Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดยทีมข่าวประชาไทภาคใต้


 
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


ถึงแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ จะเปิดฉากงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความคึกโครมอย่างยิ่ง คึกโครมด้วยการมอบหมายรัฐมนตรีจากแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นกรรมการแก้ปัญหาร่วมกัน          



ทว่า จนถึงขณะนี้แรงขยับก็ยังไม่ปรากฏให้จับต้องได้มากนัก ด้วยเหตุนี้ "ประชาไท" จึงต้องจับเข่าคุยกับหนึ่งในรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ "นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำกับดูแลสื่อมวลชนของรัฐ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล



เป็นการพูดคุย เพื่อค้นลึกหารูปธรรมที่กำลังดำเนินการ หรือจะดำเนินการในอนาคต ต่อไปนี้ คือ รายละเอียดที่ดำเนินอยู่ หรือกำลังจะเกิดขึ้น จาก "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย"


 


000




วางแนวทางการทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร



รัฐบาลจะเห็นว่าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนงานเยียวยามาตั้งแต่ยังเป็นฝ่ายค้าน เราเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด เราต้องการให้เยียวยาทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และคนที่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว



แนวคิดเรื่องการเยียวยามีอยู่ 2 แนวคิด แนวคิดแรกต้องการให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะตายหรือบาดเจ็บ กับอีกแนวคิดหนึ่งใช้เงินเยียวยาให้ไปทำโครงการบางลักษณะ ที่ทำให้เขาเข้มแข็งสามรถดูแลตนเองได้ในอนาคต



ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา มีการตั้งงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเป็นงบกลางประมาณ 900 ล้าน ใน 900 ล้าน มีการสร้างกลไกคณะกรรมการเยียวยาขึ้นมาดูแล องค์ประกอบ ก็จะมีข้าราชการจากส่วนกลาง ข้าราชการการเมือง และข้าราชการในพื้นที่ เช่น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีกลไกการทำงานของกองทุนเยียวยารองรับ



สำหรับเงินของกองทุนเยียวยา จะโอนไปตั้งไว้ที่จังหวัด ถ้าจำไม่ผิดจังหวัดละประมาณ 20 ล้าน ตรงนี้เต้องดูตัวเลขอีกที เมื่อโอนไปที่จังหวัด ในทางปฏิบัติทางจังหวัดสามารถจะดำเนินการได้เลย ในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ชัดเจน ส่วนกรณีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะส่งมาที่กรรมการเยียวยาส่วนกลาง



สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สว่าง ไม่มีการประชุมคณะกรรมการเยียวยาเลย ทำให้งานเยียวยาดูเมือนจะซาลงไป จนปัจจุบันนายกรัฐมนตรี ตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการเยียวยา เพื่อจะได้สานงานด้านนี้ต่อให้เป็นรูปธรรม



ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกกับผมว่า มีหลายกรณีที่ขอเงินเยียวยาแล้วยังไม่ได้รับ ผมก็รับเรื่องทั้งหมดมา ทั้งที่ตอนนั้นผมยังไม่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลงานเยียวยา



ผมจะเรียกประชุมคณะกรรมการเยียวยาในสัปดาห์นี้ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุม จะหยิบเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา การขอเงินเยียวยาเดิมทั้งที่เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ จะจ่ายกันอย่างไร



ส่วนอันที่สอง คือ เรื่องกองทุนเยียวยา ในสมัยที่นายอารีย์ วงศ์อารยะ เข้ามามีส่วนดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนคิดหาเงินเข้ามาใส่กองทุนเยียวยาประมาณ 200 ล้าน โดยจะเอาเงินจากกองสลาก ให้กองสลากออกสลากกินแบ่งการกุศลอะไรประมาณนี้ แต่ถูกท้วงติงว่าเงินกองทุนเยียวยาส่วนใหญ่นำไปให้พี่น้องมุสลิม เงินที่มาจากกองสลากเป็นเงินจากการพนัน น่าจะไม่เหมาะสม ในที่สุดโครงการนี้ก็ระงับไป



เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานกรรมการกองทุนเยียวยา ตอนนี้กองทุนเยียวยายังไม่มีเงิน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เรียกประชุมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มอบหมายให้อนุกรมการชุดหนึ่งไปพิจารณาหาแนวทางจัดหาเงินมาให้กองทุนเยียวยา


 




การหาเงินเข้ากองทุนในเบื้องต้นจะทำอย่างไร 



ยังไม่มีข้อสรุป เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ ก็เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการชุดนี้ ไปคิดว่าจะระดมเงินมาได้กี่ทาง


 




ในส่วนตัวเสนออะไรไปบ้าง



ยังครับ เพราะวันนั้นเป็นการประชุมครั้งแรก ในส่วนของคณะกรรมการเยียวยา ที่ผมเป็นประธาน ยังมีเงินอยู่เกือบ 800 ล้าน อะไรที่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยาก็จ่ายออกไป ตอนนี้เงินไปกองอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว



ยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ตกสำรวจ เป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่รัฐลงความเห็นว่า เป็นคดีส่วนตัว หรือเป็นพวกสีเทา



ในการประชุมคณะกรรมการเยียวยา ที่ผมเป็นประธานจะหยิบเรื่องแบบนี้แหละเข้ามาคุย เพราะวันที่ผมลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกับผม บอกว่ามีผู้ขอเงินเยียวยาที่ยังตกค้าง



ผมคิดว่าที่พูดถึงเป็นกรณีที่น่าสนใจ มีอยู่รายหนึ่งเป็นนักศึกษาพยาบาล ไปถูกยิงโดยทหารพรานที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะเหตุเกิดขึ้นที่ทุ่งสง นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ทำหนังสือร้องมาที่ผม      ผมบอกว่าเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวน้องที่ถูกยิงเสียชีวิตก็เป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ่อแม่เขาก็อยู่ที่นั่น ยังได้รับผลกระทบอยู่จนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ผมจะนำเข้าที่ประชุม จะหยิบยกขึ้นมาทบทวน


 




ถึงแม้จะพิสูจน์ทราบว่าผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เป็นผู้ก่อความไม่สงบ



ผมคิดอย่างนี้ แต่ละเรื่องที่หยิบยกขึ้นมามีรายละเอียดเยอะ คณะกรรมการเยียวยาต้องถกกันก่อน ผมเข้าใจว่าเรื่องการเยียวยา ยังมีอีกหลายประเด็นที่คุยกันไม่ชัด พูดถึงเฉพาะหลักการใหญ่ๆ อันนี้ต้องคุยกัน


 




กรณีชาวบ้านเสียชีวิต โดยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ จริงเท็จไม่รู้แต่คนในพื้นที่เชื่ออย่างนี้แล้ว



กรณีนี้ นายวิเชียร คันฉ่อง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นทีมศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถามในวุฒิสภาบอกว่า ไปพบกรณีที่ชาวบ้านเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์จนเสียชีวิต นายวิเชียร คันฉ่อง มองว่าเรื่องนี้เป็นช่องว่างยังไม่มีใครเข้าไปดูแล ผมคิดว่าในการประชุมคณะกรรมการเยียวยาต้องหยิบขึ้นมาคุยกัน ผมยินดีหยิบรายงานการศึกษาของวุฒิสภาขึ้นมาพิจารณา ในที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยา



ผมคิดว่าหลักการเยียวยา คงเป็นหลักที่ยึดเจตนารมณ์เข้าไปบรรเทาสถานการณ์ในภาพรวม ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ มีความรู้สึกมั่นคงจากการเข้าไปช่วยเหลือของรัฐ แต่ก็มีความละเอียดอ่อนอยู่พอสมควร เพราะในกรณีตกเป็นผู้ที่ต้องหาแล้ว มีการพิสูจน์แล้ว ถ้าเราเข้าไปเยียวยา ก็ต้องมีคำตอบให้กับคนบริสุทธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ให้ได้ด้วย นี่คือความละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันต้องคำนึงถึงทุกเรื่อง ในทุกขั้นตอน


 




ความละเอียดอ่อนตรงนี้ ส่งผลต่อการทำงานเยียวยาอย่างไร



ผมว่าเราต้องฟังทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องฟังหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องฟังภาคประชาชนด้วย เพื่อให้เป้าหมายใหญ่เป็นที่ยอมรับกันได้ อะไรที่ทำให้เหตุการณ์สงบก็น่าจะทำ


 




ที่บอกว่าสัปดาห์นี้(ช่วงวันที่ 10 - 14 มีนาคม 2552) จะมีการประชุม จะมีคนจากส่วนไหนเข้าร่วมประชุมบ้าง



ตัวกรรมการเยียวยาต้องมาประชุมทั้งหมด คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ มีตั้งแต่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่รวมอยู่ด้วย


 




ในส่วนของภาคประชาชน



ผมเข้าใจว่า จะมีการตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมารองรับงานฯ อนุกรรมการบางชุดจะมีตัวแทนจากภาคประชาชนอยู่ด้วย


 




จะลงไปพบกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับการเยียวยาบ้างหรือไม่



นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเป็นประธานกองทุนเยียวยา คงจะมีแผนที่จะลงไปเยี่ยมอยู่แล้ว สำหรับส่วนของผม มีโปรแกรมจะลงไปตรวจราชการใน 14 จังหวัดภาคใต้ และตั้งใจจะลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว


 




เรื่องของการเยียวยาทางร่างกาย พอเกิดเหตุก็เอาเงินไปให้กันได้ แต่การเยียวยาทางจิตใจจะทำอย่างไร



อย่างที่บอกไปแล้ว เรื่องของการเยียวยา มีอยู่ 2 แนวคิด 1. ให้เงินช่วยเหลือเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบไปเลย 2. จัดงบประมาณให้ไปทำโครงการ ที่ทำแล้วเขามีความมั่นคงในอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง เช่น โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ โครงการเลี้ยงปศุสัตว์ อะไรแบบนี้ อันนี้ต้องไปดูรายละเอียดที่กรรมการเยียวยาชุดก่อนทำไว้ ในส่วนของหลักเกณฑ์ที่ดีก็จะเก็บไว้ หลักเกณฑ์ใดที่ต้องปรับก็จะปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง


 




ข้อมูลได้มาจากไหนบ้าง



ผมได้มาจาก 2 ส่วน 1. จากการสรุปของกรรมการเยียวยาชุดเดิม 2. จากการลงพื้นที่ วันก่อนที่ลงไปพอผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็ขอข้อมูล เขาก็ยกมาให้ชุดใหญ่เลย นอกจากนั้นก็เป็นข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อีกส่วนได้มาจากกรณีตามมายิงที่ทุ่งสง ส่วนนี้ผู้เสียหายส่งหนังสือตรงมาที่ผมเอง


 




ขณะนี้ในส่วนของงานเยียวยา น่าจะทำอะไร



ผมคิดว่าข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ผมมาน่าสนใจมาก ผมพบว่าที่ผ่านมาการจ่ายเงินเยียวยา ในฝ่ายของข้าราชการมักยึดติดอยู่กับหลักเกณฑ์ที่เขียนเอาไว้เป็นตัวหนังสือ ทำให้เหมือนกับข้าราชการไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา การใช้เงินงบประมาณจึงขาดความคล่องตัว



กระบวนการเยียวยา ค่อนข้างจะเป็นราชการมากเกินไป ผมคิดว่าต้องไปดูที่ตัวหลักเกณฑ์ว่า จุดไหนน่าจะยืดหยุ่นได้บ้าง เพื่อทำให้การเยียวยาตอบสนองเป้าหมายใหญ่ คือ ลดผลกระทบจากเหตุการณ์ลงมาให้ได้ ทำให้เหตุการณ์มีความสงบมากขึ้น ต้องไปดูตรงนั้น ยกตัวอย่าง รายที่ทุ่งสงชัดเจนที่สุด นักศึกษาพยาบาลถูกทหารพรานตามมายิง ต้นเหตุจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เหตุมาเกิดที่ทุ่งสง เจ้าหน้าที่บอกว่า จ่ายเงินเยียวยาไม่ได้ เพราะเหตุเกิดนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้เห็นชัดว่ากฎระเบียบขาดความยืดหยุ่น



สุดท้ายกลายเป็นเหตุคับข้องใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จนพ่อที่พิการอยู่ก่อนแล้ว ต้องตัดสินใจทำหนังสือร้องเรียนมาผม เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด


 




สรุปคือต้องปรับหลักเกณฑ์



อันที่หนึ่ง ต้องปรับหลักเกณฑ์ อันที่สอง การกระจายเงินไปอยู่ที่อำเภอหรือจังหวัด อันนี้ผมเห็นด้วย เพราะทำให้รวดเร็วเยียวยาได้ทันที อันที่สาม คงต้องมาดูวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณเพื่อที่จะทำให้เกิดวามมั่นคงในชีวิต ตรงนี้จะไปอุดช่องว่างสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตคนที่นั่น



อันที่จริงคณะกรรมการเยียวยา สามารถตัดสินใจใช้งบประมาณเยียวยาได้เลย เพราะเป็นเจตจำนงทางการเมือง ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้พอใจแค่ความถี่การเกิดเหตุการณ์ลดลง เราคิดว่าผลกระทบที่กว้างขวาง หลังจากเกิดเหตุแต่ละครั้ง ยังเป็นปัญหาใหญ่ ตรงนี้ต้องประเมินให้ชัดเจน ต้องดูว่าความถี่ที่ลดลง เป็นเพราะมีกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก หรือเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบมีผลน้อยลง


 




นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉิน พ.ศ. 2548 ว่า รัฐบาลต้องทบทวนเหมือนกันว่า การอนุญาตให้ใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นมาตรการที่ได้ผลจริงหรือไม่



นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สรุปประเมินผลการปฏิบัติงานภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย พื้นที่ไหนที่สามารถยกเลิกได้ ก็จะใช้กลไกอื่นๆ ในการทำงาน แต่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของคนทำงานในพื้นที่



ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พยายามชี้ให้เห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้พระราชกำหนดการบริราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขณะที่บางส่วนมีแนวความคิดว่า จริงๆ แล้วการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคง เจตนารมณ์ของกฎหมายสถานการณ์ต้องอยู่ในขั้นร้ายแรง



ปัจจุบัน มีการสวมสองเรื่องเข้าด้วยกัน คือ ความมั่นคงสวมกับพระราชกำหนดฯ จึงต้องมีการปะเมิน ถ้าพบว่าสถานการณ์ไม่ร้ายแรงก็สามารถยกเลิกพระราชกำหนดฯ ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะไปเกี่ยวกับขวัญกำลังใจของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้วย ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง


 




สื่อของรัฐจะมีบทบาทอย่างไร ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้



ผมกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ผมลง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับนายกรัฐมนตรี ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งช่อง 11 หาดใหญ่ และช่อง 11 ยะลา มีข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่ในทำนองว่า ทำไมเราไม่ใช้เครือข่ายสื่อของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ไปเสริมสร้างสมานฉันท์ในพื้นที่ จริงๆ แล้ว ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมีแผนอยู่บ้างแล้ว ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง ในคราวที่เราปฏิรูปเอ็นบีทีด้วย



ถ้าให้ผมคิดถึงโทรทัศน์ท้องถิ่น แนวคิดผม ก็คือ ช่อง 11 มีสถานีอยู่ 8 เขตทั่วประเทศ มีสถานีย่อยอีก 10 กว่าแห่ง สถานีย่อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา อยู่กับเขตอยู่หาดใหญ่ ผมเลยเสนอแนวคิดให้มีโทรทัศน์ท้องถิ่น ให้แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น ภูเก็ต เป็นเมืองนานาชาติ  สุราษฎร์ธานี อาจจะเน้นเรื่องการพัฒนาชายฝั่งทะเล ในส่วนของยะลาผมคิดถึงโทรทัศน์สมานฉันท์ คิดถึงรายการวิทยุที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เท่าที่ทราบขณะนี้ มีสถานีวิทยุชุมชนอยู่หลายแห่ง ดำเนินรายการเป็นภาษาถิ่น น่าจะเป็นสื่อที่เข้าถึงชาวบ้านได้ รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เราด้วย



แนวคิดนี้ยังอยู่ในระยะตัดสินใจขั้นสุดท้าย รอให้ผมจัดผังรายการของทางกรุงเทพฯ ให้จบก่อน เพราะมันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ ถ้าช่อง 11 ส่วนกลางแพร่ภาพส่งมา จะส่งได้สองทาง  หนึ่ง ทางดาวเทียม ใครจะเปิดดูก็ได้ แต่ถ้าส่งทางภาคพื้นดิน ในต่างจังหวัดต้องรับสัญญาณช่อง 11 ที่กรุงเทพฯ เหมือนกันหมด ถ้าจะให้คนต่างจังหวัด ดูรายการที่ทางหาดใหญ่หรือยะลาผลิตเอง ก็ต้องงดรายการส่วนกลาง



พูดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณมีดาวเทียมดูได้ทั้งช่อง 11 ที่กรุงเทพฯ และช่อง 11 ท้องถิ่น ที่อากาศเวลาเดียวกันคนละรายการ แต่ถ้าใช้เครื่องรับโทรทัศน์หนวดกุ้ง สามารถดูได้ช่องเดียว ต้องเลือกว่าจะดูช่อง 11 ที่ยะลา หรือดูช่อง 11 กรุงเทพฯ



ปัจจุบันผังรายการช่อง 11 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ใน 24 ชั่วโมง จำนวน 20 ชั่วโมงเป็นของส่วนกลาง ส่วนอีก 4 ชั่วโมงเป็นของท้องถิ่น เพราะฉะนั้น ท้องถิ่นมีโอกาสแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น แนวคิดผมต้องการให้ 24 ชั่วโมง สามารถสื่อสารได้ทั้ง 2 ทาง ถ้าทำแบบนี้ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องยิงดาวเทียม



แนวความคิดผมเฟสแรกนี่นะครับ อาจจะต้องใช้วิธีการให้ท้องถิ่นยิงดาวเทียมก่อน 24 ชั่วโมง เป็นเนื้อหาของท้องถิ่น 50 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเนื้อหาของส่วนกลางที่เป็นนโยบายอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ใน 50 เปอร์เซ็นต์นี้ คุณอาจจะผลิตรายการท้องถิ่นเพื่อสร้างความสมานฉันท์ แต่คนที่ดูผ่านดาวเทียมได้ก็มีจำนวนจำกัดประมาณ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือต้องรับโทรทัศน์ภาคพื้นดิน



ในปีงบประมาณ 2553 บางสถานที่ที่มีความจำเป็น อาจจะต้องเพิ่มเครื่องส่งบางส่วน ที่สามารถตอบสนองการส่งภาคพื้นดินเฉพาะรายการของตัวเองได้ ผมตรวจสอบคลื่นความถี่แล้ว มีคลื่นความถี่ที่กรมประชาสัมพันธ์มีอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้มีโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่ประมาณ 100 กว่าช่อง ในเมืองไทยมีคนดูฟรีทีวี 95 เปอร์เซ็นต์ ดูเคเบิลกับดาวเทียมเพียง 5 เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง แต่ก็มีแนวโน้มว่าทีวีเคเบิลจะโตอย่างรวดเร็ว เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะให้ทีวีของรัฐเข้าไปอยู่ในเคเบิลด้วย



ขณะนี้ได้เริ่มทำขึ้นแล้ว มีการปรับผังรายการช่อง 11 แล้ว วิธีการปรับผังรายการช่อง 11 ผมจะให้สถานียิงดาวเทียม ในวันที่ 1 เมษายน 2552 พอยิงแล้วช่องดาวเทียมสามารถดูได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนสถานีภาคพื้นดินผมให้ประสานกับส่วนกลางก่อน จะมีการแบ่งเวลาให้ช่วงหนึ่ง การแพร่ภาพจะได้ครอบคลุมพื้นที่ ในช่วงข่าวส่วนกลางของเอ็นบีที จะให้ยิงข่าวภูมิภาคถ่ายทอดไปสู่สายตาคนทั้งประเทศผ่านดาวเทียมด้วย



ภายในวันที่ 1 เมษายน 2552 จะเห็นเป็นรูปธรรม ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่จะมีศักยภาพขนาดไหน อันนี้ต้องพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป



ปัจจุบันคนดูช่อง 11 ทราบกันแล้วว่า ช่วงบ่าย 3 โมง - 5 โมงเย็น เป็นรายการของท้องถิ่น แต่หลังจากนี้ คนดูจะมีทางเลือก 2 ทาง ถ้าต้องการดูท้องถิ่น ก็เปิดดาวเทียม ถ้าไม่มีดาวเทียมก็ไปดูที่ช่อง 11 ตอนบ่าย 3 - 5 โมงเย็นเหมือนเดิม



ที่ผ่านมา ได้คุยกับผู้ประกอบการธุรกิจดาวเทียมเขาคาดว่าธุรกิจนี้จะโตเป็นพันล้าน ทางบริษัทดาวเทียมก็มีแผนการตลาด ออกติดบ๊อกซ์ให้ฟรี ส่วนผมวางแผนนำช่อง 11 ไปเชื่อมกับเคเบิลช่องต่างๆ เพื่อให้ไปถึงท้องถิ่นไม่อย่างนั้นข่าวของรัฐ จะหายไปเรื่อยๆ คนยุคปัจจุบันมีโลกของตัวเองสูง ถ้าเลือกดูเคเบิล ก็จะไม่กลับมาดูฟรีทีวีไทย เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าให้ถึง



ผมคิดว่า โทรทัศน์ที่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ต้องเป็นโทรทัศน์ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ยกปัญหาชายแดนภาคใต้ขึ้นมาแลกเปลี่ยนกับคนทั้งประเทศ


 




แล้วจะส่งผลอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น



ในปัจจุบันยังไม่มีสื่อตอบสนองคนให้คนได้ดูข่าวคราวในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ใน 24 ชั่วโมงของฟรีทีวี มีข่าวของจังหวัดชายแดนใต้เพียง 60 วินาที หรือไม่ก็ 2 นาที ถ้าเป็นสกู๊ปอย่างดีก็ 3 นาที เป็นแค่รายงานเหตุการณ์ แต่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวัฒนธรรม การนำเสนอในมิติที่หลากหลายยังไม่เกิด มันยังไม่ชัดเจน


 



การใช้ภาษาอาจจะแตกต่างกันตามพื้นที่



ขณะนี้ทางจังหวัดยะลา มีรายการที่มีการใช้ภาษามลายูอยู่แล้ว อันนี้ผมคิดว่าต้องมีการผสมผสานกัน เราต้องยอมรับมิติความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น สื่อต้องสะท้อนความหลากหลายด้วย ถ้าคิดให้ถึงที่สุด ต้องมีวิสัยทัศน์ไกลกว่านั้น ขณะนี้ทีวีในโลกนี้ เป็นทีวีดิจิตอลแล้ว หมายความว่าเครื่องส่งรายการโทรทัศน์สามารถบีบเป็นร้อยช่องได้ แต่ผู้ชมต้องมีเครื่องรับเป็นติจิตอลด้วย ประเทศเวียดนามประกาศไปแล้วว่า ใน 28 ปีข้างหน้า จะเป็นดิจิตอลทั้งประเทศ ลาวก็ประกาศจะใช้ทีวีดิจิตอลแล้ว เขมรก็คิดแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้คิด



ล่าสุด ผมได้คุยกับเลขาฯโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ก็สนใจเรื่องนี้ เราคิดจะจัดสัมมนาเรื่องดิจิไทล์หรือการทำให้เป็นดิจิตอลว่า จะมียุทธศาสตร์ไปสู่ตรงนั้นได้อย่างไร ในช่วงเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net