หนึ่งที่นั่ง เพราะฉะนั้นเท่ากับประชาชนและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้มอบอำนาจให้ตนไปเจรจาเลย กลุ่มพันธมิตรจะรู้สึกอย่างไรก็แล้วแต่ อาจจะคิดว่าตนมืออ่อนเกินไปและได้มอบอำนาจทั้งหมดให้พรรคประชาธิปัตย์ เลยไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะคุยกับพรรคเลย เพราะหากมีสักหนึ่งที่นั่งก็ยังจะไปโต้เถียงแทนกลุ่มพันธมิตรได้ แต่ท่านใจดำมาก


 


"จะมาโทษผมไม่ได้ บอกแล้วว่า วันที่ 23 ธันวาคม เป็นวันชี้ดวงชะตาบ้านเมือง ก็อยากให้ประเทศชาติดีขึ้น อย่างน้อยน่าจะเลือกผมสักหนึ่งที่นั่ง ให้ผมมีสิทธิต่อรองกับกลุ่ม ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ผมไม่มีที่นั่ง ผมก็ไม่รู้จะไปพูดอย่างไร ก็ต้องปล่อยให้ ส.ส.7 คนว่ากันไป" นายประชัย กล่าว


 


ขณะที่นายอมร อมรรัตนานนท์ สมาชิกพรรคมัชฌิมาธิปไตย สายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ที่มีนโยบายจะนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย การยุบ คตส. หากเดินหน้านโยบายดังกล่าว จะทำให้เกิดวิกฤติการเมืองรอบใหม่ ที่พัฒนาไปสู่การนองเลือดแน่นอน ดังนั้นสมาชิกพรรคจะตั้งกลุ่ม ดอกไม้สีขาว ซึ่งเป็นการรวมตัวของอดีตผู้สมัครส.ส.กทม.ส่วนใหญ่ อาทิ นายสมพร หลงจิ รองโฆษกพรรค นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม นางรัตนาภรณ์ ธรรมโกศล นางพรรณทิพย์ ยอดวิเศษ เป็นต้น และจะขยายความคิดนี้ไปยังสมาชิกในพรรค คิดว่านายประชัยจะไม่ขัดขวาง เพราะเราขับเคลื่อนแนวคิดอุดมการณ์ของพรรค


 


 


"อภิสิทธิ์"ให้ย้อนดูอดีตนายกฯ


นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นห่วงความไม่พร้อมของพรรคพลังประชาชน ที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคยังพูดไม่ตรงกัน ยืนยันว่าไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองในชาติอย่างเด็ดขาด และถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จะเป็นฝ่ายค้านที่รับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นรัฐบาลจะใช้อำนาจนั้นไปทางไหน ดังนั้น จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีตัวจริง


 


อยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังพิจารณาจับขั้วทางการเมืองนำข้อมูลของอดีตนายกรัฐมนตรีมาประกอบการตัดสินใจด้วย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวและว่า ขอให้นักการเมืองคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าทำงานให้คนคนเดียว


 


นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่มีการแสดงความเป็นห่วงว่าพรรคประชาธิปัตย์จับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองขนาดเล็กทุกพรรคแล้วจำนวนส.ส.เกินครึ่งเพียง 12 เสียงเท่านั้นว่า ไม่มีปัญหา เพราะในอดีตเคยมีรัฐบาลผสมมีเสียงเท่านี้ และอยู่ได้นานกว่ารัฐบาลพรรคเดียวอีกด้วย ขณะนี้ตัวเลขจำนวน ส.ส.ยังไม่นิ่ง เพราะต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต.ก่อน และอยู่ที่ว่าพรรคพลังประชาชนดำเนินการไปอย่างไร


 


"ถ้าพรรคพลังประชาชนตั้งไม่ได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของผมที่จะต้องดำเนินการ และความจริงแล้วคะแนน ส.ส.ระบบสัดส่วนที่ออกมา ปรากฏว่าประชาชนไปลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคพลังประชาชน ดังนั้น ผมก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เหมือนกัน แต่โดยมารยาทเมื่ออยู่ในระบบรัฐสภา เราใช้เกณฑ์เรื่องที่นั่ง เราก็ให้โอกาสพรรคพลังประชาชนจัดตั้งก่อน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว



หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาเห็นความไม่เรียบร้อยของการเมืองมีอยู่เสมอ แต่เรามีความตั้งใจมุ่งมั่น และต้องเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างง่าย แต่ตรงกันข้ามเวลานี้ทุกอย่างยาก


 


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า จะกลับประเทศไทยหลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งนั้น จุดยืนของตนกับพรรคประชาธิปัตย์และทุกพรรคการเมือง เห็นตรงกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่น แต่หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เลยเถิดจนถึงขั้นพูดชี้นำไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือจะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง ถือว่าน่าเป็นห่วง ขณะนี้จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว และแก้ในทางที่อาจจะเลยเถิดที่ไม่ถูกต้อง


 


 


ประกาศซีแอลยามะเร็งปีใหม่ เผย"จีแพป"ผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึง


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ- น.พ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ในยามะเร็ง ภายหลังจากที่คณะกรรมการเจรจาต่อรองเพื่อการเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ซึ่งมี น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธาน ได้รายงานผลสรุปการต่อรองราคายาต่อ น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาตัดสินใจจาก รมว.สาธารณสุข ซึ่งหากตัดสินใจประกาศซีแอลจะมอบให้ทางสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกเป็นประกาศซีแอลในยามะเร็ง


 


น.พ.วิชัย กล่าวว่า เท่าที่ติดตามผลการเจรจาต่อรองราคายา เห็นว่าในจำนวนยามะเร็ง 4 รายการ มียามะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ อิมาทินิบ มีความคืบหน้ามากกว่ายามะเร็งอื่นๆ โดยทางบริษัทโนวาตีส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เสนอโครงการจีแพปให้กับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 45 ล้านคน สามารถเข้าถึงยาได้ โดยเป็นการให้ยาฟรี แต่ทั้งนี้มีหลักเกณฑ์กำหนด คือ รายได้ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมจะต้องไม่สูงเกินไป


 


"ยาอิมาทินิบอาจจะไม่ทำซีแอล แต่ก็ไม่แน่ เพราะหลักเกณฑ์ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการจีแพปนั้น ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนในระบบหลักประกันเข้าไม่ถึงยา" น.พ.วิชัย กล่าว


 


การเจรจาต่อรองราคายาอีก 3 รายการ คือโดซีแท็กเซล รักษาโรคมะเร็งปอดและเต้านมของบริษัทซาโนฟี่ อาเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด เออร์โลทินบ ยารักษาโรคมะเร็งปอด บริษัทโรช (ประเทศไทย) จำกัด และ เล็ทโทรโซล ยารักษามะเร็งเต้านม บริษัท โนวาตีส (ประเทศไทย) จำกัด แม้ว่าการเจรจาจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ทางบริษัทยาก็สามารถลดราคายาให้ได้ไม่มากนั้น ด้วยเหตุนี้ เชื่อว่าที่สุดคงต้องทำซีแอล


 


 


จุฬาฯร้อง"ป๋า"ชะลอร่างพ.ร.บ.ทูลเกล้าฯ


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - เครือข่ายประชาคมจุฬาฯ คัดค้าน มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี ชะลอนำร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯขึ้นทูลเกล้าฯถวาย วานนี้ (25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ศ.ดร.โสภณ เริงสำราญ ประธานเครือข่ายประชาคมจุฬาฯ คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ (จคม.) ได้นำนักศึกษาประมาณ 50 คนเดินทางมาบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ขอให้ช่วยชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย โดยมี พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ออกมารับหนังสือแทน


 


ศ.ดร.โสภณ กล่าวถึงเหตุผลของการยื่นครั้งนี้ว่า 1.ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลายมาตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2.ในการพิจารณาในสนช. มีข้อทักท้วงจากกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างน้อยว่าเป็นไปอย่างรวบรัด 3.ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.ยังมิได้ดำเนินการตามพระราชกระแสที่รับสั่งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ครบถ้วน 4. ผู้บริหารของจุฬาฯมีสิทธิในการนำที่ดินพระราชทานไปร่วมลงทุนเพื่อหารายได้ให้มหาวิทยาลัย 5.ต้องใช้งบประมาณในการจ้างผู้บริหารและบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก


 


วันเดียวกัน ศ.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาฯ แถลงชี้แจ้งร่างพ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ... ต่อประชาคมจุฬาฯ ว่าสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. จุฬาฯ พ.ศ...มีหลายประเด็นที่ประชาคมจุฬาฯ ยังไม่เข้าใจ เป็นห่วง และกังวลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินของมหาวิทยาลัย ในมาตรา 15 การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ส่วนการเปลี่ยนสถานภาพข้าราชการมหาวิทยาลัยเป็นพนักงาน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของข้าราชการ ส่วนเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด สำหรับประเด็นที่นิสิตยังกังวล คือไม่มีการขึ้นค่าหน่วยกิต


 


 


 


เศรษฐกิจ


 


 


ไฟเขียวเอฟทีเอ"อาเซียน-อียู" วางเป้าเพิ่มการค้าการลงทุน


เว็บไซต์คมชัดลึก - ครม.เห็นชอบเจรจาเอฟทีเอใต้กรอบอาเซียน-อียู ชงต่อให้ สนช.พิจารณา ชี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย เปิดทางให้ สนช.พิจารณาได้ แจงเอฟทีเอช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทยกับอียูมากขึ้น


 


นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทย ภายใต้กรอบเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบว่า สนช.สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบเจรจาเอฟทีเอได้ หากเป็นเรื่องเร่งด่วน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายและผลประโยชน์ของประเทศ โดยปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำหนดให้อาเซียนเจรจาเอฟทีเอกับอียู ซึ่งจะมีการเจรจารอบแรก วันที่ 30 มกราคม 2551


 


"การเจรจากรอบอาเซียน-อียู มีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอียู ซึ่งมีเป้าหมายการเจรจาให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และมีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในการเจรจาการค้าสินค้าต้องการให้มีการลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าหรือค่าธรรมเนียมให้มากที่สุด และครอบคลุมการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด" นายไชยา กล่าว


 


ส่วนกรอบการเจรจาของอาเซียนกับประเทศอื่นอีก 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งผ่านการดำเนินการไปแล้ว และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าไม่อยู่ในข่ายตามข้อบังคับมาตรา 190 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงไม่ต้องเสนอ สนช.ให้ความเห็นชอบ แต่เอฟทีเออาเซียน-อียูจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา


 


 


ธปท.ชี้ไตรมาส3 เอ็นพีแอลใหม่ เฉียด 5 หมื่นล้าน


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - แบงก์ชาติแจงยอดเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลไตรมาส 3 จำนวน 77,395 ล้านบาท เป็นยอดเอ็นพีแอลรายใหม่ 49,714 ล้านบาท โดยธุรกิจอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มมากสุด


 


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานถึงปริมาณการเปลี่ยนแปลงของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาว่า มียอดเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลที่ไม่หักกันสำรอง (Gross NPLS) ทั้งระบบจากไตรมาสที่ 2 จำนวน 77,395 ล้านบาท โดยเป็นยอดเอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 49,714 ล้านบาท รองลงมาเป็นยอดเอ็นพีแอลที่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 18,956 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเอ็นพีแอลจากสาเหตุอื่นๆ อีก 8,725 ล้านบาท


 


ทั้งนี้ ปริมาณการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 จำนวน 77,395 ล้านบาทนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่าในไตรมาส 2 ที่มียอดเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลจำนวน 98,437 ล้านบาท


 


โดยประเภทธุรกิจที่มีจำนวนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 3 คือ ธุรกิจอุตสาหกรรม มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจำนวน 28,113 ล้านบาท เป็นเอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 15,567 ล้านบาท รองลงมาเป็นยอดเอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่มียอดเอ็นพีแอลจำนวน 12,945 ล้านบาท เป็นแอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 9,729 ล้านบาท ถัดมาเป็นการเพิ่มขึ้นของธุรกิจการพาณิชย์ที่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 12,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 9,073 ล้านบาท


 


นอกจากนี้ ธปท.ยังได้รายงานปริมาณการลดลงของเอ็นพีแอลรวมในไตรมาส 3 ด้วยว่า มีจำนวนลดลงจากไตรมาส 2 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 64,359 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 15,516 ล้านบาท กรณีที่โอนเป็นหนี้ปกติโดยไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 11,085 ล้านบาท และกรณีอื่นๆ เช่น การรับชำระหนี้ การตัดหนี้สูญของหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้อง หรือการขายหนี้ คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งหมด 37,758 ล้านบาท


 


โดยประเภทธุรกิจที่ยอดเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุดในไตรมาส 3 ได้แก่ ธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมที่มียอดเอ็นพีแอลลดลง 21,921 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 6,672 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่จำนวนเอ็นพีแอลลดลง 11,897 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ 2,928 ล้านบาท และธุรกิจการพาณิชย์ที่จำนวนเอ็นพีแอลลดลง 11,810 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2,451 ล้านบาท


 


ทั้งนี้หากเทียบปริมาณเอ็นพีแอลที่ลดลงในไตรมาส 3 กับไตรมาสก่อนหน้าจะพบว่ายอดลดลงของเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 มีปริมาณลดลงน้อยกว่าในไตรมาสสองซึ่งมียอดเอ็นพีแอลลดลง 75,360 ล้านบาทจากไตรมาสแรกของปีนี้


 


สำหรับปริมาณคงค้างเอ็นพีแอลที่ไม่หักกันสำรองรวมทั้งระบบสถาบันการเงินในไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 485,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่มีจำนวนเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 472,643 ล้านบาท ส่วนยอดเอ็นพีแอลสุทธิที่หักกันสำรองแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 260,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีเอ็นพีแอลสุทธิจำนวน 254,637 ล้านบาท



 


 


ต่างประเทศ


 


 


พระ-แม่ชีกัมพูชาร้องศาลเขมรแดง-เร่งพิจารณาคดี


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - พนมเปญ - พระสงฆ์-แม่ชีชาวพุทธ รวมทั้งแกนนำมุสลิมกว่า 600 คนในกัมพูชา เดินขบวนร้องศาลเขมรแดงเร่งเอาผิดผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะกำหนดการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้นกลางปีหน้า


 


พระสงฆ์และแม่ชีในศาสนาพุทธรวมถึงแกนนำมุสลิมรวมกันกว่า 600 คนในกัมพูชา ชุมนุมเดินขบวนไปยังที่ทำการศาลพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วานนี้ (25 ธ.ค.) เพื่อเรียกร้องให้ศาลดังกล่าวเร่งพิจารณาคดีเพื่อเอาผิดอดีตแกนนำเขมรแดง


 


นอกจากพระสงฆ์แล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยเสื้อคลุมสีขาว เดินขบวนอย่างเงียบๆ ไปยังที่ทำการศาล พร้อมถือป้ายเขียนข้อความว่า "ความสมานฉันท์" และ "ศาลเขมรแดงเป็นเครื่องมือยุติวงจรการล้างแค้น"


 


"เราเดินขบวนเพราะต้องการสันติภาพและความยุติธรรมเกิดขึ้นในคดีเขมรแดง เราต้องการให้ศาลเร่งการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น เพราะเรารอคอยความยุติธรรมมาเกือบ 30 ปีแล้ว" แม่ชีเชา สาลีน กล่าว เธอสูญเสียญาติ 7 คน จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุครัฐบาลเขมรแดงเรืองอำนาจ ช่วงปี 2518-2522


 


ด้านนายรีช สัมบัต โฆษกศาลพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง ซึ่งออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุม เปิดเผยว่า การเดินขบวนครั้งนี้เป็นการแสดงพลังสนับสนุนศาล และศาลจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของเหยื่อในยุครัฐบาลเขมรแดง


 


ทั้งนี้ ศาลดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนก.ค. 2549 หลังจากใช้เวลาหารือนานเกือบ 10 ปีระหว่างกัมพูชากับยูเอ็น เพื่อพิจารณาคดีแกนนำเขมรแดง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อสร้างรัฐในอุดมคติ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน ปัจจุบัน แกนนำเขมรแดงซึ่งล้วนอยู่ในวัยชรา ถูกคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นช่วงกลางปีหน้า แต่หลายฝ่ายวิตกว่า ผู้ต้องสงสัยอาจเสียชีวิตก่อนชดใช้ความผิด



 


 


การศึกษา


 


 


ร่างแกนกลาง สพฐ.เน้นชั่วโมงการเรียนจากกลุ่มสาระวิชาทั้งหมด 8 กลุ่ม


เว็บไซต์แนวหน้า - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในร่างดังกล่าว ได้จัดโครงสร้างหลักสูตรเป็น 8 กลุ่มสาระวิชา คือ สาระวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ


 


นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยให้ทราบว่า อย่างไรก็ตาม บางเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเหมือนกัน เช่น เปลี่ยนตัวชี้วัดเป็นรายปี จากที่เคยกำหนดเป็นตัวชี้วัดช่วงชั้น และเขียนตัวชี้วัดให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ที่สำคัญ มีการกำหนดกรอบการจัดสรรเวลาเรียนสำหรับแต่ละระดับชั้น ด้วย โดยระดับประถมศึกษา ให้มีเวลาเรียนวันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง ระดับม.ต้น วันละประมาณ 5-6 ชั่วโมง ระดับ ม.ปลาย ไม่น้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง


 


นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดกรอบเวลาเรียนสำหรับแต่ละกลุ่มวิชา โดย กลุ่มวิชาภาษาไทยและ กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ นั้น ระดับ ป.1 - ป.3 ให้มีเวลาเรียนขั้นต่ำปีละ 200 ชั่วโมง และปีละ 160 ชั่วโมง สำหรับชั้น ป.4-ป.6 ม.ต้น ปีละ 12 ชั่วโมง ส่วน ม.ปลาย รวม 3 ปี ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 240 ชั่วโมง ส่วนในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศึกษา ให้มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าปีละ 80 ชั่วโมง สำหรับระดับ ป.1 - ป.6 ม.ต้นปีละ 120 ชั่วโมง ม.ปลาย รวม 3 ปี ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 240 ชั่วโมง และ กลุ่มวิชาสุขศึกษาฯ ,การงานฯ และศิลปะ ระดับ ป.1 - ม.3 ให้มีเวลาเรียนขั้นต่ำปีละ 80 ชั่วโมง ส่วน ม.ปลาย รวม 3 ปี ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมง กลุ่มวิชำภาษาต่างประเทศ ป.1 - ป.3 ให้มีเวลาเรียนขั้นต่ำปีละ 40 ชั่วโมง ป.4-ป.6 .ปีละ 80 ชั่วโมง ม.ต้นปีละ 120 ชั่วโมง ม.ปลาย รวม 3 ปี ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 240 ชั่วโมง นอกจากนั้น ให้มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ปีละ 120 ชั่วโมงด้วย


ทั้งนี้ให้สถานศึกษาจัดสรรเวลาเรียนในแต่ละกลุ่มสาระวิชาและรายวิชาที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นให้เหมาะสม แต่รวมทั้งหมดแล้ว ระดับประถมศึกษา จะมีเวลาเรียนในแต่ละกลุ่มสาระวิชาไม่เกินปีละ 1,000 ชั่วโมงต่อวิชา ม.ต้น ไม่เกินปีละ 1,200 ชั่วโมงต่อวิชา และ ม.ปลาย รวม 3 ปี ต้องมีเวลาเรียนไม่เกิน 3,600 ชั่วโมงในแต่ละวิชา



 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net