ยังไม่ถอนร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย เคลียร์ประเด็นขัดแย้ง

วงเจรจาไม่ถอนร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แต่ตั้งคณะทำงานจาก 3 ฝ่าย "หมอ-คนไข้-สธ." เคลียร์ประเด็นขัดแย้ง ขีดเส้น 2 สัปดาห์ได้คำตอบ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 16.40 น. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพเปิดเวทีเจรจาเพื่อหาทางออก กรณีความคิดเห็นที่ขัดแย้งในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ…ระหว่างแพทยสภา สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ฯลฯ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟัง 
 
ทั้งนี้ สธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายคัดค้านมีทั้งแพทยสภา แพทยสมาคม สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. สภาวิชาชีพทั้ง 6 วิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด และสภาเภสัชกรรม ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนที่เข้าร่วมเจรจาเป็นเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยมีนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นประธาน ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
 
เวลา 19.40 น. นพ.ไพจิตร์ แถลงว่า หลังจากเชิญฝ่ายเครือข่ายผู้ป่วย และผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลรักษาพยาบาล ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ 3 ประเด็น เพื่อให้การทำงานตรงกัน คือ 1.ต้องมีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล 2.ต้องให้บุคลากรสาธารณสุขมีหลักประกันในการทำงาน โดยมีมาตรการเพื่อลดการฟ้องร้องเป็นหลัก 3.มีการพัฒนาระบบบริการเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ส่วนกลไกในการดำเนินการนั้น จะมีการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือ 1.เครือข่ายผู้ป่วย 8 คน 2.ผู้ดูแลรักษาพยาบาล 8 คน 3.ฝ่ายรัฐ คือ กระทรวงสาธารณสุข 4 คน ส่วนประธานคณะทำงานนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็น ปลัด สธ. หรือ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข โดยตำแหน่ง กำหนดระยะเวลาหาข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ 
 
"คณะทำงานชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการหาข้อสรุปในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ที่ยังเห็นไม่ตรงกัน ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ จะมีการเสนอชื่อตัวแทนจาก 3 ฝ่ายเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดนี้ไม่มีอำนาจในการถอนหรือไม่ถอนร่าง พ.ร.บ. ส่วนจะเอาข้อสรุปเสนอสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่นั้น ขอหารือรัฐมนตรีสาธารณสุขก่อน แต่โดยหลักการเมื่อได้ข้อสรุปต้องมีการเสนอสภาฯ อยู่แล้ว และอาจเชิญกรรมาธิการ สภาฯ เข้าร่วมรับฟังด้วย" นพ.ไพจิตร์ กล่าว
 
ก่อนหน้านี้ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ 3 ประการ คือ 1.ต้องการให้ประชาชนปลอดภัย 2.ต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์มีหลักประกันในการทำงาน 3.ต้องการให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขได้รับการเยียวยา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงวิธีการเยียวยาว่าจะทำอย่างไร จึงขอให้ตั้งคณะทำงานจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหารือว่าจะต้องแก้ไขในประเด็นใดบ้าง จากนั้นจึงทำประชาพิจารณ์ 
 
ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการประชุมคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้อำนวยการสังกัดโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ผู้บริหารสำนักอนามัย เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายฯ โดยเวลา 19.00 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังประชุม ว่า จะรวบรวมข้อมูลในการประชุม เพื่อทำหนังสือเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี สธ.ในสัปดาห์หน้า โดยจะต้องมีการหารือเพื่อแก้ไขเนื้อหาในรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องกองทุนชดเชยความเสียหายและคณะกรรมการกลาง ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ขณะนี้แพทย์พยาบาลระดับปฐมภูมิ มีความกังวลและไม่กล้ารักษาคนไข้แม้กระทั่งการฉีดยา หรือการจ่ายยา หากปล่อยให้ร่างกฎหมายเดินหน้าโดยไม่มีความชัดเจนในบางเรื่อง กังวลว่าสาธารณสุขไทยจะเป็นอัมพาต 
 
นพ.อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า สาเหตุที่แพทยสภาออกมาแสดงท่าทีต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกทั้งมองว่าคนไข้จะไม่ได้ประโยชน์อะไรก่อนที่จะทำการร่างกฎหมายนั้นประชาชนทราบหรือไม่ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะปัญหาคือเรื่องเงินกองทุนที่จะมาจากคนไข้ที่เข้ามารับบริการในสถานพยาบาล ประชาชนพร้อมที่จะจ่ายเข้าระบบหรือไม่ จึงควรจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนรับรู้และร่วมตัดสินใจ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะต้องใช้ต่อไปในระยะยาว จึงไม่ควรเร่งรีบ
 
"เชื่อว่าแพทย์ที่แต่งดำไม่ได้ใจดำเหมือนที่มีบางกลุ่มกล่าวหา ถ้าไม่เชื่ออยากให้ประชาชนผู้ใช้บริการถามแพทย์ประจำตัวว่าแพทย์ใจดำอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่" นพ.อิทธิพร กล่าว
 
ด้านสภาวิชาชีพ อาทิ ศ.เกียรติคุณวิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า สภาการพยาบาลเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่ปัญหาที่ยังมีข้อกังวลนั้น ต้องช่วยกันทำให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียด เช่น สัดส่วนของคณะกรรมการ ควรต้องมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพื่อวิเคราะห์ความเสียหายของโรค และควรจะมาจากสภาวิชาชีพ ส่วนประเด็นเรื่องที่มาของกองทุน ควรมีความชัดเจนทั้งสัดส่วนการจ่ายเงินเข้ากองทุน เพดานการชดเชยค่าเสียหาย หากสามารถปรับแก้ในส่วนที่เป็นกังวลก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้
 
“ความกังวลที่เกิดขึ้นควรมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ทุกวิชาชีพได้รับทราบโดยทั่วกันว่า ใครจะมีบทบาทหน้าที่อะไร ส่วนของประชาชนก็ต้องมีมาตรการดูแลให้เกิดความพอใจ จะได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการจะได้ไม่เกิดความทุกข์ ทั้งนี้ แนวทางที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้ คือ การขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถทำได้ ที่ผ่านมาเคยมีการใช้งบฯ ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อดูแลประชาชนในทุกกองทุน โดยอาศัยมติคณะกรรมการ และหากใช้การขยายมาตรา 41 ก็มีคณะทำงานในทุกจังหวัดที่จะพิจารณาการชดเชย ถือเป็นทางออกหนึ่งของปัญหา” ศ.เกียรติคุณวิจิตร กล่าว
 
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเดอะเจ้าพระยาปาร์ค นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ว่า มติจากที่ประชุมมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากกระบวนการพิจารณา เพราะมีอีกหลายขั้นตอนที่ทุกฝ่ายยังมีโอกาสที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนในรายละเอียดได้อีกมาก และทุกฝ่ายควรหยุดการกล่าวหาโจมตีกัน เน้นการพูดคุยในสาระของกฎหมาย ให้มีกระบวนการรับฟังและทำความเข้าใจความเห็น ข้อกังวล หาทางออกร่วมกันในการทำให้กฎหมายความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายมากที่สุด 
 
“ที่สำคัญควรมีการสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องยิ่งขึ้น กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ให้คุณกับผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นควรร่วมมือกันผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นทางออกของการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์” นพ.มงคล กล่าว
 
 
วิปรัฐบาล ยังไม่นำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ เข้าสภาในวันพุธนี้ 
 
นายวิทยา แก้วภารดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้ (2 ส.ค.) ได้พิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในวันพุธนี้ (4 ส.ค.) คือ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่าง พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ส่วนร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ท่ามกลางความคิดเห็นที่ขัดแย้งในวงการแพทย์และประชาชน จึงเห็นว่า ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง หากไม่สามารถตกลงกันได้ วิปรัฐบาลพร้อมรับเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมความคิดเห็นและหาข้อยุติต่อไป และที่ประชุม ยังบรรจุวาระการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ในวันที่ 18-19 สิงหาคมนี้ และย้ำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้กฎหมายผ่านการพิจารณาได้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท