Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

              วิกฤติการเมืองที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี อาจจะกำลังถึงจุดเดือดอีกครั้ง เป็นอีกครั้งที่สังคมจะกลับเข้าสู่ความตึงเครียดและต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก ว่าเราจะเลือกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบใด ท่ามกลางวิกฤติที่เป็นอยู่นี้เราไม่มีทางเลี่ยงการตอบปัญหาดังกล่าว

บทความนี้ผมปรับปรุงจากกระทู้ 'เลนินระทม' ซึ่งเป็นกระทู้ที่ผมแสดงความคิดเห็นไว้ที่ www.thaipoetsociety.com  ในการสนทนากับเพื่อนนักเขียน-กวีคนอื่นๆ  ช่วงแรกเป็นความคิดเห็นในกระทู้ที่ผมนำมาขัดเกลาเป็นบทความ และช่วงสองเป็นการสนทนาในกระทู้ดังกล่าวที่คัดเลือกมาโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของความเห็นแล้ว
 
 
ช่วงแรก บทความ
 
 
ฟองสบู่ทางปัญญาในแวดวงปัญญาชน
หลายคนมีคำถามว่าท่ามกลางวิกฤติดังกล่าว แวดวงปัญญาชนทำอะไรกันอยู่? เกิดอะไรขึ้นกับแวดวงปัญญาชน? ทำไมแวดวงดังกล่าวจึงไร้ความสามารถในการนำเสนอทางออกให้กับสังคมในท่ามกลางวิกฤติ? เพื่ออธิบายสิ่งนี้ ผมขอเสนอมุมมองหยาบๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเริ่มจากสิ่งที่ผมขอเรียกว่า “ฟองสบู่ทางปัญญาในแวดวงปัญญาชน”
 
ข้อสังเกตของผมเริ่มต้นจากแวดวงนักเขียนแนวสะท้อนสังคมซึ่งสัมพันธ์กับแวดวงปัญญาชนอย่างใกล้ชิด และรับส่งอิทธิพลกันมาตลอด โดยผมเห็นว่าความชะงักงันที่เกิดขึ้นในแวดวงนักเขียนสะท้อนสังคมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากวิกฤติทางปัญญาที่เกิดขึ้นในแวดวงปัญญาชนสาธารณะ
 
ฟองสบู่ทางปัญญาคืออะไร?
 
เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ในฐานะนักอ่านที่ติดตามบทความทางสังคม ผมรู้สึกว่าบทสนทนาของนักคิดที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมนั้นวน และหาทางไปไม่ได้ เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมปัญหามันเหมือนงูกินหาง และต้องแก้ไขกันไม่จบสิ้น ในท่ามกลางบรรยากาศนั้น ก็เกิดมีคำว่า "ปัญหาเชิงโครงสร้าง" ขึ้นมา
 
หลังจากนั้นคำๆ นี้ก็กลายเป็นมุมมองใหม่ที่ทะลุทะลวงทุกปัญหา ว่าที่มันไม่สามารถหาคำตอบได้ก็เป็นเพราะ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” สำหรับผมในฐานะนักอ่านที่ติดตามงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมของปัญญาชนเวลานั้น คำว่าปัญหาเชิงโครงสร้างนี้เป็นมุมมองที่ทะลุปัญหาในเวลานั้นจริงๆ คือทำให้เป็นว่าปัญหาหลายอย่างมันแก้ที่ตัวปัญหาของมันเองไม่ได้ เพราะมันมีโครงสร้างใหญ่อยู่
 
หลังจากนั้นแวดวงทางปัญญาก็ผลิตคำอีกหลายคำซึ่งใช้อธิบายปัญหาต่างๆ จนกระทั่งมาถึงคำว่า "ระบอบทักษิณ" ช่วงเวลานี้คือช่วงที่ผมเรียกว่า ช่วงฟองสบู่ทางปัญญาในแวดวงปัญญาชน
 
เหตุที่ผมเรียกดังนี้ก็เพราะว่า ลักษณะการทำงานทางปัญญาของปัญญาชนส่วนใหญ่จะเน้นไปที่บทความตามหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่างานวิชาการที่ต้องมีการค้นคว้าอย่างละเอียด เมื่อลักษณะการทำงานเป็นการทำงานผ่านสื่อมากกว่าการทำงานเพื่อเสนอความรู้ที่ต้องเคร่งครัดกว่า การเขียนจึงเน้นไปที่กลวิธีในการเล่นกับสื่อและวิธีคิดมากกว่าการค้นคว้าในเรื่องหลักฐานข้อมูล กล่าวคือ คิดแต่วาทกรรม แต่ทำงานในเชิงข้อมูลน้อยมาก วันๆ สนใจแต่จะพลิกหาเหลี่ยมมุมทางความคิดมาด่ารัฐบาล ข้อมูลก็หาแบบไม่เต็มที่ ได้ข้อมูลไหนเข้าทางหน่อยก็สามารถนำเสนอได้อย่างหวือหวาด้วยลำพังวิธีคิดและวาทกรรม (ผมเองก็เป็นหางแถวอยู่ในขบวนการนี้ด้วยนะครับ อย่างเช่นคอลัมน์ในโอเพน)
 
สภาพฟองสบู่ หรือความอ่อนด้อยในการสอบสวนของเท็จจริงของปรากฏการณ์ในแวดวงปัญญาชนเริ่มค่อยๆ สำแดงออกหลังจากเกิดวิกฤติการเมืองตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร คำอธิบายแบบ "เชิงโครงสร้าง" ที่เริ่มนอกจากจะเฝือแล้วยังตอบคำถามอะไรไม่ได้ ในช่วงเวลานี้เองที่บทบาทของปัญญาชนในอีกซีกหนึ่งจึงค่อยๆ ปรากฏบทบาทขึ้นมา
 
นักคิดที่มีบทบาทเด่นๆ ในช่วงวิกฤตการเมือง เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ธงชัย วินิจจะกุล, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ฯลฯ  ต่างล้วนเป็นนักคิดที่ไม่ได้เข้าไปโหนกระแสก้าวหน้าในช่วงฟองสบู่เลย หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่อย่างพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ก็ไม่ได้ร่วมไปกับกระแสโพสต์โมเดิร์นซึ่งเป็นหัวข้อหลักหัวข้อหนึ่งในช่วงเวลาของฟองสบู่ทางปัญญาดังกล่าว
 
แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเป็นจำนวนมาก และหลายเหตุการณ์มีความซับซ้อน แต่ลักษณะของความซับซ้อนดังกล่าวนั้นเรียกร้องให้ต้องใช้ความสามารถในการทำงานเชิงข้อมูลมากกว่าจะเป็นทางวิธีคิด เนื่องจากความไม่ชอบธรรมจำนวนมากนั้นไม่ได้หลบซ่อนหรือถูกปกปิดเอาไว้แต่อย่างใด เช่น การทำรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ ประเด็นสองมาตรฐาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่โจ่งแจ้งและสามารถมองเห็นได้โดยง่าย กระนั้นเหล่านักคิดที่โดดเด่นในเรื่องวิธีคิด แต่อ่อนแอในเรื่องการทำงานเชิงข้อมูลในช่วงฟองสบู่ทางปัญญา ก็แทบไม่เคยแสดงจุดยืนในเรื่องความถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับมองไม่เห็นความไม่ชอบธรรมเหล่านี้ และเสนอ “วิธีคิด” ที่ทำให้ความไม่ชอบธรรมเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ดูคลุมเครือและเลือนรางไป
 
ทำไมพฤติการณ์ของปัญญาชนที่ร่วมขบวนฟองสบู่ในการล้มทักษิณ พอหลังจากเกิดวิกฤติการเมืองแล้วจึง - นอกจากไม่สามารถตอบโจทย์ในช่วงวิกฤติได้ ยังทำให้วิกฤตินั้นเลวร้ายลงไปด้วยการมีส่วนทำให้ความถูกต้องชอบธรรมคลุมเครือลงไป?
 
คำอธิบายอีกประการหนึ่งของผมก็คือ หลังจากรัฐประหารได้เกิดวงจรจริยวิบัติขึ้นกับแวดวงปัญญาชนกลุ่มนี้
 
 
วิกฤติวงจรจริยวิบัติ
วิกฤติวงจรจริยวิบัติคืออะไร?
 
ก่อนจะตอบว่าวิกฤติจริยวิบัติคืออะไร ต้องอธิบายก่อนว่าปัญญาชนกลุ่มใดที่เผชิญกับวิกฤติจริยวิบัติ และกลุ่มใดไม่เผชิญกับวิกฤติดังกล่าว
 
กลุ่มที่เผชิญกับปัญหาวิกฤติจริยวิบัติ คือ กลุ่มที่อยู่ในกระแสด่าทักษิณทั้งหมด (ประมาณ 2546-2549) ต่อไปผมจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม ก.
 
กลุ่มที่ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติจริยวิบัติ คือ กลุ่มที่ไม่อยู่ในกระแสด่าทักษิณ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นปัญญาชนกลุ่มที่ไม่เคยวิพากษ์ทักษิณ หรือวิพากษ์น้อยมาก หรือปรากฏข้อเขียนที่เป็นการวิพากษ์ช่วงรัฐบาลทักษิณ และระบอบทักษิณไม่มากนัก นักวิชาการกลุ่มนี้จำนวนมากก็คือกลุ่มที่มีบทบาทในช่วงวิกฤติดังที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น ต่อไปนี้ผมจะเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม ข.
 
ทีนี้ปัญหาจริยวิบัติคืออะไร?
 
ปัญหาจริยวิบัติที่ปัญญาชนกลุ่มแรกต้องเผชิญก็คือ ทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ทั้งสองทาง ซึ่งทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ทั้งสองทางนี้ คือความแหลมคมของสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น และบังคับให้ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากสองทางนี้
 
ตัวอย่างกรณีแรกๆ ที่สร้างความพะอึดพะอมให้ปัญญาชนกลุ่มนี้ (ขอย้ำว่าเป็นตัวอย่างเพื่อง่ายต่อความเข้าใจเท่านั้น เพราะโดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่ามีทางเลี่ยงรัฐประหาร 49 ได้) คือ
 
ไม่ รัฐประหาร ก็ ระบอบทักษิณ
 
ลองคิดเป็นสมการดูนะครับ มีความเป็นไปได้อยู่สองทางให้คนกลุ่มนี้เลือกเดินเท่านั้น
1. รัฐประหาร
2. ระบอบทักษิณ
 
สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลุ่ม ข. คืออะไร
 
ง่ายมาก เลือกข้อ 2.  ไม่ต้องคิดเลย เพราะ หนึ่ง เขาอาจจะไม่เชื่อว่ามีระบอบทักษิณ สอง เพราะเขาอาจจะไม่คิดว่าระบอบทักษิณเป็นอันตราย สาม เพราะเขาอาจจะไม่ได้สนใจระบอบทักษิณ สี่ เพราะเขาเห็นว่าการรัฐประหารเลวร้ายกว่าระบอบทักษิณ หรือ ฯลฯ เหตุผลอะไรก็ได้ ร้อยแปดพันเก้าครับ แต่ แต่นะครับ สำคัญมาก
 
รูปธรรมก็คือ เขาไม่ต้องเผชิญกับจริยวิบัติ
 
ถ้าเลือก 1. ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นจริยวิบัติสำหรับปัญญาชนที่จะอ้างจุดยืนคือระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มีใครเลือก 1 โดยไม่เผชิญปัญหานี้
 
จะเห็นได้ว่ากลุ่ม ข. ปลอดโปร่งโล่งใจมาก ไม่ต้องแบกอะไรเลย ไม่มี conflict เกิดขึ้น
 
ทีนี้มาดูกลุ่ม ก.
 
ย้ำอีกทีว่ากลุ่ม ก. นี่คือปัญญาชนกลุ่มที่ด่าทักษิณมาตลอด 4-5 ปีนะครับ
 
ถ้าเลือก 1. รัฐประหาร วิบัติแน่ สำหรับปัญญาชนที่มีสำนึกนะครับ! (พวกไม่มีสำนึก หรือสำนึกฉิบหายไปแล้วนี่ช่างหัวมัน) เอาพวกที่ยังมีสำนึกของความเป็นปัญญาชนในระบอบประชาธิปไตย วิบัติครับ
 
ถ้าเลือก 2. ระบอบทักษิณ ย้ำอีกทีว่าปัญญาชนกลุ่ม ก. นี่ ด่าทักษิณมาตลอด 4-5 ปีนะครับ บางคนเป็นคนสร้างความเป็นปิศาจให้ทักษิณมากับมือของตัวเองด้วยซ้ำ ถ้าคนกลุ่มนี้เลือก 2 นี่ วิบัติครับ จริยวิบัติ ศักดิ์ศรีของความเป็นปัญญาชนไม่มีเหลือ ความคิด ความเชื่อ ความดี ความงาม ความสามารถทั้งหมดที่ใช้ไปในการเปิดโปงระบอบทักษิณจะสูญสิ้นไปในทันที
 
เพราะฉะนั้น กรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม ก. นี่ แตกต่างจะกลุ่ม ข. ราวฟ้ากับดิน
 
กลุ่ม ก. หันไปทางไหนก็วิบัติ เลือก 1. ก็ทรยศอุดมการณ์ตัวเอง เลือก 2. ก็ทรยศอุดมการณ์ตัวเอง
 
กลุ่ม ข. เลือก 2. ไม่ทรยศอุดมการณ์ นอกจากไม่ทรยศแล้วยังได้แสดงจุดยืนด้วยการปฏิเสธ 1. ด้วย ทำไมจะไม่เลือก
 
 
สถานการณ์ทางใจของปัจเจกนิยมโรแมนติก
 ในวงวรรณกรรมนักวิจารณ์เคยเสนอปัญหาหนึ่งของนักเขียนงานวรรณกรรมสะท้อนสังคมว่าคือ ปัจเจกนิยมพาฝัน หมายถึงความคิดและการนำเสนอที่วนว่ายอยู่แต่อารมณ์โรแมนติกและมุมมองของปัจเจกบุคคล “ปัจเจกนิยมโรแมนติก” ที่ผมนำเสนอในที่นี้กินความถึงลักษณะ “ปัจเจกนิยมพาฝัน” ดังกล่าวด้วย แต่กินความต่อเนื่องในทางประวัติศาสตร์วรรณกรรมที่ยาวนานกว่า ซึ่งคงต้องอธิบายในโอกาสอื่น แต่ในบทความชิ้นนี้ผมจะกล่าวเพียงย่นย่อเพื่อใช้อธิบายเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เป็นประเด็นในบทความ
 
ปัจเจกนิยมโรแมนติกในงานวรรณกรรมคือระบบสำนึกและคุณค่าที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 2520 และเติบโตอย่างยิ่งในทศวรรษ 2530 เรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษ 2540  วาทกรรมอันสะท้อนสำนึกและคุณค่าดังกล่าวที่คุ้นเคยในหมู่นักเขียน-กวีก็มีอย่างเช่น “ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม” “มนุษย์มีสิทธิ์เลือกอะไรก็ได้แต่ต้องยอมรับผลของการเลือก” “อย่าเทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ” “ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง” ฯลฯ   ระบบสำนึกและคุณค่ากลุ่มนี้ทำให้คนมองทุกสิ่งทุกอย่างจากจุดยืนของตนเอง จากอารมณ์ของตนเองเป็นใหญ่ แม้แต่ในเรื่องสังคมหรือการเมือง ก็เป็นการขยายการอรรถาธิบายออกจากตัวเอง และรับรู้สิ่งต่างๆ เข้าสู่ตนเอง นักเขียนที่สะท้อนให้เห็นลักษณะของระบบคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดีก็คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 2530 จนถึงต้นทศวรรษ 2540
 
ปัจเจกนิยมโรแมนติกดังกล่าวในวงวรรณกรรมนี้เชื่อมโยงไปสู่แวดวงปัญญาชนด้วย
 
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงลักษณะของปัจเจกนิยมโรแมนติกของปัญญาชนในวิกฤติการเมืองที่ผ่านมาก็คือ ประโยคที่เป็นชื่อบทสัมภาษณ์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฟ้าเดียวกันฉบับ รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่กล่าวว่า “ผมไม่มีวันเห็นว่าการรัฐประหารใดๆ ชอบธรรมเป็นอันขาด”
 
ประโยคดังกล่าวนั้น เป็นถ้อยคำหนึ่งในบทสัมภาษณ์ ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับการแสดงออกในเรื่องจุดยืนตลอดช่วงเวลาวิกฤติการเมืองที่ผ่านมาของผู้กล่าว ก็ทำให้เห็นลักษณะปัจเจกนิยมโรแมนติก คือ นอกจากประโยคดังกล่าวที่เป็นการสะท้อนความเห็นเฉพาะตน ซึ่งออกจะเป็นการแสดงความรู้สึกมากกว่าแสดงจุดยืนแล้ว นิธิไม่เคยออกมาแสดงความเห็นอย่างแจ่มแจ้งเลยว่า สังคมไทยควรมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อการรัฐประหารอย่างไร นิธิไม่เคยออกมาแสดงให้เห็นเลยว่านอกจากความเห็นส่วนตัวที่ไม่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นความชอบธรรมแล้ว เขามีจุดยืนในการต่อต้านการรัฐประหารหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอย่างไร ตรงกันข้าม นิธิเข้าร่วมในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่จุดยืนที่ชัดเจนของนิธิในการรณรงค์กลับเป็น “เนื้อหา” ของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่า “ที่มา” ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งความหมายของ 2 สิ่งนี้แตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม
 
หากนิธิรณรงค์ไม่รับร่างโดยแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับ “ที่มา” ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือรัฐประหาร จุดยืนของเขาก็ย่อมจะเป็นการปฏิเสธการรัฐประหาร แต่หากนิธิรณรงค์ไม่รับร่างโดยแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับ “เนื้อหา” ของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมแสดงความหมายอีกทางว่า เขา “ยอมรับ” ร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร แต่สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยคือเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของนิธิในการดีเบตก็ดี ในโอกาสต่างๆ ก็ดี ล้วนเป็นการวิพากษ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจุดยืนของเขาคืออย่างหลัง
 
กรณีของนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือกรณีตัวอย่างของปัญญาชนที่ตกอยู่ภายใต้ระบบคิดแบบปัจเจกนิยมโรแมนติก คือ ไม่สามารถที่จะมองเห็นว่าจุดยืนของสังคมควรจะเป็นอย่างไรภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ไม่สามารถนำเสนอจุดยืนที่เหมาะสมต่อสังคมได้ ทำได้เพียงแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “ผมไม่มีวันเห็นว่าการรัฐประหารใดๆ ชอบธรรมเป็นอันขาด” ซึ่งเป็นเพียงการยืนยันคุณค่าแบบปัจเจกชนคนหนึ่งเท่านั้น
 
นิธิและปัญญาชนคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากล้วนตกอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบปัจเจกนิยมโรแมนติก พวกเขาจึงทำได้เพียงเสนอแนวคิด 2 ไม่เอา ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามใดๆ เลย ไม่ว่าจะในทางหลักการ หรือในทางปฏิบัติ ลักษณะ 2 ไม่เอาในวงวรรณกรรมก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือออกมาในรูปของบทกวีเรียกร้องสันติภาพ ไม่ต้องการความขัดแย้ง ไม่เอาเหลืองไม่เอาแดง เรียกร้องความสงบสุข พวกเขาเรียกร้องอย่างมืดบอด โดยไม่ยอมโงหัวดูความเป็นจริงเลยว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเรื่องแล้วเรื่องเล่าถูกละเมิด ถูกทำร้าย และถูกยกเลิกไป  ความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้วความขัดแย้งก็จริง แต่รายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ทางการเมืองแต่ละเรื่องนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของสีเหลืองกับสีแดงทุกเรื่อง หลายเรื่องเป็นเรื่องของความถูกต้องชอบธรรมพื้นฐาน เช่น การใช้กฎหมายย้อนหลัง การเปิดพจนานุกรมตัดสินคดี การกลับความเห็นอย่างไร้เหตุผลในคดีการเมืองขณะที่คดีที่มีลักษณะเดียวกันที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การรัฐประหาร ก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของขั้วความขัดแย้งเหลืองแดง ความสัมพันธ์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างซับซ้อน นักการเมืองจำนวนหนึ่งก็เป็นได้ทุกสี แดง เหลือง น้ำเงิน และอื่นๆ แต่สายตาของกวี นักเขียน ปัญญาชนเหล่านี้กลับย่นย่อทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกความขัดแย้ง ทุกสถานการณ์ ทุกความสัมพันธ์ ให้เหลือเพียง 2 ขั้วความขัดแย้ง และวางตัวเองอยู่ตรงกลางโดยไม่สนใจเรื่องความถูกต้องชอบธรรมเลย
 
 นี่คือสถานการณ์ทางใจที่เป็นลักษณะแบบปัจเจกนิยมโรแมนติก คิดฟุ้งว่ายวนไปไม่พ้นตนเอง และไร้ความสามารถที่จะเข้าถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์ ไร้ความสามารถในการเข้าไปยืนอยู่ข้างความถูกต้อง มองไม่เห็นว่าจุดยืนที่ควรจะเป็นของสังคมคืออะไร ได้แต่ยืนบื้อใบ้โรแมนติกอยู่กับความรู้สึกอยู่ตรงกลางความขัดแย้งสองขั้วของตนเอง
 
แท้จริงแล้วคนเหล่านี้คือผู้ที่มองทุกสิ่งที่เป็น 2 สีมากยิ่งกว่าใครๆ เพราะสถานการณ์ในใจของพวกเขาเป็นเช่นนั้นเอง
 
 
เลือกความถูกต้องและออกมาจากวงจรจริยวิบัติ
ปัญหาหนึ่งที่ผ่านมาคือ คนพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้มากมายเหลือเกิน มีแต่คำโกหกปลิวว่อนอยู่ในสังคม พวกที่เขียนบทกวีด่ากันก็รับเรื่องโกหกมาแต่งบทกวีเป็นตุเป็นตะ ไม่เคยโงหัวดูข้อเท็จจริงใดๆ เลย เวลาด่าก็ซ้ำๆ ซากๆ  สะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่รู้จักสิ่งที่เขาด่าเลย เราไม่รู้จักสิ่งใด เราจะด่าสิ่งนั้นได้อย่างไร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยอ้างคำพูดของเช เกวาราที่บอกว่า เห็นความอยุติธรรมแล้วมือสั่นมาชักชวนผู้คนเป็นพวก ผมสงสัยเหลือเกินว่า เนาวรัตน์รู้จักความยุติธรรมไหม? การใช้กฎหมายย้อนหลังนี่ยุติธรรมไหม? การใช้บรรทัดฐานหนึ่งตัดสินคนคนหนึ่ง แล้วใช้อีกบรรทัดฐานหนึ่งติดสินอีกแบบหนึ่งในกรณีของผู้ตัดสินเองนี่ยุติธรรมไหม? ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมากมายเหลือเกินครับในช่วง 2 ปีนี้ แบบไหนที่คุณเนาวรัตน์เห็นแล้วสั่น แบบไหนที่เห็นแล้วไม่สั่น?
 
ก่อนจะเลือกสิ่งใดผมแนะนำว่า นักเขียน กวี ควรจะเลือกความจริงก่อน ถ้ายังไม่เห็นความจริงก็ต้องไปให้ถึงที่สุดในเรื่องข้อเท็จจริงก่อน อย่าดูทีวี อ่านข่าว เอาไปฝันแล้วเขียนเป็นบทความ เรื่องสั้น บทกวี  วาทกรรมโกหกหลอกลวงที่ยั่วยุอารมณ์มีอยู่เต็มไปหมด ต้องออกไปหาความจริงด้วยตัวเอง เข้าถึงความจริงให้ได้ ต้องเลิกนอนกระดิกเท้าเฝ้าแต่พลิกหาเหลี่ยมมุมในการเขียน แล้วหันมาทำงานในเชิงข้อมูลให้หนัก
 
นอกจากเต็มไปด้วยเรื่องโกหกหลอกลวงแล้ว หลายปีที่ผ่านมายังเต็มไปด้วยความบิดเบือนด้านชา สำหรับนักเขียน กวี ที่บอกว่าตนเองรักความเป็นธรรม และกำลังสร้างงานอยู่ มาถึงตอนนี้ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าพวกเขารับได้อย่างไรกับวาทกรรมโจมตีทักษิณที่บอกว่ามาจากการ "ซื้อเสียง" และ เพราะ "พวกคนอีสานมันโง่" วาทกรรมนี้ ตอนที่รัฐบาลอภิสิทธ์ขึ้นใหม่ๆ ก็มี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ไปพูดกับสื่อนอกว่าไม่วิตกกังวลกับฝ่ายสนับสนุนทักษิณเพราะ "คนอีสานเป็นลูกจ้างของคนกรุงเทพฯ เด็กปั๊มในกรุงเทพฯก็เป็นคนอีสาน และคนใช้ที่บ้านผมก็เป็นคนอีสาน"
 
คำพูด ทัศนะแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดมาตลอด และมีให้เห็นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว ผมไม่ทราบว่า นักเขียน กวี ที่รักความเป็นธรรมรับได้อย่างไร
 
โดยเฉพาะกวีที่อ้างว่าเห็นความยุติธรรมแล้วมือสั่น
มองไม่เห็นได้อย่างไรว่าสังคมตอนนี้ จุดยืนที่สำคัญที่สุดก็คือ
"คนมันต้องเท่ากัน"
 
 
ช่วงสองบทสนทนา
 
 
demalnshu
แสดงว่าคุณ วาด รวี ไปจนถึงที่สุดแล้วของความจริงแล้วสินะ ?

เพราะการระบุออกมาว่า "ถ้ายังไม่เห็นความจริงก็ต้องไปให้ถึงที่สุดก่อน" แท้แล้วมันก็คือการประมวลข้อมูลและผลิตความจริงซ้อนขึ้นมาเท่านั้นเอง  ที่จริง... น่าจะถามต่อด้วยว่า ความจริงที่ว่า มันเป็นความจริงระดับไหน ? การไปถึงที่สุดของความจริง คือการถือครองและขีดฆ่าความจริงชนิดอื่นออกไปทั้งหมดใช่มั้ย


ผมไม่ได้ตั้งใจมาพูดอะไรที่มันดูเป็นโพสท์โมเดิร์น แต่ผมเชื่อว่าวาด รวี ติด "กับดัก" ของตัวเองแค่นั้นเอง

ตรงนี้ ข้ามไป

ข้อความหลายๆ พารากราฟของ คุณวาด รวี เชื้อเชิญให้สงสัยเหลือเกินว่า แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เชื่อในวาทกรรมว่าด้วยความเหมือนคล้ายระหว่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ทักษิณ ชินวัตร ? แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เลือกข้างยุคสมัยแห่งกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซง แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เชื่อว่าการสังหารผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดโดยไม่ต้องขึ้นศาลเป็นสิ่งที่ถูก

โดยส่วนตัว ผมเชื่อมีนักคิดนักเขียนอีกมากเหมือนกันที่ไม่เชื่อในระบอบปูนซีเมนต์ แต่ก็ไม่เชื่อในระบอบทักษิณ

Homo erectus
ผมสงสัยเรื่อง "ระบอบปูนซีเมนต์" ในเวลาที่คนกลุ่มหนึ่งติดป้ายคนอีกกลุ่มว่าคิดแบบ "กลไก" ติดกับดัก ไปไม่พ้นขั้วตรงข้าม บลาๆๆๆ

ยิ่งพูดมากๆ ผมกลับคิดว่า วิธีที่คนเหล่านี้อ้างเหตุผลแบบ "ดูเหมือน" ข้ามพ้นกับดัก นั่นแหละคือ วิธีคิดแบบเป็นแพทเทิร์น หรือระบอบปูนซีเมนต์รูปแบบหนึ่ง ...เพียงแต่ว่ามันเป็นแฟชั่นของยุคสมัยนี้เท่านั้นเอง

การพูดประเด็นขัดแย้งทางการเมืองถ้าจะให้ชัดก็ต้องพูดถึง "รูปธรรม" โดยรูปธรรม คุณอยากจะพูดถึงนโยบาย "ยาเสพติด" ของไทยรักไทย ก็ควรจะต้องลงรายละเอียดเรื่องนี้โดยตรงว่าผิด/ถูกอย่างไร เป็นความผิดพลาดของนโยบาย, หน่วยราชการ, การปฏิบัติการของรัฐ หรือเป็นความกระหายเลือดของทักษิณ ..ก็ว่ากันไป

การอาศัยวาทกรรมที่ฝ่ายต่อต้านมาใช้ โยงแบบมั่วๆ ที่พูดกันแบบปากต่อปาก จำนวนการตาย การใช้อำนาจรัฐ และอื่นๆ ก็ไม่ได้ชัดเจน เพื่อเป็นปฏิกิริยากับความขัดแย้งทางการเมืองในการต่อสู้ของพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้าแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นการเปรียบเทียบคนละเรื่องกันว่ะ

ความก้าวหน้าไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล แต่ต้องดูที่พลังทางสังคม การพัฒนาพลังทางวัตถุ และจิตสำนึกทางการเมืองที่ตื่นตัวของฝ่ายประชาชนเป็นสำคัญ

นัยยะของการอยู่เหนือขั้วตรงข้าม แทบไม่มีผลทางการเมืองใดๆ และอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย อย่างขบวนการพันธมิตรวางเกมนี้เอาไว้แล้ว เพราะรู้ดีว่าบรรดาปัญญาชนไทย หากไม่อยู่ข้างพวกเขา ก็ต้องขีดวงให้อยู่ตรงพื้นที่กลางๆ ไม่มายุ่งเกมนี้ ซึ่งเท่ากับว่าพวกเขาชนะได้อยู่แล้ว เพราะมีกลไกรัฐและอำนาจจารีตสนับสนุน ...พันธมิตร ยิ้มระรื่นที่มีปัญญาชนดัดจริตเป็นกลางในประเทศอยู่เยอะ เพราะมันง่ายที่พวกเขาจะชิงการนำในเกมนี้

 
wad rawee
ต่อประเด็นเรื่องชนชั้นและชาติพันธุ์ Homo erectus คุณเห็นว่า ความเท่าเทียม และ ความหลากหลาย สามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ไหม

หรือ ถ้ามีสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งจะมีไม่ได้?

 
Homo erectus
นี่เป็นประเด็นที่ผมขบคิดมานานแล้ว และผมค่อนข้างฟันธงว่า ความหลากหลายอย่างเท่าเทียมหากจะเกิดได้จริง  (ไม่ใช่หลากหลาย แต่คนบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์กว่าอีกกลุ่ม) ก็เฉพาะในพื้นที่เฉพาะที่ยินยอมให้ความหลากหลายปรากฏได้อย่างเสรี

หรือจะพูดให้ชัดๆ ผมคิดว่า ความหลากหลายจะเป็นจริงได้ สังคมนั้นต้องเป็น "ประชาธิปไตย" อย่างแท้จริงเท่านั้น

การที่บางคนมอง "ประชาธิปไตย" อย่างดูแคลนนั้น ผมจึงเห็นว่าเป็นเรื่องอันตรายและผิดพลาดอย่างมาก ในขณะที่เรายังสามารถพูดคุย/ถกเถียงกันได้นี้ ไม่ใช่เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรอกหรือ??? ขณะที่เรายังสามารถแสดงความเห็นต่อต้านรัฐได้ในบางระดับ  กวีที่แหวกแนว เที่ยวออกไปอ่านกวีเพื่อสันติภาพในที่สาธารณะด่ารัฐบาล ด่าจักรวรรดิยม ฯลฯ ที่ทำได้นั้นไม่ใช่เพราะคุณได้ถูกปกป้องโดยกฎหมายของรัฐ หรือกระทำได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรอกหรือ??? ...คุณลองข้ามพรมแดนไปอ่านบทกวีแบบนี้ในพม่าดูสิจะทำได้ไหม???

การที่ปฏิเสธประชาธิปไตยอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่า เป็นเพียงวาทกรรมอภิมหาอรรถาธิบาย จึงเป็นการกระทำที่มืดบอดสำหรับผม

แน่นอน เราคงไม่ได้พูดแบบคิดฝันยูโทเปียที่คนมันเท่ากันหมด และคงไม่มีใครโง่เชื่อว่า "ระบอบการเมือง" มันคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ผมเชื่อว่าพื้นที่ของระบอบประชาธิปไตย เป็นพื้นที่เดียวที่เปิดให้คนมันสามารถดำรงความหลากหลาย ความแตกต่าง อัตลักษณ์ ฯลฯ ของตนได้มากที่สุดแล้ว ...ส่วนที่สังคมไหนจะมีลักษณะเท่าเทียมมาก-น้อย ก็ต้องต่อสู้ ปะทะ/ต่อรองกันไป (ไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ)

แน่นอนสังคมไทย เป็นสังคมที่อ้างว่าประชาธิปไตยแต่ปาก แต่โดยวาทกรรม/อุดมการณ์ชาตินิยมที่ครอบงำ คุณจะมีเสรีภาพได้ก็ต่อเมื่อสิ่งที่คุณคิด/กระทำ ไม่ขัดกับอุดมการณ์หลักของชนชั้นปกครอง ซึ่งมันเป็นประชาธิปไตยตอแหล ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นหลุมดำของคนที่ชอบพูด/อ้างถึงเสรีภาพ โดยที่คุณปิดตาข้างหนึ่งพูดถึงมัน

โดยสรุป หากคุณปฏิเสธประชาธิปไตยเมื่อไหร่ รับรองไอ้ที่พร่ำพูดถึงความหลากหลาย เสรีภาพ โลกฝันโรแมนติก ฯลฯ  ไม่มีอะไรเหลืออยู่แน่ครับ ในทางตรงกันข้าม หากต้องการเรียกร้องความหลากหลายจริง สิ่งที่ควรทำคือ ต้องทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบเข้มข้น...

 
wad rawee
ถูกต้อง ณ วันนี้ ผมเห็นแล้วพวกเขาไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ไม่ว่า ระบอบประชาธิปไตย หรือ ชนชั้น

ทุกวันนี้ที่พวกเขายังต้องทำทีเป็นมี ประชาธิไตย อยู่ ก็เพราะ โลกาภิวัตน์

สิ่งที่เขาทำก็เพียงแต่ตบตาโลกาภิวัตน์ ด้วยการรักษาประชาธิปไตยไว้เพียงแต่ประเพณีเท่านั้น

เขาไม่สามารถเปิดเผยระบอบที่เป็นอยู่จริงๆ ออกมาได้ก็เพราะว่าเขารู้ตัวว่าไม่สามารถต้าน "โลกาภิวัตน์" ได้ (ส่วนกระแสประชาธิปไตยภายในประเทศ ผมไม่คิดว่าพวกเขากลัว)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่า อุดมการณ์ของ "ระบอบนี้" ชนชั้นกลางมีส่วนแชร์ด้วยพร้อมๆ กับ "แชร์อำนาจ" ด้วย พวกเขาพอใจกับระบอบนี้ มากกว่า "ประชาธิปไตยจริงๆ" เพราะในระบอบนี้พวกเขาเองก็มีอำนาจไม่น้อย (อย่างน้อยกว่ามากกว่าอำนาจของคนส่วนใหญ่ในประเทศ- พูดจริงๆ แล้วระบอบนี้สาระสำคัญของมันก็คือเสียงส่วนน้อยปกครองเสียงส่วนใหญ่)

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมคิดว่าไม่ง่ายนักที่จะชี้ว่าพวกเขา "ไม่เท่าทัน" หรือจริงๆ แล้ว "นี่คืออุดมคติของพวกเขา"

อีกประการหนึ่ง

โดยเงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ที่วัฒนธรรมของชนชั้นกลางมีบทบาทนำ มันพูดยากว่าระบอบอำมาตย์ขาดชนชั้นกลางได้

ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาขาดกันและกันได้ไหม เพราะจริงๆ ที่พวกเขาสามารถใช้อำนาจได้ขนาดนี้ก็เพราะมีกันและกัน

demalnshu
หลายครั้งคุณ wad rawee แสดงให้เห็นว่าตาชั่งของคุณ "เอียง"

คุณ wad rawee ถึงกับระบุว่า "ถูกต้อง ณ วันนี้ ผมเห็นแล้วพวกเขา (ม็อบเสื้อเหลือง) ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ไม่ว่า ระบอบประชาธิปไตย หรือ ชนชั้น ทุกวันนี้ที่พวกเขายังต้องทำทีเป็นมี ประชาธิไตย อยู่ ก็เพราะ โลกาภิวัตน์ สิ่งที่เขาทำก็เพียงแต่ตบตาโลกาภิวัตน์ ด้วยการรักษาประชาธิปไตยไว้เพียงแต่ประเพณีเท่านั้น"

ถ้าผมใช้ตรรกะเดียวกับที่คุณวาดระบุไว้มันจะเป็นดังนี้ครับ "ณ วันนี้ ผมเห็นแล้วพวกเขา (ม็อบเสื้อแดง) ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ไม่ว่า ระบอบประชาธิปไตย หรือ ชนชั้น ทุกวันนี้ที่พวกเขายังต้องทำทีเป็นคนรัก ประชาธิไตย อยู่ ก็เพราะทักษิณคนเดียวไม่ได้มีอุดมการณ์เรื่องชนชั้นอะไรทั้งสิ้น การลงชื่อกว่าสามล้านรายชื่อมันก็เป็นคำตอบชัดเจนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

การพูดถึง "เลนิน" "มาร์กซิสต์" เป็นเพียงข้ออ้างไร้เดียงสา สิ่งที่พวกเขาทำก็เพียงแต่ตบตาโลกาภิวัตน์ ด้วยการอ้างเสียงของประชาชนที่เคยเลือกเขาเข้าสภา ทั้งๆ ที่มันคือการดูด ส.ส.ครั้งมโหฬารของประเทศ
 
wad rawee
“ถูกต้อง ณ วันนี้ ผมเห็นแล้วพวกเขาไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ไม่ว่า ระบอบประชาธิปไตย หรือ ชนชั้น ทุกวันนี้ที่พวกเขายังต้องทำทีเป็นมี ประชาธิไตย อยู่ ก็เพราะ โลกาภิวัตน์ สิ่งที่เขาทำก็เพียงแต่ตบตาโลกาภิวัตน์ ด้วยการรักษาประชาธิปไตยไว้เพียงแต่ประเพณีเท่านั้น"

ก่อนที่ผมจะพูดอย่างนี้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็พูดนะครับ ผมพูดหลังจากเกิดกรณีต่อไปนี้ครับ

1. คดียุบพรรคไทยรักไทย ใช้กฎหมายย้อนหลัง
2. คดีที่ดินรัชดา ศาลอ้างว่านายกฯ มีอำนาจกำกับกองทุนฯ ทั้งที่พยานที่เป็นอดีตนายกฯ 2 คน (บรรหาร, ชวลิต) และอดีตประธานธนาคารแห่งประเทศไทย (พ่อคุณปลื้ม) ต่างยืนยันว่านายกฯ ไม่มีอำนาจกำกับกองทุนฯ
3. ศาลปกครองบอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องระหว่างประเทศกรณี JTEPA  แต่พอกรณีมติ ครม.เรื่องร่างแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา ศาลกลับความเห็นตัวเอง บอกว่ามีสิทธิตัดสิน และสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน
4. ตัดสินสมัครมีความผิดคดีชิมไปบ่นไปโดยใช้พจนานุกรม ทั้งที่ในประมวลกฎหมายรัษฎากรก็มีระบุความหมายของคำว่าลูกจ้าง
5. คณะกรรมการสิทธิฯไล่บี้เอาผิดตำรวจกรณี 7 ตุลา แต่แทบไม่ขยับ กรณีสงกรานต์
6. สื่อ ทหาร ปัญญาชน องค์กรต่างๆ มีความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างสูงตั้งแต่ พันธมิตรยึดทำเนียบ รัฐสภา ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนต่อเนื่องจนพันธมิตรเอามาโฆษณาว่า เป็นการประท้วงที่ยาวนานที่สุด แต่คนกลุ่มเดียวกัน "ทนไม่ได้" กับกรณีสงกรานต์ซึ่งปิดถนนในช่วงวันหยุดเพียงไม่กี่วัน
7. อ้างการล้มการประชุมอาเซียน แต่ไม่มีการพูดถึง หรือเอาผิด กรณี "เสื้อน้ำเงิน"
8. ผบ.ทบ.เดินเกมล็อบบี้จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ทุกคนก็รู้ สื่อก็รู้
9. ศาลตัดสินให้เนวินหลุด (หลังจากเปลี่ยนข้าง)
ฯลฯ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมนึกได้ และทุกตัวอย่าง คุณลองสละเวลาไปดูรายละเอียดของแต่ละเคสจริงๆ จังๆ ดูคำตัดสิน ฟังเสียงของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ฟังเสียงของนักกฎหมายมหาชนที่ได้รับความเชื่อถือ

ทั้งหมดนี้ ถ้ามองไม่เห็นความผิดปรกติของอำนาจบริหาร (กลไกรัฐเช่นทหาร) อำนาจตุลาการ และสื่อกับปัญญาชนที่มีอำนาจชี้นำสังคม ก็ตาถั่วสิ้นดีแล้วละครับ

การพยายามเป็นกลางในเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ผมเลือกความถูกต้อง (ทุกกรณีอธิบายได้ตามหลักวิชากฎหมายและสามัญสำนึกประชาธิปไตยได้หมด)

ถ้าผมใช้ตรรกะเดียวกับที่คุณวาดระบุไว้มันจะเป็นดังนี้ครับ " ณ วันนี้ ผมเห็นแล้วพวกเขา (ม็อบเสื้อแดง) ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ไม่ว่า ระบอบประชาธิปไตย หรือ ชนชั้น

ทุกวันนี้ที่พวกเขายังต้องทำทีเป็นคนรัก ประชาธิไตย อยู่ ก็เพราะ ทักษิณคนเดียวไม่ได้มีอุดมการณ์เรื่องชนชั้นอะไรทั้งสิ้น การลงชื่อกว่าสามล้านรายชื่อมันก็เป็นคำตอบชัดเจนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

การพูดถึง "เลนิน" "มาร์กซิสต์" เป็นเพียงข้ออ้างไร้เดียงสา สิ่งที่พวกเขาทำก็เพียงแต่ตบตาโลกาภิวัตน์ ด้วยการอ้างเสียงของประชาชนที่เคยเลือกเขาเข้าสภา ทั้งๆ ที่มันคือการดูดสส.ครั้งมโหฬารของประเทศ

