Skip to main content
sharethis

วารีมาศ


 


ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ชาวบ้านจากเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) ชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ความหวังจากการเจรจาในครั้งนั้นอยู่ที่การขอร่วมมือกำหนดทิศทางของคนอยู่ป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชอบธรรม


 


แต่ปัจจุบันชาวบ้านยังถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ทำกินบนที่ดินเดิมมานานก่อนจะถูกเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับที่ มีการข่มขู่คุกคาม ทำลายอาสินและปักป้ายยึดที่จากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแผนการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญไทย พ.. 2550


 


การต่อสู้ครั้งใหม่ของชาวบ้านจากเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดขึ้นท่ามกลางการอัดอั้นและรอคอยนานมากกว่า 1 ปี ปัจจุบันมีคดีค้างแก้ไขที่ทำให้ ครท.เรียกร้องขอให้มีการเจรจาเร่งด่วนจำนวน 13 ราย


 


คดีดังกล่าวอยู่ใน 4 กลุ่มปัญหาคือ เจ้าหน้าที่แจ้งความคดีอยู่ในชั้นอัยการจำนวน 3 ราย เจ้าหน้าที่สั่งให้รื้อทำลายอาสินและชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 7 ราย เจ้าหน้าที่ปักป้ายให้รื้อทำลายอาสิน 2 ราย และกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ชะลอการให้ทุนทั้งที่อนุมัติแล้วอีกหนึ่งราย โดยกรณีปัญหาชั้นอัยการ ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ที่เหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า


 


วันที่ 24 เมษายน 2551 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านจากจังหวัดตรัง พัทลุง และกระบี่ รวมทั้งพันธมิตร จึงรวมตัวกันอีกครั้งที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อทวงถามเจตนาในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง


 


ในนามเครือข่ายเชื่อมั่นว่า "ปัญหาคนจนคือปัญหาชาติ" ฉะนั้นการเดินขบวนเรียกร้องในช่วงบ่ายของวันที่ 24 จึงมีคนจนที่รักความเป็นธรรมเดินทางมาร่วมเส้นทางกว่า 400 คน และแม้จะพบกับมรสุมจากฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ การขอเจรจากับผู้ว่าฯ โดยตรงก็ยังยืนหยัดอยู่นานกว่า 3 วัน


 


การเจรจาต่อรองในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติดำเนินคดีกับสมาชิก ครท.ที่กำลังเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่อยู่ในชั้นอัยการ เพราะหากมีการส่งฟ้องคดีดังกล่าว นั่นหมายถึงการสูญเสียทรัพย์สินในชั้นศาล และอาจรวมไปถึงการหมดหนทางทำกินต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน


 


หากไม่ตั้งต้นแก้ปัญหาจากหน่วยย่อยของชุมชน ก็อาจไปกระทบกับปัญหาในหน่วยใหญ่ของสังคม กลายเป็นเรื่องบานปลายในที่สุด...


 


นอกจากนี้ในการชุมนุม สมาชิก ครท.ยังยืนยันว่าจะเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) โดยขอให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ในเขต ต.ปะเหลียน ต.ช่อง และ ต.ละมอ อ.นาโยง ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว รับเสียภาษีของสมาชิก ครท. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ครท.ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงหรือขออยู่ในพื้นที่โดยไม่สนใจขอบข่ายการดูแลพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


หลังการรอคอย วันที่ 26 เมษายน 2551 มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด โดยมีข้อตกลงให้ตั้งกรรมการทั้งในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทน ครท.ฝ่ายละ 10 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ และหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีสภาพการใช้ประโยชน์ทำมาหากินก่อนปี 2541 ก็ให้มีการรายงานต่อผู้ว่าฯ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ค้างในคดีรวมถึงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป


 


โดยการจะดูว่าเป็นพื้นที่ที่ทำกินมาก่อนปี 2541 หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องประเมินจากสภาพของต้นไม้ใหญ่ๆ ในพื้นที่ รวมถึงสืบจากพยานบุคคลที่เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ด้วย และเหตุที่ต้องกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2541 เนื่องจากภายหลังที่มีการประกาศมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ให้มีแนวทางในการจัดการป่าไม้ ชาวบ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และคุกคาม ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด


 


การประกาศมติ ครม.ครั้งนั้น ได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับภาคประชาชนและชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองด้วยความหวาดระแวงมาอย่างต่อเนื่อง...


 


ขั้นตอนที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงครั้งใหม่จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรอคอยความจริงใจครั้งใหม่จากรัฐด้วยเช่นกัน เพราะหากรัฐไม่ดำเนินการโดยวิเคราะห์บริบทสภาพพื้นที่อย่างจริงจัง นั่นหมายถึงชาวบ้านจะกลายเป็นผู้บุกรุกที่ทำกินเดิมของตัวเองไปโดยปริยาย


 


ทั้งนี้ การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและรายงานต่อผู้ว่าฯ ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ จะต้องประสานกับศูนย์ประสานงานของ ครท. ในพื้นที่ก่อนเข้าดำเนินการ      


 


บันทึกจากวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาทำขึ้นสองฉบับ มีข้อความตรงกัน อ่านแล้วถูกต้อง และลงลายมือชื่อผู้เกี่ยวข้องจากทั้งสองฝ่ายไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่การรอคอยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริงยังต้องเป็นไปตามลำดับ


 


การเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรชุมชนฯ ในครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบความจริงใจจากรัฐด้วยว่า จะปล่อยให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องที่ไม่จบสิ้น หรือจะเป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการรักษาป่าอย่างยั่งยืน...


 


ในเบื้องต้น การทำข้อตกลงให้แล้วเสร็จในวันหยุดสุดสัปดาห์ของทางราชการถือเป็นความตั้งใจดีในการจะแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินในพื้นที่ เพียงแต่ความจริงใจจากรัฐครั้งนี้ยังไม่มีบทพิสูจน์เท่านั้น!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net