มีอะไรใหม่ในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 

ภายหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 11  เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2011 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าเหงียน ฝู จ็อง (Nguyen Phu Trong) อดีตประธานรัฐสภาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่แทนนายหน่ง ดึ้ก แหม่ง (Nong Duc Manh) ที่อำลาตำแหน่งไปหลังจากดำรงตำแหน่งนี้มาสองสมัย สำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองเวียดนามมาอย่างต่อเนื่องอาจตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัยว่าหลังจากการแต่งตั้งเลขาธิการพรรคฯ คนใหม่ในครั้งนี้มีอะไรใหม่ในการเมืองเวียดนามหรือไม่

มีข้อที่ชวนให้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่ประการหนึ่งภายหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯในครั้งนี้ คือ ในอดีตที่ผ่านมานั้นผู้ที่จะดำรงมักจะเป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกกรรมการกรมการเมือง ( Politburo) ที่มีชื่ออยู่ในลำดับที่หนึ่งและดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฎิบัติมาหลายสมัยที่ชื่อแรกในรายชื่อกรมการเมืองจะเป็นเลขาธิการพรรค ชื่อที่ 2 เป็นประธานรัฐสภา และ ชื่อที่ 3-4 หรือลำดับต่อๆมา เป็นนายกรัฐมนตรี และการจัดการในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าใครเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในการเมืองเวียดนามและใครจะได้ตำแหน่งใดในทางการเมืองของเวียดนามและมักจะไม่เคยมีการผลิกโผ แต่ในคราวนี้มีสิ่งที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย เนื่องจากว่าชื่อของนายเหงียน ฝู จ็อง นั้นกลับอยู่ถึงลำดับ 8 แต่ทำไมถึงได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดและสามารถชี้นำการปกครองของประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีปรากฎเช่นนี้มาก่อน

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายหรือไม่ หรือมีเหตุผลเบื้องหลังการที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในลำดับที่หนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคหรือไม่ คำตอบคือสิ่งนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายและสามารถอธิบายได้ กล่าวคือ เนื่องจากในการเรียงลำดับรายชื่อสมาชิกในครั้งนี้เป็นการเรียงลำดับตามอาวุโสของสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกกรมการเมือง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าคนที่มีรายชื่ออยู่ในลำดับที่หนึ่งจะต้องเป็นเลขาฯพรรค และหากถามว่าในการแต่งตั้งครั้งนี้เป้นการสร้างความประหลาดใจหรือการผลิกโผหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะว่าเส้นทางที่ผ่านมาของ เหงียน ฝู จ็องนั้นก็ไม่ได้เป็นการก้าวกระโดดแต่อย่างใดเพื่อให้มาถึงตำแหน่งนี้เพราะตำแหน่งสุดท้ายของเขาก็คือประธานรัฐสภา เช่นเดียวกัน หน่ง ดึ๊ก แหม่ง เลขาฯ ก่อนหน้าที่ก้าวมาจากตำแหน่งประธานรัฐสภาเช่นกัน ( ดูประวัติ เหงียน ฝู จ็อง เพิ่มเติมด้านล่าง) ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่ได้มีสมาชิกกรมการเมืองคนใดที่จะโดดเด่นมากว่าใครที่จะทำให้การแต่งตั้งครั้งพลิกโผได้ จึงเป็นการแต่งตั้งตามที่ได้วางตัวเอาไว้แล้วตามปกติ

กระนั้น ถามว่าเมื่อการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลำดับรายชื่อเหมือนที่ผ่านนั้นจะสะท้อนอะไรที่ใหม่ๆ ในการเมืองเวียดนามบ้างหรือ ก็ตอบไว้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเมืองเวียดนามอยู่บ้างเล็กน้อย แหล่งข่าวสายการเมืองจากเวียดนามอธิบายว่า เป็นเพราะว่าเวียดนามนั้นได้หันมาให้ความสำคัญกับการให้อำนาจตัดสินใจร่วมกัน ( collective decision) แทนที่จะผูกขาดการชี้นำและอำนาจตัดสินใจภายใต้เลขาธิการพรรคแต่เพียงผู้เดียว เป็นสิ่งชาวเวียดนามเรียกว่า “มีความเป็นประชาธิปไตย” มากขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก้คือเลขาธิการพรรคฯอาจไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการชี้นำประเทศอีกต่อไป

“ปัจจุบัน นี้เราจะให้ความสำคัญกับการตัดสินใจร่วมมากกว่าการชี้นำของเลขาฯพรรคแต่เพียงผู้เดียวและถ้าหากพูดถึงว่าใครเป็นผู้ทรงอิทิพลมากกว่ากันในขณะนี้เชื่อว่าทุกคนก็คงจะให้ความสำคัญกับตัวนายกรัฐมนตรีมากกว่า” ผู้สื่อข่าวจากฮานอยคนหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังที่เวียดนามเปิดประเทศและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้น นายกรัฐมนตรีซึ่งมีประสบการณ์และมีความชำนาญในเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าจึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งกลายบุคคลผุ้มีอิทิพลสูงสุดซึ่งอาจมีมากกว่าเลขาธิการพรรคที่เคยมาตั้งแต่อดีต ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เห็นว่า นายเหงียน เติ๋น หยุง ( Nguyen Tan Dung) จะได้รับการคัดเลือกให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกกรมการเมืองอีกสมัย เพราะนั่นหมายความว่าจะเป็นการยืนยันได้ค่อนข้างไม่ยากว่า เขาจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งในการเปิดประชุมสภาในสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ อีกทั้ง เลขาธิการพรรคคนใหม่เหงียน ฝู จ็อง ในวันที่ได้รับการแต่งตั้งในการประชุมสมัชชาพพรคฯที่ผ่านมาว่า “การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะถือเป็นภารกิจสำคัญลำดับแรกของคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งในการบริหารประเทศ นั่นคือการถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารประเทศที่มาจากภาคเหนือและภาคใต้ ดังนั้น ในการเลือกเหงียน ฝู จ็อง เลขาธิการพรรคนั้นมาจากทางภาคแล้ว แน่นอนว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย่อมย้องมาจากภาคใต้อย่างแน่นอน ดังนั้นนี่ก็เป็นอีกหนึ่งการยืนยันว่า หากไม่มีเหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้น (ซึ่งก็เป็นได้ยากมาก) นายเหงียน เติ๋น หยุง ก็ย่อมรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยต่อหนึ่งแน่นอน

 

รายชื่อคณะกรรมการกรมการเมือง:
       
       1. นายเจือง เติ๋น ซาง (Trương Tấn Sang)
       2. พล.อ.ฝุ่ง กวาง แทง (Phùng Quang Thanh)
       3. นายเหวียน เติ๋น หยุง (Nguyễn Tấn Dũng)
       4. นายเหวียน ซีง หุ่ง (Nguyễn Sinh Hùng)
       5. พล.อ.เล ฮง แองห์ (Lê Hồng Anh)
       6. นายเล แทงห์ หาย (Lê Thanh Hải)
       7. นายโต ฮุย เหรือ (Tô Huy Rứa)
       8. นายเหวียน ฝู จ็อง (Nguyễn Phú Trọng)
       9. นายฟัม กวาง หงิ (Phạm Quang Nghị)
       10. พล.ท.อาวุโสเจิ่น ดาย กวาง (Trần Đại Quang)
       11. นางต่อง ถิ ฝอง (Tòng Thị Phóng)
       12. นายโง วัน ยู (Ngô Văn Dụ)
       13. นายดี่ง เถ ฮวิงห์ (Đinh Thế Huynh)
       14. นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc)

 
 

เหงียน ฝู จ็อง

จ็อง ปัจจุบัน อายุ 67 ปี ( เกิดเมื่อ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1944) เป็นชาวฮานอยโดยกำเนิด การศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์ ปริญญาโททางด้านวรรณคดีและนิรุกติศาสตร์ และประกาศนียบัตรทฤษฎีการเมืองชั้นสูง เขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคใน วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1968 จองเริ่มไต้เต้าตำแหน่งทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เมื่อดำรงตำแหน่งบรรณาธิกรณ์ (sub-editor) นิตยสาร คอมมิวนิสต์รีวิว ระหว่างปี 1967-1973 ในเวลาเดียวกันเขาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำนิตยสารแห่งนั้นด้วย

เขาได้รับปริญญาเอกจากสถาบันสังคมศาสตร์ สหภาพโซเวียตในปี 1983 ก่อนที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้ากรมสร้างพรรคประจำนิตยสารคอมมิวนิสต์รีวิวและขึ้นเป็นหัวหน้ากรม ระหว่างปี 1987-1989 ระหว่างนั้นก็เป็นรองเลขาธิการและเป็นเลขาธิการของคณะกรรมาธิการพรรคประจำนิยตสารดังกล่าวในเวลาต่อมา  ระหว่างปี 1989-1990 ได้เป็นคณะกรรมาธิการพรรคประจำนิตยสารคอมมิวนิสต์รีวิว ปี 1990-1991 เป็นรองบรรณาธิการใหญ่นิตยสาร คอมมิวนิสต์ รีวิว และขึ้นเป็นบรรณาธิการใหญ่ในปี 1991-1996

เขาได้เข้าเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งแรกในสมัชชาพรรคสมัยที่ 7 (ปี 1994) ระหว่างปี 1996-1998 เป็นรองเลขาธิการพรรคฮานอย เขาได้เข้าเป็นสมาชิกกรมการเมืองในสมัชชาพรรคสมัยที่ 8 ( ปี 1997) ต่อมาปี 1998-2000 ได้ดูแลงานทางด้านอุดมการณ์ วัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ของพรรค ปี 1998-2001 ได้เป็นรองประธานสภาอุดมการณ์ของพรรค ปี 2001-2006 ได้ขึ้นเป็นประธานของสภาดังกล่าว คุมงานทางด้านทฤษฎีของพรรค 2001-2006 เป็นเลขาธิการพรรคฮานอย ปี 2002 เป็นรองประธานรัฐสภา และเป็นประธานรัฐสภาในปี 2006 จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรค

 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท