Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่องท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองไทย และอนาคตการปฏิรูปการเมืองของสังคมไทย จัดโดยกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางออกในวิกฤตการเมืองปัจจุบัน เวทีดังกล่าวมีกลุ่มชาวบ้านเกษตรกรภาคเหนือ ตัวแทนแรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน


 


โดยก่อนเริ่มเสวนา นายสุพัฒน์ บุญปิง กรรมการกลางกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ได้อ่านแถลงการณ์ในงานสัมมนาดังกล่าวมีใจความดังนี้


 


 






หยุดรัฐประหาร ปฏิรูปสังคม-การเมืองเพื่อสร้างความเสมอภาคและความยุติธรรม


           


ความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำจนถึงขั้นวิกฤตนั้น มีการสร้างความเกลียดชังระหว่างกันมากกว่าการใช้เหตุผล บางครั้งมีการใช้ความรุ่นแรงเกิดขึ้นด้วยซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะนำไปสู่ การรัฐประหารอีกครั้ง


 


ในประวัติศาสตร์รัฐประหารได้ทำให้การเมืองไทยถอยหลังเข้าคลอง ประชาธิปไตยไม่พัฒนาและล่าสุดบทเรียนจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่ผ่านมาผลพวงที่ได้รับได้แก่การที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน กฎหมายลิดลอดสิทธิด้านการสื่อสารควบคุมวิทยุชุมชน และอื่นๆ รวมทั้งการออกกฎหมายป่าชุมชนที่ให้อำนาจกับกรมป่าไม้อย่างรวบรัด ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


 


นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญ ปี2550 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจนทำให้เกิดความแตกแยก ขณะเดียวกันสังคมไทยได้มีการพูดคุยสนทนากันเพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี รวมทั้งได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าขึ้น


 


การปฏิรูปสังคมการเมืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งแต่ต้องเป็นไปเพื่อสร้างความเสมอภาคของสังคม และสร้างความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจในสังคม ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และแน่นอนว่าการแก้ไข้รัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมิใช่ใช้เพียงกลไกรัฐสภาเท่านั้น


 


จากการประชุมสัมมนาของ กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา มีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมือง ดังนี้


 


1. ขอคัดค้านการรัฐประหารและการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารของทุฝ่ายและขอยืนยันถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย


 


2. ขอคัดค้านการเคลื่อนไหวไม่ว่าของกลุ่มใดๆที่สร้างความเกลียดชังและความรุ่นแรงให้เกิดในสังคม


 


3. การปฏิรูปสังคมการเมืองต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประชาชนผู้ยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และสร้างสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ เช่น ระบบการดูแลประกับสุขภาพ ระบบการศึกษา ระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น กล่าวเฉพาะปัญหาพื้นฐานของเกษตรกร ที่สำคัญ คือ


3.1 ต้องกระจายการถือครองที่ดิน และดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน


3.2 ต้องปลดเปลื้องหนี้สินของเกษตรกร


3.3 ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ


3.4 ต้องมีการประกันราคาพืชผลเกษตรกร


3.5 ต้องเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ


 


4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น และการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. 3 ต้องกำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และเพิ่มภาคส่วนของสาขาอาชีพอื่นๆ รวมทั้งสาขาอาชีพเกษตรกรให้เหมาะสม


 


5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ต้องมีเป้าหมายที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และรัฐธรรมนูญปี 50 โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่การเมืองประชาธิปไตยทางตรงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น


 


6. ขอยืนยันความเป็นอิสระของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) และจะประสานงานร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มชาติพันธ์ นักวิชาการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มอื่นๆ เพื่อร่วมผลักดันปฏิรูปการเมืองสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น


 


ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย


กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ


 


 


เสนอ ส.ส.ร.3 ให้ประชาชนมีส่วนร่วม


โดยหลังการออกแถลงการณ์ นักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนและวิจารณ์ โดยภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระกล่าวว่า การแต่งตั้ง ส.ส.ร.3 นอกจากแต่งตั้งจากสาขาอาชีพแล้ว ควรแต่งตั้งจากองค์กรภาคประชาชนด้วย แต่ประเทศไทยมีองค์กรภาคประชาชนไม่มากพอ ในบางประเทศที่มีการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง องค์กรพวกนี้จะไปมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ให้คนอื่นเข้าใจ องค์กรภาคประชาชนจะทำให้ประชาชนได้มีการพูดคุยกันเองก่อนการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ยังบีบให้ประชาชนที่ไม่มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง


 


เรื่องรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องลำบากเหมือนกันถ้ามีการตั้งรัฐสวัสดิการแบบยุโรป ประเทศไทยไม่ได้มีความมั่งคั่งแบบต่างประเทศ จริงอยู่ที่รัฐจะต้องมีการบริการประชาชน แต่รัฐไทยควรที่จะเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแล้วให้ประชาชนพัฒนาด้วยตนเอง


 


ยกตัวอย่างในท้องถิ่นหากจะมีการสร้างถนนรัฐควรจะให้ประชาชนรวมกันเป็นสหกรณ์ แล้วสหกรณ์รับงานจากรัฐไปทำต้องไม่ปล่อยให้นายทุนในพื้นที่ทำให้ประชาชนทำกันเอง ต้องผลักดันให้รัฐยอมรับการรวมตัวกันของประชาชนในลักษณะนี้ ผลประโยชน์จะตกอยู่กับท้องถิ่นในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องหาเงินจำนวนมากมาบริการประชาชน


 


ภควดีแสดงความเห็นกรณีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ไม่ได้ผลว่า เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ปรับระบบการแพทย์ ระบบการแพทย์ของประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าจะเรียนหมอจบมา 1 คน ต้นทุนสูงเกินไป จะต้องใช้ต้นทุนที่ถูกลงในการผลิตแพทย์ขึ้นมา ในท้องถิ่นควรมีแพทย์อายุรกรรมประจำอยู่คัดกรองหรือรักษาผู้ป่วยในกรณีที่ทำได้ก่อนที่จะเข้าไปถึงระบบของโรงพยาบาลส่วนกลาง นอกจากนี้ประชากรควรมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณด้วยอย่างในหลายประเทศประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณในระดับจังหวัด อำเภอ


 


ภควดียังเสนอว่าควรมีการเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ของที่ดินบางส่วน ต้องมีความพยายามสร้างกรรมสิทธิ์ของชุมชน ปัญหาคือที่ดินที่ได้รับจัดสรรโดยรัฐให้กับเกษตรกร แต่สุดท้ายก็ถูกนายทุนซื้อไป ปัญหาก็กลับมาเป็นอย่างเดิม จึงต้องสร้างระบบกรรมสิทธิ์แบบใหม่ เช่น ตั้งกรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชนไว้ใช้สำหรับทำกินใช้สำหรับเพาะปลูกอย่างเดียวจำกัดไว้ว่าห้ามขาย แต่ก็มีที่ดินที่เป็นของส่วนบุคคลที่สามารถขายได้


 


มีเงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ไม่ได้ต้องมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ต้องมีการจัดการกับงบประมาณกองทัพที่มีอยู่มหาศาลถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ การพึ่งพิงกันระหว่างกลุ่มองค์กรประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เกษตรกร แรงงาน แรงงานนอกระบบ เพื่อที่จะหาข้อตกลงร่วมกันหาแนวทางที่จะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนา


 


 


เสนอให้ชาวนา-คนงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แรงงานส่วนหนึ่งได้กลับบ้านไปเป็นแรงงานภาคเกษตร การเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมของไทยแตกต่างกับต่างประเทศ ในประเทศตะวันตกคนได้หลุดออกจากภาคการเกษตรและเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยทันที แต่ในประเทศไทยแรงงานประมาณ 50-60% ยังอยู่ในชนบทอยู่มีที่ดินของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม


 


ส่วนขนาดการถือครองที่ดินของเกษตรกรมีอย่างจำกัด ส่วนหนึ่งไม่สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้เพราะที่ดินมีขนาดเล็ก การเรียกร้องให้ปฏิรูปที่ดินจึงสมควรที่จะเกิดขึ้น การปฏิรูปที่ดินจะเกิดขึ้นได้ด้วยการจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน โดยในสมัยของปรีดี พนมยงค์ มีการออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินและต่อมาได้ถูกยกเลิกไปไม่เกิดขึ้นอีก


 


รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวถึงภาวะทางการเงินการธนาคารว่า คนที่มีเงินไม่ฝากเงินไว้ในธนาคารอีกต่อไป แต่ที่จะทำคือการไปซื้อที่ดินดีกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคาร การปฏิรูปที่ดิน คือ ความพยายามที่จะกระจายการถือครองที่ดิน หลังจากการปฏิรูปที่ดินต้องมาคิดกันต่อว่าจะรวมกลุ่มกันผลิตอะไร อาจจัดตั้งในรูปของสหกรณ์ สถาบันการเงินภาคประชาชน จำเป็นต้องสร้างฐานเศรษฐกิจของการรวมกลุ่มขึ้นมา


 


คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ในระบบนายจ้างลูกจ้างจึงต้องมีการคิดระบบสวัสดิการชุมชนขึ้น โดยการให้ชุมชนจัดการเองแต่รัฐต้องมีงบประมาณสนับสนุน ในส่วนของการเมืองโดยส่วนตัวคิดว่า กลุ่มภาคประชาชนต่างๆควรสร้างระบบสหพันธ์ขึ้นมา ใช้เทศบาลเป็นฐานอย่างในประเทศบราซิลประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ


 


การเชื่อมโยงชาวนากับกรรมกรอย่างไร ทั้งสองส่วนนี้ถูกเบียดขับจากทุนคนที่มาเป็นแรงงานส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของเกษตรกร กรรมกรถูกขูดรีดโดยนายทุนค่าจ้างถูก สวัสดิการน้อย เวลาการทำงานยาว ชาวนาก็ถูกทุนการเกษตรแย่งชิง การรักษาพื้นที่ของสองกลุ่มนี้ได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน


 


 


อธิบายเรื่องรัฐประหาร 5 กลุ่มพลังทางการเมือง และหลุมดำที่ชื่อพันธมิตร


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อธิบายเรื่องการรัฐประหาร 4 ประเด็น คือ หนึ่ง ถ้ามีการรัฐประหารในระยะเวลาอันใกล้จะเป็นการรัฐประหารแบบสั้นๆ เพราะการทำรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นการทำที่ไม่คุ้มค่า เถ้าหากการรัฐประหารยาวนานคณะรัฐประหารจะต้องรับภาระในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า ภาระนี้น่าจะตกเป็นของรัฐบาลพลเรือน ถ้าทหารทำรัฐประหารทหารจะต้องรับภาระนี้


 


สอง ถ้าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หมายถึง มีการตื่นตัวทางการเมืองของฝ่ายประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารและมีการบาดเจ็บล้มตาย จะมีการรัฐประหารซ้อนทันที่ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาสถาบันทหารเอาไว้


 


สาม อยากให้รอดูท่าทีขององค์อธิปัตย์ อาจจะมีสัญญาณออกมาให้มองเห็นได้ชัดเจนกว่านี้


 


สี่ ถ้าไม่มีการรัฐประหารอาจจะมีการยุบสภา


 


นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติและยังได้เสนอบทวิเคราะห์ 5 กลุ่มพลังทางการเมืองที่แสดงออกมาขณะนี้ ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มต้นตั้งแต่การชุมนุมที่สะพานมัฆวานอันเป็นจุดที่ได้เปรียบและต่อมาจึงเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลโดยการนำของเสนาธิการทหารของกลุ่ม โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นหลุมดำเป็นการละเมิดกฎหมายทุกฉบับเท่าที่มีอยู่ ถือว่าเป็นการปลดอำนาจรัฐในทางสัญลักษณ์ ทำให้คนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับกลุ่มอื่นๆไม่ได้ การไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 เดือน ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลยมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด หลังจากที่เริ่มตั้งเวทีจนกระทั้งถึงวันนี้เป็นเวลาร้อยกว่าวัน มีข้อเสนอที่ชัดเจนอะไรบ้าง นี่คือลิเกของชนชั้นกลางเป็นความบันเทิงที่คนเหงามาเจอกัน


 


การนำเสนอเรื่องเขาพระวิหารเคยมีคนถามว่าอาจารย์ไม่สำนึกไม่รักชาติเลยหรือ เขาพระวิหารเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะจบไปอย่างรวดเร็วเพราะนี้คือบทละครที่ได้ทิ้งพิษร้ายให้กับประเทศชาติ การเสนอแนวทางการเมืองใหม่ 70:30 ก็พลิกผันไปภายในไม่กี่วันเพราะมีคนไม่เห็นด้วย ดังนั้นข้อเสนอที่ชัดเจนคืออะไรหลังจากยึดทำเนียบไปแล้วก็ยังบอกไม่ได้ หาบันไดลงก็ไม่ได้น่าสงสารมาก


 


สอง พรรคประชาธิปัตย์ เล่นการเมืองแบบเอาเปรียบคนอื่นใช้แต้มต่อ ค.ม.ช.ช่วยเหลือเต็มที่ก็ยังเข้ามาแค่ 137 คน มี ส.ส.ของพรรคขึ้นไปบนเวทีพันธมิตรฯ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์เฉยชา โดยถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล พรรคยังลอกนโยบายประชานิยมของผู้อื่น ถ้าเป็นนักศึกษาก็คือการลอกข้อสอบเพื่อน นี่คือความหวังของประเทศไทยหรือ การเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เป็นเพียงแค่ตัวประกอบเพราะฝ่ายค้าจริงอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล


 


สาม พรรคพลังประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มไทยรักไทยเก่า อย่าหลงลืมว่าพรรคไทยรักไทยเล่นการเมืองแบบสองชั้น ชั้นล่างเป็นประชานิยมข้างบนค้าขายแบบโลกาภิวัตน์มีการทำการค่าแบบทวิภาคี มีการทำ FTA มีการเชิญชวนแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เข้ามาสู่สังคมไทย มีความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยังต้องจับตาให้ดีเพราะเป็นพรรคที่มีลักษณะตบตาสร้างภาพ ที่พูดเช่นนี้เพราะผมเป็นคนศึกษาเรื่องวัฒนธรรมทางสายตา ยกตัวอย่างวัฒนธรรมทางสายตา เช่น พวกเราเคยดูตอน 6 โมงเย็น หรือ 8 โมงเช้า มีเพลงชาติ เพลงชาติมีอะไรปรากฏอยู่ภายใน 2 นาที นั้นปรากฏว่ามีทหาร 3 เหล่าทัพ มีทหารราชวัลลภ จะมีอะไรแบบนี้ ถามว่าชาตินี้เป็นของใคร มีพวกเราประชาชนอยู่ตรงไหน มีนักธุรกิจอยู่ตรงไหน มีเกษตรกร กรรมกร อยู่ตรงไหน วันที่ทักษิณออกจากทำเนียบรัฐบาลเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว สิ่งที่ทักษิณถือไว้ในอกคืออะไร คือรูปคุณหญิงพจมาน หมายถึงความรักครอบครัว พรรคการเมืองพรรคนี้เป็นพรรคที่สร้างภาพเป็นใช้วันเสาร์ให้เป็นประโยชน์ พรรคไทยรักไทยเป็นเจ้าแห่งเมกะโปรเจกต์ มีโปรเจกต์ ใหญ่ๆ เรื่อยๆ เป็นพรรคการเมืองแบบแก๊งสี่คนประกอบ แก๊งอะไหล่รถยนต์ แก๊งมือถือ แก๊งพลังงาน แก๊งอาหารสัตว์ มีการแทรกแซงองค์กรอิสระแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน


 


สี่ ชนชั้นสูง ดุลอำนาจอันหนึ่งในสังคมที่ปฏิเสธไม่ได้ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น จะเห็นว่าเป็นลักษณะที่เป็นการสร้างภาพให้ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ภาพชนชั้นสูงปัจจุบันที่อยู่เชียร์พันธมิตรเป็นฝันลมๆ แล้งๆ ของการโหยหาอดีตไปสู่อำมาตยาธิปไตยเป็นคนที่ตกยุคแต่มีอำนาจบารมี มีหลายท่านพูดถึงชนชั้นสูงมีการช่วงชิงการนำในหมู่ตระกูลใหญ่ และตระกูลเล็กของชนชั้นสูง พฤติกรรมของชนชั้นสูงในวันนี้คือการร่วมกับกลุ่มทุนเก่า กลุ่มทุนเก่าคือกลุ่มคนจีนที่ต้องการการปกป้องจากเจ้าและทหาร ชนชั้นสูงอาศัยแต้มต่อทางการเมืองอาศัยเรื่องชาติตระกูล


 


ห้า ประชาชน กำลังถูกช่วงชิงวาทกรรมโดยชนชั้นกลางบนเวทีในหลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนไร้พลังในการรวมตัวกัน ประชาชนถูกปล่อยปะละเลยในการมีส่วนรวมทางการเมือง 10 ปี ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นก้าวแรกที่ประชาชนเริ่มตระหนักในอำนาจของตนเอง ความยากจนของประชาชนได้ลดทอนอำทอนอำนาจทุกด้าน การมีสิทธิ การมีส่วนร่วม การกำหนดนโยบายสาธารณะ


 


ถ้าวิเคราะห์ทั้ง 5 กลุ่ม ประชาชนเป็นกลุ่มที่ประสบการณ์ทางการเมืองน้อยที่สุด และยังไม่มีตัวแทนทางการเมืองของตนเองมีแต่คนฉวยใช้ประโยชน์เป็นพลังของการแห่แหนเท่านั้น


 


รศ.สมเกียรติ กล่าวถึงทางออกของปัญหาตามปรากฏการณ์ว่า ภาพของกลุ่มที่แสดงออกมาอย่างจริงจังทั้ง พันธมิตรฯ, นปก., พรรคพลังประชาชน, พรรคประชาธิปัตย์ ล้วนไม่ใช่ทางออกของสังคมได้ ถ้าสังคมรับข้อเสนอของพันธมิตรเรื่องการเมืองใหม่แบบสูตรสำเร็จที่ตายตัวแล้ว บังคับให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออก พรรคพลังประชาชนจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีการแต่งตั้งรัฐบาลแห่งชาติมีการใช้วาระแห่งชาติจะเป็นทางออกหรือไม่ ภาพนี้ปรากฏออกมาได้อย่างไร สานเสวนาในวันนี้ยังเป็นตัวปลอมอยู่ คนที่เป็นนอมินีตัวจริงยังไม่แสดงตัวถ้าคิดจะมาสานเสวนากันช่วงนี้จึงเป็นช่วงเปลืองน้ำลาย โดยส่วนตัวเห็นว่าควรมีพื้นที่สาธารณะเห็นด้วยกับสานเสวนาแต่จะไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องให้ดุลอำนาจหลักอ่อนแรงก่อนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม


 


 


กระแสไฟสองทางระหว่างอำนาจเทวดากับอำนาจคน


ด้าน อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไปมากจากอดีตที่ทหารสามารถจับมือกับชนชั้นนำบางกลุ่มทำรัฐประหารได้ง่าย แต่ในวันนี้ความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารไม่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองระบบรัฐสภาที่เชื่อมกับประชาชนมีความสำคัญขึ้นมา ประชาชนเข้ามาถ่วงน้ำหนักทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำแย่งอำนาจกันแล้วทำรัฐประหารอย่างในอดีต


 


ระบบการเมืองต้องถูกปรับ เพราะไม่สามารถทำให้เกิดมาตรฐาน คนเมืองไม่ได้มีเสียงดังอย่างเก่าเนื่องจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตร ในขณะที่ชาวบ้านก็มีความต้องการที่จะปรับระบบการเมืองใหม่ให้ตนเองมีเสียงดังขึ้นมา และต้องการมีส่วนในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมโดยรวมทั้งหมด ระบบการเมืองใหม่คงต้องมีการปรับโครงสร้างเนื่องจากดุลอำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป จนรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ไม่ได้แน่สังคมไทยพัฒนาไปไกลกว่าที่จะอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย


 


ระบบการเมืองที่มีเทวดามานั่งเป็นวุฒิสมาชิกมานั่งอยู่ในองค์กรต่างๆ แล้วตัดสินปัญหาต่างๆ หมดสมัยไปแล้ว เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ตอนนี้ กระแสที่เกิดขึ้นมีไฟบอกทางชัดเจนในตอนนี้ คือ การปรับสังคมให้อยู่ในอำนาจของเทวดา กับ ระบบการเมืองที่นำคนในสังคมขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น เป็นสองทางที่ต่างกัน


 


สิ่งประชาชนควรจะทำ คือ การเสนอระบบการเมืองที่ทำให้ประชาชน ชนชั้นกลางระดับล่าง ชาวบ้าน สามารถเข้าไปมีอำนาจในทางการเมืองมากขึ้น แนวทางดังกล่าวอาจจะต้องให้ความรู้และรายละเอียดมากขึ้น เช่น เวลาพูดถึงการเสียภาษีว่าจะต้องมีการเก็บภาษีก้าวหน้าถึงจะทำให้กระจายความเป็นธรรม เฉพาะภาษีบุคคลธรรมดาในประเทศไทยถือว่าสูงสุดอยู่ที่ 37% เมื่อเทียบกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถ้าเทียบกับสิงคโปร์สูงสุด 21%


 


แต่สิ่งที่แตกต่างกันมากกว่านั้นคือภาษีประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ประเทศไทยไม่มีแต่เก็บภาษีส่วนบุคคลเยอะ ต้องทำอย่างไรที่ทำให้สังคมไทยมีความเสมอภาคมากขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นทางการเมืองประชาชนควรเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับสังคม


 


รศ.สมชาย กล่าวถึงทิ้งท้ายว่า รัฐสวัสดิการหมายถึงการที่รัฐต้องแบกรับในเรื่องบริการพื้นฐาน โดยส่วนตัวคิดว่าควรจะทำให้สังคมจัดการกับทรัพยากรต่างๆที่ตนเองมีมากขึ้น มากกว่าการพึ่งพาจากรัฐเพราะการจัดรัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดรัฐที่ใหญ่มากขึ้น สุดท้ายปัญหาก็จะกลับมาเป็นอย่างเดิมทำอย่างไรที่สามารถประกันความเสมอภาคทางสังคม นั้นคือการให้สังคมเข้ามาจัดการด้วยตนเอง เช่น กรณีป่าชุมชน ชุมชนมีอำนาจในการจัดการป่าด้วยตนเองเป็นตัวอย่าง


 


 


การเมืองไทยถึงขั้นที่ไม่มีใครสามารถทุบโต๊ะได้เบ็ดเสร็จแล้ว


รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การตัดสินใจรัฐประหารมีโอกาสน้อยที่ทำรัฐประหารซ้อนกลับจะได้เปรียบ การเมืองต่อจากนี้จะเปลี่ยนสังคมไทยอย่างมากเพราะเกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจพังพอดี ข่าวที่น่าตกใจปีหน้าจะมีคนตกงานประมาณ 1 ล้านคน ปัญหาใหญ่คือเราจะปฏิรูปการเมืองในขณะที่เศรษฐกิจพังได้อย่างไร เราจะผลักดันอย่างไรให้คน 68% ของแรงงานทั้งหมด ที่เป็นแรงงานนอกระบบให้อยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจ แรงงานที่ในระบบก็จะต้องคำนึงถึงการให้ออกจากงาน


 


ดุลอำนาจของสังคมข้างบนในขณะนี้ไม่ลงตัวเป็นไปได้ไหมที่ กรรมกรและเกษตรกรจะสามารถประสานกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้ฐานของการปรับโครงสร้างการเมืองมีเสียงของกรรมกรเกษตรกรมากขึ้น จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านที่ไปเข้าพวกกับเสื้อเหลืองเสื้อแดงถอนตัวออกมาก่อน เพื่อจะได้มานั่งคิดกันว่าเราจะอยู่รอดกันได้อย่างไร


 


เวลาพูดถึงทางสายกลางหรือทางสายที่สามนักวิชาการ ข้าราชการออกมาพูดแต่ไม่ค่อยมีพลัง โดยส่วนตัวมีโอกาสพูดกับคุณบรรจง (นะแส) ก่อนที่จะมีการปิดสนามบิน ถ้าสมมุติว่าฝ่ายที่คุณสนับสนุนชนะคุณคิดว่าเค้าจะมาช่วยคุณหรือเปล่า แต่คุณบรรจงก็ไม่ได้ตอบ โดยส่วนตัวคิดอยู่ว่าบรรจงก็คงรู้ว่าเค้าจะไม่ช่วย สิ่งที่สำคัญจึงเป็นการเชื่อมต่อกันของประมง เกษตรกร กรรมกร


 


การออกมาอ้อนเหมือนสายันต์สัญญาก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าฝ่ายนำคิดอะไรอยู่ เพราะถ้าคุณตัดสินใจชนจะไม่พูดแบบนี้ การเมืองข้างบนอาจจะคลี่คล้ายในเร็วๆ นี้ แต่หลังจากนั้นสำคัญกว่าที่พวกเราจะต้องเร่งรวมตัวกัน


 


ส่วนนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) กล่าวฝากไว้ 4 ประเด็นว่า หนึ่ง การเมืองไทยพัฒนามาถึงขั้นที่จะมีใครสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ สถาบันอำนาจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทุบโต๊ะได้ แต่เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนทำให้การทำรัฐประหารการใช้ความรุ่นแรงได้ ทั้งที่ความขัดแย้งนำเนินมากว่า 3 ปีแล้ว สะท้อนว่าการเมืองได้พัฒนากลุ่มการเมืองต่างๆ เติบโตขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการออกแถลงการณ์ที่อ่อนออกกมา แต่ก็สามารถสกัดกั้นการรัฐประหารได้


 


สอง กำลังทางการเมืองที่ต่อสู้กันอยู่นี่และปัญหาเศรษฐกิจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสังคมไทยในอดีต ปี พ.ศ.2475 ก่อนการปฏิวัติมีวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกกระทบมาถึงประเด็นทางการเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด ก่อนปี พ.ศ.2516 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่รุ่นแรงเคยมีการเข้าแถวซื้อข้าวสารกันและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ครั้งนี้ก็เช่นกันวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจอาจจะรุ่นแรงกว่าอดีตที่ผ่านมา


 


สาม ใครจะกุมการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางไหน เราที่เป็นประชาชนจะนำการการเปลี่ยนแปลงหรือมีส่วนร่วมแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงเป็นการนำพวกเราเข้าไปสู่สองฝ่ายหรือไม่เพื่อที่จะปะทะกันแตกหัก เราจะสร้างการเมืองที่เป็นของเราเองได้หรือไม่ ถึงที่สุดการเมืองสองฝ่ายแม้ว่าจะอ้างประชาชนแต่เป็นการเมืองระบบอุปถัมภ์ทั้งคู่ ที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นเพราะทั้งสองฝ่ายก็ไปขัดกับอำนาจเบื้องบนที่เหนือกว่าเสมอ ทำให้เกิดความไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาขับเคลื่อน และนั้นเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยตลอดมาในการเปลี่ยนแปลง


 


สี่ เราจะทำการต่อสู้อย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่าต้องเสนอปัญหาของประชาชนให้รัฐบาล เป็นการเมืองของจริงได้รับความเดือดร้อนจริง การเมืองต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การเมืองดังกล่าวจะร้อยรัดคนเข้ามาเพราะเป็นความเดือดร้อนร่วมกัน จะนำไปสู่การเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สร้างจินตนาการทางการเมืองร่วมกันของ เกษตรกร พี่น้องชาติพันธุ์ กรรมกร สลัม นี้คือการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง


 


ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีข้อเสนอเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยกล่าวว่า ญัตติข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้หลายทาง คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 2.ส.ส.มีไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งหมด หรือ ส.ส. กับ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตัวอย่างที่หมอแหวงทำได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ล่ารายชื่อได้ 100,000 คน แต่เช็คเลขประจำตัวแล้วได้ 70,000 คน ตอนนี้ได้บรรจุในวาระซึ่งประธานสภาจะต้องเสนอต่อไป การเสนอแก้ครั้งนี้ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญใหญ่ได้ ต้องแก้ไขมาตรา 291 ก่อน ว่าวิธีการแก้จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะกำหนดว่า ต้องมี ส.ส.ร. จำนวนและสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างที่จะสับสนวุ่นวายเล็กน้อย นายชำนาญกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net