ภูริ ฟูวงศ์เจริญ : การทำสงครามกับยาเสพติด และการเลือกตั้งในเม็กซิโก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความจาก “ภูริ ฟูวงศ์เจริญ” ว่าด้วยการเลือกตั้งและสงครามยาเสพติด ความสัมพันธ์และผลกระทบที่เหตุการณ์ทั้งสองมีต่อกัน และต่อระบบการเมืองของเม็กซิโก

 

 

ในช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโกอย่างน้อยสองเหตุการณ์ด้วยกัน คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการทำสงครามกับยาเสพติดที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองจะมีความน่าสนใจในตัวของมันเองอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่าน่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ และผลกระทบที่เหตุการณ์ทั้งสองมีต่อกัน และต่อระบบการเมืองของเม็กซิโก
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือนที่แล้วถือเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งกลางสมัยของประธานาธิบดีฟิลิปเป้ คัลเดรอน (Felipe Calderón) ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 โดยประธานาธิบดีของเม็กซิโกจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดังนั้นผลการเลือกตั้งในเดือนที่ผ่านมาจึงเป็นเหมือนกับผลการประเมินการทำงานของประธานาธิบดีในช่วงครึ่งวาระที่ผ่านมา หากพรรคกิจแห่งชาติ (National Action Party) หรือพรรค PAN ของประธานาธิบดีคัลเดรอนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีย่อมต้องเผชิญกับแรงกดดันให้เร่งปรับปรุง หรือพัฒนาการทำงานของตน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความหมายต่อประธานาธิบดีคัลเดรอนอย่างมาก นอกจากนี้การเลือกตั้งดังกล่าวยังมีนัยยะที่สำคัญต่อระบบการเมืองของเม็กซิโกในภาพกว้าง เนื่องจากในอดีตนั้นการเมืองของเม็กซิโกถูกผูกขาดอำนาจโดยพรรคปฏิวัติทางสถาบัน (Institutional Revolutionary Party) หรือพรรค PRI เป็นสำคัญ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 พรรค PRI ได้ครอบครองตำแหน่งประธานาธิบดีของเม็กซิโกมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 พรรค PAN ได้ส่งนายวิเซนเต้ ฟ็อกซ์ (Vicente Fox) ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการทำลายอำนาจผูกขาดกว่า 70 ปีของพรรค PRI ลง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจึงสามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่า อำนาจทางการเมืองในเม็กซิโกจะหวนกลับสู่การผูกขาดของพรรค PKI หรือไม่ อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งกลับปรากฎว่า พรรค PAN ของประธานาธิบดีต้องประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ ขณะที่พรรค PRI สามารถเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา และได้ที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงกว่าร้อยละ 40
ขณะที่ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดช่วงครึ่งปีแรก อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดำเนินคู่ขนานไปพร้อมกันก็คือ การทำสงครามกับยาเสพติด อันเป็นนโยบายธงของประธานาธิบดีคัลเดรอนที่ถูกริเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 สงครามดังกล่าวมีขอบเขตที่กว้างขวาง และระดับความรุนแรงที่สูงอย่างยิ่ง จวบจนปัจจุบันได้มีผู้เสียชีวิตในการทำสงครามไปแล้วกว่า 12,000 คน ทั้งนี้การใช้คำว่า “สงคราม” มาเรียกขานการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังในเม็กซิโกถือได้ว่า เป็นการเลือกใช้คำที่เหมาะสมมาก เพราะการปราบปรามยาเสพติดในเม็กซิโกไม่ได้มีลักษณะเป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐรุกไล่ปราบปรามผู้ค้ายาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่มีลักษณะของการสู้รบตอบโต้ระหว่างกันอย่างดุเดือด สถานีตำรวจกลางเมืองบางแห่งถูกบุกโจมตีอย่างอุกอาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหลายคนถูกหมายหัว ขณะที่ผู้มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดต่างก็ถูกข่มขู่ และถูกตามล่าโดยขบวนการค้ายาเสพติดที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งคล้ายคลึงกับแบบกองทัพ และใช้อาวุธสงครามจำนวนมากมายในการต่อกรกับทางรัฐบาล
การทำสงครามกับยาเสพติดได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกในเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในสงครามถึง 769 ราย ทำให้เดือนดังกล่าวกลายเป็นเดือนที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุด นอกจากนี้จวบจนกลางปี ค.ศ. 2008 ได้มีรายงานว่า ประธานาธิบดีคัลเดรอนได้ทุ่มงบประมาณไปแล้วกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการทำสงครามกับยาเสพติด อย่างไรก็ดี ขบวนการค้ายาเสพติดก็ยังคงดำรงอยู่ท้าทายภาครัฐอย่างมั่นคง ทำให้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคัลเดรอนต้องตัดสินใจส่งกองกำลังผสมทหาร-ตำรวจกว่า 5,500 นายเข้าปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดในมลรัฐมิโชอากัง (Michoacán) [1] แต่แม้ว่าภาครัฐจะทุ่มเทกับการทำสงครามอย่างจริงจัง และใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักหน่วงมากว่าสองปี โอกาสที่ภาครัฐจะประสบชัยชนะก็ยังเป็นสิ่งที่ดูลิบหรี่ไม่น้อยในสายตาของชาวเม็กซิกันทั่วไป
ขอบเขตอันกว้างขวางของการทำสงครามกับยาเสพติด และความยากลำบากในการเอาชนะขบวนการค้ายาเสพติดถือเป็นสิ่งที่ไม่ผิดไปจากความคาดหมายเลย เพราะขบวนการค้ายาเสพติดในเม็กซิโกมีความใหญ่โต และมีเครือข่ายที่ฝังรากลึกไปทั่วประเทศ ขบวนการดังกล่าวจะดำเนินการในลักษณะกลุ่มผูกขาด (Cartel) โดยในแต่ละกลุ่มผูกขาดจะมีกลุ่มค้ายาเสพติดกลุ่มย่อยๆ ที่มารวมตัวกัน และสถาปนาอิทธิพลเหนืออาณาบริเวณที่ตนดำเนินการ กลุ่มผูกขาดในเม็กซิโกมีอยู่หลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มผูกขาด Gulf กลุ่มผูกขาด La Familia กลุ่มผูกขาด Juárez เป็นต้น แต่ละกลุ่มผูกขาดจะมีถิ่นอิทธิพลของตัวเอง และสงครามแย่งชิงถิ่นอิทธิพลระหว่างกันก็มักเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ในแต่ละถิ่นอิทธิพล ขบวนการค้ายาเสพติดจะมีอำนาจอย่างมาก และมีบทบาทเป็นเสมือนกับรัฐเลยทีเดียว ขบวนการค้ายาเสพติดเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากบรรดาธุรกิจในถิ่นอิทธิพลของตน ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงเรียน และโบสถ์ของท้องถิ่น คอยไกล่เกลี่ย หรือพิพากษาข้อพิพาทระหว่างบุคคลต่างๆ ในถิ่นอิทธิพล ช่วยดูแลปราบปรามการก่ออาชญากรรม และริเริ่มโครงการเพื่อชุมชนต่างๆ
ความเฟื่องฟูของขบวนการค้ายาเสพติดในเม็กซิโกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของเม็กซิโกเองที่อยู่เป็นประตูระหว่างสหรัฐฯ กับทวีปอเมริกาใต้ สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดผู้บริโภคยาเสพติดที่ใหญ่โตระดับโลก ขณะที่หลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะประเทศผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ ประเทศเม็กซิโกจึงอยู่ระหว่างผู้ผลิต กับผู้บริโภคยาเสพติด ส่งผลให้มีการลำเลียงยาเสพติดจำนวนมากจากประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้เข้าสู่สหรัฐฯ โดยผ่านทางเม็กซิโก นอกจากนี้เม็กซิโกเองก็ยังมีแหล่งผลิตยาเสพติดเพื่อนำไปขายในสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะโคเคน และยาบ้า วิธีการลำเลียงยาเสพติดจากเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐฯ นั้นมีอยู่หลากหลาย วิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือ การใช้เรือดำน้ำ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว กองทัพเรือเม็กซิกันได้ประสบความสำเร็จในการสกัดจับเรือดำน้ำลำหนึ่งที่พยายามลำเลียงโคเคนกว่า 5.8 ตันเข้าสู่น่านน้ำสหรัฐฯ
ข้อเท็จจริงในข้างต้น ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯ เล็งเห็นความสำคัญ และพยายามสนับสนุนการทำสงครามกับยาเสพติดในเม็กซิโก สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ FBI ได้ประสานงาน และคอยช่วยเหลือเม็กซิโกเป็นพิเศษในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นางฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศว่า ทางการสหรัฐฯ ชื่นชมการตัดสินใจทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดีคัลเดรอนเป็นอย่างยิ่ง และยินดีที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีคัลเดรอนอย่างใกล้ชิด
