District 9 หนังมนุษย์ต่างดาวจาก ผกก. แอฟริกาใต้ ว่าด้วยการเหยียดชาติพันธุ์

ภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวไม่ใช่เรื่องใหม่ ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวการเหยียดชาติพันธุ์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน แต่ในคราวนี้เป็นผลงานกำกับของผู้ที่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ พื้นที่ซึ่งเคยมีความขัดแย้งจากนโยบายกีดกั้นสีผิวมาก่อน 

 

 

  


ภาพโปสเตอร์รณรงค์จากเว็บไซต์
MNU Spread Lies
ซึ่งเป็นเว็บไซต์โปรโมทภาพยนตร์ District 9 ด้วยกลวิธียั่วล้อตัวเอง
ข้อความบนโปสเตอร์ระบุว่า “สนับสนุนสิทธิอมนุษยชน ทุกชีวิตสมควรได้รับความเท่าเทียม
 
 
 
มีเสียงร่ำลือกันอย่างตื่นเต้นในฮอลลิวูดเกี่ยวกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องใหม่ล่าสุดจากผู้กำกับ ชาวแอฟริกาที่ชื่อ นีลล์ บลอมแคมป์ที่ชื่อ "District 9" หรือ "ดิสทริคท์ ไนน์" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหล่ามนุษย์ต่างดาวที่ตกมาอยู่บนโลก และถูกแบ่งแยกพื้นที่ออกจากมนุษย์ให้อยู่แต่ในเขตสลัมของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
 
ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ระทึกขวัญนำเสนอการต่อสู้ของเหล่ามนุษย์ต่างดาวผู้ลี้ภัยจากดาวของตนเองมาตั้งรกรากยังโลก ซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์โลกผู้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา
 
"ดิสทริคท์ ไนน์" เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในฮอลลิวูดของผู้กำกับบลอมแคมป์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปีเตอร์ แจกสัน ผู้กำกับชื่อดังจากงานรางวัลออสการ์อย่าง "เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง" มาเป็นผู้อำนวยการสร้าง
 
สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าภาพยนตร์เรื่อง "ดิสทริคท์ ไนน์" ใช้ฉากเป็นโลกอนาคตในจักรวาลคู่ขนาน ซึ่งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์มีรากฐานมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในแอฟริกาใต้ ที่เกิดเหตุความไม่สงบจากลัทธิแบ่งแยกสีผิวและการต่อต้านผู้ลี้ภัย
 
อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับชาวแอฟริกาใต้ผู้นี้บอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นหนังการเมือง บลอมแคมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ลอส แองเจลลิส ว่าเขาพยายามระวังไม่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็นการเมืองมากเกินไป เพราะกลัวคนดูจะเหนื่อยหน่ายกับมัน
 
"แต่ผมรู้ดีว่า ผมต้องการให้มีแก่นของความเป็นแอฟริกาใต้ถูกนำเสนอไปพร้อมกับเรื่องราวการแบ่งแยกและการเหยียดชาติพันธุ์ที่ตามมา เพราะว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมที่ผมเติบโตมา" นีลล์ บลอมแคมป์ กล่าว "ดังนั้น ภาพยนตร์จึงมีความสมดุลระหว่างเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติที่คล้ายคลึงกัน และเรื่องรัฐบาลผิวขาวกับการกดขี่ของพวกเขาที่คล้ายคลึงกันด้วย"
 
มีการวิจารณ์ภาพยนตร์ก่อนกำหนดเข้าฉายในโรง (ต่างประเทศ) วันที่ 14 ส.ค. นี้ โดยเหล่านักวิจารณ์ในเว็บไซต์ร็อทเทนโทเมโทส์* (www.rottentomatoes.com) ต่างให้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้เต็ม 100%
 
นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ฮอลลิวูดริพอร์ทเตอร์แสดงความชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ซึ่งมันจะตรึงคุณไว้ทันทีและไม่ยอมให้คุณไปไหนจนกว่าจะถึงช็อทสุดท้าย"
 
ตัวละครหลักของเรื่องคือ วิกัส แวน เดอ เมอเว ที่แสดงโดยชาร์ลโต คอปลีย์ นักแสดงชาวแอฟริกาใต้ ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเขาพยายามจะสืบค้นเรื่องราวความลับของอาวุธจากมนุษย์ต่างดาว ที่จะสามารถปลดล็อกได้โดยอาศัยรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ต่างดาวเท่านั้น
 
และเมื่อวิกัสติดเชื้อไวรัสของมนุษย์ต่างดาวที่เริ่มเปลี่ยนแปลงรหัสดีเอ็นเอมนุษย์โลกของเขา จากการเป็นผู้ล่าก็กลายเป็นผู้ถูกล่า โดยเขาถูกบังคับให้ต้องลี้ภัยร่วมไปกับเหล่ามนุษย์ต่างดาวในเขตสลัม ดิสทริคท์ ไนน์ ที่ดูคล้ายเขตโซเวโตในโลกจริง (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ โจฮานเนสเบิร์ก, แอฟริกาใต้ ประชากรศาสตร์ชาติพันธุ์ในโลกจริง ด้านล่าง)
 
ในเรื่องสถานที่ถ่ายทำ บลอมแคมป์ ให้ความเห็นว่า โจฮันเนสเบิร์ก เป็นสถานที่ถ่ายทำที่เหมาะสมและนึกไม่ออกว่าจะมีที่อื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่านี้ ซึ่งผู้กำกับชาวแอฟริกาใต้ให้เหตุผลว่าเมืองนี้มีองค์ประกอบฉากที่ต้องการเป็นจำนวนมากเช่น ดินโคลน รั้วลวดหนาม พวกวัชพืช "ผมคิดว่าคุณต้องการให้มันใกล้ความจริงในระดับนี้ รวมถึงระดับของมลภาวะและความสมจริงด้วย"
 
แต่เดิมแล้วนีลล์ บลอมแคมป์ เดินทางมายังนิวซีแลนด์เพื่อร่วมงานกับผู้กำกับปีเตอร์ แจ็กสัน ในโปรเจกท์ภาพยนตร์พร้อมยักษ์จากเกมส์ของเครื่อง Xbox ที่ชื่อ Halo ซึ่งต่อมาโครงการณ์ภาพยนตร์จากวิดีโอเกมส์เรื่องนี้ก็ถูกพับไป แต่จากการที่ปีเตอร์ แจ็กสัน เกิดประทับใจกับเรื่อง "อะไลว์ อิน โจเบิร์ก" (Alive in Joburg) หนังสั้นปี 2005 ฝีมือของบลอมแคมป์เข้า ทำให้ต่อมาพวกเขาสร้าง "ดิสทริคท์ ไนน์" โดยอาศัยแนวคิดดั้งเดิมจาก "อะไลว์ อิน โจเบิร์ก"
 
"ในตอนนั้นผมเตรียมตัวกลับไปที่แวนคูเวอร์ แต่แล้วเขา (ปีเตอร์ แจ็กสัน) และฟราน วัสซ์ ก็บอกว่า “ทำไมคุณไม่อยู่ที่นี่ต่อแล้วลองทำภาพยนตร์เรื่องอื่นดูล่ะ ลองใช้แรงกระตุ้นที่คุณเคยใช้สร้าง Halo มาเริ่มต้นทำอะไรใหม่ดูสิ' ซึ่งมันดูเป็นไอเดียที่ดีสำหรับผม ราวกับพวกเขาอนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้เกิดขึ้นมา ซึ่งมันเจ๋งมากในความเห็นผม"
  
 
เรื่องย่อของ ดิซทริคท์ ไนน์ จากเว็บไซต์ collider.com
เนิ่นนานเกินกว่า 20 ปีมาแล้ว มนุษย์ต่างดาวได้ติดต่อมายังโลกเป็นครั้งแรก มนุษย์โลกจึงเตรียมตัวกับการถูกโจมตีในฐานะศัตรู หรือไม่ก็คาดว่าจะได้เจอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันยิ่งใหญ่ แต่แทนที่จะได้พบกับทั้งสองสิ่งที่กล่าวมา กลับได้พบว่าเหล่ามนุษย์ต่างดาวอพยพมายังโลกในฐานะผู้ลี้ภัย ผู้เหลือรอดกลุ่มสุดท้ายจากดาวเดิมของพวกเขา ชาวต่างดาวพากันสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวในเขต ดิสทริคท์ ไนน์ ของประเทศอเมริกาใต้ ขระที่ประเทศต่างๆ ในโลกยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับมนุษย์ต่างดาวผู้ลี้ภัยนี้ดี
 
มาจนถึงปัจจุบัน ความอดทนต่อสถานการณ์มนุษย์ต่างดาวเริ่มหมดลง แผนการควบคุมมนุษย์ต่างดาวได้รับการอนุมัติโดยมัลติ-เนชั่นแนล ยูไนเต็ต (Multi-National United หรือ MNU) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่สนใจในสวัสดิการของมนุษย์ต่างดาว แล้วพวกเขาก็จะได้รับกำไรอย่างมหาศาลหากพวกเขาทำให้อาวุธของมนุษย์ต่างดาวทำงานได้ ซึ่งจนถึงบัดนี้พวกเขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการทำงานของอาวุธต้องอาศัยรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ต่างดาว
 
