Skip to main content
sharethis

1 .. 51 - โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์การซ้อมทรมานและการปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม 1 ปี หลังประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ประสบการณ์จริงภายใต้กฎอัยการศึกและ พ..ก. ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้ เรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำมาตรการห้ามการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาดที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยได้รับรองไว้มาปรับใช้อย่างเคร่งครัด


 


 






 


แถลงการณ์


สถานการณ์การซ้อมทรมานและการปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม


1 ปี หลังประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน


ประสบการณ์จริงภายใต้กฎอัยการศึกและ พ..ก. ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้


 


            ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และในวันนี้จะครบรอบ 1 ปีที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับต่อประเทศไทย ในระยะเวลาหนึ่งปี สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด รวมทั้งการลงโทษอย่างโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ยังคงมีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเรื่องการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กฎหมายพิเศษได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้ทหารและตำรวจมีอำนาจมากมายในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและเพื่อการสร้างความสงบด้วยการปราบปรามผู้ต้องสงสัยก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง จากรายงานล่าสุดของศูนย์ทนายความมุสลิม ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2551- เดือนสิงหาคมพ.ศ. 2551 มีเรื่องร้องเรียนจำนวนกว่า 50 กรณีที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานหรือปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ ซัดทอด หรือให้ข้อมูล ทั้งเพื่อใช้ในการขยายผลการจับกุมและการใช้ในการกล่าวโทษเพื่อตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว แม้คำสารภาพและพยานกล่าวอ้างที่ได้มาจากผู้ถูกควบตัวโดยการซ้อมทรมานนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ แต่วิธีการดังกล่าวยังถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยขาดระบบตรวจสอบ การสอบสวน เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิด อีกทั้งเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องการกระทำโดยมิชอบดังกล่าวก็ไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม


 


            รูปแบบของการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม มีหลายรูปแบบและในหลายสถานการณ์ การทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมและการซักถามในระหว่างการควบคุมตัว ในบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ร่วมอยู่ด้วยในระหว่างการทำร้ายร่างกาย โดยผู้ถูกควบคุมตัวยังมีร่องรอยการถูกทำร้ายตามเนื้อตัวร่างกาย เช่น รอยเข็มฉีดยาเจาะเล็บขวาและนิ้วกลาง และบริเวณแขน เป็นต้น พบว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวหนึ่งคนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 และเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือดและไม่ได้รับการส่งตัวเข้ารักษาพยาบาล ภายหลังถูกกระสุนจากอาวุธปืนของเจ้าพนักงานหนึ่งราย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ปรากฎในข้อมูลเป็นข้อร้องเรียนและตรวจสอบแล้วมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า ว่ามีการใช้ห้องเล็กๆที่ปรับอากาศไว้จนเย็นในการควบคุมตัวทำให้ผู้ถูกควบคุม มีร่างกายอ่อนแอ ตัวมือไม้สั่น หน้าซีด แต่ไม่ปรากฏมีบาดแผล มีการปลุกผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นมาสอบสวนหรือซักถามในเวลากลางดึก หรือเจ้าหน้าที่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆมาทุบตีกันเอง มีการปิดตา ผูกมัดข้อมือ และทำการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ บางรายมีอาการสาหัส การบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวทำร้ายร่างกายกันเองหรือการบังคับให้ขุดดินฝังตนเอง เป็นต้น


           


            โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย และศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำมาตรการห้ามการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาดที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยได้รับรองไว้มาปรับใช้อย่างเคร่งครัด โดยการกำกับดูแลของหน่วยงานระดับสูงทั้งตำรวจ ทหาร และเจ้าพนักงานรัฐให้ไม่สนับสนุน ปกปิด ส่งเสริมให้เกิดการซ้อมทรมาน และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดโดยไม่ละเว้น ทั้งนี้เพื่อยุติเงื่อนไขการสร้างความไม่เป็นธรรมในสถานการณ์ภาคใต้ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานโดยให้ความสำคัญกับสิทธิของเหยื่อที่ถูกทรมาน และมาตรการที่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความเป็นธรรมและการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม


 


 การซ้อมทรมานที่กระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เพื่อให้ได้ซึ่งคำสารภาพคำซัดทอด หรือข้อมูล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจกระทำได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในสถานการณ์การปราบปรามการก่อความไม่สงบ


 


                                                                        แถลงการณ์ ลงวันที่1 พฤศจิกายน 2551


โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


ศูนย์ทนายความมุสลิม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net