Skip to main content
sharethis

การนำเสนอ "ผลของการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 ต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย" โดยนายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ในเวทีวิชาการ "การเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ" เนื่องในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 .. 2551 เมื่อวันอังคารที่ 2 ธ.ค.51 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


000


 


"การยุบพรรคไทยรักไทย และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยเฉพาะในมาตรา 237 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการยุบพรรคมาตลอดในรัฐธรรมนูญ 40 หรือในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นแต่ไม่ได้เป็นที่สนใจ เพราะการยุบพรรคที่ผ่านมามาจากเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น สมาชิกพรรคไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด นายทะเบียนจึงขอให้ยุบพรรค แต่พอหลังจากเหตุการณ์การยุบพรรคไทยรักไทย การยุบพรรคได้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจในทันที เพราะเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายในทางการเมือง"


 


"ต่อมาเมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 50 ออกมา และได้มีการมาตรา 237 ซึ่งขยายบรรทัดฐานในการยุบพรรคไทยรักไทย แต่แทนที่การยุบพรรคตามมาตรา 237 น่าจะช่วยให้การเมืองดีขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรมมากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น กลับอาจกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำลายประชาธิปไตย ทำลายคุณค่าบางอย่างของประชาธิปไตย" นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการนำเสนอบทความในครั้งนี้


 


ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาธิปไตย


 


"ในปัจจุบันหากจะสนใจการมีประชาธิปไตยโดยละทิ้งเรื่องพรรคการเมืองนั้นเป็นไปไม่ได้" นายเข็มทองกล่าว


 


เริ่มต้นจากการให้นิยามเกี่ยวกับ "พรรคการเมือง" ซึ่งความจริงมีการให้นิยามกันไว้อย่างกว้างขวางมาก แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายไทยซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้ประกอบการพิจารณานั้น ตามมาตรา 4 (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 โดยสรุป "พรรคการเมืองไทย" มี 4 องค์ประกอบ คือ 1.คณะบุคคลที่มารวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรสมาคม 2.มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน ตามกฎหมายไทยเน้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในฐานะการเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 3.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งทั่วไป และ 4.ได้รับการจดแจ้งตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ส่งผลถึงการยุบพรรค


 


พรรคการเมืองไทยเป็น Legal creature (พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย) ต้องจดแจ้งตามกฎหมายถึงจะเป็นได้ ในขณะที่บางประเทศที่มีประวัติประชาธิปไตยมายาวนาน พรรคการเมืองเกิดโดยธรรมชาติ (Natural creature) พรรคการเมืองเกิดจากคนที่มีความรู้สึกนึกคิดคล้ายๆ กันมารวมกัน เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีคนคิดอย่างนั้นอยู่ เชื่ออย่างนั้นอยู่เขามารวมกันก็เป็นพรรคการเมือง ยุบไม่ได้


 


"ในส่วนของไทยและเยอรมันพรรคการเมืองยุบได้เพราะจัดตั้งโดยกฎหมายเมื่อกฎหมายให้ยุบก็ต้องยุบ" นายเข็มทองกล่าว


 


ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาธิปไตย มีคำถามสำคัญ 2 ข้อ คือ เราจะเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีพรรคการเมืองได้หรือไม่ และเราจะมีพรรคการเมืองโดยไม่มีประชาธิปไตยได้หรือไม่


 


ในช่วงแรกของการก่อกำเนิดประชาธิปไตย นับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณไม่มีพรรคการเมืองเพราะเป็นประชาธิปไตยทางตรง ดังนั้นในยุคเริ่มแรกจึงมีการมองกันว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ขัดขวางประชาธิปไตย เพราะผู้แทนที่อยู่ในสภาต้องทำตามเจตนารมณ์ของผู้ที่เลือกตัวเองเข้ามา แต่การที่ผู้แทนสังกัดพรรคการเมืองทำให้ต้องเลือกระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชนและเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เลือกทำตามเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง


 


คนสมัยก่อนจึงมองว่าพรรคการเมืองบิเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แถมไปๆ มา กลับมีคนบอกว่าพรรคการเมืองอาจเป็นตัวการทำให้ชาติแตกแยก แบ่งเป็นพรรคเป็นฝ่าย


นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก ในปี 2475 ก็ได้ระบุว่าผู้แทนต้องกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของผู้คนในชาติ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง และในส่วนกฎหมายพรรคการเมืองไทยเองในบางช่วงก็มีการบัญญัติแต่บางช่วงก็ไม่มี


 


แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ธรรมชาติของมนุษย์มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการรวมตัวกันเป็นพรรคพวก และการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองนั้นดีกว่าเป็นผู้แทนอิสระที่มีความคิดเห็นแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ มากมาย การยอมรวมกันเป็นพรรคการเมืองโดยทิ้งความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ตรงกัน เพื่อผลประโยชน์ที่สำคัญกว่าจะช่วยลดความสับสนในการเลือกผู้แทนของประชาชนลงได้ และพรรคการเมืองกลั่นกรองความคิดเห็นจำนวนมากของประชาชนผ่านกลไกภายในพรรคแล้วเข้าไปสู่สภา นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องยืนยง ซึ่งคนเพียงคนเดียวไม่สามารถดำเนินการได้


 


ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีองค์กรบางองค์กรเข้ามาทำหน้าที่แทนพรรคการเมืองได้บางอย่าง เช่น การตรวจสอบอำนาจรัฐ อาจจะมีสื่อ มีภาคประชาสังคม แต่ถึงอย่างไรพรรคการเมืองก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นของประชาธิปไตยในปัจจุบัน


 


ในส่วนคำถามเกี่ยวกับการมีพรรคการเมืองโดยไม่มีประชาธิปไตย นายเข็มทองกล่าวว่า ในการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีสิ่งที่คลาย "พรรคการเมือง" อยู่ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน แต่พรรคดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่ของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่นการนำความเห็นของประชาชนเข้าสู่กลไกลของรัฐเพื่อทำเป็นนโยบายออกมาปฏิบัติ หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐตามหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านได้ ทั้งนี้พรรคการเมืองจะสามารถทำหน้าที่ได้เมื่อมีบรรยากาศประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยความเสมอภาค การมีเสรีภาพ รองรับ


 


ฉะนั้นเมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยแล้วจะเห็นว่าพรรคการเมืองกับประชาธิปไตยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด หากปราศจากประชาธิปไตยรองรับเสียแล้ว พรรคการเมืองก็ไม่สามารถถือกำเนิดขึ้น หรือทำหน้าที่รับใช้ประชาชนได้ และหากไม่มีพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปเสียเลย การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันย่อมเดินไปด้วยความยุ่งยาก เพราะฉะนั้นการดำรงอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาธิปไตย


 


เหตุผลของการยุบพรรคการเมือง และที่มาตามมาตรา 237


 


นายเข็มทองกล่าวถึงเหตุผลของกลุ่มคนที่ต่อต้านการยุบพรรคการเมือง คือ การอ้างเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ เมื่อประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ เข้ามาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงประชาธิปไตยไม่ใช่การใช่สิทธิเสรีภาพโดยไม่จำกัด ไม่ใช่การเคารพแค่เสียงของประชาชน แต่เพื่อป้องกันหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ละเมิดมิได้ เช่น การคุ้มครองเสียงข้างน้อย การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เมื่อพรรคการเมืองใช้สิทธิกระทำการทำลายประชาธิปไตย รัฐต้องหยุดยั้ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการป้องกันตัวเองของระบอบประชาธิปไตย โดยบุคคลที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตยก็ไม่ควรแข่งขันในระบอบนี้


 


"นี่คือเหตุผลในการยุบพรรคการเมือง ยุบได้ถ้าเกิดมีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เยอรมนียุบมาแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลสองประการ คือ หนึ่งเป็น นีโอนาซี มีความคิดจะเอาระบบนาซีกลับมาใหม่ เป็นเผด็จการชาตินิยม สองมีแนวคิดเป็นในแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สเปนก็มี เพราะว่าพรรคการเมืองบาตาซูนามีความคิดไปในทางแบ่งแยกดินแดนของพวกบาสก์ ตุรกีก็มีเพราะมีความคิดไปในทางกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด การจะนำรัฐอิสลามเข้ามาใช้ใหม่" ผู้นำเสนอให้ข้อมูล


 


ส่วนที่มาของมาตรา 237 มาจากการยุบพรรคไทยรักไทย โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 จากกรณีที่ในช่วงปี พ.ศ.2548 ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยบางคนได้ให้เงินสนับสนุนพรรคเล็ก 2 พรรค (พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย) ให้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นการทุจริตและได้มีการฟ้องศาล


 


ทั้งนี้จากเดิมที่การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมีเพียงโทษอาญาและโทษทางการเมือง เช่น เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะตัวผู้กระทำ ไม่เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค แต่คดีอัยการมีการฟ้อง โดยบอกว่าการทุจริตการเลือกตั้งเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม


 


คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ระบุเนื้อหาว่าการกระทำผิดหรือมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองสามารถผูกพันพรรคการเมือง และมีลักษณะเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมืองได้


 


ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้นำมาแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการขยายความ โดยเจตนารมณ์ผู้ร่าง คือ ไม่ให้กรรมการผู้ใดผู้หนึ่งสามารถอ้างได้ว่าตนไม่รู้ไม่เห็นการกระทำผิด "ให้รับผิดชอบร่วมกัน"


 


"ต้องยอมรับว่ามาตรา 237 เกิดขึ้นในสมัยที่มีกระแสเสื่อมศรัทธานักการเมืองหนึ่ง และสองคือเกิดจากสภาแต่งตั้ง ถ้าเป็นสภาเลือกตั้งจะไม่มีทางเขียนอย่างนี้ เพราะเป็นการฆ่าตัวเอง แต่ในสภาแต่งตั้งทำได้เพราะมาแล้วก็ไปไม่ลงเลือกตั้งอีก" นายเข็มทองกล่าว


 



กระบวนการตามมาตรา 237


 


ข้อสังเกต คือ มาตรา 237 กล่าวไว้ว่าการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หากพบว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วน หรือรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไข ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทําการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดกระทำได้ และศาลอาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ด้วย โดยไม่ได้ระบุกรณี


 


อีกข้อสังเกตหนึ่งการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 ไม่ได้บัญญัติไว้ในเรื่องการเลือกตั้ง แต่บัญญัติไว้ในเรื่อง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) และเมื่อลงไปใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็เข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าผู้ร่างต้องการหมกเม็ดเนื้อหาดังกล่าว


 


ปัญหาของการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237


 


นายเข็มทองกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยกฎหมายซึ่งถูกยอมรับและมีค่าบังคับ ไม่ใช่การปกครองโดยอำเภอน้ำใจ การใช้อำนาจบัญญัติกฎหมายจึงต้องถูกควบคุมต้องมีขอบเขต โดยหนึ่งในกลไกเพื่อจำกัดอำนาจนั้น คือ "หลักความได้สัดส่วน" ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการชี้ถึงการกระทำของรัฐ ซึ่งระบบกฎหมายมหาชนทั่วโลกยอมรับ ในหลักที่ว่าการกระทำทุกอย่างไม่สามารถทำได้โดยสุดโต่ง ทุกอย่างต้องมีความพอดี


 


ตามมาตรา 29 รัฐธรรมนูญไทยบอกไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยจะจำกัดด้วยการตราออกมาเป็นกฎหมาย และจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น รัฐจะใช้อำนาจรัฐเกินกว่าที่จำเป็นไม่ได้ โดยมาตรการของรัฐที่ใช้ จะต้องคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างประโยชน์ที่มหาชนจะได้ คือประโยชน์ของประเทศไทย กับสิทธิของประชาชนที่จะต้องเสีย


 


"รัฐนี้เอาเข้าจริงๆ เลย รัฐมีหน้าที่เดียวคือตั้งขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐจะดำเนินมาตรการใดๆ นั่นคือการจำกัดสิทธิ เพียงแต่ว่ารัฐตองชั่งก่อนว่ากำกัดสิทธิแล้วประโยชน์มันเพิ่มขึ้นไหม หรือว่าถ้าจำกัดสิทธิแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ได้สัดส่วน อย่างนั้นก็ไม่ควรจะไปทำ" นายเข็มทองกล่าว


 


ทั้งนี้เกณฑ์ความได้สัดส่วนนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ ความเหมาะสม ความจำเป็น และความได้สัดส่วนอย่างแคบ


 


1. ความเหมาะสม คือการใช้มาตรการที่สามารถดำเนินการให้เจตนารมณ์ลุล่วงไปได้เท่านั้น โดยวัตถุประสงค์รัฐธรรมนูญ คือ การทำการเมืองให้มีโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม การลงโทษเป็นมาตรการให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำผิด กระตุ้นให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องคอยสอดส่องดูแล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง


 


"การลงโทษยุบพรรคตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรคก็ต้องกลัว กลัวจะโดนลงโทษก็ต้องไปสอดส่องดูแลผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปห้ามปราม ต้องไม่ร่วมกระทำผิด หากมีการชักชวน หรือตัวเองก็ต้องไม่ใช่คนเริ่มในการทำให้เขากระทำผิด และเมื่อเขากระทำผิด หรือมีทีท่าว่าจะกระทำผิด คุณเป็นกรรมการบริหารพรรค คุณต้องไม่เอาลงเลือกตั้ง คุณต้องเอาคนอื่นลง หากการเลือกตั้งไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ในความฝันเล็กๆ ของชาวไปและผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็คือจะไม่มีการทำให้เกิดการถอนทุนเมื่อเข้าไป การเมืองก็จะสุจริต โปร่งใส" นายเข็มทองกล่าวขยายความ


 


2. ความจำเป็น เมื่อมีมาตรการหลายมาตรการที่ล้วนแต่สามารถบรรลุถึงผลด้วยกัน มาตรการที่จำเป็น คือ มาตรการที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด สำหรับการสร้างการเมืองสุจริตโปร่งใสก็มีหลายมาตรการ เช่น การรณรงค์ การขอร้อง การตัดสิทธิรายตัว ลงโทษรายคน รวมถึงการยุบพรรค


 


อนึ่ง มาตรา 237 เป็นมาตรการที่นักการเมืองหวาดกลัว และสามารถลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการทุจริตเป็นเรื่องเกิดในที่ลับ หากเป็นกฎหมายอาญาต้องมีการพิสูจน์จนสิ้นความสงสัย แต่ตามมาตรา 237 ถ้าเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นก็มีสิทธิลงโทษได้ การลงโทษจะมีประสิทธิภาพกว่ากฎหมายอาญาแน่นอน


 


แต่เมื่อมาดูในส่วนผลกระทบแล้ว กฎหมายดังกล่าวส่งผลถึงคนที่ไม่มีความผิดจำนวนมาก นับตั้งแต่มีการปฏิรูปกฎหมายโทษควรเป็นเรื่องเฉพาะตัว มีเฉพาะบางกรณีเท่านั้นที่ความผิดอาจผูกพันบุคคลอื่นได้ (Vicarious liability) เช่น บิดามารดามีหน้าที่ดูแลบุตร นายจ้างมีหน้าที่ควบคุมลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างทำให้นายจ้างได้ประโยชน์แต่คนอื่นเสียหายนาจ้างก็ต้องรับผิด แต่ปัญหาคือมาตรา 237 เป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดให้พรรคการเมืองรับผิด ด้วยการใช้คำว่า "ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" โดยที่พรรคการเมืองอาจยังไม่ทราบว่ากรรมการบริหารทำผิด


 


"เราพ้นสมัยแล้วที่อ้ายอีผู้มีชื่อว่าทำผิด ไม่สมารถจับอ้ายอีคนนั้นได้ ให้ไปคุมตัวพ่อแม่มันมาทวน มาจำเอาไว้" นายเข็มทองกล่าว


 


ทั้งนี้ การตัดสินยุบพรรค กระทบบุคคลจำนวนมาก อาทิ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค เสียสิทธิในการเป็น ส.ส.และถูกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิก รวมไปถึงประชาชนผู้สนับสนุนพรรค การยุบพรรคแสดงว่าเสียงของเขาหาย ความประสงค์ถูกโยนทิ้งถังขยะ ต้องไปเลือกพรรคอื่นแทนทั้งที่ไม่ตรงกับความต้องการจริงๆ กระทบสิทธิหลายประการ เช่น สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเอง สิทธิในการเลือกตั้ง และที่สำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้ถูกลงโทษไม่ได้ทำให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนใจ


 


นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะกลไกการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งหลังการเลือกตั้งการให้ใบแดงต้องรอศาลฎีกาในการให้ใบแดง การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 แต่ใบแดงของผู้สมัครบางคนยังไม่ออกเพราะยังอยู่ในกระบวนการศาลฎีกา


 


"ถามว่ามีเหรอที่รัฐบาลบริหารไป 2-3 ปี รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความหวาดผวาว่าสักวันหนึ่ง อยู่ดีๆ บริหารหลังจากการเลือกตั้งมาแล้ว 2-3 ปี มีใบแดงโผล่ออกมาแล้วบอกว่ากรรมการบริหารพรรครู้เห็นในการได้ใบแดงใบนั้นด้วย รัฐบาลทำงานไม่ได้ เรื่องเดียวที่รัฐบาลจะคิด คือ ทำยังไงให้ตัวเองไม่ถูกใบแดง"


 


"ประชาชนก็สูญเสียตัวเลือก รัฐบาลก็สูญเสียความชอบธรรมเพราะว่ายุบๆ ไอ้พรรคที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลตอนนั้น อาจไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือก เพียงแต่เป็นผู้เหลือรอด เขาสอยพรรคอื่นร่วงไปกันหมดแล้ว เหลืออยู่พรรคเดียวจึงได้เป็นรัฐบาล อันนี้เป็นรัฐบาลด้วยความโชคดี คนอื่นเขาสอยเกลี้ยงกันไปหมดแล้วเหลือพรรคใหญ่อยู่พรรคเดียว บอกฉันเป็นรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากหรือเปล่า ประชาชนยอมรับหรือเปล่า" นายเข็มทองกล่าว


 


นอกจากนี้หากพรรคฝ่ายค้านถูกยุบก็จะขาดผู้ตรวจสอบรัฐบาล อีกทั้งยังเสียงบประมาณกับการเลือกตั้งใหม่


 


3. ความได้สัดส่วนอย่างแคบ คือ ดุลยภาพระหว่างความเสียหายกับประโยชน์ที่มหาชนจะได้รับจากมาตรการดังกล่าว นอกจากความเหมาะสม ความจำเป็นและไม่กระทบสิทธิเกินความจำเป็น แม้มาตรการจะเหมาะสมและจำเป็น แต่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลดี หรือมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐก็ต้องไม่ใช้มาตรการดังกล่าว อาจไปใช้มาตรการอื่นที่ได้ผลน้อยกว่าแต่ก็กระทบสิทธิน้อยกว่าด้วย เกณฑ์เหล่านี้เป็นการพิจารณาตามลำดับ หากไม่ผ่านในข้อแรกก็ไม่มีสิทธิในการวัดด้วยเกณฑ์ในข้อต่อๆ ไป


 


"มาตรา 237 ครอบคลุมความผิดจำนวนมาก ความผิดในการเลือกตั้งมีทั้ง การใช้เงินเกินจำนวน การรับบริจาคจากคนต่างชาติ การไม่ติดโปสเตอร์หาเสียงในที่ที่กำหนดก็ใช้ คือมีตั้งแต่ความผิดที่เล็กที่สุดไปจนถึงการทุจริตเลือกตั้งระดับใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นถามว่ามันดีเหรอ คลุมไปทั้งหมดเลย 237 แถมมาตรา 68 มอบดุลพินิจอันเลื่อนลอยไว้กับศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าศาลอาจสั่งยุบได้ แต่ไม่เคยบอกว่าอย่างไรคือยุบอย่างไรไม่ยุบ บางทีมันอาจจะกลายเป็นว่า เป็นการดึงศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป" นายเข็มทองกล่าวแสดงความคิดเห็น


 


บทสรุป


 


อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคการเมืองยังจำเป็นอยู่ เพื่อลงโทษพรรคการเมืองที่มีวัตถุประสงค์เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย และความสงบสุขของสังคมโดยรวม แต่ต้องทำต่อเมื่อจำเป็น และทำอย่างพอเหมาะเท่านั้น เพราะพรรคการเมืองยังเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญยิ่งในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งจะต้องดำรงอยู่ต่อไป


 


"ไทยรักไทยคือซีอิ้วสูตร 1 พอยุบแล้ว คนบ้าน 111 ไปแล้ว พรรคพลังประชาชนเขาเรียกซีอิ้วสูตร 2 สูตร 3 คุณภาพมันก็ต้องด้อยลงเป็นสูตร 1 ผสมน้ำ ถ้าเกิดยุบพรรคพลังประชาชนไปตั้งพรรคเพื่อไทย แม่ผมบอกมันคือซีอิ้วสูตร 5 มันคือน้ำล้างขวดซีอิ้ว เราก็จะได้นายกรัฐมนตรีหน้าตาดูไม่จืด ได้นายกรัฐมนตรีแบบดูไม่จืด" นายเข็มทองกล่าวเปรียบเทียบคุณภาพของพรรคการเมือง


 


ทั้งนี้ มาตรา 237 เกิดขึ้นทามกลางกระแสเสื่อมศรัทธาพรรคการเมือง แต่เป็นความรู้สึกรุนแรงชั่ววูบ แต่ในความเป็นจริงการบริหารกิจการบ้านเมืองจะต้องอยู่ไปอีกนานแสนนาน การจะไปรีบทำลายถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยควรเร่งดำเนินการ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย การดำรงอยู่ของรัฐอย่างแท้จริง และยั่งยืน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net