บนตรรกะเดียวกันนี้ของคุณ ผมถามว่า มีอำนาจรัฐ (กลไกราชการ) อำนาจศาล (ตุลาการภิวัฒน์) อำนาจสื่อ (กระแสหลัก) เข้ามาสนับสนุนไหมละครับ

ถ้ามี ผมสนับสนุนคุณ demalnshu เต็มที่ ถ้าเกิดเงื่อนไขเดียวกันนี้แล้วคุณต้องไปเถียงกับคุณ Homo erectus ผมจะไปช่วยคุณโต้กับเขาเอง

เรื่องของเรื่องก็คือ บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ไม่เคยเอา "วิธีการที่ดี" เลย

วันนั้นที่ทักษิณติดคดีซุกหุ้น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ไปกดดัน กกต. ให้ทักษิณหลุด (ย้อนกลับไปดูข่าวและข้อกฎหมายได้)

แต่วันนี้เหม็นหน้าทักษิณขึ้นมา ก็ไปสนับสนุนศาล ให้ทักษิณผิดด้วยข้อกฎหมายข้างๆ คูๆ

มันไม่เอา "หลักการ" หรือ "วิธีการที่ดี" อะไรเลยครับ

เอาทักษิณลงด้วยรัฐประหารมันก็เอา

แล้วจะปล่อยให้ "คนดี" ที่ไม่เคยเคารพ "วิธีการที่ดี" เหล่านี้ชี้นำประเทศต่อไปหรือ?

 
demalnshu
อำนาจรัฐ (กลไกราชการของทักษิณ) อำนาจศาล (ของทักษิณ) อำนาจสื่อ (astv นับเป็นสื่อกระแสหลักหรือครับ ?)

ที่คุณ  wad rawee ตอบมา ผมก็ยังเห็นว่า คุณ wad rawee เลือกที่จะเอ่ยและเลือกที่จะไม่เอ่ยอะไรอีกหลายๆอย่างอยู่ดี แต่เอาเถอะ ผมไม่มีประเด็นแย้งขัดอะไร นอกจากสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ตรรกะของคุณ wad rawee แปลก แปลกแบบเดียวกับที่สื่อกระแสหลักอย่าง มติชนสุดสัปดาห์พยายามนำเสนอ (ฮา)

อ้อ...ทีวีช่อง 3 นับเป็นสื่อกระแสหลักมั้ยครับ ผู้บริหารคือใครครับ ?

Homo erectus
astv น่ะไม่ใช่กระแสหลักหรอก แต่ทำหน้าที่ปลุกระดม ใส่ความ ตีฟุ้งแบบเดียวกับที่ดาวสยาม และยานเกราะเคยกระทำเมื่อ 6 ต.ค. 19 นั่นแหละ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะใน พ.ศ.นี้ รัฐไม่อาจกระทำตัวน่าเกลียดโจ่งแจ้งแบบนั้นได้ ...ภาระนี้จึงหนักหนาอยู่ที่ลิ้ม สื่อหัวอื่นๆ ก็ตามด้วย เพราะเมื่อสื่อจำนวนหนึ่งร่วมเป็นพันธมิตรฯ ตีฟุ้งให้บรรยากาศเอียงไปด้านหนึ่ง

เวลาคุณมองปรากฏการณ์สังคม คุณดูเฉพาะใครเป็นผู้บริหารฯเหรอครับ??? ในภาวะปกติ อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่ภายใต้ท็อปบูททหาร เอาปืนจ่อคุมห้องส่ง และกระแสสังคมที่บีบให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอุดมการณ์การเมืองแตกต่างอยู่ในสภาพชายขอบ มันไม่เหมือนกัน

แต่เอาเหอะขี้เกียจที่จะพูด เพราะคำถามนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยลืมตาดูเอาเลยว่าสื่อบ้านเรามันเป็นยังไงนะ พูดไปไร้ยาตรา ...เอ รสนิยมผมคงจะไม่ดีเท่าไหร่ เพราะไม่เข้าใจว่า "คม" ยังไง???

 
สิ่งที่น่าแปลกที่สุด คือ ผมกับคุณวาด รวี เขียนให้รายละเอียดกันย้าวยาว หลายเรื่องมาก

แต่สุดท้ายถูกสรุป 1 บรรทัด.... "ตรรกะแปลกเหมือนอ่านมติชนสุดฯ" ...หึหึ.. แหม ไม่ค่อยอายเลยนะครับ "คม" จริงๆ

บทวิเคราะห์ ความเห็นอะไรที่ต่างไปจากในใจท่าน (โดยไม่ต้องแสดงเหตุผล) เป็นอันว่า "ตรรกะแปลก" 

ช่อง 3 ตรรกะแปลก เพราะมีคนอย่าง กิตติ สิงหาปัด

มติชนตรรกะแปลก เพราะคงมีคนอย่างเสถียรฯ (แต่ไอ้ตรรกะเหลืองๆ ในมติชนน่ะ ตรรกะปกติดีนะ ...หิหิ)

โลกเรามันเป็นอย่างนี้สินะ เสียเวลาเขียนเสียเวลาพูด จับสรุปยัดปากบรรทัดเดียวจบ ....เป็นวาทะที่ "คมม้ากมาก" (ฮา)

 
Opet
อิอิ อ่านมาทั้งหมดเยอะแยะมากมาย
ใครไม่เห็นด้วย อยากถกเถียง
คงเหนื่อย และเวียนหัวเอาการ

โอ..เป็ด อ่านแล้ว
เห็นว่าท่าเยอะ (จอดบ่อย)
และ "ท่าดี" ครับ
แต่ยังไม่ "คม"
ลักษณ์อย่างนี้เรียกว่า "ทู่" และ "ทื่อ"
ยังไม่โดนจาย "บ่าง" แหะๆ

เอาใหม่ๆ
เอาให้ศิลปินหย่าย ชนชั้นกลวง ? แบบโอ...เป็ด บรรลุเลยนะ

โอ๊ยเหนื่อย เป็นหลายอย่าง  อิอิ

 
อ้าว...ไหงไม่ถกกันต่ออ่ะครับ
ความเห็นที่แล้วโอ...เป็ด ปกปิดความจริงพูดไม่หมด บอกแค่ว่าขี้เกียจพิมพ์
เลยทำให้ดูเหมือนไม่ได้ใช้เหตุผลเข้าสู่ประเด็นตามที่คุณวาด รวี ฯลฯ คาดหวัง
จริงๆ นอกจากขี้เกียจแล้ว ก็คงเรื่องของความด้อยข้อมูลและสติปัญญาด้วยแหละ
อันนี้คุณวาด รวีและคณะคงเห็นได้เองอยู่แล้ว
อิอิ แต่โอ..เป็ดอ้อมแอ้มไม่พูดตรงๆ คงเพราะเขิลลลล
ชักจะพิมพ์ (จิ้มดีด) มากไปแล้ว

ไหนๆ ก็ไหนๆ มีเรื่องสงสัยที่คุณวาด รวี บอกว่า (เน้นสีแดง)

 
การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเดินเกมเพื่อกดดันสองทาง เพื่อสะกดการขอรัฐบาลพระราชทาน

หนึ่ง กดดันฝ่ายอำมาตย์โดยสร้างภาพเปรียบกับครั้งเหตุการณ์พฤษภาฯ

สอง กดดันฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงเดินเกมยื่นฎีกาเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องขอรัฐบาลพระราชทาน ภาพเปรียบที่เกิดขึ้นชัดก็คือ 3 ล้านเสียงเป็นความชอบธรรมที่สูงกว่าฝ่ายตรงข้ามแบบเปรียบกันไม่ได้

อันนี้คือเท่าที่จำได้เลาๆ นะครับ พวกกลยุทธ์ในระดับแทคติกพวกนี้มีเยอะมากและผมจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด แต่มันล้วนเป็นชั้นเชิงในการสู้กันทางการเมืองที่ไม่ได้มีอุดมคติอุดมการณ์อะไรหรอก

ถ้าคุณอยากให้ผมด่าเสื้อแดงมากผมด่าให้เรื่องหนึ่งก็ได้

เรื่องที่งี่เง่าที่สุดเรื่องหนึ่งของพวกสามเกลอก็คือเรื่องตัดต่อเทปอภิสิทธิ์

เป็นทั้งความโง่ และความชั่วร้าย


ประเด็นนี้สำคัญครับ
ถ้าสามเกลอผู้นำมวลชนคนเสื้อแดง "โง่" และ "ชั่วร้าย"
ขนาดที่คุณเองซึ่งถือว่าเป็นแนวร่วมยังต้องประณาม

การไปสนับสนุนกลุ่มเสื้อแดง ที่มีผู้นำมีพฤติการณ์ "โง่" และ "ชั่วร้าย" เช่นนี้
ของปัญญาชน นักคิดนักเขียน ชาวบ้าน (รากหญ้า) ให้เขานำพาต่อ จะสื่อนัยอะไร
และการที่มวลชนคนเสื้อแดงเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ "เชื่อ"
อย่างที่ผู้นำสามเกลอของเขาโน้มนำ หรือชวนให้คิดไปในตรรกะทำนองนั้น

แปลว่าพวกเขาไม่ได้ "โง่" และ "ชั่วร้าย" ตามผู้นำของเขาไปด้วยใช่ไหม
หรืออย่างไร...

ต่อประเด็นอื่นๆ ล่ะ

 
คุณวาด รวี คงไม่คิดถึงขั้นว่า

ความชั่วร้าย (ในทัศนะของคุณ) ต้องบ่งด้วยความชั่วร้าย (ด้วยวิธีการของแกนนำคนเสื้อแดง)

และความชั่วร้ายเหล่านี้มวลชน ปัญญาชน ผู้สนับสนุนยอมหลับหูหลับตาได้ เพราะคิดว่ามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า (วิธีการที่เลวเพื่อเป้าหมายที่ดีเป็นเรื่องเล็กจ้อย)

 
 
wad rawee

ประเด็นสำคัญของคุณ demalnshu มีอยู่ 3 เรื่อง ผมจะว่าทีละเรื่อง

แสดงว่าคุณ วาด รวี ไปจนถึงที่สุดแล้วของความจริงแล้วสินะ ?

อันนี้คุณ demalnshu ตั้งคำถามตอนที่ผมแนะนำให้นักเขียนกวีก่อนจะเลือกควรไปให้ถึงที่สุดของความจริงก่อน

อันที่จริงคำว่า "ความจริง" ที่ผมพูดในบริบทของ rep ดังกล่าวนั้น ผมพูดในความหมายของ "ข้อเท็จจริง" ซึ่งผมก็ได้ยกตัวอย่างประกอบว่ากรณีที่ผมเซ็ง (ฉิบหาย) เลยก็คือ กรณี ปราสาทพระวิหาร แต่ "ความจริง" ที่คุณ demalnshu ตั้งมานี่เป็นความจริงในทางปรัชญา ซึ่งการถกเถียงให้ถึงที่สุดเป็นปัญหาโลกแตก

ผมเห็นด้วยว่า ความจริง ในทางปรัชญานั้นเถียงกันไม่จบ แต่ความจริงในความหมายของ "ข้อเท็จจริง" เป็นรายกรณีไปนั้นมีความ "ถึงที่สุด" อย่างแน่นอน เพราะถ้าไม่เป็นดังนั้นแล้ว เราจะมีกระบวนการยุติธรรมไปเพื่ออะไร

3-4 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย เหตุการณ์จำนวนมากมีเอกสารและข้อโต้แย้งให้ศึกษาจน "ถึงที่สุด" ได้โดยไม่ต้องตั้งคำถามทางปรัชญา นักเขียนหรือกวีก่อนจะเลือกหยิบเหตุการณ์ใดมาพูด หรือแสดงทัศนะทางการเมือง อย่างน้อยก็ควรจะ "ถึงที่สุด" ในแง่ของข้อเท็จจริงพื้นฐานให้ได้ก่อน เช่นที่ผมยกตัวอย่างกรณี ปราสาทพระวิหาร ก่อนจะเขียนบทกวีด่าทักษิณ หรือ นพดล เรื่องแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชายูเนสโก นั้น ก็ควรจะเข้าถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ควรจะรู้ในกรณีนี้เสียก่อน ไม่ใช่ฟังแกนนำม็อบไม่กี่คน ปัญญาชนไม่กี่คน ที่ "มั่ว" เรื่องนี้ขึ้นมา แล้วเอาไปใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง

แต่ผมเชื่อว่าวาด รวี ติด "กับดัก" ของตัวเองแค่นั้นเอง

ผมไม่เห็นว่าการไปให้ถึงที่สุดในความจริงหรือข้อเท็จจริงพื้นฐานของแต่ละกรณีจะเป็น "กับดัก" ไปได้อย่างไร จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการที่เราควรจะพูดในสิ่งที่เรารู้ และงดเว้นการพูดในสิ่งที่เรายังไม่รู้จริงมากกว่า

"กับดัก" นั้นมีอยู่จริงในวิธีคิดของแวดวงปัญญาชน แต่ผมเห็นว่าเป็นกับดักในเรื่อง "จริยวิบัติ" เสียมากกว่า เรื่องปัญหา "จริยวิบัติ" ของปัญญาชนผมได้อภิปรายไปบ้างแล้ว ตรงนี้จะขอขยายความเพิ่มก็คือ

จริงๆ แล้วอุปสรรคที่ขัดขวางปัญญาชนนักคิด และรวมถึงนักเขียนและกวีเหล่านี้ในการเข้ามาถือข้างความถูกต้องและประณามความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ก็คือคำว่า "ระบอบทักษิณ" เพราะพวกเขาเกรงว่าการทำเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการไปสนับสนุนระบอบทักษิณที่เขาประณาม

ในแวดวงวรรณกรรมเองก็มีคุณธรรมหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้เกิดวงจรจริยวิบัติดังที่ผมได้อภิปรายไปแล้ว (ย้อนดู rep เก่า) สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในงานชิ้นใหม่ที่ผมกำลังจะเสนอกับแวดวงวรรณกรรม เป็นสิ่งที่ผมครุ่นคิดมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งนั้นก็คือคุณธรรมแบบปัจเจกนิยมที่กล่าวว่า "อย่าเทศนาในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ"

ประเด็นนี้ต้องใช้พื้นที่พอสมควร ซึ่งผมจะรอจังหวะใหม่ในการอภิปรายข้างหน้า แต่ตอนนี้ขอเอาเรื่องเดิมให้จบก่อน

ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างปรกติแล้ว ปัญญาชน นักเขียน กวี ไม่ควรจะลังเลในการประณามรัฐประหาร และความไม่ยุติธรรมในอีกหลายเรื่องที่ตามมา แต่ความไม่ปรกติก็คือ วงจรของจริยวิบัติได้ทำหน้าที่สะกัดกั้นพวกเขาไว้จากการทำสิ่งเหล่านั้นเพียงเพราะคำว่า "ระบอบทักษิณ" พวกเขาเกรงว่าการเข้าไปต่อต้านการรัฐประหารและความไม่ยุติธรรมจะทำลายอุดมคติของการโค่นล้มระบอบทักษิณ และทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ "เทศนาในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ" ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะ...

หนึ่ง การไม่สนับสนุนความถูกต้องในกรณีรัฐประหารและความไม่ยุติธรรม (ดังที่ผมยกตัวอย่าง 9 ข้อ)  เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปสนับสนุนระบอบทักษิณนั้น แท้จริงแล้วเป็นการทำลายหลักการดั้งเดิมของพวกเขาที่มีมาก่อนเกิดระบอบทักษิณ เหตุที่พวกเขาคัดค้านระบอบทักษิณตั้งแต่แรกนั้น ก็เพราะพวกเขาต้องการยืนอยู่ข้าง "ความถูกต้อง" ดังนั้น "การยืนอยู่ข้างความถูกต้อง" จึงเป็นหลักการดั้งเดิมที่ทำให้พวกเขาต่อต้านระบอบทักษิณซึ่งเป็นจุดยืนที่แท้ของตนเอง จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พวกเขาจะ "ไม่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง" เพียงเพราะเกรงว่าจะเป็นการไปสนับสนุนระบอบทักษิณ

สอง การตกอยู่ภายใต้วรจรของจริยวิบัตินั้น แท้แล้วก็คือการ "ติดกับดัก" ตัวเองของพวกเขาที่หมกมุ่นอยู่กับคำว่า "ระบอบทักษิณ" ซึ่งเป็น มหาอรรถาธิบาย ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง

 
ความเห็นของคุณ Opet นี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของ "กับดักจริยวิบัติ" ที่ผมกล่าว

ประเด็นนี้สำคัญครับ
ถ้าสามเกลอผู้นำมวลชนคนเสื้อแดง "โง่" และ "ชั่วร้าย"
ขนาดที่คุณเองซึ่งถือว่าเป็นแนวร่วมยังต้องประณาม

การไปสนับสนุนกลุ่มเสื้อแดง ที่มีผู้นำมีพฤติการณ์ "โง่" และ "ชั่วร้าย" เช่นนี้
ของปัญญาชน นักคิดนักเขียน ชาวบ้าน (รากหญ้า) ให้เขานำพาต่อ จะสื่อนัยอะไร
และการที่มวลชนคนเสื้อแดงเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ "เชื่อ"
อย่างที่ผู้นำสามเกลอของเขาโน้มนำ หรือชวนให้คิดไปในตรรกะทำนองนั้น

แปลว่าพวกเขาไม่ได้ "โง่" และ "ชั่วร้าย" ตามผู้นำของเขาไปด้วยใช่ไหม
หรืออย่างไร...

ต่อประเด็นอื่นๆ ล่ะ

เพราะจริงๆ แล้ว การเข้าร่วมในขบวนการเรียกร้องทางสังคมการเมืองใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ "คุณเห็นด้วยกับสาระสำคัญ" ของข้อเรียกร้องนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ "คนเรียกร้องคนนั้นเป็นคนดี" หรือเปล่า เพราะ "การเป็นคนดี" นี้ จริงๆ แล้ว "ใคร" จะเป็นคนตัดสิน ผมเป็นใคร คุณเป็นใคร จึงสามารถตัดสินได้อย่าง "ถึงที่สุด" ว่าแท้จริงแล้ว "ใคร" คือคนดี อันนี้เป็นประเด็นของอภิปรัชญาที่มนุษย์ถกเถียงมาเป็นพันปีแล้วไม่สามารถสรุปได้ คนตะวันตกจึงได้ยกให้ปัญหาที่ว่าใครคือคนดีนั้นเป็นปัญหาของ "พระเจ้า" ไม่ใช่มนุษย์ การที่ผมมีความเห็นต่อสามเกลอในประเด็นเทปอภิสิทธิ์ว่า "โง่" และ "ชั่วร้าย" นั้น คือการแสดงความเห็นแย้งพฤติกรรมของพวกเขาในกรณีนั้น แต่ผมไม่สามารถไปตัดสินเขาแทนพระเจ้าได้ว่าพวกเขาคือสิ่งที่ "ชั่วร้าย" ทุกกระเบียดนิ้ว แต่วิธีการของสังคมสมัยใหม่ในการควบคุมความชั่วของคนก็คือ กฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรม ถ้าพวกเขา "ทำชั่ว" ในเรื่องใดกฎหมายก็ต้องจัดการในเรื่องนั้นอย่างยุติธรรม

 
ประเด็นสุดท้าย ระบอบทักษิณ

แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เชื่อในวาทกรรมว่าด้วยความเหมือนคล้ายระหว่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ทักษิณ ชินวัตร ?
แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เลือกข้างยุคสมัยแห่งกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซง แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เชื่อว่าการสังหารผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดโดยไม่ต้องขึ้นศาลเป็นสิ่งที่ถูก

สิ่งที่ demalnshu พูดมาทั้งหมดนี่คือ มหาอรรถาธิบาย เกี่ยวกับระบอบทักษิณที่ปัญญาชน นักเขียน กวีกลุ่มนี้หลงวนติดอยู่

คงไม่มีฝ่ายก้าวหน้าคนไหนที่จะเชื่อว่า ทักษิณ มีจิตใจหรือจิตวิญญาณเหมือนกับ ป๋วย หรือ ปรีดี การเชื่อแบบนั้นไม่มีมูลใดๆ เลย แต่ถ้าจะตั้งข้อสังเกตในเรื่อง "ความเหมือน" ของกรณี ปรีดี ป๋วย และทักษิณ นั้น ก็มีความเหมือนอยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือ ทั้ง ปรีดี ป๋วย และทักษิณ ต้องระเห็จออกไปจากประเทศไทยก็ด้วย "อำนาจ" และ "กระบวนการ" ที่เหมือนกัน

กล่าวคือ ไม่ใช่ว่า ปรีดี ป๋วย และ ทักษิณ มีความคล้ายหรือเหมือนกันในเรื่องความคิดความเชื่อ จิตวิญญาณ หรืออุดมการณ์แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เหมือนคือ "อำนาจกระทำ" หรือ "ศัตรู" หรือ "ผู้กระทำ" นั่นต่างหากที่ "เหมือน" พูดง่ายๆ ว่า "อำนาจ" หรือ "คนที่อยู่เบื้องหลังอำนาจ" และ "ลักษณะการใช้อำนาจ" ที่กระทำต่อกรณีของ ป๋วย และ ต่อกรณีของ ทักษิณ นั้น คือสิ่งเดียวกัน และถ้าหากว่าเราไม่เห็นด้วยกับ "ลักษณะการใช้อำนาจกระทำ" ในกรณีของป๋วยแล้ว เหตุใดเราจึงควรเห็นด้วยกับ "ลักษณะการใช้อำนาจกระทำ" ในกรณีของ ทักษิณ?

แล้วนักเขียนหัวก้าวหน้าแบบไหนกันที่เลือกข้างยุคสมัยแห่งกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซง

ต้องถามกลับว่า "ใคร" แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีซุกหุ้น "ใคร"?

คนกลุ่มนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่กำลังแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในปัจจุบัน

การสังหารผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดโดยไม่ต้องขึ้นศาล

อันนี้เป็น "ข้อกล่าวหา" ต้องผ่าน "กระบวนการพิสูจน์ความผิด" ด้วย ผมถามว่า คมช. ยึดอำนาจทักษิณ และมีอำนาจเต็มในฐานะ "องค์รัฏฐาธิปัตย์" พร้อมกับรัฐบาลสุรยุทธ์ อยู่ถึงปีกว่า ถ้าทักษิณมีความผิดจริง เหตุใดเมื่อผ่านกระบวนการศาล (ที่เต็มไปด้วยความเห็นโต้แย้งมากมาย) แล้ว จึงมีคดีที่ดินรัชดาคดีเดียว?

เวลานี้ผมยังไม่มีคำอธิบายอื่น นอกจากข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับระบอบทักษิณจนถึงวันนี้ เป็นเพียง "มหาอรรถาธิบาย" ที่ยังไม่สามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์ความผิดจนเป็นที่กระจ่างแจ้งว่าเป็นไปตามนั้น

 
Opet
อ่านที่วาด รวี ตอบต่อข้อคำถามของผมแล้ว
เห็นว่าตัวอย่างที่ยกขึ้นเป็นแนวเทียบ (กรณีนักเขียน) ไม่สอดคล้อง ขาดความสมนัย (correspondence)

แท้จริงแล้วประเด็นอันเป็นคำถามของผม ซึ่งดึงมาจากการตอบของคุณวาดฯ เรื่องเทปตัดต่อนั้น

ผมมุ่งถึงเรื่อง "วิธีการ" กับ "เป้าหมาย" ต่างหาก ว่าจำต้องสอดคล้องหรือไม่ อย่างไร ส่วนคำถามทำนองนี้จะตกอยู่ในกับดักทางจริยธรรมหรือไม่ สุดแท้แต่จะคิด ซึ่งผมไม่ขอนั่งลงถกเถียงให้ยืดยาว เพราะยังไงก็ไม่จบแน่...
 
เมื่อคุณวาด รวี บอกเองว่า แกนนำเสื้อแดง "โง่" (และชั่วร้ายด้วย) จะให้เราประเมินชาวบ้าน นักคิด นักวิชาการ กวี ปัญญาชน ที่อยู่ภายใต้การนำของสามแกนนำเสื้อแดงอย่างไร

พวกเขาหลงเชื่อในอะเจนด้าที่แกนนำยกขึ้นมาจริงๆ หรือ แท้จริง "แสร้งโง่" ในบางครั้งเท่านั้น (คุณวาดฯ ไม่เคยขึ้นเวทีและไม่เคยเคลื่อนไหวร่วม จึงเป็น "ตัวแทนที่ดีในการตอบคำถามนี้ไม่ได้-แต่ไม่เป็นไร)

หรือมันเป็นแค่เรื่อง "แท็กติก" เพื่อไปสู่ "เป้าหมาย" ที่ยิ่งใหญ่สุดยอดกว่า หรือว่าอะไรแน่

เมื่อสามเกลอแกนนำคนเสื้อแดง เป็นอย่างที่คุณวาดฯว่า คือมี เชื้อ "โง่" อยู่ขนาดนี้ มวลชนคนเสื้อแดงภายใต้การนำของคนเหล่านี้จะประเมินอย่างมั่นใจได้อย่างไรว่าการนำตั้งแต่ต้น หรือการนำในครั้งไหนเป็นเรื่องที่ "ฉลาด" แล้ว และเป็นเรื่อง "ดีงาม" ไม่ชั่วร้าย กระทั่งสามารถยอมตนอยู่ภายใต้อาณัติ/การนำของแกนนำอย่าง "เชื่องๆ" ได้อีกต่อไป

หรือเราไม่จำต้องสนใจกับอะไรทั้งนั้น

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net