Skip to main content
sharethis

"ไม่สบาย ต้องกินยานะ" นี่อาจเป็นประโยคยอดนิยมสำหรับแสดงความห่วงใย เมื่อเห็นใครสักคนกระแอมไอ น้ำมูกไหล หรือมีไข้ การเตือนให้กินยามักเกิดขึ้นแม้จะยังไม่รู้ว่าคนที่กำลังอ่อนแอตรงหน้านั้นป่วยเป็นอะไร


 


เนิ่นนานมาแล้วที่เรา "รู้สึก" ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ได้ไปหาหมอเวลาป่วย และดียิ่งกว่าถ้าคุณหมอจะสั่งยามามากๆ เพราะรู้สึกว่าได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพ


 


แต่นั่นอาจเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากยานั้นเป็น "ยาปฏิชีวนะ" (Antibiotics)


 


 


ทำไมต้องยาปฏิชีวนะ


เมื่อเราไปดูบัญชียาและมูลค่าการนำเข้ายาของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้ารวม 38,257 ล้านบาท เมื่อดูหมวดหมู่ของยานั้นเราพบว่า ประเภทของยาที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุดคือ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไปราว 7,517 ล้านบาท ต่อปี


 


"ยาปฏิชีวนะ" หรือที่เรียกกันชินปากว่า ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่ถูกใช้บ่อยที่สุดในทางการแพทย์ ขณะที่ในตู้ยาของบ้านเรือนส่วนใหญ่ก็มักจะมีอะม็อกซี่ซิลลิน แอมพิซิลลิน..ยาแก้อักเสบยอดฮิต ติดบ้านไว้ แต่ในอัตราการใช้ยาแก้อักเสบที่สูงนั้น กลับพบว่าเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล แม้แต่ในโรงเรียนแพทย์ก็พบว่ามีการใช้อย่างไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน


 


ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน "วิกฤตดื้อยา...ทางออกอยู่ตรงไหน" ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเขากล่าวถึงการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อไปถึงวิกฤตเชื้อดื้อยาว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทย แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการสั่งใช้ยา เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง


 


"เราควรเลิกเรียกว่ายาแก้อักเสบได้แล้ว" ผศ.นพ.พิสนธิ์กล่าวถึงความเคยชินที่เกิดขึ้น


 


ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากที่ยาแก้อักเสบได้รับความนิยม ไม่เพียงมีตามบ้านแทบทุกบ้านแล้ว ผู้ที่รักสุขภาพยังรีบกินยาแก้อักเสบเวลาที่เริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ซึ่งไม่เพียงเป็นพฤติกรรมการกินยาโดยไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายต่อทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง


 


 


ยาปฏิชีวนะ ใช้จัดการกับแบคทีเรีย ไม่ใช่ไวรัส


เราเริ่มรู้จักยาปฏิชีวนะตัวแรก คือ เพนนิซิลลิน ความรู้เริ่มแรกเริ่มมาจากการนำเอาเชื้อรามาฆ่าแบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างตัวยา ที่นำเอาสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมาทำลายสิ่งมีชีวิตอีกชนิด ทั้งนี้ ความหมายในเบื้องต้นของยาปฏิชีวนะ ก็คือยาที่ใช้รักษาอาการป่วยอันมาจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุ


 


แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ซึ่งมีอวัยวะสำคัญคือ ผนังเซลล์ หากผนังเซลล์แตก แบคทีเรียก็จะตาย ซึ่งยาปฏิชีวนะบางชนิดมีหน้าที่ทำลายผนังเซลล์


 


นอกจากนี้ ภายในตัวแบคทีเรียยังมีตัวไรโบโซมอยู่ภายในผนังเซลล์ ทำหน้าที่สร้างโปรตีน ซึ่งยาปฏิชีวนะบางชนิดทำหน้าที่ไปขัดขวางไม่ให้ไรโบโซมสร้างโปรตีนได้ จนทำให้แบคทีเรียตายในที่สุด


 


ส่วนไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีผนังเซลล์ จะเข้าไปในผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียคอยกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนขึ้น


 


ยาปฏิชีวนะ ทั้งประเภทที่ทำลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย และประเภทที่ขัดขวางการสร้างโปรตีนของไรโบโซม จึงดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อไวรัสเลย


 


และเรารู้กันดีว่า เวลาที่เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล มีไข้ นั่นเป็นอาการที่มาจากเชื้อไวรัส และเราก็กินยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการฆ่าแบคทีเรีย


 


อาการมีไข้สูง พร้อมกับไอ มีอาการหอบ ติดเชื้อ เป็นอาการที่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากเป็นอาการไข้ที่มีเจ็บคอ น้ำมูกไหล และไอควบคู่ไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อบริเวณลำคอ ซึ่งสถิติที่พบมานั้น ร้อยละ 85 ของอาการลักษณะดังกล่าวมาจากเชื้อไวรัสที่ยาปฏิชีวนะรักษาไม่ได้ แต่เราก็รู้ว่าทุกครั้งที่ไปหาหมอ เราจะต้องกินยาปฏิชีวนะ


 


ทั้งนี้ สามโรคที่พบบ่อยที่ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ก็ถูกสั่งให้กินเสมอ คือ อาการหวัด ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล, ท้องร่วง และ แผลเลือดออก


 


ผศ.นพ.พิสนธ์แย้มว่า กลุ่มยาอื่นๆ ที่ยังเป็นปัญหา เช่น การใช้ยาโรคท้องเสียที่ไม่เหมาะสม เป็นชื่อยามีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะถึง 4 ชนิด และมีชื่อทางการค้าที่ติดปากคนเสียด้วย


 


นายแพทย์คนเดิมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า พฤติกรรมนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ เพราะนอกจากจะเป็นการใช้ยาโดยไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเกิดผลข้างเคียง


 


 


ใช้ยาไปโดยที่ไม่ต้องใช้ อะไรจะเกิดขึ้น


แบคทีเรีย สามารถส่งผ่านเรียนรู้การดื้อยา ได้ด้วยการส่งผ่านชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมไปให้แบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้กัน เมื่อแบคทีเรียตัวหนึ่งเรียนรู้การดื้อยา ก็จะส่งสารพันธุกรรมตัวเล็กๆ ไปให้เพื่อน ซึ่งจะเรียนรู้การดื้อยาทันที


 


"ในลำไส้ ผิวหนัง ในช่องปาก เรารู้ดีว่ามีแบคทีเรียมากมายมหาศาล ถ้าเราเปิดโอกาสให้มีโอกาสดื้อยาขึ้น มันจะขยายไปมหาศาล" ผศ.นพ.พิสนธิ์กล่าว และย้ำว่า ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากเท่าไร เชื้อดื้อยายิ่งมากขึ้น


 


ตัวอย่างอัตราการดื้อยาในประเทศไทย เมื่อใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษาเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล ที่เป็นสาเหตุของโรคท่อปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบนั้น พบว่าร้อยละ 83 ในประเทศไทย ดื้อยาไปแล้ว


 


ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษาเชื้อสแต๊ฟฟิโลคอคคัส ที่เป็นสาเหตุของโรคผีหนอง กุ้งยิง หนองที่ผิวหนัง พบว่ามีอัตราการดื้อยาในประเทศไทยแล้ว ร้อยละ 100


 


นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะ มีทั้งประเภทที่ออกฤทธิ์กว้างต่อเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และประเภทที่ออกฤทธิ์แคบต่อเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเรามักใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างโดยไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อเป้าหมายที่จะรักษานั้นรักษาไม่ได้ การดื้อยาก็เกิดขึ้นไปอย่างต่อเนืองไม่สิ้นสุด


 


ทั้งนี้ ทางออกเมื่อคนดื้อยา กินยาแล้วไม่หาย คือ บริษัทยาจะค้นคว้ายาตัวใหม่ๆ เช่น ยาแอมพิซิลลินที่ผู้คนดื้อยาไปแล้ว บริษัทยาเติมตัวยาที่ชื่อ Sulbactam เข้าไป จากเดิมที่ราคาเม็ดละ 8 บาท ก็เปลี่ยนเป็น 105 บาท และกรณีที่เป็นยาฉีดซึ่งราคาเดิมที่ 216 บาท เมื่อเพิ่มตัวยาใหม่ ก็ได้ราคาใหม่ที่ 1,444 บาท


 


"ราคาแบบนี้ หากเราจ่ายเอง เราก็แย่ หากเราไม่จ่าย ให้รัฐจ่าย รัฐก็แย่"


 


แต่ใช้ว่ามีเงินจ่ายยาแพงแล้ว จะรักษาหาย "มันไม่แก้ปัญหา เราเข้าใจว่าเราจ่ายแล้วเราจะหาย แต่ไม่ใช่ เพราะแบคทีเรียดื้อยาได้เสมอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้อะไรก็ตาม ยิ่งแพง ยิ่งรักษา ยิ่งเกิดปัญหา"


 


ผศ.นพ.พิสนธ์กล่าวว่า การดื้อยาไม่ใช่แก้ด้วยการเปลี่ยนยา วิธีเดียวคือ การไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็น


 


คุณหมอคนเดิมกล่าวว่า เรื่องดื้อยา เป็นปัญหาวิกฤตแล้ว เพราะเราอาจจะไม่ได้เป็นคนสร้างปัญหา แต่บังเอิญติดเชื้อดื้อยาที่เราไม่ได้สร้างไว้ ปัญหาก็ลุกลามไปไม่หยุด


 


ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก มีโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีเป้าหมายที่การลดการสั่งยาปฏิชีวนะต่อ 3 โรคยอดนิยม คือ หวัดเจ็บคอ ท้องร่วงเฉียบพลัน เป็นแผลเลือดออก


 


โครงการดังกล่าวทดลองทำกับโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเริ่มทำโดยการสื่อความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์


 


เพราะด้านหนึ่งมาจากความเข้าใจผิด อาทิเช่น คนไข้ที่ไอแล้วมาหาหมอ คอแดงหรือไม่ หากคอแดงแปลว่าติดเชื้อแบคทีเรียต้องทานยาปฏิชีวนะ แต่หากคอไม่แดงอาจเป็นอาการหวัดทั่วไปที่ไม่ต้องกินยาแต่ใช้การพักผ่อนให้เพียงพอ โดยทั่วไป หมอมักจะตรวจคอ โดยการส่องไฟฉายเข้าไปที่คอ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ไฟฉายที่หมอใช้ เป็นไฟฉายที่มีแสงสีเหลืองส้ม ซึ่งไม่ว่าจะส่องกี่ครั้ง ก็จะเห็นว่าคอแดง แต่เพื่อให้แม่นยำในการตรวจ ต้องใช้ไฟสีขาวแทน


 


อย่างไรก็ดี ด้านคุณหมอก็มักเจอแรงต้านจากคนไข้ด้วย เพราะคนไข้ไม่ค่อยชอบ หากหมอจะไม่ได้รักษามากนัก ไม่ได้ตรวจ ไม่ได้จับ ไม่ได้ส่อง รวมถึงไม่ให้ยา บ้างอาจรู้สึกว่านี่เป็นความไม่เท่าเทียมเพราะเป็นคนไข้ประกันสังคม ทั้งที่จริงๆ โรคพื้นฐานไม่จำเป็นต้องกินยา แต่เพียงพักผ่อนให้พอภูมิต้านทานในร่างกายก็จะทำหน้าที่ของมันเอง


 


"แล้วทำไม หมอรู้ว่าไม่เหมาะสมแล้วยังจ่ายยาให้ หมอบางท่านก็ทราบ แต่เป็นแรงกดดันของผู้ป่วย หรือพอเป็นคนไข้ประกันสังคมมา คนไข้จะรู้สึกว่าเป็นเพราะอยู่ประกันสังคมหมอเลยไม่ให้ ดังนั้น ประชาชนต้องลดความคาดหวังในการใช้ยาปฏิชีวนะ"


 


ทั้งนี้ ทางหนึ่งที่อาจดำเนินการต่อไปในอนาคต นอกจากการสื่อสารกับแพทย์แล้ว คือการควบคุมที่บัญชียาของประเทศ ที่จะทำอย่างไร ให้ยาที่คนต้องเกี่ยวข้องนั้นเป็นยาที่มีคุณภาพและเยียวยาความเจ็บป่วยได้ ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมเท่านั้น แต่การปรับปรุงทั้งระบบเป็นเรื่องธรรมาภิบาลระบบยาของประเทศไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net