Skip to main content
sharethis

23 ธ.ค. 2553 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกคำแถลงว่าด้วยเรื่องการยกเลิกการบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) โดยระบุว่า ครส. ยินดีที่ทางคณะรัฐมนตรียกเลิกการบังคับใช้ พรก. เป็นเหตุให้ศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยุติบทบาทลง

แต่ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลหันมาบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แทนนั้น อาจยังส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่

จากคำแถลงของ ครส. ยังระบุอีกว่า กฏหมาย 3 ฉบับคือ พรบ. ความมั่นคงฯ, พรบ.กฏอัยการศึก และ พรก. ฉุกเฉิน นั้นล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบธรรม และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และกว้างขวาง มิได้นำมาสู่ความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในทางที่ผิดสามารถหลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมได้ อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อหลักการและพันธกรณีตามกติกา-อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  รัฐจึงต้องใช้สติในการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ตามความจำเป็นจริงๆเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

"หนทางที่ดี และเหมาะสมที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับนี้ และเร่งดำเนินเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ  ทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อหลักยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ครส. เสนอ

รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

 


คำแถลง ว่าด้วยการยกเลิกการบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
          คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ยินดีที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ได้มีมติยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ที่มีผลให้ศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยจะมีการนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาบังคับใช้แทน ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลอาจจะประกาศใช้ตามกฎหมายดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหากขาดการกำกับดูแลและการตรวจสอบการใช้อำนาจให้เคร่งครัด โดยต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นสำคัญ
                ก่อน หน้านี้ ครส. และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ได้แนะนำรัฐบาลมาโดยตลอดว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และภาพพจน์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ว่ายังขาดเสถียรภาพทางการเมือง และด้อยพัฒนาในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง จนก่อให้เกิดเหตุรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ครอบคลุมหลายรัฐบาล หลายยุคสมัย นับแต่ก่อนเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
                หลังจากการยกเลิกการใช้ พระราชกำหนดแล้ว รัฐบาลคงจะหันมาใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน ตามที่ได้ประกาศไว้ จึงขอให้รัฐบาลพึงตระหนักว่ากฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับ อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.  2551 และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบธรรม และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และกว้างขวาง มิได้นำมาสู่ความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในทางที่ผิดสามารถหลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมได้ อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อหลักการและพันธกรณีตามกติกา-อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐจึงต้องใช้สติในการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ตามความจำเป็นจริงๆเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น โดยเมื่อประกาศใช้มาตรการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว  ระมัดระวังในการใช้และมีการตรวจสอบการใช้อย่างเคร่งครัด
หนทางที่ดี และเหมาะสมที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายความมั่นคงทั้งสามฉบับนี้ และเร่งดำเนินเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ  ทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อหลักยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และภารกิจของนักสิทธิมนุษยชนคือการมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบยุติธรรมในทุกมิติ ทุกภาคส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ บุคคลากรในสายงานยุติธรรม  ซึ่งถึงที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีบทบาทอย่างยิ่งในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นกฎเกณฑ์หลักของสังคม มิใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกลับกลายมาเป็นผู้ก่อปัญหา และราดน้ำมันเข้าใส่กองไฟเสียเอง 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทย ประชาชนคนไทย จะผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน และยากลำบากนี้ไปได้ในไม่ช้า สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย เป็นทั้งหลักการ วิธีการ และเป้าหมายแห่งการพัฒนาสังคม ที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งมวลในสังคม
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

22 ธันวาคม 2553 กรุงเทพมหานคร
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net