Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมามีรายงานข่าวต่างประเทศชิ้นเล็กชิ้นหนึ่ง แต่ยิ่งใหญ่มากในสายตาของผม รายงานข่าวชิ้นที่ว่านั้นก็คือการที่ประธานาธิบดีเฟอร์นันโด ลูโก(Fernando Lugo) แห่งปารากวัย (Paraguay) ถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุดรถบนถนน สายหลักทางตอนใต้ของกรุงอาซันซิออน(Asunción) เมืองหลวงของประเทศ พร้อมเขียนใบสั่งให้ไปจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 520,000 การานี (ประมาณ 3,500บาท)



สำหรับ ความผิดของผู้นำประเทศปารากวัยคือข้อหาขับรถยนต์ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน วิ่งสวนเลนฝ่าฝืนกฎจราจร มิหนำซ้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ปรากฏว่าใบขับขี่ของผู้นำปารากวัยหมดก็อายุแล้วเสียอีก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เขียนใบสั่งระบุให้นายลูโกมีเวลา 5 วันในการดำเนินการไปชำระเงินค่าปรับในความผิดดังกล่าว

 

ที่ ผมว่าเป็นข่าวเล็กๆ สำหรับสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปก็เพราะว่าข่าวชิ้นนี้ไม่ได้รับ การเผยแพร่อย่างกว้างขวางหรือให้ความสำคัญมากนัก อาจจะเนื่องด้วยประเทศปารากวัยเป็นประเทศเล็กๆในแถบทวีปอเมริกาใต้ที่ห่าง ไกลจากประเทศไทยเรา มีประชากรเพียง 6 ล้านกว่าคน และเป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดียวกับ ประเทศไทยเรา(คำว่าประเทศกำลังพัฒนานั้นใช้ในความหมายที่ดูไม่ให้น่าเกลียดสำหรับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย)

  

ประเทศปารากวัย หรือชื่อทางการว่าสาธารณรัฐปารากวัย (Republica del Paraguay) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำปารากวัย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอาร์เจนตินาทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับประเทศบราซิลทางทิศเหนือ และติดต่อกับประเทศโบลิเวียทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ผม จะไม่แปลกใจอะไรหากเหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรปตะวันตกที่มีวิวัฒนาการของ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเหตุการณ์นี้ผมถือว่ายิ่งใหญ่มากเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ที่อยู่ในสถานะใกล้เคียงกันกับประเทศไทยเรา แต่ทว่าไทยเรากลับมีการเลือกปฏิบัติกันอย่างชัดเจนต่อผู้ที่มีความแตกต่างใน อำนาจและการเงิน

 

หลัก เกณฑ์ที่บุคคลเสมอกันเบื้องหน้ากฎหมายนั้นมีวิวัฒนาการมาจากอารยธรรมโรมัน ที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ มีอารยธรรมด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมายที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือหลักที่ว่า “All free men are equal before the law”ซึ่งก็หมายความว่า “อิสรชนทั้งหลายย่อมเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย” ที่ใช้คำว่า “อิสรชน”หรือ free men ก็เนื่องเพราะในสมัยนั้นยังมีทาสอยู่นั่นเอง

 

ต่อมาหลัก “อิสรชนทั้งหลายย่อมเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย”  ก็วิวัฒนาการมาเป็นหลักนิติธรรมหรือ The Rule of Law ที่ใช้เป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ

 

1) กฎหมายเป็นใหญ่ (Supremacy of Law) หมาย ถึงว่าในการปกครองประเทศนั้นกฎหมายต้องเป็นใหญ่ที่สุด อยู่เหนือบุคคลหรือสถาบันใดใด ซึ่งตรงข้ามกับประเทศที่ไม่ได้ใช้หลักนิติธรรม เช่นประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ เป็นต้น

 

2) เท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย(Equal Before the Law) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานเดิมตั้งแต่ยุคโรมันนั่นเองแต่ตัดคำว่าอิสรชน หรือ free men ออก

 

3) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย (No-one Over the Law) เพราะระบอบประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เมื่อปวงชนเลือกผู้แทนของตนไปออกกฎหมายแล้ว กฎหมาย(ที่ออกมาโดยชอบตามระบอบประชาธิปไตย)ย่อม อยู่เหนือคนทุกคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ เศรษฐีร้อยล้าน พันล้าน หรือราษฎรธรรมดาย่อมไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ หากประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยที่ใช้หลักนิติธรรมในการปกครองประเทศอย่าง แท้จริง

 

จาก หลักเกณฑ์ของหลักนิติธรรมและตัวอย่างกรณีของประธานาธิบดีปารากวัยที่ยก ตัวอย่างมาข้างต้นเมื่อหันกลับมาดูประเทศไทยเราแล้วให้หดหู่อดสูใจเป็นยิ่ง นัก หลักนิติธรรม ดูเหมือนว่าจะมีอยู่เพียงในตำราหรือเป็นเพียงแนวนโยบายที่สวยหรูที่รัฐบาล ทุกรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภารวมทั้งมีไว้เพื่อหาเสียงเท่านั้น

           

เรา จะพบเห็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เสมอแม้ว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็น กฎหมายสูงสุดไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 หรือ 50 จะบัญญัติห้ามไว้ก็ตาม ฉะนั้น จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกอะไรที่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างพากันละเมิดกฎหมาย กันเสียเอง

           

ตราบ ใดที่ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่เช่นนี้ จึงเป็นการยากที่สังคมไทยเราจะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะเป็นได้อย่างมากก็เพียงแต่ประชาธิปไตยในรูปแบบที่มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภาหรือมีการเลือกตั้งที่เป็นเพียงพิธีกรรมภาคบังคับที่กำหนดให้เป็นหน้าที่เท่านั้น แต่ความเป็นประชาธิปไตยในเนื้อหาสาระที่ประกอบไปด้วยหลักนิติธรรมนั้น อาจกล่าวได้เพียงว่า “เราทุกคน เท่าเทียมกันเมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมาย แต่ไม่เท่าเทียมกันเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้รักษากฎหมาย(We are all equal before the law, but not before those appointed to apply)” เท่านั้นเอง

 

 

--------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2552

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net