เสื้อแดงและอารยะขัดขืน-เสื้อแดงที่ประตูปราสาทเทวฤทธิ์: มอง "เสื้อแดง" จากเว็บ "นวมณฑล"

เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551) มีการชุมนุมของกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันสองกลุ่มคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่ากลุ่มเสื้อเหลือง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเสื้อแดง ซึ่งทั้งสองฝ่ายเคยมีเหตุสำคัญที่ทำให้ต่างต้องมาชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรรมต่างวาระ

 

เริ่มจากในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภาเพื่อทำให้นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่สามารถแถลงนโยบายได้ และหลังจากที่นายสมชาย พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป ก็มีการโหวตผ่านรัฐสภาเพื่อให้นาย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่ม นปช. เกิดความไม่พอใจและมีการนัดมาชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 28 ธันวาคม 2551 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา

 

โดยจากการรายงานของ Nick Nostitz ผู้สื่อข่าวต่างประเทศอิสระ ได้ให้ข้อมูลว่าในการประท้วงทั้งสองครั้งนี้ต่างกันก็คือในการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดความรุนแรงขึ้น มีการปราบปรามด้วยแก๊สน้ำตา มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ มีเพียงการผลักกันเล็กน้อยระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม

 

ก่อนหน้านี้ Nick Nostitz ได้เคยรายงานเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่พันธมิตรฯ ล้อมรัฐสภา ผ่านมุมมองของเขาไว้ (สามารถอ่านย้อนหลังได้ที่ "บันทึกจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ: เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลา 2551", ประชาไท, 11/10/2551)

 

ส่วนเหตุการณ์วันที่ 28 ธันวาคม ที่ นปช. ชุมนุมกันหน้ารัฐสภานั้น Nick Nostitz ได้เขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น รวมถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นมีกลุ่ม นปช. เดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศไว้ในบทความ "Red shirts and civil disobedience" (เสื้อแดงและอารยะขัดขืน) เมื่อ 2 ม.ค. มีใจความดังนี้]

 

000

 

 

เสื้อแดงและอารยะขัดขืน

โดย Nick Nostitz

 

 

ผู้ชุมนุมราว 30,000 คนที่ท้องสนามหลวง

 

เดินขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล

 

ผู้ชุมนุมและตำรวจผลักดันกันที่ประตูรัฐสภา

 

ที่มาของภาพและคำบรรยาย: Nick Nostitz (ดูภาพทั้งหมดที่นี่)

 

 

มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีที่ได้ออกมาจากการประท้วงบนท้องถนนโดยปราศจากความรู้สึกเศร้าโศก ไม่สบอารมณ์ โดยปราศจากความรู้สึกว่าเป็นเพียงคนรอบนอกของยุ่งเหยิงที่ผมได้เห็นและเก็บภาพไว้

 

ในวันสุดท้ายที่กลุ่มเสื้อแดงเข้าล้อมรัฐสภา ก็ได้เห็นผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเป็นลมกันในช่วงที่ดันกับกลุ่มตำรวจที่ประตูด้านข้างของรัฐสภา ซึ่งในที่สุดแล้วตำรวจก็เปิดทางไม่สำเร็จ

 

เป็นที่รู้กันว่าในการประท้วงบนท้องถนนไม่ว่าจะครั้งไหนก็ตามล้วนมีโอกาสเกิดความรุนแรงขึ้น รวมถึงการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงด้วย แต่ว่าการประท้วงในครั้งนี้ก็ถูกควบคุมดูแลโดยแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงเป็นอย่างดี เหตุรุนแรงเป็นเรื่องที่เกิดเล็กน้อยและจะถูกสั่งห้ามจากแกนนำผู้อยู่ในแนวหน้าทันที การใช้สำนวนบนเวทีมีความสมดุลกันระหว่างการเคลื่อนกำลังคน การใช้อารมณ์ขัน และคอยเตือนให้ผู้ชุมนุมให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ในตอนกลางคืนแกนนำเสื้อแดงขึ้นร้องเพลงบนเวที ผู้ชุมนุมก็ร่วมร้องเพลงและเต้นรำตาม

 

ย้อนไปในวันแรก วันที่ 28 ธันวาคม 2551 ผมได้พบเห็นเหตุรุนแรงเล็กน้อยสองครั้ง ครั้งแรกที่หน้ารัฐสภา มีการ์ดเสื้อแดงยิงหนังสติ๊กใส่ผู้สื่อข่าวในช่วงเวลาสั้น ๆ (ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้) เหตุครั้งที่สอง เกิดขึ้นที่สนามหลวง มีเสื้อแดงคนหนึ่งถูกทุบตีอย่างไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งเหมือนว่าจะเป็นการเข้าใจผิด (เขาถูกหาว่าเป็น "มือที่สาม" ที่ถูกจ้างมา) การ์ดได้รุดเข้าไปยังที่เกิดเหตุและพาตัวชายคนนั้นไปหลังเวที เขาได้รับการปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็วก่อนจะให้ขึ้นรถไปโรงพยาบาล

 

มีการรายงานว่าคืนก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมที่สนามหลวง กลุ่มเสื้อแดงที่เดินทางมาชุมนุมถึงหน้ารัฐสภาแล้วได้ถูกรังควาญโดยพันธมิตรฯ ที่มากับรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลังนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน

 

การเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 28-29 ธันวาคม ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น รวมถึงในเช้าวันที่ 29 ธันวาคมก็ไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ มีเพียงพระกว่าร้อยรูปพากันมาบิณฑบาตจากกลุ่มผู้ชุมนุม จากวุฒิสภา จากข้าราชการ และจากสมาชิกรัฐสภา กลุ่มพระเดินบิณฑบาตผ่านผู้ชุมนุมและได้รับการเปิดทางให้เข้าไปยังรัฐสภา

 

พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพและคำบรรยาย: Nick Nostitz (ดูภาพทั้งหมดที่นี่)

 

ส.ส. นอกกรอบจากจังหวัดอุดรธานีอย่าง พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ปรากฏตัวบนเวทีทักทายประชาชนชาวอุดรธานีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ สุรทินเป็นนักการเมืองไทยที่ออกจะมีลักษณะเฉพาะอยู่ เขาเคยเป็นอดีตตำรวจนายพันที่ติดคุกอยู่ที่ประเทศลาวมาหลายปี และยังเคยได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันระหว่างเสื้อแดงกับพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 เขาเป็นคนที่อยู่แนวหน้าในการปะทะครั้งนั้นด้วย

 

ในตอนเช้าวันที่ 30 ธันวาคม เป็นที่แน่ชัดว่ามีความพยายามจะเปิดประตูเข้าสู่รัฐสภา มีตำรวจประจำอยู่ตามถนนสุขุมวิทและภายในอาคารรัฐสภา สถานการณ์มีความตึงเครียดเล็กน้อย แต่ก็มีการควบคุมอย่างดีจากแกนนำเสื้อแดง ภาพที่ออกมามันต่างจากฉากในตอนเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีการล้อมโดยกลุ่มพันธมิตรฯ โดยสิ้นเชิง สำหรับการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงแล้ว ไม่มีการใช้แผงกั้น รั้วลวดหนาม หรือกับดัก นอกจากนี้ผู้ชุมนุมที่ถือไม้หรือท่อนเหล็กมาก็ถูกสั่งให้วางมันลง เพื่อไม่ให้ตำรวจใช้เป็นข้ออ้างในสลายการชุมนุมด้วยกำลังรุนแรงได้

 

ช่วงเช้าเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ตำรวจพยายามจะดันประตูออกมาจากข้างใน กลุ่มผุ้ชุมนุมไม่ยอมให้เปิดจึงดันให้ตำรวจกลับเข้าไป ในขณะนั้นทั้ง ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจักรภพ เพ็ญแข ก็อยู่ที่รถบรรทุก ด้านหน้าประตูรัฐสภา พวกเขาอยู่ห่างออกไปน้อยกว่า 10 เมตร และมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน ทำให้พวกเขาต่างสั่งการและควบคุมผู้ชนไว้ได้ (ต่างจากตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯ มาชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม โดยสิ้นเชิง ในตอนนั้นแกนนำพันธมิตรฯ อยู่ในทำเนียบรัฐบาลห่างออกไปมากกว่าหนึ่งกิโลเมตรจากเหตุการณ์) ทันทีที่มีขวดน้ำลอยมา แกนนำเสื้อแดงก็ขอให้ผู้ชุมนุมหยุดทำ และบอกว่าการประท้วงจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย มีการบอกให้คุณแม่คนหนึ่งซึ่งอุ้มเด็กวัยเตาะแตะอยู่ให้ออกไปจากเขตประตูรัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเขาได้รับบาดเจ็บ

 

มีการบอกให้ผู้หญิงออกจากเขตประตู หลังจากที่พบว่ามีผู้หญิงเป็นลมจากเหตุการณ์จำนวนเล็กน้อย และบอกให้ชายผู้ไม่มีอาวุธเท่านั้นมาเข้าร่วม เมื่อผู้ชุมนุมดันตำรวจกลับเข้าไปในรัฐสภา แกนนำบนเวทีสั่งให้พวกเขาถอยออกมา เนื่องจากเป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การบุกรุกรัฐสภา

 

หลังจากที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สี่ ผมหลบเข้าไปในรัฐสภาเมื่อมีตำรวจและผู้ชุมนุมเปิดทางให้หน่วยรักษาพยาบาลเข้าไปเนื่องจากมีการปล่อยข่าวลือว่ามีผู้ชุมนุมเสื้อแดงแขนหักอยู่ข้างใน (จริง ๆ แล้ว ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแบบนี้เลย)

 

ตำรวจข้างในดูผ่อนคลายและรู้สึกไปในทางบวกมากกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้ เมื่อเทียบกับตอนที่พวกเขาต้องเจอกับกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว มีการใช้ยุทธวิธีขำขันเพื่อลดบรรยากาศตึงเครียดโดยเสื้อแดงคนหนึ่งได้ให้ของใช้ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประตู เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเสื้อนอกของจักรภพดูมีความสุขเป็นพิเศษ หลังจากนั้นบรรยากาศก็ผ่อนคลายลงทั้งในและนอกรัฐสภา

 

มีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากพากันเดินทางไปที่กระทรวงการต่างประเทศ เหตุอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น ตอนที่ผู้ประท้วงไปถึงตำรวจที่ยืนกั้นอยู่ มีการเจรจากันเล็กน้อย เสื้อแดงค่อย ๆ เคลื่อนไปข้างหน้า ขณะที่ตำรวจถอยไปอย่างช้า ๆ ก้าวต่อก้าว มีการเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมจากบนเวทีว่า อย่าทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีรอยขัดข่วนแม้แต่รอยเดียว มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งคอยเป่านกหวีดสั่งการให้ตำรวจถอย

 

จากนั้นกลุ่มเสื้อแดงจึงเคลื่อนพลเข้าไปยังกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อทำการเข้าล้อมกระทรวงฯ ทหารที่อยู่ตามทางไม่ได้กระทำการใด ๆ พวกเขาแค่ยืนคุ้มกันพระราชวังต่อไป ที่กระทรวงฯ ไม่มีเหตุอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ มีกลุ่มเสื้อแดงที่ด่าว่า ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และพบว่ามี ส.ส. บางคนกระโดดข้ามรั้วไปยังไซต์ก่อสร้างที่อยู่ใกล้ ๆ จากนั้นเสื้อแดงก็สลายการชุมนุมไป วันนี้จบลงโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นอีก

 

การประท้วงรูปแบบนี้ควรได้รับการชมเชยและสนับสนุน และควรได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในประเทศไทยมากกว่านี้ ถ้ากลุ่มเสื้อแดงยังคงถูกให้ภาพเป็นปีศาจร้าย โดนดูถูก และโดนแขวนป้ายว่าเป็นพวกลิ่วล้อทักษิณที่รับเงินมาอยู่ล่ะก็ มันก็จะเป็นแค่การทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเกิดความรุนแรงมากขึ้นและอารยะขัดขืนก็จะกลายเป็นโจรดื้อแพ่ง (Criminal disobedience) เท่านั้น ตัวอย่างในที่นี้คือการรวมตัวกันโดยพร้อมเพรียงของเสื้อแดง 200 คนโดยไม่มีแกนนำที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ช่วงที่มีการโหวตผ่านรัฐสภาฯ ให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

 

เห็นได้ชัดว่าการนำของกลุ่มเสื้อแดงทำให้เกิดผลอย่างใหญ่หลวงในการที่จะเปลี่ยนแปลงและยกระดับความน่าเชื่อถือในการเคลื่อนไหวของพวกเขา สื่อของไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพวกที่เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรอิสระ ควรจะตระหนักถึงความจริงนี้ได้แล้ว กลุ่มพันธมิตรฯอาจเคยปรักปรำพวกเขาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สิ่งที่ได้เห็นในช่วงปลายเดือนธันวาคมนั้นเป็นการอารยะขัดขืนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเห็นจากพันธมิตรฯ ในไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อพวกเขาทำให้คำว่า "สันติอหิงสา" มีความหมายไปอีกแบบหนึ่ง

 

 

000

 

[ขณะเดียวกัน Andrew Walker จากเว็บเดียวกันได้นำบทความที่ชื่อ "The red army at the gates of parliament" (เสื้อแดงที่ประตูปราสาทเทวฤทธิ์) เขียนโดย Jim Taylor นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Adelaide ประเทศออสเตรเลีย มาลงในเว็บไซต์ Taylor ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกลุ่ม นปช. ไว้ว่า เป้าหมายของพวกเขาส่วนหนึ่งแม้จะถูกมองว่าทำเพื่อทักษิณแต่พวกเขาก็ยังเรียกร้องกระบวนการประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย นอกจากนี้กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ได้โง่เขลาแบบที่ชนชั้นสูงมองอย่างอคติ พวกเขารู้ว่าจะมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีส่วนร่วมในการแบ่งสรรทรัพยากรได้อย่างไร โดยบทความมีเนื้อหาดังนี้]

 

 

เสื้อแดงที่ประตูปราสาทเทวฤทธิ์

Jim Taylor

 

 

 

ที่มาของภาพ: Jim Taylor (ดูภาพทั้งหมดคลิกที่นี่)

 

กลุ่มกองทัพเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันว่า นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ได้มารวมตัวกันที่สนามหลวงในวันที่ 28 ธันวาคม 2551 และที่ประตูทางเข้าหลักของรัฐสภา รวมแล้วราว สี่ถึงห้าหมื่นคน ขณะเดียวกันก็ยังเปิดช่องทางให้นักการเมืองผ่านเข้าไปได้ อภิสิทธิ์ ผู้เป็นสหายของกลุ่มพันธมิตรฯ (มีคนเห็นเขาเดินปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วยังได้พูดให้กำลังกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย) ผู้เป็นตัวแทนอำนาจจากกองทัพทหาร รวมถึงรัฐบาลของเขาซึ่งได้มาโดยไม่ชอบธรรม นั่นหมายรวมถึงกลุ่มเพื่อนเนวินที่แปรพักตร์ด้วย พวกเขาเหล่านี้ได้ย้ายสถานที่แถลงนโยบายจากรัฐสภาไปเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศแทน ซึ่งจุดนี้พวกเขาทำผิดกฎหมาย เพราะการแถลงนโยบายควรจะมีขึ้นในรัฐสภา แต่ในขณะเดียวกันอย่างที่เราเห็นกันอยู่ตั้งแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ว่ากฎหมายถูกเปลี่ยนแก้อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นไปตามความต้องการของคนบางกลุ่ม

 

ผู้ชุมนุมที่มาจาก "ทุกชนชั้นของสังคม" (จากสำนวน all walks of life ในเนื้อความเดิม-ผู้แปล) รวมถึงพวกที่นั่งรถทัวร์มาจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พกรู้สึกความไม่พอใจต่อกษิต (กษิต ภิรมย์-รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ) มาร่วมป่าวประกาศ ชาวบ้านจำนวนมากที่ผมได้คุยด้วยแสดงความผิดหวัง ขมขื่น และ ความเศร้าอยู่ลึก ๆ จากการที่พวกเขาถูกมองอย่างอคติว่าเป็นพวกเอนเอียงทางการเมืองโดยกลุ่มชนชั้นสูงในสังคม กลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อแดงโดยทั่วไปแล้วยังไม่กล้าพอที่จะล้มรัฐสภาเพราะกลัวว่าสิ่งที่ถูกสื่อออกไปจะกระตุ้นการแทรกแซงของตำรวจและกองทัพทหาร นอกจากนี้กลุ่มเสื้อแดงโดยหลัก ๆ แล้วเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นพวกสนับสนุนทักษิณ และคิดว่ากระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratisation processes) เริ่มจากตัวเขา โดยการมอบอำนาจให้กับชาวบ้านมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ก่อนจะถูกกระทำอย่างเสียหายจนไม่อาจหวนกลับได้ในเหตุการณ์ช่วงปลายปี ค.ศ. 2006 จนกระทั่งกลุ่มนักการเมืองผู้เอนเอียงไปทางฟาสซิสต์เผยตัวออกมาจากพรรคที่เรียกตัวเองว่า "ประชาธิปัตย์" รวมถึงชนชั้นนำไดโนเสาร์ผู้สนับสนุนพวกเขาด้วย สื่อต่อต้านทักษิณที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล และพรรคพวกของเขาเป็นผู้ดำเนินการ อย่าง "ผู้จัดการ" และสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษของพวกคอยให้ข้อมูลเท็จและโจมตีทักษิณอย่างไม่หยุดยั้ง ดูคล้ายกับแคมเปญของพวกนาซีที่คอยดิสเครดิต (ทำลายความน่าเชื่อถือ) ของชาวยิวในช่วงทศวรรษที่ 1930s

 

แต่แคมเปญของเสื้อแดงนั้น เท่าที่ผู้เข้าร่วมบอกกับผมมา ในตอนนี้เป็นอะไรที่มากกว่าทักษิณแล้ว สิ่งที่คาใจพวกเขาในตอนนี้มีอย่างเดียวคือประชาธิปไตยของไทย ผู้ลงคะแนนเสียงชาวชนบทในตอนนี้ ไม่ใช่ผู้ที่โง่เขลาอีกต่อไปแล้ว พวกเขารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรในการแบ่งสรรทรัพยากรและการมีส่วนร่วมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยทักษิณแล้ว และพวกเขาก็รู้ซึ้งถึงแนวคิดของประชาธิปไตยที่แท้จริงรวมถึงแนวคิดของความเป็นธรรมทางสังคมเป็นอย่างดีด้วย (ดีกว่านักวิชาการไทยหลายคนด้วยซ้ำ)

 

 

 

แปลจาก:

Red shirts and civil disobedience, January 2nd, 2009 by Nick Nostitz,

http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2009/01/02/red-shirts-and-civil-disobedience/

 

The red army at the gates of parliament, December 31st, 2008

http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2008/12/31/the-red-army-at-the-gates-of-parliament/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท