การสร้างความคิดรุนแรงในภาคใต้ : ควรมองปัญหาที่เครือข่ายปฏิบัติการ ไม่ใช่ที่โรงเรียน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เผยแพร่ครั้งแรก : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา
www.isranews.org/cms/index.php
 

โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะดึงดูดกลุ่มคนที่มีความคิดรุนแรง (radical) แต่ก็ไม่อาจเหมารวมว่า สถาบันการศึกษาทั้งหมด หรือครูและนักเรียนจะเป็นแหล่งต้นตอของปัญหา บางครั้งมักจะมีความเข้าใจที่ผิดๆ ในเรื่องความสัมพันธ์ของสถานที่กับคนที่อยู่ในสถานที่นั้น

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กหนุ่มซึ่งอยู่ในวัยที่มีความคิดและความรู้สึกเร่าร้อนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก  เด็กหนุ่มเหล่านี้จึงเป็นตัวผ่านชั้นเยี่ยมของกระแสความคิดรุนแรงที่เข้ามาในชุมชนเหล่านี้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นเช่นกันในโรงเรียนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยในประเทศแถบตะวันตก

รายงานชิ้นล่าสุดสองฉบับของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษากับกลุ่มคนที่มีความคิดหัวรุนแรง เช่น ในเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มหัวรุนแรงจะใช้โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในเครือข่ายของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) เป็นสถานที่นัดพบเพื่อวางแผนก่อการ แต่ว่าสมาชิกที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ใช่ครูหรือนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้น

จิตสำนึกต่อหน้าที่ที่แม้อาจจะไม่ถูกต้องนัก หรือการสาบานตนอาจส่งผลให้ผู้บริหารโรงเรียนไม่อาจจะปฏิเสธกลุ่มคนหัวรุนแรงเหล่านี้ได้ แม้ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงเช่นนั้นก็ตาม

ในภาคใต้ของไทยก็มีการแอบแฝงเข้าไปในโรงเรียนเพื่อทำการคัดเลือกนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะที่จะเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ หลังจากนั้นจะมีการกลั่นกรองด้วยการอบรมพิเศษนอกห้องเรียนเพื่อชักนำเด็กเหล่านั้นให้เข้าสู่ขบวนการต่อสู้ต่อไป ห้องเรียนและหอพักที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนเป็นเกราะกำบังที่เหมาะต่อปฏิบัติการที่ซ่อนเร้น โดยที่ผู้สอนหรือนักเรียนที่เรียนหรือพักอยู่ในสถานที่เหล่านั้นเองก็อาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่ามีการดำเนินกิจกรรมเช่นนั้นอยู่

คงเป็นแนวทางที่ไม่ฉลาดนักหากรัฐบาลจะจัดการกับปัญหานี้ด้วยการปิดโรงเรียนหรือลงโทษครู รวมทั้งความพยายามที่จะเปลี่ยนแบบเรียนหรือหลักสูตรการศึกษา แม้ว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อการศึกษาโดยรวม แต่จะไม่มีผลใดๆ ในการหยุดกระบวนการชักชวนเด็กหนุ่มให้เข้าไปสู่ขบวนการก่อความไม่สงบได้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่นั่น

การปราบปรามอย่างรุนแรงก็ไม่ใช่แนวทางที่ดีในการแก้ปัญหา เพราะรังแต่จะเป็นการผลักให้กลุ่มเหล่านี้ออกไปปฏิบัติการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีการต่อต้านน้อยกว่า

สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่าโรงเรียนเป็นเพียงสถานที่ที่การปฏิสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายเกิดขึ้น การทำความเข้าใจว่าเครือข่ายเหล่านี้ทำงานอย่างไรเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า บางคนอาจจะรู้สึกเป็นกังวลต่อการบ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาบางส่วนกับกลุ่มคนหัวรุนแรงนั้นมีอยู่จริง ความท้าทายจึงอยู่ที่การมองให้เห็นถึงตัวการปัญหาในขณะที่ไม่กล่าวโทษสถาบันการศึกษาทั้งระบบ 

ในประเทศไทย คนหนุ่มที่เข้าร่วมในวิถีทางที่ใช้ความรุนแรงมักมีจุดเริ่มต้นจากห้องเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนแบบสมัยใหม่ ส่วนในอินโดนีเซีย กลุ่มคนหัวรุนแรงจะเข้าไปใช้โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแบบกินนอนบางแห่งเป็นที่พักพิงและเป็นสถานที่ติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิก เครือข่ายเหล่านี้ต่างหากที่เป็นภัยคุกคาม ไม่ใช่โรงเรียน 

ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรคำนึงถึงความละเอียดอ่อนดังกล่าวนี้เมื่อมีการพิจารณานโยบายและการแสวงหนทางในการแก้ปัญหาในภาคใต้

 

..................................................................
อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานวิจัยและนำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก  บทความชิ้นนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษซึ่งตีพิมพ์ใน The Interpreter เว็บไซต์ของ The Lowy Institute for International Policy ในประเทศออสเตรเลีย รายงานล่าสุดเรื่อง  Recruiting Militants in Southern Thailand และรายงานฉบับก่อนๆ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษเรื่องภาคใต้ของไครซิส กรุ๊ป สามารถดาวน์โหลดได้ที่  www.crisisgroup.org.  
 
(หมายเหตุจากอิศรา : บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นหลังจากที่  อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดที่ชื่อ “เส้นทางเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ในภาคใต้ของไทย” หรือ Recruiting Militants in Southern Thailand เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2552 โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งแสดงความเป็นห่วงต่อการชักชวนเด็กหนุ่มมุสลิมให้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ประเด็นดังกล่าวทำให้รายงานของ ไอซีจี ฉบับนี้ ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย รวมทั้งขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวในเวทีโลก ทั้งๆ ที่เนื้อหาของรายงานทั้งฉบับไม่ได้พุ่งเป้าไปที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา แต่ให้น้ำหนักไปที่เครือข่ายปฏิบัติการ ดังที่บทความของ จิม เดลลา-จิอาโคมา ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป ระบุ โดยรายงานฉบับดังกล่าวที่มีบทคัดย่อเป็นภาษาไทยสำหรับสื่อมวลชน สามารถหาอ่านได้ในเว็บอิศรา โดยค้นหาคำว่า "ไครซิส กรุ๊ป")

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท