Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) แถลงชาวโรฮิงยา 2 ราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มชาวโรฮิงยา 78 ตนที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนมกราคม 2552 เสียชีวิตลงขณะถูกควบคุมตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง โดยไม่ได้รับโอกาสในการรักษาอาการป่วย

โดยคณะกรพ. ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ได้ทราบว่า มีชาวโรฮิงยาชื่อนายอับดุล ซาลัม อายุประมาณ 20 ปีเศษ ได้เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว และได้รับแจ้งว่าก่อนเสียชีวิต มีอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือดหลายครั้ง แต่เมื่อเพื่อน ๆ ชาวโรฮิงยาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมเพื่อนำตัวไปรักษาหรือส่งโรงพยาบาลกลับไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งนายอับดุล ซาลัม เสียชีวิตลง
และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 คณะทำงานได้รับทราบจากผู้เกี่ยวข้องว่า นายฮามมะตูละ อายุประมาณ 18 ปี ชาวโรฮิงยาผู้ถูกควบคุมตัว ได้เสียชีวิตไปอีกเป็นรายที่สอง ในเวลาเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2552 โดยไม่ปรากฏอาการใด ๆ และได้ทำพิธีฝังศพตามประเพณีของศาสนาอิสลามภายในวันดังกล่าว นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้รับแจ้งจากชาวโรฮิงยาในพื้นที่ว่า ยังคงมีผู้เจ็บป่วยที่รอการตรวจรักษาอีกเป็นจำนวนหลายคน ขอให้ช่วยเหลือนำพวกเขาออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของ กรพ. คือ ให้โอกาสชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ และรักษาอาการเจ็บป่วย โดยต้องจัดหาสถานที่เหมาะสม ซึ่งมิใช่สถานที่กักตัว ของสำนักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง เนื่องจากเป็นสถานที่อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของชาวโรฮิงยา และ เนื่องจากชาวโรฮิงยาทั้งหมดเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ชาวมุสลิมจะต้องถือศีลอดในเดือนรอมดอน ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ชาวมุสลิม ถือเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ และจะปฏิบัติศาสนกิจ โดย อดอาหารในเวลากลางวัน และทำพิธีละหมาดในเวลาค่ำลง โดยปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนหรือประมาณสามสิบวัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวโรฮิงยาในการปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อและความศรัทธา โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับไว้
กรพ. ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ผลักดันชาวโรฮิงยากลุ่มนี้กลับไปสู่ความตายหรือการทรมานในประเทศพม่า

 
18 สิงหาคม 2552
 
แถลงการณ์
กรณีเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยากลุ่ม 78 คนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง
 
สืบเนื่องจากระหว่างเดือนมกราคม 2552 เรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาจำนวน 78 คน ถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมือง และถูกควบคุมกักตัวอยู่ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง ต่อมาเดือนมิถุนายน 2552 ผู้ที่เดินทางมากับเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาส่วนหนึ่ง 29 คน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกเขามิใช่ชาวโรฮิงยาอย่างที่แจ้งไว้ในครั้งแรก แต่พวกเขาเป็นชาวบังคลาเทศได้เดินทางร่วมกับชาวโรฮิงยามาในเรือลำเดียวกัน เพื่อจะหลบหนีความยากจนในประเทศของตนและจะไปหางานทำที่ประเทศอื่น ๆ พร้อมทั้งขอให้คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรพัฒนาเอกชน ทำหนังสือถึงสถานทูตบังคลาเทศในประเทศไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ส่งพวกตนกลับไป ขณะนี้พวกเขาถูกส่งตัวมายังสำนักตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติ และส่งกลับต่อไป
 
ส่วนชาวโรฮิงยาที่เหลือจำนวน 49 คน ต้องถูกควบคุมกักตัวรอการผลักดันกลับ แม้จะได้รับการช่วยเหลือในด้านกฎหมายและเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการสำนักตรวจคนเข้าเมือง มิให้ส่งพวกเขากลับไปให้รัฐบาลพม่า
 
ระหว่างรอการดำเนินการของรัฐบาลไทย คณะทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน และทนายความได้เข้าเยี่ยมและพบกับชาวโรฮิงยา ได้รับแจ้งผ่านล่ามให้คณะทำงานทราบว่า พวกเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมื่อเกิดเจ็บป่วยต้องการพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา แต่ผู้ควบคุมกักตัวก็ไม่อนุญาตให้พบแพทย์ แต่จะให้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ไข้ หรือยาแก้ปวด แก่พวกตนกินเพื่อรักษาอาการ นอกจากนั้นพวกตนมีอาการคันตามร่างกายและผิวหนัง รวมทั้งคันในร่มผ้า ต้องการให้คณะทำงานจัดหายาแก้อาการดังกล่าวมาให้
 
ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ได้ทราบว่า มีชาวโรฮิงยาชื่อนายอับดุล ซาลัม อายุประมาณ 20 ปีเศษ ได้เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว และได้รับแจ้งว่าก่อนเสียชีวิต มีอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือดหลายครั้ง เมื่อเพื่อน ๆ ชาวโรฮิงยาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมเพื่อนำตัวไปรักษาหรือส่งโรงพยาบาล ก็ไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งนายอับดุล ซาลัม เสียชีวิตลง
 
และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 คณะทำงานได้รับทราบจากผู้เกี่ยวข้องว่า นายฮามมะตูละ อายุประมาณ 18 ปี ชาวโรฮิงยาผู้ถูกควบคุมตัว ได้เสียชีวิตไปอีกเป็นรายที่สอง ในเวลาเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2552 โดยไม่ปรากฏอาการใด ๆ และได้ทำพิธีฝังศพตามประเพณีของศาสนาอิสลามภายในวันดังกล่าว นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้รับแจ้งจากชาวโรฮิงยาในพื้นที่ว่า ยังคงมีผู้เจ็บป่วยที่รอการตรวจรักษาอีกเป็นจำนวนหลายคน ขอให้ช่วยเหลือนำพวกเขาออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) มีข้อคิดเห็นต่อการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยา และการเสียชีวิตดังกล่าว ดังนี้
 
1. การควบคุมกักตัวคนจำนวนมากในพื้นที่อาคารที่ไม่มีแสงแดดส่องถึง สภาพอากาศไม่ถ่ายเท ทำให้เกิดเชื้อโรค และเป็นอันตรายต่อผู้ถูกควบคุม ดังนั้นเมื่อผู้ถูกคุมขังเกิดอาการเจ็บป่วยต้องได้รับการพบแพทย์หรือได้รับการรักษาพยาบาล ตามหลักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมไม่มีอำนาจอันจะอ้างตามกฎหมายใดที่จะกีดกัน หรือปฏิเสธ การได้รับสิทธิดังกล่าว
 
2. การปฏิเสธผู้ถูกควบคุมตัว ที่เจ็บป่วย มิให้ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ อาจเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อันขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ว่า “ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
 
3. นายอับดุล ซาลัม และนายฮามมะตูละ เสียชีวิตจากกรณีเจ็บป่วย เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ต้องได้รับการไต่สวนการตายจากศาล ตามนัยแห่งมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารราความอาญา ซึ่งหากผู้ตายไม่มีญาติพี่น้อง สมควรให้มีผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตายสามารถเข้าเป็นผู้ร้องคัดค้านการไต่สวนการตายในศาล ในนามของญาติผู้ตาย ตามกฎมายได้
 
จากความคิดเห็นดังกล่าวคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
1. ให้ชาวโรฮิงยาได้รับการดูแลและรักษาอาการเจ็บป่วย โดยต้องจัดหาสถานที่เหมาะสม ซึ่งมิใช่สถานที่กักตัว ของสำนักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง เนื่องจากเป็นสถานที่อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของชาวโรฮิงยา
 
2. เนื่องจากชาวโรฮิงยาทั้งหมดเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ชาวมุสลิมจะต้องถือศีลอดในเดือนรอมดอน ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ชาวมุสลิม ถือเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ และจะปฏิบัติศาสนกิจ โดย อดอาหารในเวลากลางวัน และทำพิธีละหมาดในเวลาค่ำลง โดยปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนหรือประมาณสามสิบวัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวโรฮิงยาในการปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อและความศรัทธา โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับไว้
 
3. รัฐบาลไทยต้องประกาศนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ผลักดันชาวโรฮิงยากลุ่มนี้กลับไปสู่ความตายหรือการทรมานในประเทศพม่า
 
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน
มูลนิธิ เสถียรโกเศศ นาคะประทีป
18 สิงหาคม 2552
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net