Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. องค์กรภาคประชาชนเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว 11 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็ก เครือข่ายเพื่อสื่อสาธารณะ เครือข่ายเด็กผลิตสื่อ เครือข่ายเท่าทันสื่อ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เครือข่ายวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ขบวนการตาสับปะรด มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ


ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องขอพื้นที่สันติและเป็นสุข  คืนให้เด็ก


 


ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่ปะทะกันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จนมีแนวโน้มว่าสังคมไทยจะเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย ในจำนวนนั้นมีเด็กเยาวชนรวมอยู่ด้วยเพราะครอบครัวได้นำเอาเด็กเข้าไปในเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมองว่าเป็นสิทธิของเด็กหรือของครอบครัว


 


การนำเสนอภาพและข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของสื่อมวลชนซ้ำแล้วซ้ำอีก การให้สัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมือง เรื่องความรุนแรงและสันติวิธีที่แตกต่างกันคนละขั้ว การเลือกนำเสนอข่าวด้านเดียวที่มีผลยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกันมากขึ้น


 


สถานการณ์ดังกล่าวยังด้ส่งผลให้คนในครอบครัวและชุมชนรอบตัวของเด็กเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความเครียด ความหวาดกลัว และคนจำนวนมากที่แสดงออกซึ่งทัศนคติในการแก้ไขปัญหาด้วยความเกลียดชังและความรุนแรง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กและเยาวชนได้ซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้ทุกวัน จนอาจทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการชินชาเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องที่ธรรมดา เลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรง เกิดความสับสนในความหมายของประชาธิปไตย ความรุนแรง สันติวิธี ฯลฯ 


 


กลุ่มองค์กรและเครือข่ายต่างๆที่ทำงานด้านเด็กเยาวชน ตามรายชื่อแนบท้าย


จึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ"เพื่อคืนพื้นที่สันติและเป็นสุขให้เด็ก "


 


ข้อเรียกร้องต่อสื่อสารมวลชนทุกแขนง


๑)         ให้สื่อมวลชนทุกแขนง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ต้องยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่จะเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยปราศจากอคติ และให้ใช้ความระมัดระวังในการรายงานข่าวสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม ไม่เสนอภาพความรุนแรงซ้ำๆ  โดยคำนึงถึงเด็กเยาวชนที่เป็นผู้รับสื่อด้วย


๒)       สื่อมวลชนทุกแขนง ควรนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องสันติวิธี และประชาธิปไตยที่แท้จริง และควรเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้สะท้อนความคิดเห็นและเสนอแนะต่อสถานการณ์ต่างๆในสังคมอย่างสร้างสรรค์


 


ข้อเรียกร้องต่อครอบครัว


๑)     ช่วยเด็กและเยาวชนในการคัดกรองการรับสื่อ และวิเคราะห์สื่อให้เท่าทัน เพื่อไม่ให้ซึมซับรับความรุนแรง ในรูปแบบต่างๆ ทั้งความรุนแรงที่ใช้อาวุธและไม่ใช้อาวุธ และควรส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างเหมาะสมในเรื่องประชาธิปไตย สันติวิธี และจริยธรรมทางการเมือง



๒)    ไม่ควรให้เด็กเยาวชนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นอันตราย และไม่ถ่ายทอดความรุนแรง อคติ ความเกลียดชัง ที่ได้รับจากสื่อหรือเหตุการณ์ไปยังเด็กและเยาวชน อันอาจจะนำไปสู่ความกดดันความเครียด ปัญหาสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัวและการปลูกฝังค่านิยมการใช้ความรุนแรงในระยะยาว


 


ข้อเรียกร้องต่อสังคม


๑)      ควรให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สันติและเป็นสุข โดยคำนึงเด็กเยาวชนเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ควรสร้างกระแสความเกลียดชัง การแบ่งแยก แบ่งฝ่าย แบ่งสี จนทำให้สังคมได้เกิดการบ่มเพาะความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ความรุนแรง ฯลฯอันนำไปสู่การปลูกฝังความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน


๒)   ควรจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้เรื่องสันติวิธีและประชาธิปไตยที่อยู่ในวิถีชีวิต ให้เด็กเยาวชนอย่างกว้างขวางในทุกระดับของสังคม


                                        


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net