Skip to main content
sharethis

 นปช. ยืนยันชุมนุมต่อจนกว่านายกประกาศวันยุบสภาชัดเจน หวั่น ปชป.ถูกยุบก่อนสภา ตั้ง"ชวน"เป็นนายกฯจะไม่ยอมทำตามข้อตกลง ด้านญาติผู้เสียชีวิตแถลงข่าวสื่อนอกเตรียมฟ้องอาญาทั้งไทยและศาลระหว่างประเทศด้วย

รอคำตอบจากนายกก่อนยุติการชุมนุม

5 พ.ค. 53 - เวลา 18.04น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่า แนวทางของคนเสื้อแดงต่อแนวทางปรองดองถือว่าจบแล้วเราตอบรับเพื่อหลีกเลี่ยง ไม่ให้มีการสูญเสียของเจ้าหน้าที่และประชาชน ยืนยันข้อสรุปนี้ไปจนถึงการยุติการต่อสู้ หมายความว่า ถ้าแผนปรองดองเดินหน้าก็เดินหน้าแต่ถ้าสะดุดหยุดลงเราก็ยืนยันแนวทางสันติ ไม่เปลี่ยนแปลง ท่าทีของเราที่แสดงออกไปเราประสงค์ให้พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความชัดเจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก่อนเราถึงจะศึกษาตามแนวทางของเรา

"อยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นับหนึ่งให้เสร็จก่อนหลังจากมีท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีข้อสรุปในวันที่ 6 พ.ค. ที่จะมีการประชุมพรรค เช่นเดียวกับการคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถ้าจบตรงนี้ปุ๊บเราจะเริ่มนับสองแล้วจะมาประชุมแกนนำของเราเพื่อไปร่วมนับ สามกับรัฐบาล หมายความว่า นายกฯคิดการยุบสภาอย่างไรว่ามา เราก็จะคิดหาทางออกตามแนวทางสันติวิธีอย่างไรก็ว่ากันไป นปช.ไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาเฉพาะในสิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอเท่านั้นเช่น เดียวกับนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ต้องมาพิจารณาเฉพาะข้อเสนอของเราเช่นกัน ส่วนจะนำไปสู่ขั้นตอนปฎิบัติอย่างไรคงมีข้อสรุปอีกครั้ง ถ้าจะมองว่ายืดยาวหรือกระชับก็ได้ขึ้นอยู่กับว่านายกฯนับหนึ่งเสร็จเมื่อไห ร" นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อยากขอตั้งข้อสังเกตุว่าเวลานี้สถานการณ์สำคัญของประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ที่ ยุบสภาแต่อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะคนในประชาธิปัตย์เคยมีมติไม่แก้รัฐ ธรรมนูญไปแล้ว แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดองซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย คงต้องรอดูว่าจะมีมติอย่างไร เชื่อว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญจะมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลอีก จึงเป็นตัวอธิบายว่าการนับหนึ่งของประชาธิปัตย์ยังไม่จบ ข้อสังเกตุนี้ไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขของนปช.อย่างไรก็ตามระหว่างที่ขั้นตอน การปรองดองดำเนินการอยู่เรายังไม่มีการกำหนดยุติการชุมนุมเวทีการต่อสู้ยัง มีอยู่ ยังไม่มีการผ่อนคันเร่งไม่มีการเปลียนแปลงเส้นทาง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงการยุติชุมนุมของคนเสื้อแดงว่าจะต้องรอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความชัดเจน รวมถึงรอให้คนในพรรค ปชป. มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อนที่กลุ่มเสื้อแดงจะพิจารณาถึงการยุติชุมนุม

โดยก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าที่ผ่านมานายวีระ มุสิกพงษ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เป็นประธานการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 99 รูป เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญตักบาตร นายวีระ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยยืนยันว่า มีความจงรักภักดี และไม่ได้เป็นขบวนการล้มล้างสถาบันตามที่มีการกล่าวอ้าง

ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศโรดแมป 5 ข้อ โดยระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ นั้น  นายวีระ กล่าวว่า จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับภูมิลำเนาเร็วขึ้น แต่คงต้องรอความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ถึงรายละเอียดของวันยุบสภาอีกครั้ง

"จตุพร" หวั่น ปชป.ถูกยุบก่อนสภา ตั้ง"ชวน"เป็นนายกฯจะไม่ยอมทำตามข้อตกลง

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน กล่าววันที่ 5 พฤษภาคม ถึงท่าทีของคนเสื้อแดง ต่อโรดแมป 5 ข้อตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเสนอเพื่อยุติวิกฤติว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เสนอมานั้นไม่ใช่โรดแมปแต่เป็นเพียง 5 ประเด็นที่จะใช้ในการหารือกัน เพราะยังไม่มีจุดใดเป็นรูปธรรม และยังต้องพูดคุยกันในรายละเอียดอีกมาก แต่หัวข้อเรื่องความปรองดองสมานฉันท์นั้นใครก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ ซึ่งการที่คนเสื้อแดงแบ่งรับแบ่งสู้นั้นเป็นเพราะไม่ต้องการผลีผลามตัดสินใจ พาประชาชนไปถูกหลอกหรือปรารถนาให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอีก โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการกำหนดวันเลือกตั้งที่นายอภิสิทธิ์ เสนอมาว่าจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้นไม่มีความเป็นรูปธรรม เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งนั้นนายอภิสิทธิ์ ไม่สามารถกำหนดเองได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ว่านายกรัฐมนตรีจะต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก่อน กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจุดนี้ไม่สามารถการันตีได้ว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายนจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คนเสื้อแดง จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศวันยุบสภามาให้ชัดเจน

นายจตุพรกล่าวว่า อย่างไรก็การเห็นด้วยกับแนวทางการปรองดองก็ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงเห็น ด้วยกับกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน เพราะเงื่อนไขเรื่องระยะเวลานั้นเรายังไม่ได้พิจารณาจนกว่านายกรัฐมนตรีจะ ประกาศวันยุบสภา ออกมาจากนั้นแกนนำคนเสื้อแดงถึงจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ หากพอที่จะยอมรับได้เราจะนำเข้าสู่กระบวนการเจรจาในรายละเอียดทั้ง 5 ข้ออีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะไม่ต้องการให้มีการบิดพริ้วเหมือนการตั้งคณะกรรมการอิสระ 2 ชุดหลังเหตุการณ์เมษายน 2552 แต่ไม่เกิดผลอะไร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสนอให้แก้ไขรัฐ ธรรมนูญ 6 ประเด็นแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

“หาก นายอภิสิทธิ์ ประกาศวันยุบสภามาแน่นอนแล้วคนเสื้อแดงยอมรับเรื่องเงื่อนเวลาได้ ก็จะไปสู่การเจรจาในรายละเอียดอีกครั้งเพื่อกำหนดให้ชัดเจนลงไปเลยว่า ระหว่างทางก่อนที่จะยุบสภาตามที่ได้ตกลงกันนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นขั้นเป็นตอน ต้องทำอะไรวันไหน เมื่อไร ระหว่างทางจะต้องทำอะไรบ้างให้สำเร็จ โดยจะต้องเป็นการเจรจาแบบเปิดเผย โดยจะต้องประกาศผลการเจรจาต่อสาธารณะ เพื่อเป็นสัตยาบรรณต่อประชาชน และหากใครบิดพริ้วก็ต้องถูกประชาชนลงโทษ โดยระหว่างการเจรจานั้นเราก็ยังจะไม่ยุติการชุมนุม และการชุมนุมจะต้องมีต่อไป ไม่เช่นนั้นการเจรจาก็จะไม่เกิดขึ้น”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. กล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า โรดแมป ทั้ง 5 ข้อของนายกฯไม่ได้เป็นโรดแมปแต่เป็นเพียงข้อเสนอที่ยังไม่มีรายละเอียดเป็น รูปธรรมเพราะมีหลายเรื่องที่ต้องคุยอย่างชัดเจน ประสำคัญ คือ การกำหนดวันยุบสภาฯเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการกำหนดวัน เลือกตั้งเมื่อปี2549เอาไว้ว่ารัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องร่วมมือกันในการกำหนดวันเลือกตั้ง

"นอก จากนี้ มีข้อสงสัยมากมาย เช่น ถ้ามีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ก่อนยุบสภา และถ้าสรรหานายกฯในสภาใหม่ได้นายชวน(นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จะยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีความที่อยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อยากถามว่าจะยุติธรรมหรือไม่เพราะศอฉ.มีส่วนร่วมในการวางแผนทำร้ายประชาชนใน วันที่10 เม.ย.จะให้คนที่มีส่วนทำร้ายประชาชนมาเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้อย่างไร" นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า การกำหนดวันเลือกตั้งมาจากมิติการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ที่ใช้เวลาประมาณ 105 วันตามกฎหมายแต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องซื้อโลงศพที่คนซื้อไม่ได้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ควรให้รัฐบาลเข้ามาทำ พวกเราไม่ต้องการถูกหลอกอีกครั้ง ถ้าจะเอาเรื่องของนักการเมืองเป็นหลักไม่คุ้มค่าต่อการเสียชีวิตของประชาชน โดยเรื่องของนักการเมืองต้องเอาไว้สุดท้าย

"เหมือน เป็นการกดดันให้คนเสื้อแดงยอมจำนน ยิ่งข่มเหงมากเท่าไหรการปรองดองจะไม่เกิดขึ้นเราไม่ยอมให้ถูกกดขี่ให้ยอม จำนน นายอภิสิทธิ์ต้องไปดูว่าต้องการปรองดองจริงหรือไม่ 5 ข้อนี้ยังเป็นนามธรรมต้องคุยให้เกิดขึ้นจริง ความชัดเจนต้องปรึกษากกต.ให้จบแถลงต่อสาธารณะแล้วค่อยมาว่ากันว่า 5 ข้อจะดำเนินการอย่างไร" นายจตุพร กล่าว

ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ 10 เม.ย.เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา

ทั้งนี้เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (5 พ.ค. 53) นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้นำญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะกันของทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อ วันที่ 10 เม.ย. บริเวณแยกคอกวัว มาแถลงข่าวและเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศและเปิดโอกาสให้ซักถามกับญาติผู้ เสียชีวิตโดยตรง

ญาติผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ระบุว่า เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ผู้ชุมนุมไม่ได้ตอบชัด แต่ยอมรับว่าชื่นชอบนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ช่วยเหลือประชาชนภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ และอยากให้รัฐบาลรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการยุบสภาโดยเร็ว และอยากให้การชุมนุมในครั้งนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก และอยากฝากถึงรัฐบาลด้วยว่าไม่ต้องพยายามขอคืนพื้นที่ แค่เพียงรัฐบาลประกาศยุบสภาให้ชัดเจน กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะเดินทางกลับบ้านทันที

สำหรับร่างของผู้เสีย ชีวิตได้ทำพิธีฌาปนกิจไปแล้ว 3 ศพ ที่เหลืออีก 18 ศพ ยังเก็บไว้เพื่ออยู่ในขั้นตอนของการชันสูตรและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

นพ.เหวง กล่าวว่า จะให้ทีมกฎหมายของ นปช.ฟ้องศาลแพ่งและศาลอาญา แจ้งความต่อกองปราบปราม ในวันที่ 10 พ.ค. จับรัฐบาลในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288และจะฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ฯ เตรียมเข้าหารือ นายกรัฐมนตรี  นปช. หวังเป็นตัวกลางช่วยคลายวิกฤติชาติ

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ กล่าวว่า ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ทำหนังสือขอหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 พ.ค. ในช่วงบ่ายที่รัฐสภา เพื่อพูดคุยแนวทางและข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการปรองดองตามโรดแมป 5 ข้อที่นายกฯเสนอ

โดยจะไปรับฟังว่านายกฯตั้งเป้าอะไร มีแนวทางอย่างไรให้บรรลุตามเป้านั้น และตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะมีข้อเสนอแนะให้ ซึ่งนายกฯเคยระบุว่า จะให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มาจากทุกภาคส่วน คณะกรรมการสมานฉันท์ฯก็เห็นด้วย และคิดว่านอกจากจะให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ควรจะมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปร่วมด้วย เพื่อให้เป็นคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และจะหารือว่าก่อนถึงวันเลือกตั้งจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับความสำคัญก่อนและ หลัง

จากนั้นวันที่ 8 พ.ค. จะไปคุยกับแกนนำ นปช.ว่ามีแนวทางอย่างไร เป้าหมายเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันในรายละเอียดให้มากขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งจะได้ไม่มีปัญหา เป็นการเอาความคิดของทั้งสองฝ่ายมาหลอมรวมให้ไปในทางเดียวกัน

ด้าน ข้อเสนอเรื่องการคืนสิทธิ นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิจะหารือด้วยหรือไม่ นายดิเรกกล่าวว่า จะไม่คุยเรื่องนี้แล้ว แต่รัฐบาลและนปช.จะคุยกันเอง แต่ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะทำตามกรอบ 3 กรอบ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเคยมีข้อเสนอไว้เท่านั้น ซึ่งข้อเสนอไม่ว่าจะเป็นกรอบ 1 การปรองดองที่ให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดการใส่ร้าย ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ กรอบ 2 การปฏิรูปใหญ่ทางการเมือง และกรอบ 3 การแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เป็นแนวทางปฏิบัติ ที่นายกฯสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับโรดแมป 5 ข้อที่นายกฯเสนออยู่แล้ว

วิปวุฒิ หนุนโรดแมปสร้างความปรองดองในชาติ ของ นายกรัฐมนตรี อ้าง คนส่วนใหญ่เห็นด้วยมากกว่าคัดค้าน แนะใช้ข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์ประกอบ

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช และกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประกาศแผนโรดแมปเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ ของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องขอให้กำลังใจนายกฯที่ใช้แนวทางประชาธิปไตย คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ถึงแม้จะมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยและต่อต้าน แต่จากผลสำรวจความเห็นของประชาชนกว่า 60% เห็นด้วย มีเพียง 15% เท่านั้นที่คัดค้าน ถึงแม้จะต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย แต่เมื่อไม่เหลือทางเลือกอื่นก็ควรเดินหน้าในแนวทางปรองดองต่อ ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ผลดีที่เกิดทันทีตามแนวทางนี้ คือหยุดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุม ความตึงเครียดของผู้คนลดลง และมีความหวังว่าปัญหาชาติจะสงบขึ้น จึงขอนายกฯว่าอย่าทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง สำหรับแผนโรดแมปทั้ง 5 ข้อ ส.ว.จำนวนมากพร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งการร่วมคิดและร่วมทำในกรอบบทบาทของวุฒิสภา ขอให้นายกฯประสานมายังวิปวุฒิสภาหรือประธานวุฒิสภาได้เลย เพราะท่านก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว

นายสิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่นายกฯสามารถทำได้ทันทีคือ นำผลการศึกษาตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและ ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกิดจากความคิดริเริ่มของนายกฯเอง เอาไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ใน 6 ประเด็น ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 3-4 เดือนก็เสร็จแล้ว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, เว็บไซต์ไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net