Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง 222 ตึกคณะนิติศาสตร์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการอาเซียนศึกษาได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง สู่ประชาคมอาเซียน 2015 โดยมีนายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมเสวนา


ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้ร่วมลงนามใน "คำประกาศอาเซียน" ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้ง "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) และในปี 2535 ได้ตกลงที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ขึ้น


นอกจากนั้นอาเซียนยังได้จัดตั้งเวทีการหารือทางด้านความมั่นคง ซึ่งเรียกว่า ASEAN Regional Forum หรือ RAF ขึ้น ต่อมาอาเซียนได้บูรณาการในเชิงกว้าง โดยการขยายจำนวนสมาชิกด้วยการดึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 10 ประเทศ เข้ามาเป็นสมาชิก


อย่างไรก็ตามในปี 2540 อาเซียนประสบกับมรสุมหนัก คือ วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย หลังผ่านพ้นมรสุมดังกล่าวไปได้ จึงเกิดศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างกัน โดยในปี 2546 ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี อาเซียนได้เดินหน้าบูรณาการในเชิงลึกด้วยการตั้งเป้าว่าจะพัฒนาไปเป็น "ประชาคมอาเซียน"


โดยจะประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน และเพื่อเป็นการก้าวไปเป็นประชาคมอาเซียนจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมในทุกแกน เริ่มจากแกนประชาคมความมั่นคงอาเซียน ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะมนตรีทางด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้น โดยจะนำมาซึ่งการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยของภูมิภาคเนื่องจากแต่ละประเทศ จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นตามข้อบัญญัติของกฎบัตร และจะเป็นการแพร่ขยายขององค์กรด้านสังคม


งานเสวนาเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาเรื่อง "สู่ประชาคมอาเซียน 2015" โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคมนี้ ทั่วโลกจะจับจ้อง เพราะเป็นเรื่องสำคัญในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามหวังว่าประเทศอาเซียนจะร่วมมือกันเพื่อลดแรงกระทบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น


โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธันวาคม จะมีการเชิญผู้ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนขึ้นเวทีสนทนาโลกอาเซียน (Asian Global dialogue) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ เรื่องความคาดหวังต่ออาเซียนที่จะช่วยแก้ปัญหาโลก โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ กองทุนกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก เข้าร่วมด้วย


การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน ประเทศอาเซียนไม่ได้รับผลกระทบกับวิกฤติการเงินของสหรัฐ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจอาเซียนสามารถรับมือ และผ่านปัญหาความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจมาแล้ว และสามารถปฏิรูประบบการเงินและเศรษฐกิจของอาเซียนและเอเชียตะวันออกได้ ดังนั้นจึงคาดว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้น จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลก รักษาระบบเศรษฐกิจโลกไว้ได้


การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะวาระแห่งชาติของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นที่จับตามองของต่างชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งเห็นได้จากการประชุมอาเซ็ม ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกันของประเทศในเอเชียและยุโรปนั้น มีการให้ความสำคัญอย่างมากในการเจรจานอกรอบของอาเซียน จนเกิดข้อตกลงความร่วมมือ "อาเซียน+3" และ "อาเซียน+6" ขึ้นมา


ปัจจัยที่จำเป็นต้อง "สร้าง" เพื่อให้อาเซียนก้าวสู่การเป็นประชาคมได้ 


1. จะต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันได้มีการประกาศกฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นธรรมนูญสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อาเซียนกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียนมีอำนาจการต่อรองเพิ่มมากขึ้น


2. จะต้องมีการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะในแง่ของภาษา วัฒนธรรม และการเมืองการปกครองภายในประเทศ ซึ่งอาเซียนมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน และยังจำเป็นต้องมีการบูรณาการวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันมากกว่านี้


3. จะต้องดำเนินการเพื่อให้ช่องว่างของความแตกต่างในประเทศสมาชิกแคบลง ซึ่งจริง ๆ แล้วในปัจจุบัน สภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกของอาเซียนนั้นยังมีช่องว่างที่กว้างอยู่มาก จนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมๆกันได้อย่างแท้จริง


4. จะต้องทำให้อาเซียนเป็นของประชาชน คือ ให้ประชาชนมีสำนึกรู้ถึงความเป็นเจ้าของประชาคมอาเซียนให้ได้ ที่ผ่านมาอาเซียนนั้นเป็นเวทีของข้อตกลงในภาครัฐบาลและข้าราชการระดับสูงเท่านั้น เมื่อมีความมุ่งหวังที่จะทำให้อาเซียนกลายเป็นประชาคม ก็ย่อมต้องมีการมีส่วนร่วมและการร่วมรับรู้ของภาคประชาชนด้วย


5. จะต้องลดกำแพงภาษีระหว่างกัน รวมถึงการลดเงื่อนไขที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน เพื่อสร้างความไหลลื่นในการดำเนินการค้าขาย และการขนส่งสินค้าไปทั่วอาเซียน


การตั้งความหวังที่จะเป็นประชาคมของอาเซียนนั้น เป็นภาพที่ดีที่ทำให้จินตนาการถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีความเข้มแข็ง และมีอำนาจการต่อรองที่เข้มแข็งกลุ่มหนึ่งของโลกได้ รวมทั้งยังเป็นที่จับตาของกลุ่มประเทศอื่นๆทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยต่างๆที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งยังเกิดปัญหาติดขัด หรือยังไม่สามารถจัดการให้เป็นไปตามนั้นได้ จึงยังคงต้องดูกันต่อไปว่า ประชาคมอาเซียน ในปี 2015 นั้นจะเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่จะนำพาให้อาเซียนยิ่งใหญ่ดั่งที่ตั้งใจไว้ หรือเป็นเพียงแค่ฝันที่ไกลเกินเอื้อมที่ยังอยู่ห่างไกลความเป็นจริงกันแน่


ต่อมานายกษิต ภิรมย์ กล่าวว่า ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือทางด้านการเมือง คือ เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอาเซียนอย่างแท้จริงดังเช่นสหภาพยุโรปหรืออียู ตั้งคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนทุกประเทศ และให้มีการฟ้องผู้นำประเทศที่มีความประพฤติไม่ชอบได้ รวมถึงขยายองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง เปิดให้มีการเมืองหลายพรรค และให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง และปฏิเสธที่จะใช้กองกำลังและอาวุธทั้งในและระหว่างประเทศ


นอกจากนี้ยังเสนอให้มีนโยบายร่วมกันทางด้านสังคม เช่น ป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และเสริมสร้างการศึกษา เสนอให้มีความร่วมมือด้านความมั่นคง ในการฝึกทหารร่วมกัน และเพิ่มบทบาทในเวทีเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ


รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ได้เสนอแนะให้เร่งขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดย ขยายฐานการค้า ขยายฐานการลงทุน ขยายฐานภาคบริการ และขยายความร่วมมือทางการเงิน


ส่วนทรรศนะของ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ได้กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งการขาดดุลทางสังคมวัฒนธรรม การขาดดุลทางธรรมาภิบาลและความไม่เป็นธรรมทางสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในมิตินี้ ทุกชาติจำเป็นจะต้องมีผู้นำที่มีวุฒิภาวะ มีสำนึกของความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างโลกาภิวัฒน์ทางสังคมและวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ โดยสร้างสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น ด้วยการลดช่องว่างทางการรับรู้และช่องว่างความรู้


ท้ายที่สุดนี้ การรอคอยการมาของกฎบัตรอาเซียน เหลือเพียงการให้สัตยาบันของ 3 ชาติสุดท้าย คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์แล้ว หลังจากนั้น 30 วัน เราก็จะกลายเป็น ประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งและสามารถยืนหยัดแข่งขันได้ในเวทีโลก


 


 


เรียบเรียงเนื้อหาจาก


หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551


สำนักข่าวไทย วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551


สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551


  






Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net