'รงค์ วงษ์สวรรค์ บนถนนนักเขียน

เบื้องหลังการทำหนังสืองานศพ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ สำหรับงาน “มกราคม อำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์”

 

ที่มาของภาพ tuneingarden.com

มกราคมอำลา ’รงค์ วงษ์สวรรค์

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปในงานพระราชทานเพลิงศพ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ นายณรงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ณ สุสานสันกู่เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสุมาลี วงษ์ดำเลิง ภรรยา และ นายสเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ บุตรชายของ ‘รงค์ เฝ้าฯ รับเสด็จ

นอกจากนี้ ยังมีแขกผู้มีเกียรติเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินในวงการวรรณกรรม ศิลปะ กวี นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายร้อยคนมาร่วมพิธี อาทิ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายช่วง มูลพินิจ นางชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สำหรับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538 เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดชัยนาท ‘รงค์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลายด้าน เช่น คอลัมน์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทภาพยนตร์

เอกลักษณ์งานเขียนของ ‘รงค์ คือการใช้ภาษาสร้างสรรค์ถ้อยคำซึ่งใช้คำยุคเก่า แต่สื่อถึงเรื่องราวที่ทันสมัย โดยนามปากกา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ย่อมาจากชื่อจริง คือ ณรงค์ วงษ์สวรรค์ และเขาถูกขนานนามว่า พญาอินทรีแห่งสวนอักษร โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 18.05 น. ของวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ระหว่างพักรักษาที่โรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่

ผลงานของ ‘รงค์ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ และผู้เป็นนักเขียนทรงคุณค่าทางวรรณกรรมไทย มีบทประพันธ์ ทีมีภาพสะท้อนฮิปปี้ เช่น เสเพลบอยชาวไร่ และหลงกลิ่นกัญชา อันเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ของยุคสมัยแห่งฮิปปี้ ซึ่งเขาสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายชื่อเรื่องอย่างน่าค้นหา ในความหมายของชื่อเรื่องต่างๆ นานา ซึ่งกล่าวยกตัวอย่าง คือ หนาวผู้หญิง, เถ้าอารมณ์, ไฟอาย, สนิมสร้อย, บนถนนของความเป็นหนุ่ม, สนิมกรุงเทพฯ, 00.00 น., ปีนตลิ่ง, ดลใจภุมริน และบ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า ฯลฯ

 

ทั้งนี้ นิทรรศการในการจัดงานภาพถ่ายขาว-ดำ อันเป็นผลงานของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่จัดที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ส่วนหนึ่งของกิจกรรม ซึ่งนำไปสู่จุดหมายและปลายทางของการอำลานักเขียน’รงค์ ก่อนงานพระราชเพลิงศพ ในฐานะของนักเขียนหนังสือซึ่งทำงานมาอย่างยาวนาน

โดยงานนิทรรศการภาพถ่าย ก็เป็นการเริ่มต้นบันทึกความทรงจำถึง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์เพื่ออำลา จากกิจกรรมของงานผ่านภาพถ่ายของ ‘รงค์ ประวัติศาสตร์และความทรงจำเหมือนถูกบันทึกไว้ในหนังสือ สะท้อนความเป็นชีวิต และตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และเหล่ามิตร-ญาติน้ำหมึก ก็ร่วมมาชื่นชมผลงานนิทรรศการ รวมทั้งกิจกรรมรับฟังเสวนาเบื้องหลังการทำหนังสืองานศพ

 

เบื้องหลังการทำหนังสืองานศพ

“อะไรอีกมากมาย...เบื้องหลังการทำหนังสืองานศพ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” นำเสวนาโดย บินหลา สันกาลาคีรี หรือนายวุฒิชาติ ชุ่มสนิท นักเขียนซีไรต์ และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เจ้าของผลงานสัมภาษณ์ชิ้นสุดท้าย’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีอาจารย์อรรคภาค เล้าจินตนาศรี ดำเนินรายการ เมื่อในวันที่ 17 มกราคม 2553 ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศิลปินและนักเขียนหลายท่านเป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือดังกล่าว

จากวงเสวนาเป็นการพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำหนังสืองานศพ โดยบินหลา สันกาลาคีรี กล่าวว่าเรื่องปกหนังสือมีศิลปิน คือ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินภาพเขียนลายเส้น เป็นคนวาดภาพ ขณะที่คนทำหนังสือก็กล่าวถึงวิถีชีวิตของคนร่วมงาน และเล่าเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสีปกหนังสือ และตำแหน่งบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ ซึ่งพวกเขาต้องเลือกภาพประกอบสำหรับหนังสือ ทั้งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของ ‘รงค์ นำมาสู่กิจกรรมของ ‘รงค์ เพื่อสื่อถึงข้อมูล จากการสำรวจผลงานของ ‘รงค์ โดยเฉพาะการสืบค้นชีวประวัติก็เหมือนกับเรื่องเล่าไม่รู้จบ จากกองหนังสือในผลงานของ ‘รงค์ ซึ่งฝ่ายจัดทำหนังสือก็รู้สึกเกิดใจระทึกพลันที่ได้อ่านผลงานของ ‘รงค์

บินหลา สันกาลาคีรี กล่าวด้วยว่า แม้ฝ่ายจัดทำหนังสือจะสามารถจดจำผลงานของ’รงค์ได้ แต่ว่าฝ่ายจัดทำหนังสือ ก็ไม่อยากทำหนังสืองานศพ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จากความทรงจำอย่างเดียว ฉะนั้น ผู้จัดทำหนังสือ จึงกลับไปอ่านผลงานของ ‘รงค์ ซึ่งมีหนังสือจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 เล่มอีกครั้ง เพราะฝ่ายจัดทำหนังสือก็ตั้งใจทำงานดังกล่าว ซึ่งการอ่านก็ทำให้ค้นพบสิ่งน่าสนใจบนถนนนักเขียนของ ‘รงค์ จนกระทั่ง ฝ่ายจัดทำหนังสือ ใช้คำว่า On the Road ประกอบส่วนในของหนังสืองานศพ ซึ่งเป็นการค้นพบผลงานของ ‘รงค์ จากการสืบค้นจากคนใกล้ชิดและตัวหนังสือในแฟ้มผลงานของ ‘รงค์

ทั้งนี้ บินหลา สันกาลาคีรี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า คาดหวังให้หนังสืองานศพเป็นหนังสือที่อยู่ยาวนาน และผลงานของ ‘รงค์ก็เป็นเหมือนเป็นครูต้นแบบของนักเขียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท