Skip to main content
sharethis

แปลและเรียบเรียงจาก: Press Freedom Round-up 2008


 


ปี 2008 :


ผู้สื่อข่าว 60 คน ถูกฆ่าตาย


ผู้ช่วยผู้สื่อข่าว 1 คน ถูกฆ่าตาย


ผู้สื่อข่าว 673 คนถูกจับกุม


ผู้สื่อข่าว 929 รายถูกทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่คุกคาม


ช่องทางการสื่อสาร 353 แห่งถูกเซ็นเซอร์


ผู้สื่อข่าว 29 คนถูกลักพาตัว


 


อินเทอร์เน็ต :


บล็อกเกอร์ 1 คน ถูกฆ่าตาย 


บล็อกเกอร์ 59 คน ถูกจับกุม


บล็อกเกอร์ 45 คนถูกทำร้ายร่างกาย


เว็บไซต์  1,740 แห่งถูกบล็อค, ปิดหรือหยุดชั่วคราว


 


เปรียบเทียบกับปี 2007 :


ผู้สื่อข่าว 86 คน ถูกฆ่า


ผู้ช่วยผู้สื่อข่าว 20 คนถูกฆ่า


ผู้สื่อข่าว 887 คนถูกจับกุม


ผู้สื่อข่าว 1,511 คน ถูกทำร้าย หรือข่มขู่คุกคาม 


ช่องทางการสื่อสาร 528 แห่งถูกเซ็นเซอร์


ผู้สื่อข่าว 67 คนถูกลักพาตัว


 


 "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" นับกรณีศึกษาเฉพาะเหตุละเมิดที่เหยื่อเป็นผู้สื่อข่าว ที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้ง หรือมีลักษณะที่ใกล้เคียงมาก ตัวเลขดังกล่าวครอบคลุมการถูกละเมิดที่ทางองค์กรได้ข้อมูลมา และไม่ครอบคลุมการละเมิดซึ่งเหยื่อเลือกที่จะไม่รายงาน (โดยทั่วไปแล้วเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย) หรือพูดอีกอย่างก็คือ ใช้วิธีการในการรวบรวมเช่นเดียวกับปีก่อนๆ เพื่อให้เปรียบเทียบกันได้


 


การปราบปรามย้ายมาอยู่บนอินเทอร์เน็ต


 


 


 


จำนวนที่ลดลงของผู้สื่อข่าวจากสื่อกระแสหลักที่ถูกฆ่าหรือจับกุมในปี 2008 ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อนั้นก้าวหน้าขึ้น เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์พัฒนาขึ้น และพื้นที่บล็อกกลายมาเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก การ "ไล่ล่า" จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ต


 


 


ต่อประเด็นนี้ ตัวเลขอธิบายได้ด้วยตัวของมันเอง ในปี 2008 เป็นครั้งแรกที่มี "นักข่าวพลเมือง" ถูกฆ่า เขาคือนักธุรกิจชาวจีน ชื่อ เว่ยเหวินหัว ซึ่งถูก "เฉิงกวน" (เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น) สังหาร ขณะถ่ายทำการปะทะของเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมในเทียนเหมิน (ในจังหวัดหูเป่ย) เมื่อวันที่ 7 มกราคม ส่วนกรณีของการเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์เกิดขึ้นใน 37 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศจีน (เซ็นเซอร์เว็บไซต์ 93 แห่ง), ซีเรีย (เซ็นเซอร์เว็บไซต์ 162 แห่ง) และอิหร่าน (เซ็นเซอร์เว็บไซต์ 38 แห่ง)


 


 


ยังมีประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากที่ไม่ล้าหลังจนเกินไปนักในแง่ของการตรวจตราควบคุมและปราบปรามพื้นที่ออนไลน์ "ประเด็นต้องห้าม" ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยระบอบกษัตริย์ของไทย และโดยระบอบทหารในตุรกี ยังคงฝังแน่น จนทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เลินเล่อถูกเฝ้าจับตาดูจำนวนมากขึ้น และถูกลงโทษโดยตำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ เว็บไซต์ดังอย่าง YouTube และ Dailymotion ตกเป็นเป้าในการเซ็นเซอร์ของภาครัฐเลยทีเดียว และการบล็อคหรือกรองหน้าเว็บ ด้วยเหตุที่มีเนื้อหาซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า "ล่วงละเมิด" กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ปฏิกิริยาตอบกลับจากรัฐบาลบางประเทศต่อเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networking sites) เริ่มทำให้เกิดการ "เซ็นเซอร์หมู่" (mass censorship) เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเซ็นเซอร์เว็บอย่าง Twitter (ในซีเรีย) หรือ Facebook (ถูกบล็อคในซีเรียและตูนีเซีย และถูกกรองในตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทำให้เนื้อหาจำนวนมากมายมหาศาลถูกบล็อค ผลกระทบจากการปราบปรามนั้นเพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อผนวกเข้ากับกับมาตรการควบคุมอื่นๆ ที่มีอยู่


 


รัฐบาลต่างๆ เริ่มตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาบล็อกเกอร์ด้วยการสั่งจำคุกพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศจีน นักคัดค้านในโลกไซเบอร์ถูกจับ 10 คน, ถูกทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่คุกคาม 31 คน ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 คนถูกพิจารณาคดีและตัดสินว่ามีความผิด ขณะที่ในอิหร่าน "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" ได้รับข้อมูลการจับกุม 18 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 31 ราย และอีก 10 กรณีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด เสรีภาพในการแสดงออกในโลกออนไลน์ยังถูกจำกัดในซีเรีย (ถูกจับกุม 8 คน 3 คนถูกตัดสินว่ามีความผิด)


 


เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตยังคงถูกบดขยี้ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงในพม่า ที่ซึ่งรัฐบาลทหารได้จับกุมและพิจารณาคดีบล็อกเกอร์และนักแสดงตลก "ซาร์กานาร์" และนักรบไซเบอร์อย่าง เนย์ โพน แลต (Nay Phone Latt) ด้วยข้อหาดูหมิ่นรัฐบาล และพิพากษาโทษจำคุกรุนแรงอย่างเหลือเชื่อ (59 ปีสำหรับรายแรก 20 ปีสำหรับรายหลัง) ทั้งสองคนนี้จะได้ร่วมคุกกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงผู้สื่อข่าว 16 คนด้วย


 


 


ข้อวิจารณ์ของ "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน"


 


อิทธิพลและศักยภาพของอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเฝ้าระวังที่สูงขึ้นจากรัฐบาลบางแห่ง ซึ่งตระหนักและยกให้เรื่องนี้เป็นประเด็นความมั่นคงไปแล้ว ในทุกๆ ปี รัฐบาลที่คับแคบจะสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำให้พวกเขาสามารถติดตามเฝ้าระวังและเข้าไปแกะรอยข้อมูลออนไลน์ได้  อินเทอร์เน็ตค่อยๆ กลายมาเป็นสนามรบของพลเมืองผ่านการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และสำหรับผู้สื่อข่าวหลายคน ซึ่งถูกเซ็นเซอร์เนื้อหาในสื่อกระแสหลัก ประหนึ่งว่า  มันเป็นเหตุของการคุกคามผู้มีอำนาจ ผู้ที่เคยชินกับการปกครองที่ตนเองเป็นฝ่ายได้รับการยกเว้น






 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net