Skip to main content
sharethis

เสด็จเปิดประชุมสภาทรงย้ำ ส.ส.ร่วมมือ-ปรองดอง


เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. วันที่ 21 ม.ค. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยในงานรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต


 


ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภาความว่า


 


"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาเป็นประธานการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งนี้นับเป็นนิมิตรหมายของการเริ่มต้นที่ดีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา นับแต่วาระนี้ไปรัฐสภาจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ


 


ข้าพเจ้าเชื่อใจว่าบรรดาสมาชิกแห่งสภานี้มีความสำนึกในชาติอยู่ถ้วนทั่วทุกคน และต่างเล็งเห็นว่าสถานการณ์ต่างๆ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติยังคงมีอยู่ตามที่ทราบกันแล้ว ภารกิจของท่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทุกๆ ด้านให้ประเทศชาติเป็นปึกแผ่นมั่นคงเป็นปรกติสุข


 


ดังนั้น การปรึกษาตกลงหรือการอภิปรายปัญหาใดๆที่จะมีขึ้นในสภาแห่งนี้จึงควรกระทำด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้อง และด้วยความร่วมมือปรองดองกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ คือความมั่นคง ปลอดภัย และความวัฒนาผาสุกของประเทศชาติและประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้วในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ทุกท่านที่ร่วมประชุมอยู่ ณ ที่นี้ประสบแต่ความสุข ความสวัสดี จงมีทุกเมื่อทั่วกัน"


 


 


เปิดประชุมนัดแรก "ยุทธ ตู้เย็น" นั่งประธานสภา


ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ของรัฐบาลใหม่ครั้งแรก วานนี้ (22 ม.ค.) ได้มีวาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ 2 โดยมี ส.ส.เข้าร่วมประชุม 476 คน ขาดเพียง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 7 พรรคชาติไทย ที่ลาประชุมไปต่างประเทศ


 


ทั้งนี้นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 4 พรรคพลังประชาชน ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุด (79 ปี) ได้นำสมาชิกกล่าวปฏิญาณตนก่อนเริ่มทำการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ โดยก่อนเข้าสู่กระบวนการได้มีการถกเถียงกันระหว่าง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ กับส.ส.พรรคพลังประชาชน เนื่องจากส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรจะให้มีการอภิปรายตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อ และควรจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ด้วย เนื่องจากที่มีผ่านมามักจะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 นาทีในการเลือกประธานสภาฯ เพราะมีเสียงข้างมาก และไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายฯ จึงควรจะมีคนรับผิดชอบหากได้ประธานสภาสีเทามาทำหน้าที่ในสภา


 


นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ประธานต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่ประเทศเกิดวิกฤตการเมืองมา 2 ปี เพราะมีปัญหาการเลือกคนดี กรณีนี้แม้เสียงข้างน้อยจะโหวตแพ้ แต่อย่ายัดเยียดคนใดที่จะเป็นปัญหาต่อสภาภายหน้า เช่น ไม่รู้ว่าคนๆ นั้นสัปดาห์นี้จะโดนใบเหลือง หรือใบแดงหรือไม่ หรือ ถัดไป จะโดนคดีอะไรหรือไม่ อย่าข่มขืนสภา อย่าเอาเกียติ ศักดิ์ศรีสภามาแลก ดังนั้นขอให้ผู้ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ จะได้เป็นธรรมเนียมมาตรฐาน เพื่อศักดิ์ศรีได้คนดีมาเป็นประมุขสภา


 


แต่ ส.ส. พรรคพลังประชาชนกลับคัดค้านว่าไม่จำเป็น และพยายามรวบรัดให้เสนอชื่อ และลงคะแนนทันที โดยนายสุนัย จุลพงษธร ได้เสนอญัตติให้ไม่ต้องมีการอภิปราย ในที่สุดที่ประชุมให้งดการอภิปราย และเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกประธานสภา โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน เสนอนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน ขณะที่นายชำนิ ศักดิเศรษฐ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 พรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นการลงคะแนนลับด้วยการเขียนชื่อลงในกระดาษ แล้วไปหย่อนบัตรที่หน้าห้องประชุม หลังจากใช้เวลา 1 ชั่วโมง


 


ปรากฏว่านายยงยุทธ ได้ 307 คะแนน นายบัญญัติ ได้ 167 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดย ส.ส.ซีกรัฐบาลได้โหวตให้นายบัญญัติ 3 เสียง


 


 


แกนนำ "นปก." นั่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2


ส่วนการโหวตเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรค พปช.ได้รับเลือกด้วยคะแนน 303 เสียง ส่วนคู่แข่งจากพรรค ปชป.คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้ 170 คะแนน งดออกเสียง 1 เสียง โดยมีพรรคซีกรัฐบาลลงคะแนนให้คุณหญิงกัลยา 6 เสียง


 


เช่นเดียวกับการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรค พปช. ได้รับเลือกโดยไม่มีคู่แข่ง


 


โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัยเคยร่วมเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) มาก่อน และเป็น 1 ใน 15 แกนนำที่ถูกออกหมายจับ หลังชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์แล้วเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนสมัครเป็น ส.ส.นนทบุรีในนามพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ดังกล่าว


 


 


หารือตั้งวิปรัฐบาลชั่วคราว กำหนดวิธีเลือกนายกรัฐมนตรี


หลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเสร็จสิ้นลงปรากฏว่าพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคประกอบด้วยพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ได้ส่งตัวแทนเพื่อประชุมหารือกันเป็นการเร่งด่วน


 


นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้เปิดแถลงข่าวว่า ตอนนี้ที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะยังไม่มีนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) รัฐบาลได้ พรรคร่วมรัฐบาลจึงได้ปรึกษาหารือกันและได้ข้อยุติ ให้ตั้งคณะทำงานแทนวิปรัฐบาลชั่วคราว มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานวิปชั่วคราวไปก่อนส่วนเขาเป็นรองประธาน และให้มีตัวแทนแต่ละพรรคเป็นรองประธานพรรคละ 1 ท่าน


 


ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้จะทำงานไปจนว่าจะมีการแต่งตั้งวิปรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ประสานระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ซึ่งจะต้องให้มีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อน ระหว่างนี้คณะทำงานจะประชุมนัดที่สอง เพื่อกำหนดวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรี


 


ส่วนนัดที่สาม จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 2 วัน คือ วันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงการกำหนดวันประชุมสภาในสมัยประชุมสภา 120 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. เป็นต้นไป และนับไปอีก 120 วันก็จะปิดสมัยประชุมสภา อีก 2 เดือน จากนั้นจะเป็นสมัยประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติอีก 120 วัน


 


ส่วนนัดที่สี่ เป็นการประชุมเพื่อเลือกกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนข้อบังคับรัฐสภา นั้นจะต้องรอให้มีการเลือกและสรรหา ส.ว.ชุดใหม่เข้ามาก่อน


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงผลโหวตประธานสภา และรองประธานสภา ที่มีเสียงของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล เทให้กับพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า การลงคะแนนเป็นการลงคะแนนลับตรวจสอบลำบาก และถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะลงคะแนนให้ใครก็ได้ และไม่ได้ให้พรรคร่วมไปตรวจสอบ ยืนยันว่า ไม่มีความกังวลใดๆ โดยเฉพาะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการเลือกโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกตามลำดับ และสมาชิกระบุชื่อบุคคลที่ตนเลือก


 


เมื่อถามต่อว่า พรรคกังวลหรือไม่กรณีเลือกนายกฯ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ไม่วิตกกังวลใดๆ และมั่นใจว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ


 


 


"ชวน" กรีดอย่าสร้างรอยด่างให้สภา


ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้เวลาช่วงสั้นๆ กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้กระบวนการประชุมสภายังไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติว่า แม้วันนี้สภามีมติเลือกประธานและรองประธานสภา แต่สถานภาพยังไม่เกิดจนกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 ประธานและรองประธานสภา จึงจะสามารถสั่งการนัดประชุมครั้งต่อไปได้


 


"หากยึดตามประเพณีดังกล่าวแล้ว จะพบว่า การประชุมสภาในปี 2548 ออกนอกทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ละเลยต่อการให้ความสำคัญต่อพระราชวินิจฉัย ซึ่งการประชุมสภาครั้งนั้น มีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 7 มี.ค. หลังจากที่สมาชิกลงมติเลือกประธานและรองประธานสภา แล้วประธานสภาก็สั่งนัดประชุมครั้งต่อไปเพื่อเลือกนายกฯ ทันที ได้แก่ วันที่ 9 มี.ค. แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในตอนค่ำวันที่ 8 มี.ค. กล่าวคือประธานสภากำหนดวันประชุมล่วงหน้า โดยไม่รอพระราชวินิจฉัย ซึ่งการรวบรัดครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะมีความต้องการว่า ฤกษ์ยามในการเลือกนายกฯ ต้องเป็นวันที่ 9 มี.ค.


 


นายชวน กล่าวว่า การกระทำในปี 2548 เป็น 1 ใน 2 ครั้งของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรอบ 75 ปี ครั้งนี้จึงไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยอีก เพราะจะเป็นรอยด่าง เป็นมลทินที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ควรรอให้พระองค์ท่านลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งเสียก่อน แล้วประธานสภาจึงค่อยนัดว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อไร


 


"เราปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉะนั้นพระองค์ท่านจึงมีความหมายและมีความสำคัญ เรื่องใดที่จะช้าไปบ้าง แต่ดีที่สุดคือเราถวายความเคารพให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยก่อน แล้วจึงกำหนดนัดหมายการประชุมครั้งต่อไป ผมไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และเราไม่สามารถกลับไปแก้รอยด่างในปี 2548 ได้ หลายคนต้องการถือฤกษ์ยามของตัวเอง แต่ไม่มีฤกษ์อะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าพระราชวินิจฉัยว่า จะทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อใด จึงอยากให้พวกเราระมัดระวัง ไม่อยากให้สภานี้มีปัญหา" นายชวน กล่าว


 


 


"สมัคร" เข้าใจว่าต้องรอ


ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุในที่ประชุมสภาว่านายยงยุทธ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นประธานสภา เพราะฉะนั้นถือว่ายังไม่สมบูรณ์นั้น นายสมัคร กล่าวว่า นายยงยุทธ ลาออกไปแล้ว ก็ต้องไปกราบบังคมทูลฯ ในเรื่องตำแหน่ง และมีการนัดเปิดสภาอีกทีเราก็ต้องรอ ตรงนี้เรารู้อยู่แล้ว



นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า หลังการประชุมสภา ส.ส.ทุกภาคของพรรคพลังประชาชน ได้ประชุมเป็นการภายในที่ห้องประชุมกรรมาธิการ ซึ่งเป็นการหารือเบื้องต้นถึงเรื่องโควตาคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภา เป็นการคุยกันในกรอบกว้างๆ ของการทำงาน ได้ถามว่า ส.ส.มีความถนัดที่จะทำงานในคณะกรรมาธิการชุดไหน รวมทั้งได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลงคณะกรรมาธิการจาก 24 คณะให้เหลือ 21 คณะ เพื่อความเหมาะสม และคล่องตัวในการทำงาน แต่ยังไม่เป็นข้อสรุปสุดท้าย


 


 


ชท.หนุน "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" เป็น ปธ.วิปชั่วคราว


ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เปิดเผยว่า ทราบว่าในส่วนของพรรคพลังประชาชนเสนอนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชั่วคราว ซึ่งพรรคพลังประชาชนก็คงไปเตรียมบุคคลที่จะเป็นวิปอย่างเป็นทางการในภายหลัง ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้หนักใจอะไร เพราะว่ามีเสียงกว่า 300 เสียง ไม่น่ามีปัญหาอะไร ก็แล้วแต่พรรคที่เป็นแกนนำ


 


เมื่อถามว่าจากกรณีพรรคร่วมบางคนงดออกเสียงเลือกนายยงยุทธ เป็นประธานสภา จะเกิดกรณีงูเห่าหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คงเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น พรรคชาติไทยไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรในการโหวตเลือกนายกฯ ส่วนพรรคแกนนำจะเสนอใครทุกอย่างก็เป็นไปตามครรลอง


 


 


หมอเลี๊ยบเผยสูตรโควตา รมต.ส.ส.9 คนต่อ 1 เก้าอี้


ส่วนความเคลื่อนไหวในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล "สมัคร 1" น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน (พปช.) เปิดเผยว่า เบื้องต้น ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกโดยหลังจากนี้อีก 2-3 วัน จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงจะมีบทสรุปที่ชัดเจนออกมาอีกครั้งหนึ่ง


 


เลขาฯ พปช.กล่าวต่อว่า เบื้องต้นสำหรับการแบ่งสัดส่วนรัฐมนตรีของพรรคจะดูว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมี 315 คน จะแบ่งได้อยู่ที่ สัดส่วน 9 คน ต่อรัฐมนตรี 1 คน ส่วนรายละเอียดจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งหลังจากเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว


 


ทั้งนี้ทิศทางของ 6 พรรคร่วมเบื้องต้นตรงกันคือ ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาของประเทศ และหาบทสรุปร่วมกัน ดังนั้นโผรัฐมนตรีที่เป็นข่าวเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของแหล่งข่าว เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ หากจะสังเกตดูจะพบว่าแต่ละสัปดาห์จะมีการเปลี่ยนโผรัฐมนตรีอยู่ตลอดเวลา


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงตำแหน่ง รมว.คลัง ที่เคยระบุว่าต้องเป็นคนในพรรค พปช. น.พ.สุรพงษ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คนนอกหลายคนกังวลใจ รวมถึงการมีกฎหมายที่กำหนดให้มีการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งหลายครั้งทำให้คนนอกกังวลใจ นอกจากนี้การเมืองที่มีการทำลายล้างกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่มีความสามารถไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ สำหรับบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่ง รมว.คลัง พรรค พปช.อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยจะเป็นบุคคลที่ได้ทำนโยบายของพรรคมาตั้งแต่ต้น แต่ยังไม่ได้ปรากฏต่อหน้าสื่อ นอกจากนี้ยังมีทีมงานอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลัง


 


น.พ.สุรพงษ์ ย้ำว่า รมว.คลัง ต้องเป็นผู้นำและกล้าตัดสินใจ พรรค พปช.ไม่ได้คิดว่าจะมีรัฐมนตรีคลังเพียงคนเดียวที่ดูแลแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ได้มีการจัดสรรทีมงานเพื่อแก้ปัญหา โดยทีมเศรษฐกิจจะมีทั้งคนในพรรคและนักวิชาการที่พร้อมเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยทุกคนรู้ว่าต้องทำงานหนัก เมื่อพรรค พปช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคือ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีเงินแต่ไม่กล้าลงทุนเนื่องจากปัญหาสถานการณ์การเมือง


 


เมื่อถามต่อว่ามีการกำหนดสัดส่วนคนนอกคนในที่จะมาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีโควตาคนนอก คนใน เพราะทุกคนที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อมา ได้รับความเห็นชอบและมีพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนอยู่แล้ว


 


ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล เลขาฯ พปช.กล่าวว่า จากนี้ประมาณ 1-2 วันจะมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายของรัฐบาล


 


เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - ผู้จัดการออนไลน์ - โลกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net