Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.51 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 30 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำนาจ  ผการัตน์ เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอต่อประเด็นปัญหาในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เนื่องในโอกาสที่นายอำนาจ มาปฏิบัติราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ แทนคนเดิมที่เกษียณอายุราชการ


 


กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร โดยบริษัท เอเชียแปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) เป็นผู้ยื่นคำขอ (แหล่งอุดรใต้กว่า 2 หมื่นไร่, แหล่งอุดรเหนือกว่า 5 หมื่นไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดมากกว่า 7 หมื่นไร่)  และปัจจุบันอยู่ในกระบวนการรังวัด ปักหมุด เพื่อขึ้นรูปแผนที่เหมือง และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับต่อไป


 


ในขณะเดียวกันก็พบว่าได้มีกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง น้ำพอง2-อุดรธานี3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) จะดำเนินการเพื่อฝังเสาและวางสายไฟฟ้า มีกำลังขนาด 500 กิโลโวลต์พาดผ่านเขตเรือกสวนไร่นาชาวบ้านในพื้นที่ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี และต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จำนวน 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ อุดร  ด้วยเช่นกัน


 


ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีคนใหม่ เคยเป็นรองผู้ว่าฯ อุดร มาก่อนและยังเคยเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาผลกระทบกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ในช่วงสมัยนั้นอีกด้วย โดยได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม ยื่นหนังสือและพูดคุย นำเสนอประเด็นปัญหาของตนเอง ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติราชการต่อไป


 


โดยนางจันทา  สัตยาวัน รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ยื่นหนังสือพร้อมกับกล่าวว่า เรื่องเหมืองแร่โปแตชเป็นปัญหามานานซึ่งต้นเหตุก็มาจากการดำเนินการรังวัด ปักหมุด ของเจ้าหน้าที่กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) กับบริษัทฯ ที่เร่งรัด และผิดขั้นตอน จนทำให้เกิดเป็นคดีความบริษัทฯ แจ้งจับชาวบ้าน


 


"ขอให้พ่อเมืองอุดรฯ สร้างความสามัคคี ให้กับราษฎรในพื้นที่ โดยไม่เร่งรัดให้มีการรังวัด ปักหมุด ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งมาโดยตลอด ซึ่งถ้าไม่มีการรังวัด ปักหมุด ชาวบ้านก็ไม่เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน เพราะเมื่อจะมีการรังวัด ปักหมุด บริษัทฯ ก็จะไปจ้างคนมาเพื่อคุ้มกัน กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ไปค้าน สุดท้ายก็เกิดการปะทะ และขัดแย้งกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา" นางจันทากล่าว


 


ด้านนายบุญเลี้ยง โยธะกา คณะกรรมการชาวบ้านผู้คัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้า (คชส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินการโดยไม่เห็นหัวชาวบ้าน ขาดการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ อ้างแต่ว่าตนเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่


 


"พฤติกรรมของ กฟผ.ซึ่งลงไปในพื้นที่เพื่อทำการถากถางแนวเขต ตัดต้นไม้ ของชาวบ้านโดยพละการ แต่ไม่เคยชี้แจง หรือบอกกล่าวกับชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเลย จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องฟ้อง กฟผ. ต่อศาลปกครอง ดังนั้นในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี จึงขอให้ท่านยุติการพิจารณาใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว จนกว่าศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด"  นายบุญเลี้ยงกล่าว และเมื่อกล่าวจบก็เดินไปมอบข้อมูลเอกสารของกฟผ.ให้กับผู้ว่าฯ


 


หลังจากนั้นนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวกับชาวบ้านทั้งสองกลุ่มว่า ในประเด็นเหมืองแร่โปแตชนั้น ปัจจุบันต้องรอในส่วนของกรรมการระดับกระทรวง ที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เคยเสนอกับผู้ว่าฯ คนก่อนไปแล้ว ส่วนประเด็นไฟฟ้าจะขอศึกษาเอกสารดูก่อน


 


"เรื่องโปแตชที่เสนอมาก็เป็นเรื่องเก่าๆ ผู้ว่าฯ ก็รู้ดี ซึ่งตามกระบวนการแล้วจะต้องมีการรังวัด ปักหมุด เพื่อให้รู้ขอบเขตเหมือง เมื่อแล้วเสร็จถึงจะมีการทำ อีไอเอ (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เพราะอีไอเอที่ผ่านมาถือว่าใช้ไม่ได้ หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันในกระบวนการของผู้มีส่วนได้เสีย ตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ ปี 45 และในช่วงนั้นชาวบ้านก็จะใช้สิทธิของตนได้เต็มที่" นายอำนาจกล่าว


 


พ่อเมืองอุดร ยังกล่าวต่ออีกว่า "ในส่วนเรื่องรังวัด ปักหมุดที่มีปัญหาความขัดแย้งนั้น จะต้องสร้างความเข้าใจกันเสียก่อน โดยให้มีส่วนร่วมจากทั้ง 3 ฝ่าย มาคุยกัน คือ ส่วนราชการ บริษัท และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และเรื่องไฟฟ้าก็จะเชิญ กฟผ. มาคุยกัน ทั้งนี้ขอให้เชื่อผู้ว่าฯ แล้วจะไม่มีปัญหาใดๆ" พ่อเมืองอุดรกล่าวตบท้ายอย่างมั่นใจ


 


เมื่อจบเวที ระหว่างที่ผู้ว่าฯ เดินออกจากห้องประชุมก็ได้เข้าไปทักทายกับแกนนำชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะไปปฏิบัติราชการอื่นต่อไป


 


ด้านนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า  จากการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีของกลุ่มอนุรักษ์ฯ นั้น ตนเห็นว่าผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจอนุมัติว่าเอาหรือไม่เอาโครงการฯแต่ผู้ว่าฯ คนนี้ก็เป็นคนที่รู้เรื่องโปแตช ดีที่สุด เพราะเคยเป็นรองผู้ว่าฯ และดูแลเรื่องโปแตชมาก่อน และมีท่าทีที่เห็นด้วยกับเหมืองแร่โปแตชมาโดยตลอด อีกทั้งกรรมการระดับจังหวัดที่ผ่านมาต้องล้มเหลวไปก็เพราะบริษัทฯ เข้ามาแทรกแซงกระบวนการ


 


"กรรมการระดับกระทรวงที่จะมีขึ้นนั้น จะต้องขยับไปข้างหน้า ก็คือต้องให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนไทยในเรื่องเหมืองใต้ดินว่า หากเกิดเหมืองแล้ว จะมีความปลอดภัยหรือไม่ ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร ผลกระทบทางสังคมที่ตามมาจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อมีธงอยู่แล้วว่าจะสร้างเหมืองแร่ หากเป็นเช่นนั้น การขุดโปแตชขึ้นมาก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย"  นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net