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งผ่านพ้นไป กับการทำสงครามกับยาเสพติด ในแง่หนึ่งจะอยู่ที่การใช้สงครามดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงโดยประธานาธิบดีคัลเดรอน แม้ว่าพรรค PAN ของประธานาธิบดีจะประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนก็เห็นตรงกันว่า การทำสงครามกับยาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญที่ช่วยไม่ให้พรรค PAN ต้องพ่ายแพ้ยับเยินยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เหตุเพราะการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคัลเดรอนเท่าที่ผ่านมาถือได้ว่า ไม่ค่อยเข้าตาประชาชน ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากตัวประธานาธิบดีเอง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจ การพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลักส่งผลให้เม็กซิโกต้องรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ โดยตรง เศรษฐกิจของเม็กซิโก โดยเฉพาะภาคการส่งออกหดตัวตามเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ขณะที่ประธานาธิบดีคัลเดรอนเองก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนักในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับประชาชน ประชาชนทั่วไปจึงมักไม่พอใจกับผลงานทางเศรษฐกิจของเขา มิหนำซ้ำ เม็กซิโกยังต้องเผชิญกับวิกฤติไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในสายตาของประชาชนทั่วไป ประธานาธิบดีคัลเดรอนรับมือกับวิกฤติดังกล่าวอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ปัญหาสำคัญทั้งสองได้ทำให้ความมั่นใจที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีคัลเดรอนลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความตกต่ำของประธานาธิบดีในด้านคะแนนนิยม การทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังกลับกลายเป็นนโยบายธงอันดับหนึ่งที่ช่วยคุ้นจุนคะแนนนิยมไว้ไม่ให้ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในมิติของการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม ประชาชนส่วนมากต่างสนับสนุน และชื่นชมการทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีคัลเดรอนจะทวีความดุเดือดของสงครามดังกล่าวในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นเดือนที่นองเลือดที่สุดตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ขณะเดียวกันภายหลังจากที่เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีคัลเดรอนก็ยิ่งพยายามฟื้นฟูคะแนนนิยมของตนด้วยการสั่งเดินหน้าปฏิบัติการณ์ปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดในมลรัฐมิโชอากังอย่างเข้มข้น
นอกเหนือไปจากการใช้สงครามยาเสพติดมาค้ำจุนคะแนนนิยมทางการเมืองในการเลือกตั้งแล้ว สงครามยาเสพติดยังส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง และการเมืองของเม็กซิโกในลักษณะที่ว่า สงครามดังกล่าวได้บีบให้ขบวนการค้ายาเสพติดต้องเข้ามาแสวงหาอิทธิพลทางการเมืองระดับชาติมากขึ้น เดิมทีการติดสินบน และการข่มขู่แบล็กเมล์เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักการเมืองระดับท้องถิ่น เพื่อให้มาอยู่ใต้อิทธิพลของขบวนการค้ายาเสพติดถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในเม็กซิโก แต่เมื่อสงครามกับภาครัฐทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ขบวนการค้ายาเสพติดก็เริ่มหันมาให้ยุทธวิธีใหม่ ซึ่งก็คือ การซื้อตัว หรือกดดันให้นักการเมืองระดับชาติมาอยู่ใต้อิทธิพลของตน ขบวนการค้ายาเสพติดไม่เพียงแต่พยายามเอาชนะภาครัฐด้วยการใช้กำลังต่อต้านอย่างแข็งขัน หากยังพยายามเอาชนะด้วยการสถาปนาอิทธิพลของตนบนเวทีการเมืองระดับชาติ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ และเม็กซิโก ตลอดจนทางการ FBI ต่างก็ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของขบวนการค้ายาเสพติด โดยล่าสุดทาง FBI ได้ทำรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าการมลรัฐหลายคน กับกลุ่มค้ายาเสพติดกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐในเม็กซิโกถือว่า มีความสำคัญมาก เนื่องจากเม็กซิโกเป็นประเทศที่ปกครองในระบบสหพันธรัฐ ขบวนการค้ายาเสพติดหวังว่า อิทธิพลทางการเมืองของตนจะสามารถนำมาใช้บรรเทาความเข้มข้นของการปราบปรามจากทางภาครัฐ บทบาททางการเมืองของขบวนการค้ายาเสพติดยิ่งเด่นชัดมากขึ้นไปอีกในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์การเมือง และสื่อหลายสำนักได้รายงานเกี่ยวกับบทบาทที่ไม่เปิดเผยของขบวนการค้ายาเสพติดในการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคต่างๆ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนถูกกล่าวหาว่า ได้เงินสนับสนุนในการหาเสียงจากขบวนการค้ายาเสพติด ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางรายก็ถึงกับถูกกล่าวหาว่า ถูกส่งลงสมัครโดยขบวนการค้ายาเสพติด
กรณีตัวอย่างที่ดีที่สุดอันหนึ่ง คือ กรณีของนายมาริโอ้ อันกุยอาโน่ (Mario Anguiano) จากพรรค PRI ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในมลรัฐโคลิม่า (Colima) นายมาริโอ้ถูกครหามาตั้งแต่ต้นว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผูกขาด Zetas อันเป็นกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ทรงอิทธิพลในมลรัฐโคลิม่าก็ได้ขึ้นป้ายขนาดใหญ่บริเวณทางด่วนของมลรัฐ เพื่อประกาศว่า ทางกลุ่มให้การสนับสนุนแก่นายมาริโอ้อย่างเต็มตัวในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แม้ว่านายมาริโอ้จะปฏิเสธว่า ตนไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับกลุ่มผูกขาด Zetas และพยายามชี้ว่า การขึ้นป้ายดังกล่าวเป็นลูกไม้สกปรกของคู่แข่งที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของเขา แต่ภายหลังจากที่ป้ายดังกล่าวถูกติดตั้งขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผลการสำรวจคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนก็ชี้ว่า นายมาริโอ้ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนกลายเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้ง และท้ายที่สุด เขาก็สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งมาได้[2]
จากการพิจารณาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจะสังเกตเห็นว่า การทำสงครามกับยาเสพติดได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองในเม็กซิโก ในแง่หนึ่งการทำสงครามกับยาเสพติดเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างคะแนนนิยมสำหรับประธานาธิบดีคัลเดรอน และพรรค PAN ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ประธานาธิบดีคัลเดรอนไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากการเร่งทวีความเข้มข้นของมาตรการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด โดยหวังว่า มันจะช่วยประคับประคองคะแนนนิยมไม่ให้ตกต่ำยิ่งไปกว่านี้ ในอีกแง่หนึ่งการทำสงครามกับยาเสพติดก็ได้ผลักดันให้ขบวนการค้ายาเสพติดเข้ามามีบทบาททางการเมือง นักการเมืองระดับชาติเริ่มกลายเป็นหมากของขบวนการค้ายาเสพติดมากขึ้นกว่าในอดีต หากแนวโน้มเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ความเสี่ยงที่ติดตามมากับการทำสงครามกับยาเสพติดก็จะยิ่งสูงมากขึ้น เพราะถ้าในอนาคตข้างหน้า สงครามดังกล่าวยุติลงโดยมีขบวนการค้ายาเสพติดเป็นผู้ชนะ อิทธิพลทางการเมืองของขบวนการค้ายาเสพติดก็จะดำรงอยู่ และหยั่งรากลึกลงในระบบการเมืองของเม็กซิโกยิ่งกว่าในยุคก่อนการทำสงครามกับยาเสพติด เมื่อเป็นเช่นนี้การทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดีคัลเดรอนจึงไม่ได้เพียงแต่เอาคะแนนนิยมของเขาเป็นเดิมพัน หากแต่ยังเป็นการเอาระบบการเมืองของเม็กซิโกในระยะยาวเป็นเดิมพันด้วย
 
เชิงอรรถ
[1] สำหรับผู้ที่สนใจกรณีตัวอย่างที่ช่วยฉายภาพขอบเขต และระดับความรุนแรงของสงครามยาเสพติดในเม็กซิโก สมควรอ่าน “Mexico's Drug Gangs: Taking on the Unholy Family” ใน The Economist ฉบับ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 หน้า 47-48
[2] ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกรณีของนายมาริโอ้สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.huffingtonpost.com/2009/06/19/mexico-election-drug-war-_n_217828.html และ http://blog.taragana.com/n/once-hush-hush-drug-war-plays-big-in-mexicos-mid-term-elections-86544/
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท