Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม : สรุปปัญหาของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 (PDP2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (จากเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็น จัดโดยกระทรวงพลังงาน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552)


ศุภกิจ นันทะวรการ


มูลนิธินโยบายสุขภาวะ


 


 


 


แผน PDP2007 หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่กว่า 30,390 เมกะวัตต์ เป็นการลงทุนจำนวนกว่า 1.6 ล้านล้านบาท และโครงการพลังงานเหล่านี้ ก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นโดยกระทรวงพลังงานในวันนี้ มีการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมถึงปัญหาต่างๆ ของแผน PDP2007 ฉบับนี้เป็นจำนวนมาก แต่หลายประเด็นไม่มีการตอบแต่อย่างใด และอีกหลายประเด็นยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน โดยสามารถสรุปปัญหาของแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้ดังนี้


 


1. ปัญหาธรรมาภิบาลในการจัดรับฟังความคิดเห็น
 1.1 จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นโดยเร่งรีบ ไม่โปร่งใส และไม่มีส่วนร่วม โดยทางกระทรวงพลังงาน เสนอแผน PDP2007 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ทางคณะรัฐมนตรี จึงมีมติในวันที่ 28 มกราคม 2552 ให้จัดรับฟังความคิดเห็น ทางกระทรวงพลังงาน เผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และส่งหนังสือเชิญ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยกำหนดจัดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 และให้ตอบรับภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์


1.2 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่แผน PDP2007 มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีเนื้อหาทางเทคนิคจำนวนมาก


 1.3 ไม่มีการติดตามตรวจสอบและระบบความพร้อมรับผิด (Accountability) โดยไม่มีการกำหนดการจัดทำและเผยแพร่รายงานสรุปที่ตอบประเด็นคำถามต่างๆ ในการรับฟังความคิดเห็นและมีแนวโน้มที่จะไม่กำหนดให้มีวาระเฉพาะสำหรับพิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นในการตัดสินใจ


 


2. ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
คุณพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กฟผ. และขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ด้วย และได้ตัดสินใจให้เพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในปี 2559 ไว้ในแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า
ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอมในปัจจุบัน


 


3. ปัญหาข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
3.1 กำหนดให้ กฟผ. มีสัดส่วนกำลังผลิตรวมเฉลี่ยร้อยละ 50 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันในส่วนนี้เลย



 3.2 กำหนดโครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม เพื่อสนับสนุนนโยบายการผลิต LPG ในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพราะบริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอมในปัจจุบัน และเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. จะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน


 


4. ปัญหาของการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
4.1 ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากผิดปกติ โดยในปี 2552 ใช้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.0 แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเติบโตมากถึงร้อยละ 3.95 ในขณะที่ปี 2553 ใช้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3.0 แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเติบโตมากถึงร้อยละ 4.59



4.2 กระทรวงพลังงานเลือกใช้ตัวเลขการพยากรณ์ที่มีค่าสูงมาก โดยคณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า นำเสนอค่าพยากรณ์ที่ลดลงจากแผน PDP2007 ก่อนหน้านี้ถึง 10,170 เมกะวัตต์ในปี 2564 แต่คณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ กลับเลือกใช้ค่าพยากรณ์อีกชุดหนึ่งที่ กฟผ. จัดทำ ซึ่งลดลงจากเดิมเพียง 4,333 เมกะวัตต์ในปี 2564 หรือเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า มีค่าสูงกว่าถึง
5,837 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากถึง 230,000 ล้านบาท


4.3 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ มีตัวเลขการเติบโตที่สูงมากผิดปกติ ในปี 2552 เติบโตถึงร้อยละ 4.8 หลังจากนั้นในปี 2553-2564 ใช้ตัวเลขการเติบโตในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 6.0 - 7.5


 


5. ปัญหาของโครงการโรงไฟฟ้าที่กำหนดในแผน
5.1 การเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ IPP ให้เร็วขึ้น แทนที่จะเลื่อนให้ช้าลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ก่อนหน้านี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด จ.ระยอง จาก ม.ค.2555 เป็น พ.ย.2554 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซที่หนองแซง จ.สระบุรี จาก ม.ค.2558 เป็น มิ.ย. และ ธ.ค. 2557


5.2 การทิ้งโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันของ กฟผ. เอง โดยปลดโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี หนองจอก พระนครใต้ และลานกระบือ พร้อมกันตั้งแต่ ม.ค.2552 รวมกำลังการผลิตถึง 1,364 เมกะวัตต์


5.3 การเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในปี 2559


5.4 จำกัดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ทั้งที่ข้อมูลแค่เพียงในปัจจุบัน ก็มากกว่าที่กำหนดไว้ในแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 แล้ว โดยในช่วงปี 2552-2557 กำหนดไว้เพียง 1,986 เมกะวัตต์ ทั้งที่ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ เดือน พ.ย.2551 เฉพาะ SPP ประเภท Firm ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จะเพิ่มขึ้นอีก 2,430 เมกะวัตต์ โดยเป็นส่วนที่ขายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 1,761
เมกะวัตต์ และยังมี SPP ประเภท Non-firm เพิ่มขึ้นอีก 416 เมกะวัตต์ และขายเพิ่มขึ้นอีก 157 เมกะวัตต์


5.5 ไม่พิจารณาโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าเลย แต่กลับนำไปลดด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ทั้งๆ ที่ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ เดือน ธ.ค.2551 มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จะเพิ่มขึ้นอีก 1,386 เมกะวัตต์ โดยเป็นส่วนที่ขายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 1,121 เมกะวัตต์


 


6. ปัญหาของทางเลือกการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand-side Management; DSM)
6.1 ไม่นำ DSM เข้ามาพิจารณาเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าเลย ทั้งๆ ที่ DSM เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงใดๆ แต่ทาง กฟผ. กลับให้เหตุผลว่า เกรงว่า DSM จะไม่ได้รับคัดเลือก จึงนำมาลดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
 


6.2 การอ้างว่าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอในการนำ DSM มาพิจารณาเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้า ทั้งที่ กฟผ. กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอื่นๆ มีการดำเนินงานเรื่อง DSM มากกว่าสิบปีแล้ว และโครงการ DSM ต่างๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมากจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็มีข้อมูลเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และโครงการ DSM ใหม่ๆ ที่ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ก็แสดงข้อมูลต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน


 


7. ปัญหาของการเร่งเซ็นสัญญาผูกมัดภาครัฐโดยไม่จำเป็น
7.1 การเซ็นสัญญาทั้งที่การใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่าแผนอย่างมาก ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด จ.ระยอง วันที่ 9 ก.ย.2551 ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ต่ำกว่าแผน PDP2007 ถึง 1,389 เมกะวัตต์ (คิดเป็นเงินลงทุนส่วนเกินกว่า 40,000 ล้านบาท)
และการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน


7.2 การเซ็นสัญญาเพิ่มเติมทั้งที่การใช้ไฟฟ้าจริงยิ่งลดลงและความพร้อมของโครงการยังไม่เรียบร้อย ทาง กฟผ. ยังเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซที่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และที่หนองแซง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ทั้งๆ ที่การใช้ไฟฟ้ายิ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองโครงการ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่กลับเร่งเซ็นสัญญาโดยไปกำหนดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญา


ข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคมไทย


1.       กระทรวงพลังงานควรปรับค่าพยากรณ์และวางแผน PDP ภายในปี พ.ศ. 2552 และไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการผูกมัด หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุนก่อนที่จะสรุปแผน PDP ใหม่


2.       ในการปรับค่าพยากรณ์และในกระบวนการปรับแผน PDP ครั้งใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยดำเนินการกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล


3.       รัฐบาลและองค์กรอิสระ ควรสอบสวนสาเหตุการเร่งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้า IPP 3 โครงการ ทั้งที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนที่กำหนด และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า


4.       รัฐบาลและองค์กรอิสระ ควรร่วมกันวางระบบและกลไกป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการกระทรวงพลังงาน


 

 


 


เอกสารอ้างอิง


เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ณ ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน


 


 หมายเหตุ - ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาวันที่ 15 ก.พ.52


 


 


…………………………………………….


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สนพ.ซุ่มปรับแผนพีดีพี 2007 ลดจัดหาไฟฟ้า 6,000เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.ยังสร้างเพิ่ม-ชาวบ้านบุกค้าน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net