Skip to main content
sharethis

ปชป.เตรียมคัด ส.ส.ลงเลือกตั้งซ่อมพรุ่งนี้


นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. เพื่อลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. แทน ส.ส.เขตของพรรคการเมือง ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค วันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) เวลา 10.00 น.  เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นผู้สมัครเดิม แต่เนื่องจากมีผู้แสดงความจำนงเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการคัดเลือก และจะนำผลการคัดเลือกรายงานต่อที่ประชุมพรรคในช่วงบ่ายวันเดียวกัน


 



"สดศรี" ชี้ รักษาการนายกฯ ยุบสภาไม่ได้ เลือกซ่อมต้องสังกัดพรรค 90 วัน


นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ถึงปัญหาการเข้าสังกัดพรรคการเมือง ของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. 26 เขต จำนวน 29 คน ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม 2552 ที่เป็นผลมาจากคำนิจฉัยยุบพรรคการเมือง ทำให้ ส.ส. 29 คน ขาดคุณสมบัติว่า ที่ประชุม กกต. เมี่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า ผู้สมัครจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีเกิดการยุบสภาจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามมาตรา 101  ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ประชุม กกต.ยังได้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นๆ ที่จะพิจารณาในคุณสมบัติของผู้สมัคร เพราะถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปไม่ใช่การเลือกตั้งในกรณีพิเศษจากการยุบสภา รวมทั้งไม่เข้าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งแรก (23 ธันวาคม 2550) หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ


 


นางสดศรีกล่าวว่า ทาง กกต.ขอคำวินิจฉัยยุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้รับในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ เพื่อนำมาดูคำวินิจฉัยในท้ายคำร้อง หากมีรายชื่อของกรรมการบริหารพรรคในคำวินิจฉัยของศาลก็จะได้ข้อยุติ ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ยึดวันที่กระทำผิดนั้น ในคำร้องของอัยการนั้นมีจำนวนมากกว่าที่ กกต.ระบุไว้ด้วย ทั้งนี้ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเป็นผู้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ามีกรรมการบริหารพรรคคนใดจะถูกเพิกถอนสิทธิบ้าง โดยจะได้ความชัดเจนในวันที่ 8 ธันวาคม โดยไม่ต้องใช้มติจากที่ประชุม กกต.


 


ส่วนกรณีสถานภาพของนายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อแผ่นดิน 1 ในรายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน (พปช.) ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทั้งที่ลาออกมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมานั้น นางสดศรีกล่าวว่า นายพิเชษฐ์ลาออกก่อนที่กรรมการบริหารพรรค พปช.จะกระทำผิด รวมทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้ตอบการเปลี่ยนแปลงหลังวันกระทำผิดด้วย ดังนั้น สถานะของนายพิเชษฐ์ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่ง กกต.ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ทางประธาน กกต.ก็บอกไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการประกาศของนายพิเชษฐ์ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม จึงสรุปว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายของนายทะเบียนพรรคการเมืองในการประกาศรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิไม่ใช่อำนาจของ กกต.ที่จะพิจารณาตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งกรณีนายพิเชษฐ์ด้วย


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีสถานภาพของ ส.ส.สัดส่วนของพรรคถูกยุบจะต้องพ้นสภาพเมื่อต้องไปสังกัดพรรคใหม่หรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็น่าจะหมดสิ้นข้อสงสัย และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถย้ายพรรคได้เฉพาะ ส.ส.แบ่งเขตเท่านั้นหรือไม่


 


สำหรับเรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศยุบสภาได้หรือไม่นั้น นางสดศรีกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ารักษาการนายกฯ ไม่สามารถยุบสภาได้ เพราะตามกฎหมายใช้คำว่าให้นายกฯ มีอำนาจในการประกาศยุบสภา ในกรณีที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วก็น่าจะให้ศาลได้ตีความอำนาจการประกาศยุบสภาของรักษาการนายกฯไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ว่ามีอำนาจได้มากน้อยเพียงไร


 


นางสดศรีกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กกต.ทั้ง 5 คน ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องลาออก เพราะหน้าที่ของกกต.คือรอการเลือกตั้ง โดย กกต.จะไม่ทำปัญหาให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะ กกต.ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่เมื่อก้าวเข้ามาตรงนี้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ กกต.จะถอดใจลาออก อีกทั้ง กกต.ก็ได้ประกาศวันเลือกตั้ง วันที่ 11 มกราคม ไปแล้วด้วย ซึ่งหาก กกต.ต้องพ้นตำแหน่งไปไม่ว่ากรณีใด ทาง ส.ว.ก็จะทำหน้าที่สรรหา กกต.ต่อไป


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้ขาดคุณสมบัติให้ผู้ลงสมัคร ส.ส. 26 เขต ต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน ส่งผลให้สมาชิกพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาที่นั่ง ส.ส.ในขั้วรัฐบาลเดิม



 


"วรเจตน์" ให้ความเห็นรักษาการนายกฯ ยุบสภาได้


นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า เป็นสิทธิที่ ส.ว.จะยื่นเรื่องเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (8) ไม่ได้มีการแยก ส.ส.ระบบสัดส่วนกับ ส.ส.ระบบเขต โดยกำหนดเพียงว่า ส.ส.ที่ถูกยุบพรรคต้องไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าสิ้นสมาชิกภาพ ดังนั้น กรณีนี้สมาชิกภาพก็น่าจะติดตัว ส.ส.สัดส่วนอยู่ และ ส.ส.ที่ถูกยุบพรรคแล้วยังหาสังกัดใหม่ไม่ได้ ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดให้ในช่วง 60 วันดังกล่าว ฉะนั้น จึงมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับ ส.ส.คนอื่นๆ ส่วนประเด็นรักษาการนายกฯไม่ได้เป็น ส.ส.จะทำได้หรือไม่นั้น ก็มีปัญหาอยู่ ยังไม่แน่ใจ ขอไปดูข้อกฎหมายให้ละเอียดก่อน


 


นายวรเจตน์กล่าวถึงอำนาจในการยุบสภาของรักษาการนายกฯ ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภา ซึ่งคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือนายกฯ กรณีนี้เมื่อรักษาการ ครม.มีอำนาจเหมือนกับ ครม.จริง เนื่องจากไม่ใช่ช่วงสภาถูกยุบหรือสภาหมดวาระ และไม่ได้มีอะไรบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่า รักษาการนายกฯยุบสภาได้ ไม่เช่นนั้น หากนายกฯตาย มีนายกฯรักษาการแล้วมีเหตุที่ต้องยุบสภา จะทำอย่างไร


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกต หากยุบสภาแล้วจะมีการเดินเกมให้ กกต.ลาออกตามจำนวนที่ทำให้ กกต.ที่เหลือทำงานไม่ได้ จะมีปัญหาในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันแต่ไม่เร็วกว่า 45 วัน นายวรเจตน์กล่าวว่า ก็ต้องรีบสรรหา กกต. อย่างไรก็ดีจริงๆ แล้วกฎหมายไทยไม่ได้ให้อะไหล่ในอำนาจทางบริหารที่ต้องมีคนทำงานตลอดเอาไว้ หรือมีองค์กรอื่นที่มาทำหน้าที่แทน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดถึงตรงนี้ จึงเป็นปัญหาตามมา หรืออย่างที่มีคนมองว่า กฎหมายกำหนดให้เลือกนายกฯภายใน 30 วัน ถ้ามีเกมการดึงเรื่องไปมาจนยังไม่มีการโหวต ก็จะเป็นปัญหาเอามาเป็นเงื่อนแง่อีก แต่การกำหนด 30 วัน เป็นบทเร่งรัดแต่ไม่มีบทลงโทษลักษณะเช่นเดียวกับการกำหนดเวลาการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ "ผมคิดว่า ต่อไปคงจะมีการนำกฎหมายมาฟาดฟันกันทางการเมือง และตัวกติกาก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตในวันข้างหน้า" นายวรเจตน์กล่าว



 


 


 


ที่มาข่าวเรียบเรียงมาจาก: มติชนออนไลน์, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net