ความตึงเครียดระหว่างชาวต่างดาวกับชาวโลกดำเนินมาจนถึงจุดสำคัญ เมื่อวิกัส แวน เดอ เมอเว (ชาร์ลโต คอปลีย์) พนักงานจากบริษัท MNU ถูกไวรัสที่เปลี่ยนดีเอ็นเอของเขาให้กลายเป็นของมนุษย์ต่างดาว วิกัสกลายเป็นคนที่ถูกตามล่ามากที่สุดและเป็นที่ต้องการมากที่สุดในเวลาเดียวกันเนื่องจากเขาเป็นคนเดียวที่จะไขความลับของเทคโนโลยีจากต่างดาวได้ การที่เขาต้องระหกระเหินและไร้ญาติขาดมิตรเช่นนี้ ทำให้ที่เดียวที่เหลืออยู่เพื่อให้เขาได้หลบซ่อนพักพิง คือที่ ดิสทริคท์ ไนน์
 
 
อะไลว์ อิน โจเบิร์ก รากฐานและแรงบันดาลใจของ ดิสทริกซ์ ไนน์
อะไลว์ อิน โจเบิร์ก เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นแนววิทยาศาสตร์ของนีลล์ บลอมแคมป์ ออกฉายในปี 2005 โดย สปาย ฟิลม์ ภาพยนตร์มีความยาวประมาณ 6 นาที ใช้สถานที่ถ่ายทำคือเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ของประเทศแอฟริกาใต้ เนื้อหาของภาพยนตร์มุ่งสำรวจเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็มีการใช้เทคนิคภาพ (visual effect) และเล่าเรื่องแบบสารคดีจำลอง
 
เรื่องนี้พูดถึงเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี 1990 ซึ่งกลายเป็นแหล่งอพยพลี้ภัยสำหรับชาวต่างดาว ที่มียานอวกาศขนาดใหญ่ (ความยาวราวหนึ่งกิโลเมตร) ลอยอยู่เหนือเมือง เมื่อมนุษย์ต่างดาวเข้ามาในตอนแรก ชาวโลกที่ตื่นตะลึงกับ "ชุดชีวภาพ" ของชาวต่างดาวก็อ้าแขนต้อนรับพวกเขา อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาชาวต่างดาวพากันย้ายเข้ามาในพื้นที่อื่นๆ ของเมือง และบางส่วนก็ก่ออาชญากรรมเพื่อเอาตัวรอด และบางครั้งก็ปะทะกับตำรวจ ภาพยนตร์ดำเนินต่อไปภายใต้การนำเสนอแบบสารคดี มีการสัมภาษณ์และภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายจากกล้องถ่ายวิดิโอ เน้นไปที่ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างชาวเมืองและผู้อพยพ โดยเฉพาะเมื่อถึงตอนที่ยานอวกาศเริ่มมาแย่งการใช้กระแสไฟฟ้าและทรัพยากรอื่นๆ จากเมือง
 
จากการ "สัมภาษณ์" มนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์ นำเสนอว่ามนุษย์ต่างดาวที่หนีมาบนโลกนั้นเคยเป็นแรงงานทาสที่ถูกบังคับให้อยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตแย่ ซึ่งในช่วงปี 1990 กฏการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ทำให้ชาวต่างดาวต้องไปอยู่รวมกับกลุ่มคนผิวสีซึ่งถูกกดขี่อยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับคนผิวขาวและคนเชื้อชาติอื่น
 
 

ภาพเมืองโซเวโต จาก BBC
 ซึ่งบรรยายภาพว่าบุคคลสำคัญผู้ที่เคยต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว
อย่าง เนลสัน แมนเดลา และหัวหน้าบาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู ก็เคยอาศัยอยู่ในเขตนี้ด้วย
(BBC)
 
 
โจฮันเนสเบิร์ก, แอฟริกาใต้ ประชากรศาสตร์ชาติพันธุ์ในโลกจริง
ทางประชากรศาสตร์ ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก โดยจากข้อมูลการสำรวจปี 2007 พบว่ามีชาวผิวสีอยู่ราวร้อยละ 79.7 ซึ่งประกอบด้วยเชื้อชาติย่อย ๆ อื่น ๆ อีกหลายเชื้อชาติ รวมถึงผู้ที่อพยพจากส่วนอื่นของทวีปแอฟริกาด้วย ขณะที่ชาวผิวขาวมีอยู่ร้อยละ 9.1 (หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ สำรวจในปีเดียวกันระบุว่ามีร้อยละ 11)
 
และจากการสำรวจในปี 2001 พบว่ามีชาวผิวสีโดยรวมร้อยละ 22 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล ขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 20 ปี อีกร้อยละ 23.3 ไม่ได้รับการศึกษาเลย อัตราการว่างงานของชาวผิวสีอายุ 15-65 ปี อยู่ที่ร้อยละ 28.1
 
ขณะที่ชาวผิวขาวโดยรวมร้อยละ 70.7 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล ส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 20 ปี แต่ไม่ได้รับการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.4 และอัตราการว่างงานของคนผิวขาวอายุ 15-65 ก็อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่านั้น
 
โจฮันเนสเบิร์ก เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ ติดอันดับหนึ่งใน 40 เมืองที่มีเขตตัวเมือง (Metropolitan area) ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของแอฟริกาใต้ โดยมีการค้าขายทองคำและเพชรเป็นจำนวนมาก
 
ในปี 1990 เมืองโจฮันเนสเบิร์กได้รวมเอาเขตโซเวโต (Soweto) ซึ่งเคยแยกออกจากตัวเมืองในปี 1970 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอีกครั้ง ชื่อของโซเวโตย่อมาจาก “South-Western Township” หรือ “เขตชุมชนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้” โดยเขตชุมชนริมตะเข็บเมืองนี้เกิดขึ้นจากการตั้งรกรากของคนงานเหมืองทองชาวแอฟริกันท้องถิ่น โดยกฏหมายการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ทำให้เกิดการแยกเขตโซเวโตออกจากตัวเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
 
โดยในปี 1991 กฏหมายจำกัดบริเวณ (Group Area Act) ก็ถูกยกเลิกใช้ทำให้กลุ่มคนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสีที่เคยถูกห้ามก่อนหน้านี้ย้ายจากเขตรอบนอกอย่างชุมชนโซเวโตเข้ามาสู่ตัวเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากที่อพยพจากสงครามและความยากจนในทวีปแอฟริกาก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
 
สื่อและรัฐบาลมองว่าการอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากหลังยกเลิกกฏหมายจำกัดบริเวณเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมในเมืองโจฮันเนสเบิร์กรวมถึงเรื่องอาชญากรรม ทำให้มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไว้ตามมุมถนนของเมือง
 
จากการสำรวจในปี 2001 พบว่าเมืองโจฮันเนสเบิร์กมีชาวแอฟริกันผิวสีร้อยละ 73 ขณะที่มีชาวผิวขาวร้อยละ 16 ชาวผิวสีอื่น ๆ ร้อยละ 6 และชาวเอเชียร้อยละ 4 โดยร้อยละ 37 ของประชากรทั้งหมดไม่มีงานทำ และในกลุ่มคนว่างงานดังกล่าวมีชาวผิวสีอยู่ถึงร้อยละ 91
 
ขณะที่เว็บไซต์การท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้กล่าวถึงชุมชนโซเวโตไว้ว่า เป็นสถานที่ดูขัดแย้งกัน คือมีที่อยู่แบบเพิงกระท่อมติดกับอพาร์ทเมนต์หรูหรา มีกองขยะแต่ก็มีถนนที่ตัดเรียบ มีทั้งทุ่งสีเขียวและกระแสน้ำสีสนิม
 
ในเว็บไซต์เดียวกันยังได้กล่าวถึงประวัติของโซเวโตตั้งแต่ การเข้ามาตั้งรกรากของคนงานเหมืองชาวผิวสีในโซเวโต ตั้งแต่ช่วงปี 1904 การที่ชาวผิวสีถูกขับออกจากใจกลางเมืองมาอยู่ในชุมชนย่านนี้ ในปี 1950 รวมถึงปัญหาที่ประสบยาวนานของเขตนี้อย่างความไม่มั่นคงด้านที่พักอาศัย, ปัญหาชุมชนแออัด, โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี และอัตราการว่างงานสูง
 
 
 
เชิงอรรถ
เว็บไซต์ร็อทเทนโทเมโทส์ หรือ "มะเขือเทศเน่า" เป็นเว็บไซต์ที่รวมการวิจารณ์และให้คะแนนจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในหลายๆ สื่อ ซึ่งหากภาพยนตร์เรื่องใดได้รับคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งหรือถูกวิจารณ์แบบเน้นในแง่ลบ (ในกรณีที่สื่อนั้นๆ ไม่มีการให้คะแนนภาพยนตร์) จะถือว่าได้รับคะแนนแบบ "มะเขือเทศเน่า" สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับคะแนน 100% หมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับคะแนนเป็น "มะเขือเทศเน่า" เลย
 
 
ที่มา 
Hollywood abuzz at South African sci-fi film, Paula Bustamante, 08/08/2009
http://www.rottentomatoes.com/m/district_9/ (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
http://www.imdb.com/title/tt1136608/ (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
http://en.wikipedia.org/wiki/Alive_in_Joburg  (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
http://en.wikipedia.org/wiki/Demographics_of_South_Africa  (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
http://en.wikipedia.org/wiki/Johannesburg  (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
http://www.southafrica.info/travel/cities/soweto.htm  (เข้าดูเมื่อ 12 ส.ค. 2009)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท