Skip to main content
sharethis

มุทิตา  เชื้อชั่ง


 


 


 


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์....ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ถูกบรรจุไว้แล้วในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2007 หรือ  PDP 2007 เรียบร้อยแล้ว 4,000 เมกะวัตต์ ในสมัยของนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงานในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และตอนนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องให้รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จากการเลือกตั้ง พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ทบทวน-หารือเรื่องนี้ในวงกว้างอีกครั้ง


 


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกพูดถึงเป็นระยะๆ ในสังคมไทย โดยเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันมากและยังไม่มีข้อสรุปร่วม หากดูเส้นทางความเป็นมา เราจะพบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มักได้รับการผลักดันในรัฐบาลชั่วคราวหลังการยึดอำนาจเสมอ


 


 


2509     ในสมัยรัฐบาลนายพลถนอม กิตติขจร กฟผ.เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของไทย ในภาวะที่สงครามเย็นยังคงเข้มข้น แต่ก็ชะงักงันไป


 


2517     โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อ่าวไผ่ ชลบุรี ขนาด 350-500 เมกกะวัตต์ ได้รับอนุมัติในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังการรัฐประหารของคณะปฏิวัติในปี 2514 และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่โครงการก็มีอันพับไปเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติลดลง


 


2520     กฟผ. ฟื้นโครงการขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับการอนุมัติในช่วงรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และรัฐบาลนายเกรียงศักดิ์ ชมมะนันทน์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อเดือนตุลาคม 2519 แต่ด้วยกระแสต่อต้านจากทั่วโลกรวมทั้งในไทย ทำให้ต้องยกเลิกโครงการ


 


2536  สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) เสนอโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัย ที่


         อ.องค์รักษ์ จ.นครนายก ในสมัยนายชวน หลีกภัย โดยผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลนายอานันท์ ปัน


         ยารชุน รัฐบาลชั่วคราวภายหลังเกิดการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ


         (รสช.) ปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535


 


2536- แผนก่อสร้างที่องค์รักษ์ต้องชะงักลงหลายครั้งเนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม


2546  บริษัท General Atomics จากสหรัฐฯ ได้รับสัญญาให้ก่อสร้าง และขู่ว่าจะดำเนินการตาม


         กฎหมายถ้ามีการชะลอโครงการ อย่างไรก็ดี โครงการที่องครักษ์ยังคงมีปัญหาต่อเนื่องมาจน


         ปัจจุบัน


 


2550     แผนPDP เสนอให้มีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2563 โดยให้ กฟผ.ลงทุน 6,000


         ล้านเหรียญ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 4,000 เมกกะวัตต์


 


 


(ข้อมูลจาก : ประเทศไทยควรพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์หรือ? ข้อควรพิจารณาและต้นทุน โดย Sheila Bijoor และกลุ่มพลังไทย, 2007)


 


 


หรือเพราะเรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นเสียที การผลักดันในช่วงรอยต่อ ช่วงสุญญากาศทางการเมืองจึงเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด เช่นเดียวกับแผน PDP 2007 นี้ที่จัดทำในช่วงรัฐบาลหลังรัฐประหาร ภายใต้แผนทางเลือก 9 แผน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บรรจุอยู่ทั้งหมด 4,000 เมกกะวัตต์ นั่นเท่ากับละทิ้งโจทย์พื้นฐานว่าควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ไปโดยสิ้นเชิง


 


การรับฟังความเห็นก็ไม่อาจสรุปเป็นอื่นได้นอกจากว่ามีเพียงเล็กน้อยและเป็นไปอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับความสำคัญของมัน ดังตัวอย่างที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP 2007 จาก "ชาวบ้าน" เพียงวันเดียว (3 เม.ย.50) โดยไม่มีการเปิดเผย จ่ายแจกข้อมูลล่วงหน้า และดำเนินการในพื้นที่ของกองทัพบก!


 


ปัจจุบัน แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เริ่มขึ้นแล้วในเบื้องต้น โดยคณะกรรมการและอนุกรรมการอีก 6 ชุดเพื่อศึกษาและเตรียมการเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้นมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยงบประมาณ 75 ล้านบาท และรวมงบด้านต่างๆ ทั้งหมด 1,345 ล้านบาท


 


 


อ ย า ก รู้  . . . . แ ต่ ไ ม่  ( มี โ อ ก า ส ) ไ ด้ ถ า ม


 


ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิชาการด้านพลังงานคนสำคัญคนหนึ่ง มีประเด็นคำถามที่ติดค้างมากมายกับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่เห็นด้วยกับข้ออ้าง เหตุผลความจำเป็นที่ภาครัฐหยิบยกมา


 


เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ?


 


ข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ต้องพิสูจน์กันให้ชัดเจนก่อนจะพูดเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานคือ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ผ่านมาหน่วยงานรับผิดชอบพยากรณ์เกินจริงมาโดยตลอด ทำให้ตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 132% ใน 15 ปีและต้องหาเป็นภาระผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นๆ ... จนล่าสุดกลายมาเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซ 26 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง นำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 5,000 กว่าเมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ในแผนPDPนี้


 


คำถามสำคัญคือ เราต้องการไฟฟ้ามากเช่นนั้นจริงหรือไม่ และการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีประสิทธิภาพมากพอหรือยัง ที่ผ่านจีดีพีที่โตขึ้นทุก 1% ต้องใช้พลังงาน 1.4% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วสัดส่วนการใช้พลังงานจะน้อยกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ


 


นอกจากนี้แหล่งผลิตพลังงานขนาดเล็ก และพลังงานหมุนเวียนก็มีศักยภาพมากกว่าที่คิด หากเปิดโอกาสและหันมาสนใจพัฒนาอย่างจริงจัง


 


แต่ทั้งระบบการผลิตพลังความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration) ซึ่งเป็นระบบที่นิยมทำในโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP), ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ถูกกดทับศักยภาพ โดยPDPได้กำหนดเพดานการรับซื้อไว้ต่ำมากเพียง 1,700 เมกะวัตต์ เมื่อถึงปี 2564 เท่านั้น ทั้งที่การเสนอขายไฟฟ้าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากระบบโคเจนเนอเรชั่นมีศักยภาพถึง 2,416 เมกกะวัตต์ จากเอสพีพี จำนวน435 เมกะวัตต์ และจากวีเอสพีพีจำนวน 799 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 3,650 เมกะวัตต์ หรือเกือบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงเลยทีเดียว


 


มติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ยิ่งสะท้อนชัด ขณะที่มีความต้องการขายไฟฟ้าจากโคเจนและเอสพีพีในปีนั้นมีถึง 800 เมกกะวัตต์แต่ ครม.กลับมีมติรับเพียง 760 เมกกะวัตต์ ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ ไอพีพี  (ก๊าซและถ่านหิน) รัฐกลับขยายการรับซื้อเพิ่มจากที่กำหนดไว้ 2,000 เมกกะวัตต์


 


"จากข้อมูลที่มี ฟันธงได้เลยว่า 15 ปีไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และจะมีไฟฟ้าสำรองอีก 17%" ชื่นชมกล่าว


 


กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ลดการพึ่งพิงการนำเข้า ?


 


เหตุผลหนึ่งที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือต้องการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง เนื่องจากไฟฟ้าปัจจุบันนี้มาจากก๊าซเกือบ 70% ในแผนจึงต้องการกระจายสู่เชื้อเพลิงอื่นไม่ว่าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ด้วย แต่แร่ยูเรเนียมที่นำมาผลิตแท่งนิวเคลียร์นั้นก็มีจำกัดเช่นกัน และราคากำลังพุ่งสูงขึ้น ส่วนการลดการพึ่งพิงต่างประเทศนั้นยังเป็นปัญหาว่าลดอย่างไร เพราะทั้งวัตถุดิบ เทคโนโลยีต้องนำเข้าทั้งหมด


 


 


ค ว า ม จ ริ ง . . . . ที่ เ ธ อ แ ก ล้ ง ลื ม มั น


 


นิวเคลียร์ พลังงานราคาถูก ?


 


 


































แหล่งพลังงาน


ต้นทุนการผลิต


นิวเคลียร์


2.08


ความร้อนจากถ่านหิน


2.12


พลังงานความร้อนร่วมจากก๊าซ


2.29


ความร้อนจากน้ำมัน


4.12


กังหันก๊าซ


7.93


แสงอาทิตย์


20.20


กังหันพัดลม


5.98


ของเสีย


4.63


ชีวมวล


2.63


 


 


จากตารางต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นของ กฟผ.นี้ จะพบว่านิวเคลียร์นั้นเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดอย่างน่าแปลกใจ ขณะที่หลายคนยังตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปว่าตัวเลขนี้คำนวณบนฐานอะไร รวมต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เทคโนโลยี ต้นทุนทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งต้นทุนที่รัฐต้องใช้ในการศึกษาวิจัยไปด้วยหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในอเมริกาซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์มากนั้น รัฐให้การอุดหนุนในด้านต่างๆ สูงมากกว่าเชื้อเพลิงตัวอื่นหลายเท่าตัว


 


อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีการลงทุนเริ่มต้นสูง และขึ้นอยู่กับค่าเสียโอกาสทางการเงินเป็นสำคัญ หากผู้ลงทุนและสถาบันการเงินพิจารณาว่า โครงการมีความเสี่ยงสูงในการลงทุน ต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  แต่ไม่ต้องห่วงสำหรับผู้ประกอบการ เพราะในระบบไฟฟ้านั้นต้นทุนทั้งหมดจะถูกผลักมาให้ผู้บริโภคอย่างถ้วนทั่ว นอกจากนี้จากข้อมูลการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกยังพบว่ามักมีความล่าช้ากว่ากำหนด และงบประมาณบานปลายหลายเท่าตัว


 


ปลอดภัย ...ใครๆ ก็สร้าง ?


 


ข้อมูลจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุชัดเจนและเป็นไปในทางตรงข้ามกับรัฐบาลที่โฆษณาว่า ทั่วโลกต่างสนใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันทั้งนั้น เพราะมีถึง 441 โรง และกำลังสร้างเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง


 


ที่น่าสนใจและไม่ได้บอกต่อก็คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ที่รัฐอ้างถึงนั้นสร้างมานานแล้วตั้งแต่ยุคที่ยังบูม หรือไม่ต่ำกว่า 20 ปี และแนวโน้มการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ลดลงมาตลอดตั้งแต่ช่วงปี 2527 และยิ่งลดลงชัดเจนเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในนาม เชอร์โนบิล เอาเข้าจริงช่วงหลังปี 2543 เป็นต้นมาทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าสู่ระบบปีละประมาณ 5 โรงเท่านั้น และประเทศส่วนใหญ่ที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มักอยู่ในทวีเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน ขณะที่ประเทศยุโรปตะวันตกมีเพียงที่เดียวที่สร้างคือ ฟินแลนด์ ขณะที่หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ออสเตรีย ประกาศชัดว่าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนเยอรมันก็มีนโยบายจะหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในอนาคต


 


กากนิวเคลียร์ ?


 


นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญญาที่ถกเถียงกันทั่วโลก เพราะเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงมีความอันตายมาก และจะคงอยู่นับหมื่นนับแสนปี และยังไม่มีประเทศใดในโลกที่มีคำตอบในการจัดการกับการนิวเคลียร์ ทางเลือกที่เสียหายน้อยที่สุดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ การกักเก็บไว้เหนือพื้นดินในโรงกักเก็บที่แห้ง ณ จุดกำเนิดของมัน แต่ก็เป็นทางเลือกที่ท้าทายและเป็นอันตรายอยู่นั่นเอง นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนในบ้านเรา แต่เป็นปัญหามากในหลายประเทศ


 


เชอร์โนบิล !


 


"คน 7 ล้านคน ไม่มีอะไรที่ทำให้พวกเขาลืมเชอร์โนบิลได้เลย คน 7 ล้านคนทั้งชาย หญิง และเด็กผู้ทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกวันจากผลกระทบของเชอร์โนบิล" โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยกล่าวไว้


 


ถ้าไม่นับการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในสงคราม อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในประเทศยูเครน อดีตสหภาพโซเวียต ก็นับเป็นอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยประสบ


 


กระนั้น สำนักงานกำกับดูแลควาปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ก็ได้เผยแพร่เอกสาร "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" จัดพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 คล้ายๆ จะบอกทำนองว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นไม่ได้เสียหายมากมายเท่าที่เข้าใจกัน


 


"...อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามปกติ แต่เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านความปลอดภัยเพื่อดำเนินการทดลองภายในโรงไฟฟ้า ขณะตัดระบบความปลอดภัยทั้งหมดออกส่งผลให้เกิดระเบิดเนื่องจากไอน้ำความดันสูงและเพลิงลุกไหม้ มีเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 31 คน ผู้บาดเจ็บเนื่องจากรังสี 203 คน และต้องอพยพประชาชนโดยรอบรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า"


 


"...บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีตกลงสู่พื้นที่ดินในปริมาณสูง มีอัตราการเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ในเด็กสูงขึ้นกว่าอัตราปกติ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการรับไอโอดีนรังสี อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้และโดยปกติจะไม่ทำอันตรายให้ถึงแก่ชีวิต"


 


ข้อมูลทำนองนี้ของภาครัฐอาจทำให้หลายคนคงโล่งใจกับอุบัติเหตุเล็กน้อยที่เกิดขึ้น หากไม่มีข้อมูลอื่นๆ ที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง


 


เช่นที่กรีนพีซและมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ระบุว่า วันที่ 26 เมษายน 2529 เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ได้ระเบิดขึ้น กัมมันตภาพรังสีแผ่ปกคลุมโปแลนด์ไปสู่สแกนดิเนเวีย และผลกระทบเรื่องกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนนี้แพร่ไปในอย่างน้อยที่สุด 14 ประเทศในยุโรป


 


อีกกว่า 20 ปีต่อมา คนนับล้านยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้ออย่างสูงจากมลพิษกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ผลกระทบของอุบัติภัยนี้ยังคงดำเนินสืบเนื่องไปอีกศตวรรษ เนื่องจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137


 


หลักฐานทางระบาดวิทยาล่าสุดที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยการสนับสนุนของบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย ระบุว่า ระดับของผลกระทบจากเชอร์โนบิลอาจมีขนาดใหญ่กว่าการคาดการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น รายงานขององค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ปี 2548 ประมาณว่า มีการเสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 4,000 ราย จากผลของอุบัติเหตุ ตัวเลขที่มีการเผยแพร่เร็วๆ นี้ ระบุว่า เกิดการเสียชีวิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 200,000 ราย ระหว่างปี 2543-2547 ในบลารุส รัสเซีย และยูเครน


 


 


 


สรุปสั้นๆ


 


…..1.3 พันล้านลงไปแล้วเพื่อเริ่มต้นทำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เป็นจริง โดยไม่ตอบคำถามความสงสัยใดๆ ไม่เปิดพื้นที่การถกเถียงให้กว้างขวาง ไม่เปิดสำหรับทางเลือกการจัดการ จัดหากำลังไฟฟ้าแบบอื่น และ "ไม่" กระทั่งจะทักถามเจ้าของประเทศว่ารู้จักมันแค่ไหน หรือ พร้อมจะต้อนรับมันหรือยัง


 


รัฐมนตรีคนใหม่จะว่าอย่างไร ?

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net