Skip to main content
sharethis
 
 
สธ.เตรียมแจกถุงยาง 30 ล้านชิ้นกันเอดส์ พบวัยรุ่นหญิงป่วยเอดส์มากกว่าชาย 1 เท่าตัว เหตุเพราะใช้ถุงยางน้อย
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 52 ที่ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแอริค จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.ไมเคิล ฮาห์น ผู้ประสานงานโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงานรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องในวันเอดส์โลกซึ่งตรงกับ 1 ธันวาคม 2552 ภายใต้คำขวัญ ทั่วถึง เท่าเทียม คือสิทธิมนุษยชน” (Universal Access and Human Right) เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักถึงภัยคุกคามโรคเอดส์ ส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์
 
นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาหลักที่ทำให้คนไทยติดเชื้อเอชไอวี มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ใช้ถุงยางอนามัยพบมากถึงร้อยละ 84 ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2552 ไทยมีผู้ป่วยเอดส์จำนวน 358,260 ราย เสียชีวิตแล้ว 95,983 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 92 อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และวัยแรงงาน อายุระหว่าง 15-59 ปี กลุ่มอายุ 25-29 ปีพบร้อยละ 24 เฉพาะในกลุ่มวันรุ่นอายุ 15-19 ปี พบเพศหญิงป่วยเป็นเอดส์สูงกว่าเพศชาย 1 เท่าตัว อัตราป่วยโรคเอดส์เมื่อเทียบต่อประชากรทุกแสนคนในปี 2552 ภาคกลางพบมากที่สุดที่จันทบุรี ประมาณ 31 คน ภาคเหนือพบสูงสุดที่พะเยา ประมาณ 29 คน ภาคใต้พบมากสุดที่ระนอง ประมาณ 30 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดที่เลย ประมาณ 21 คน
 
ในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุข เร่งประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ มีเป้าหมายแจกถุงยางอนามัยจำนวน 30 ล้านชิ้น เพื่อสนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเป็นผู้แจกจ่าย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มหญิงบริการ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แม่บ้าน วัยรุ่น ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริการ โดยตั้งเป้าลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ไม่เกินปีละ 5,876 รายภายในปี 2554
 
ทางด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอช ไอ วี ของประชาชน โดยสำนักระบาดวิทยา ล่าสุดในปี 2551 พบว่าน่าห่วงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เยาวชนอายุ 14-18 ปี ผลการเฝ้าระวังพบเด็กนักเรียนชั้น ม.2 ทั้งชายและหญิง มีแนวโน้มเคยมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ในชายเพิ่มจากร้อยละ 3.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 3.7 ในปี 2551 ส่วนหญิงเพิ่มจากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 2.3 การใช้ถุงยางอนามัยครั้งแรกของนักเรียนชายเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 52 ส่วนนักเรียนหญิงแนวโน้มใช้ลดลงจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 48 ในเด็กม.5 แน้วโน้มการเคยมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง ชายเพิ่มจากร้อยละ 21 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 24 ส่วนผู้หญิงเพิ่มจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15
 
ในระดับอาชีวะศึกษาปีที่ 2 พบการใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอนที่รู้จักผิวเผินและใช้กับหญิงบริการทางเพศ ร้อยละ 57 ใช้กับชายด้วยกันร้อยละ 52 จึงมีโอกาสติดเชื้อเอช ไอ วี ได้สูงและหากติดเชื้อตั้งแต่วัยเยาวชน จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพ และครอบครัวต้องเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ให้ครอบครัวเนื่องจากต้องเสีย เวลาดูแลผู้ป่วย
 
สำหรับกิจกรรมในการรณรงค์ครั้งนี้ จะมีไปจนถึงเวลา 21.00 น. ประกอบด้วยการแสดงจากนักศึกษาการละคร การแสดงทอล์คโชว์หัวข้อป้องกันปลอดภัย รู้เสี่ยงเอดส์ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน ตู่ ภพธร แบล็ควนิลา และแชมป์ นิทรรศการโรคเอดส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แอลกอฮอล์ ยาเสพติด บริการฟรีปรึกษาปัญหาสุขภาพ ตรวจกลุ่มเลือด และโรคซิฟิลิสจากผู้เชี่ยวชาญ เล่นเกมส์ตอบปัญหา ชิงรางวัล แจกสายวัดขนาดถุงยางอนามัย และแจกถุงยางอนามัยบรรจุแพ็คเก็จไม่จำกัดจำนวน
 
ไทยพร้อมปรับยาสูตรใหม่รักษาเอดส์ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะ แบบค่อยเป็นค่อยไป
 
สาธารณสุข พร้อมปรับการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยในปี 2553 จะเริ่มให้ยาเมื่อระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อซีซี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีร้อยละ 0.7 จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ยึดตามมติคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป จะเริ่มปรับการให้ยาต้านไวรัส 2 สูตร เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป และให้ลูกกินนมผสมแทนนมแม่หลังคลอดนาน 18 เดือนเหมือนเดิม เพราะได้ผลดีมาก ลดเด็กติดเชื้อจากแม่ได้ถึงร้อยละ 97
 
จากกรณี องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำในวันเอดส์โลก ให้ประเทศต่างๆค่อยๆ หยุดให้ยาต้านไวรัส สตาวูดีน (Stavudine : d4T) ซึ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากก่อให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวแก้ไขไม่ได้ รวมทั้งอาการผิดปกติของระบบประสาท โดยแนะนำให้ใช้ยาตัวอื่นคือ ซิโดวูดีน (Zidovudine : AZT) หรือทินอฟโฟเวียร์ (Tenofovir) ซึ่งเป็นพิษน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน และแนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและหญิงตั้งครรภ์เริ่มรับยาต้านไวรัสเอชไอวี เร็วขึ้นตั้งแต่ค่าซีดีโฟร์ลดลงอยู่ที่ 350 เซลล์ต่อซีซี ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ แทนคำแนะนำเดิมที่ให้รับยาเมื่อค่าซีดีโฟร์อยู่ที่ 200 เซลล์ต่อซีซี ซึ่งผู้ติดเชื้อมักแสดงอาการป่วยแล้ว การรักษาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากอายุยืนยาวและสุขภาพดีขึ้น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีควรเริ่มให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่อายุ ครรภ์ 14 สัปดาห์แทนของเดิมที่ 28 สัปดาห์ และควรให้นมลูกจนถึงอายุ 1 ปี โดยทั้งแม่และลูกต้องรับยาต้านไวรัสไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกลง และลูกมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น นั้น
 
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กำลังพัฒนาแนวทางการรักษาระดับสากล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ในโลก ที่มีระบบบริการยาต้านไวรัสครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่ว ประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีผู้ได้รับยาสะสมในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 132,044 คน และมีผู้ที่ยังกินยาต่อเนื่อง 116,431 ราย เมื่อรวมกับโครงการประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการคาดว่าจะมีจำนวนรวมประมาณ 180,000 คน โดยในปี 2553 มีเป้าหมายขยายเพิ่ม 138,000 คน โดยยาต้านไวรัสที่ใช้ขณะนี้ส่วนใหญ่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม
 
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ยาสูตรหลักที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่เป็นสูตรยา 3 ตัวพื้นฐานให้แพทย์เลือกใช้ 2 สูตร คือ จีพีโอเวียร์ (GPO-VIR) ประกอบด้วย สตาวูดีน + ลามิวูดีน + เนวิราพีน และสูตรที่ 2 คือจีพีโอเวียร์ ซี (GPO-VIR Z) ประกอบด้วย ซิโดวูดีนหรือเอแซดที + ลามิวูดีน + เนวิราพีน ยาดังกล่าวสามารถใช้ได้ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ การให้ยาต้านไวรัสที่ผ่านมา จะให้เมื่อระดับเม็ดเลือดขาวหรือซีดีโฟร์ (CD4) ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อซีซีทุกราย จากการประเมินพบว่าได้ผลดี การเสียชีวิตลดลงมาก ในปี 2553 จะปรับเริ่มการให้ยาจากเดิมที่ใช้เกณฑ์เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200250 เซลล์ต่อซีซีเป็น 350 เซลล์ต่อซีซี เช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
 
ทางด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการลดการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ เริ่มให้ยาต้านไวรัสเมื่อระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อซีซี กรมอนามัยจะยังไม่ปรับแนวทางตามทั้งหมด เนื่องจากต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากราชวิทยาลัยสูติแพทย์และกุมารแพทย์ก่อน ซึ่งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 เป็นต้นไปกรมอนามัยจะเริ่มการให้ยาต้านไวรัสแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอ ชไอวี ซึ่งมีร้อยละ 0.7 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด หรือประมาณ 5,600 คน
 
โดยยึดตามปริมาณเม็ดเลือดขาวตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่จะให้ได้รับยาเร็วขึ้นไม่ต้องรอให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อซีซี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 ให้เมื่อระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อซีซี ใช้ยาสูตร 3 ตัว ได้แก่ เอแซดที + ลามิวูดีน + เนวิราพีน และในกลุ่มที่เม็ดเลือดขาวมากกว่า 350 เซลล์ต่อซีซี ใช้ยาสูตร 2 ตัว คือ เอแซดที + เนวิราพีน ที่ผ่านมาอัตราการใช้ยา ใน 2 กลุ่มนี้ใกล้เคียงกัน คือ 49 ต่อ 51 โดยให้ยาเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์เหมือนเดิม เนื่องจากการประเมินผลพบว่า ได้ผลดีมาก สามารถลดการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 97 มีเด็กเกิดใหม่ติดเชื้อเอชไอวีจากแม่เหลือเพียงร้อยละ 2.9 หรือประมาณ 162 คนต่อปี ซึ่งจากเดิมในปี 2540 อัตราเด็กติดเชื้อจากแม่อยู่ที่ร้อยละ 33
 
นายแพทย์สมยศกล่าวต่อว่า การดูแลหลังคลอดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไทยก็จะยึดหลักเกณฑ์เดิม คือ จะให้เด็กกินนมผสมแทนการกินนมแม่เป็นเวลา 18 เดือน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเด็กมากที่สุด โดยจะให้ยาต้านไวรัสทั้งแม่และลูกควบคู่กันตามปริมาณเม็ดเลือดขาว และจะมีการเจาะเลือดติดตามการติดเชื้อในเด็กเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 18 เดือน ซึ่งในปี 2553 ได้จัดงบประมาณซื้อนมผงไว้ 50 ล้านบาท ขณะนี้ได้แจ้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้เป็นแนวทางการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติด เชื้อเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กลุ่มเอ็นจีโอ ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ยาต้านไวรัส 3 ตัวคือ เอแซดที + ลามิวูดีน + โลพินาเวียร์ เพื่อลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนนั้น นายแพทย์สมยศกล่าวว่า การใช้ยาสูตร 3 ตัวดังกล่าว จะต้องระมัดระวังถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ที่ซีดีโฟร์มากกว่า 350 เซลล์ต่อซีซี เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพ้ยาที่เรียกว่าอาการสตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม ตับอักเสบ และอาจจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แก้มตอบ ผิวพรรณหมองคล้ำ จึงต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูความพร้อมของผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องมีสูตินรีแพทย์ แพทย์อายุรศาสตร์ และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรม โดยกรมอนามัยจะศึกษานำร่องการใช้ยานี้ใน 11 จังหวัด เช่น นครสวรรค์ สตูล ศรีสะเกษ นครพนม มุกดาหาร เริ่มตั้งแต่ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป หากได้ผลดีก็จะเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป
 
 
ผู้ป่วยเอดส์ประท้วงเรียกร้อง รบ.จีนเข้ามาเหลียวแล
 
ด้านเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีชาวจีนจำนวนหนึ่งได้สวมหน้ากากแทรกตัวเข้ามาเรียกร้อง ในระหว่างการจัดงานวันโรคเอสด์ของสหประชาชาติบริเวณสถานีรถไฟในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้รัฐบาลจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเหลียวแล โดยผู้ประท้วงบางคนอ้างว่าติดเชื้อเอดส์มาจากการถ่ายเลือด ขณะที่สตรีคนหนึ่งบอกว่าบุตรชายกำลังรอความตาย หลังจากรับการถ่ายเลือดรักษาโรคเลือดไหลไม่หยุด แต่กลับได้รับเชื้อเอดส์มาแทน
ในเวลาเดียวกันตำรวจพยายามกันผู้ประท้วงออกไปโดยอ้างว่าสร้างความวุ่นวาย ขณะที่แกนนำผู้ประท้วงเผยว่า รัฐบาลจีนไม่เคยรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยผู้ที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องส่วนใหญ่มักถูกควบคุมตัวไปขังไว้ในคุกมืด
 
 
ที่มาข่าวเรียบจาก: www.moph.go.th / www.thannews.th.com
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net