Skip to main content
sharethis

เมื่อสมาคมกรีฑาโลก (World Athletics) จะจ่ายเงินรางวัลให้กับแชมป์โอลิมปิกในกีฬากรีฑา แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และสหพันธ์กีฬาอื่น ๆ กลับมองว่าเป็นการบ่อนทำลาย 'คุณค่าของโอลิมปิก' ในขณะที่สหภาพแรงงานนักกีฬาโลก (UNI World Players) เรียกร้องให้นักกีฬาโอลิมปิกทุกคนได้รับเงินรางวัลเท่าเทียมกัน จากรายได้พันล้านดอลลาร์ฯ ของ IOC


ที่มาภาพ: Eyesplash (CC BY-NC-ND 2.0)

เว็บไซต์ Play the Game โดยสถาบันศึกษากีฬาแห่งเดนมาร์ก (Idan) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย ความโปร่งใส และเสรีภาพการแสดงออก ในวงการกีฬาโลก ได้เผยแพร่รายงานพิเศษ Money for medals divides the Olympic movement โดย Lars Jørgensen เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2024 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ...

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเริ่มขึ้นในปี 1896 โดยชนชั้นสูง พวกเขามุ่งหวังเฉลิมฉลองอุดมคตินักกีฬาโอลิมปิกที่ไม่แข่งขันเพื่อเงินตรา แต่เพื่อความรักในกีฬาล้วน ๆ

อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย. 2024 รูปแบบธุรกิจนี้ ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากภายในเมื่อสมาคมกรีฑาโลก (World Athletics) ตัดสินใจที่จะให้รางวัลแชมป์โอลิมปิกทุกคนในกีฬากรีฑาในโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ด้วยเงินรางวัล 50,000 ดอลลาร์ฯ

โดยอิงจากรายได้การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สมาคมกรีฑาโลกได้จัดสรรเงินรางวัลรวมจำนวน 2.4 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อมอบให้แก่ผู้ได้รับเหรียญทอง 48 คน ในกีฬากรีฑา และสัญญาว่าจะมีเงินรางวัลสำหรับผู้ได้รับเหรียญในกีฬากรีฑาทุกคน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสในปี 2028 อีกด้วย

"การมอบเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะเหรียญทองโอลิมปิก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับสมาคมกรีฑาโลกและกีฬากรีฑาโดยรวม มันเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นักกีฬา และการยอมรับบทบาทสำคัญที่พวกเขามี ในความสำเร็จของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก" เซบาสเตียน โค (Sebastian Coe) ประธานสมาคมกรีฑาโลกกล่าวในแถลงการณ์ เมื่อมีการประกาศการตัดสินใจที่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์นี้

โคเป็นอดีตนักวิ่งระยะกลางชาวอังกฤษที่ได้ 2 เหรียญทองวิ่งระยะทาง 1500 เมตร และ 2 เหรียญเงินวิ่งระยะทาง 800 เมตร จากกีฬาโอลิมปิกที่มอสโคปี 1980 และที่ลอสแอนเจลิสปี 1984 เขาเคยเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน และในปี 2020 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ IOC และได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ารับตำแหน่งประธาน IOC ต่อจากโทมัส บาค (Thomas Bach)

"แม้จะไม่สามารถประเมินมูลค่าทางการตลาดของการได้รับเหรียญโอลิมปิก หรือความมุ่งมั่นตั้งใจที่ต้องใช้ในการเป็นตัวแทนประเทศของตน แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง และทำให้แน่ใจว่าเงินรายได้บางส่วนต้องถูกคืนให้แก่นักกีฬา ผู้ที่ทำให้การแข่งขันรายการนี้ยิ่งใหญ่ระดับโลก" โค กล่าว

IOC: "เงินรางวัลไม่ควรมาจากองค์กรกีฬาระดับนานาชาติ"

แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโอลิมปิก ไม่ได้ยินดีกับการตัดสินใจของสมาคมกรีฑาโลก

ในตอนแรก IOC ซึ่งมีรายได้ 7.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ระหว่างปี 2017-2021 แสดงความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของสมาคมกรีฑาโลก โดยกล่าวว่า IOC จะแจกจ่ายรายได้ 90% ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (NOCs) และสหพันธ์กีฬานานาชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะตัดสินใจว่าจะใช้เงินอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว AFP ประธาน IOC โทมัส บาค กล่าวว่า "สหพันธ์กีฬานานาชาติต้องปฏิบัติต่อสหพันธ์สมาชิกและนักกีฬาของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกัน และพยายามลดช่องว่างนี้ระหว่างผู้ที่มีสิทธิพิเศษและผู้ที่ด้อยกว่า หรือไม่มีสิทธิพิเศษ"

ประธาน IOC ยังเสริมว่าคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาติมีอิสระที่จะกระตุ้นนักกีฬาของพวกเขาด้วยเงินรางวัล บาคระบุว่าเขาเองก็ได้รับเงินจากคณะกรรมการโอลิมปิกเยอรมัน ตอนที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันฟันดาบโอลิมปิกปี 1976 ที่มอนทรีออล

"แต่ละเสาหลักของกีฬาโอลิมปิก มีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจนว่า อะไรคือความรับผิดชอบของสหพันธ์กีฬานานาชาติ และอะไรคือความรับผิดชอบของคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติ" บาค กล่าวในการวิจารณ์สมาคมกรีฑาโลก โดยความคิดเห็นนี้สอดคล้องกับสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติโอลิมปิกฤดูร้อน (ASOIF)

ASOIF: "การกระทำนี้ไม่ให้ความสำคัญกับนักกีฬาคนอื่น ๆ "

ASOIF ก็วิพากษ์วิจารณ์การมอบเงินรางวัลของสมาคมกรีฑาโลกเช่นกัน

"สมาชิก ASOIF ได้แสดงความกังวลหลายประการเกี่ยวกับการประกาศของสมาคมกรีฑาโลก ประการแรก สำหรับหลายคน การกระทำนี้บ่อนทำลายคุณค่าของการเป็นนักกีฬาโอลิมปิก และเอกลักษณ์ของการแข่งขัน ไม่สามารถและไม่ควรกำหนดมูลค่าให้กับเหรียญทองโอลิมปิกได้ ในหลายกรณี ผู้ได้รับเหรียญโอลิมปิกได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากสปอนเซอร์อยู่แล้ว การกระทำนี้ไม่ให้ความสำคัญกับนักกีฬาซึ่งอยู่ลำดับต่ำกว่าในตารางสรุปผลการแข่งขัน" ASOIF กล่าวในแถลงการณ์

"ประการที่สอง ไม่ใช่กีฬาทุกประเภทสามารถหรือควรเลียนแบบการกระทำนี้ แม้ว่าพวกเขาต้องการก็ตาม การจ่ายเงินรางวัลในสภาพแวดล้อมของกีฬาหลายประเภท ขัดกับหลักการของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เสริมสร้างชุดคุณค่าที่แตกต่างกันในแต่ละกีฬา และจะทำให้เกิดคำถามหลายประการขึ้นมา"

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ประธาน IOC และ ASOIF สหพันธ์กีฬาบางแห่ง เช่น สหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) สหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ (FIG) และสมาคมพายเรือนานาชาติ ที่วิจารณ์สมาคมกรีฑาโลกในการตัดสินใจครั้งนี้โดยไม่หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกีฬาโอลิมปิกองค์กรอื่น ๆ

คณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติบางแห่งก็ไม่พอใจเช่นกัน ในการสัมภาษณ์กับ Sky Sports แอนดี้ แอนสัน (Andy Anson) ประธานโอลิมปิกสากลแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวเกี่ยวกับสมาคมกรีฑาโลกว่า “พวกเขาสร้างปัญหา เพราะตอนนี้กีฬาประเภทอื่น ๆ ต้องหันมาพิจารณาแนวทางนี้ หรือแม้กระทั่งแรงกดดันจากนักกีฬาที่กล่าวว่า 'แล้วกีฬาของเราเป็นอย่างไร ทำไมกีฬานี้ทำได้แต่เราทำไม่ได้?' มันเป็นการอภิปรายที่เราสามารถมีได้ แต่เราต้องมีมันในเวลาที่เหมาะสม และสถานที่ที่เหมาะสม”

สหภาพแรงงานนักกีฬาโลก: "IOC ล้มเหลวในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับนักกีฬา"

การตัดสินใจของสมาคมกรีฑาโลกยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักกีฬาว่า "ยังคงไม่เพียงพอ" เนื่องจากนักกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่จะยังไม่ได้รับเงินตอบแทนใด ๆ สำหรับการทำงานหนักของพวกเขา

“การตัดสินใจของสมาคมกรีฑาโลกในการมอบเงินรางวัลให้กับผู้ชนะเหรียญทองโอลิมปิกในกีฬากรีฑานั้นล่าช้ามาก แต่เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ก้าวหนึ่ง” แมทธิว เกรแฮม (Matthew Graham) ผู้บริหารสหภาพแรงงานนักกีฬาโลก (UNI World Players) กล่าวกับ Play the Game

“นักกีฬาเป็นทั้งแรงงานและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของการแข่งขันกีฬา ดังนั้นนักกีฬาทุกคนที่แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกไม่ว่าจะเป็นกรีฑาหรือกีฬาประเภทอื่น ๆ ควรมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันและส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม”

สำหรับเกรแฮม ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันหมายถึงการจ่ายเงินที่ยุติธรรมสำหรับนักกีฬาทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะนักกีฬาชั้นนำที่ชนะเหรียญทองเท่านั้น

“นักกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่เสียสละตนเป็นอย่างมากมาย พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหลายงานเพื่อไล่ตามความฝัน พวกเขาควรได้รับเกียรติและความเคารพ” เกรแฮม กล่าว

เขาเสริมว่าจากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์โดย UNI World Players ในปี 2022 แสดงให้เห็นว่าองค์กรกีฬานานาชาติทั่วโลกยังล้าหลังในเรื่องการแบ่งปันรายได้กับนักกีฬา โดย IOC เป็นองค์กรที่แย่ที่สุด

“แม้จะสร้างรายได้มากมายและมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก IOC ไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับนักกีฬา แต่ยังจำกัดศักยภาพการหารายได้ของนักกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกผ่านกฎข้อ 40 และข้อจำกัดอื่น ๆ ” เกรแฮมกล่าว โดยอ้างถึงกฎข้อ 40 ของกฎบัตรโอลิมปิกที่ IOC ใช้ในการควบคุมกิจกรรมทางธุรกิจของนักกีฬาโอลิมปิก

“IOC ตามหลังวงการกีฬาอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เช่น ฟุตบอล รักบี้ คริกเก็ต ฮอกกี้” เกรแฮมกล่าวเสริมว่าองค์กรกีฬาทั่วโลกควรเร่งปฏิรูปโมเดลธุรกิจที่ล้าสมัยและยอมรับโมเดลที่อิงตามการเป็นหุ้นส่วนกับนักกีฬา

“สิ่งนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามัน วิน-วิน ในการแข่งขันอื่น ๆ ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาวงการกีฬา และเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองให้กับผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุด นั่นคือนักกีฬาเอง”

EU Athletes: แถลงการณ์ของ ASOIF น่าผิดหวัง

พอลินา ทอมซิก (Paulina Tomczyk) เลขาธิการทั่วไปของ EU Athletes ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนนักกีฬาในยุโรป ระบุว่าสำหรับเธอ การมอบเงินรางวัลของสมาคมกรีฑาโลกไม่ใช่เรื่องลบ แต่เธอเชื่อว่าในกีฬาหลายประเภท นักกีฬาทุกคนควรได้รับเงินตอบแทนเท่าเทียมกัน

"แถลงการณ์ของ ASOIF น่าผิดหวัง มันดูเหมือนว่าพวกเขากำลังมีแนวคิดว่านักกีฬาไม่ควรได้ค่าตอบแทน ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครควรได้รับเงิน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมายความว่าทุกคนควรได้รับเงินและมีสภาพการทำงานที่ดี" ทอมซิก กล่าวในสัมภาษณ์กับ Play the Game

EU Athletes ต้องการให้นักกีฬาทุกคนมีสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกับพลเมืองอื่น ๆ ทุกครั้งที่กีฬาเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นักกีฬาต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นแรงงาน และสิทธิแรงงานของพวกเขาต้องได้รับการปกป้องและได้รับความเคารพ EU Athletes ยังกล่าวด้วยว่ามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานต้องได้รับการคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

แต่ตามรายงานของ EU Athletes พบว่าองค์กรกีฬา ลีกกีฬา และกฎหมายระดับชาติบางฉบับกลับทำให้นักกีฬาเสียสิทธิในฐานะคนทำงานด้วยการจัดประเภทพวกเขาเป็น 'นักกีฬาสมัครเล่น' แม้ในกรณีที่พวกเขามีรายได้มากก็ตาม

"นักกีฬาเหล่านี้มักไม่มีสัญญาจ้างงานพื้นฐานและถูกกีดกันจากระบบประกันสังคม ไม่ต้องพูดถึงการคุ้มครองการจ้างงานหรือระเบียบข้อบังคับจากการเจรจาต่อรอง" รายงานระบุ

ทอมซิกเสริมว่าในความเห็นของเธอ การกำหนดคำว่า 'นักกีฬาอาชีพ' ส่วนใหญ่เป็นไปตามความเห็นส่วนตัว "นักกีฬาที่ดีที่สุดในโลกทั้งหมดเป็นนักกีฬาอาชีพ กีฬาเป็นชีวิตของพวกเขา เป็นงานของพวกเขา แต่ IOC และสหพันธ์กีฬานานาชาติไม่ค่อยสนใจ ที่จะมีการเจรจาต่อรองกับสมาคมนักกีฬา เกี่ยวกับค่าตอบแทนและการรับรองสภาพการทำงานของพวกเขา"

เลขาธิการทั่วไปของ EU Athletes ยอมรับว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้นักกีฬาโอลิมปิกทั้งหมดเป็นเรื่องซับซ้อน แต่เธอสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬาทั้งหมดช่วยกันหาทางแก้ปัญหานี้ เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนและสภาพการทำงานที่เหมาะสมสำหรับนักกีฬาทุกคน จะช่วยลดความเสี่ยงที่นักกีฬาจะเข้าไปพัวพันกับการล็อกผลการแข่งขันและการใช้สารกระตุ้น

เมื่อถูกถามว่าทำไมการจ่ายค่าตอบแทนให้นักกีฬาโอลิมปิกจึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน หลังจากที่นักเทนนิสระดับอาชีพได้รับอนุญาตให้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่โซลมาถึง 36 ปี และหลังจาก 'ดรีมทีม' ซึ่งเป็นทีมบาสเก็ตที่มีผู้เล่นระดับอาชีพของสหรัฐฯ ได้รับเหรียญทองในเกมที่บาร์เซโลนามา 32 ปี ทอมซิกตอบว่า "ประการแรก กีฬาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักกีฬา พวกเขายินดีสละหลายสิ่ง ทั้งแรงกายและด้านการเงินเพื่อเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก เงินเป็นเรื่องรองสำหรับพวกเขา นักกีฬามีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น และมีความหลงใหลในกีฬาอย่างมาก น่าเสียดายที่ IOC หาผลประโยชน์จากสิ่งนี้" ทอมซิก กล่าว

"ประการที่สอง นักกีฬามีช่วงอาชีพที่สั้น ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเอาอาชีพเข้าไปเสี่ยงด้วยการเรียกร้องค่าจ้างและสภาพการทำงานที่เหมาะสม พวกเขากลัวว่าจะไม่ได้รับเลือกเข้าทีมชาติหรือสูญเสียการสนับสนุน ซึ่งน่าเสียดายที่สิ่งนี้เกิดขึ้น"

Athleten Deutschland: แรงงานจากนักกีฬาสร้างรายได้นับพันล้านให้กับวงการกีฬา

การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานนักกีฬาทั่วโลกเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Athleten Deutschland ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 จากการรวมตัวกันของนักกีฬาในเยอรมนี พวกเขารวมตัวกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานวงการกีฬาของเยอรมนีและนานาชาติ

โยฮันเนส เฮอร์เบอร์ (Johannes Herber) CEO ของ Athleten Deutschland มองว่าการตัดสินใจของสมาคมกรีฑาโลกในการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งของ IOC ให้กับนักกีฬาว่าเป็น "ความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่"

“นักกีฬาและผลงานของพวกเขาเป็นแกนกลางของโมเดลธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ของ IOC นี่ควรเป็นการปลุกให้ IOC และสหพันธ์กีฬาอื่น ๆ ตื่นตัวและเริ่มนำโมเดลการแบ่งรายได้มาใช้ ควรมีการจัดสรรและกระจายเงินเพื่อทำประโยชน์ ไม่เพียงแค่ผู้ได้รับเหรียญรางวัล แต่สำหรับทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก” เฮอร์เบอร์ กล่าวกับ Play the Game

ตามที่เฮอร์เบอร์กล่าว การเคลื่อนไหวของสมาคมกรีฑาโลกเป็นการตอบสนองต่อการเรียกร้องของนักกีฬาที่มีมายาวนาน “เพื่อรับส่วนแบ่งในผลกำไรที่สูงลิ่วจากผลงานของพวกเขา” เขาเสริมว่ารายได้ของ IOC เพิ่มขึ้นและคาดว่าการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสและลอสแองเจลิสจะทำลายสถิติรายได้ก่อนหน้านี้

“แน่นอนว่านักกีฬาควรจะได้รับการแบ่งปันรายได้เหล่านี้โดยตรง ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนสหพันธ์กีฬาและคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติไปด้วย” เฮอร์เบอร์ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า เงินที่สร้างมาโดยน้ำพักน้ำแรงของนักกีฬานั้น ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของพวกเขาโดยเฉพาะหรือไม่”

สำหรับเฮอร์เบอร์ ผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาโอลิมปิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IOC รวมถึงสหพันธ์กีฬาและคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติ ต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเงินขององค์กร

“ต้องเปิดเผยกระบวนการตัดสินใจในการกระจายเงินเหล่านี้ ว่ามีโครงสร้างอย่างไรและนักกีฬามีส่วนต่อการตัดสินใจของพวกเขาอย่างไร เพราะท้ายที่สุดรายได้หลายพันล้านเหล่านี้เกิดมาจากการทำงานของนักกีฬา เราจะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้พวกเขาอย่างยุติธรรม หรือให้พวกเขามีส่วนร่วมในความมั่งคั่งที่พวกเขาสร้างขึ้นหรือ” เฮอร์เบอร์ กล่าว

นักกีฬาเย่งก้าวกระโดด: บางวงการกีฬายังคงยึดมั่นในอุดมการณ์โอลิมปิกแบบสมัครเล่น

การประกาศจ่ายเงินรางวัลของสมาคมกรีฑาโลกได้รับการชื่นชมจากนักกีฬากรีฑาชื่อดังของสหรัฐฯ เช่น ทารา เดวิส-วูดฮอลล์ (Tara Davis-Woodhall), เคนนี เบดนาเร็ก (Kenny Bednarek) และไรอัน เคราเซอร์ (Ryan Crouser) รวมถึงซาราห์ เฮิร์ชแลนด์ (Sarah Hirshland) CEO ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USOPC)

"ทุกครั้งที่เราสามารถใส่ทรัพยากรในมือนักกีฬาได้ เราทุกคนควรเฉลิมฉลอง เราต้องการทรัพยากรมากขึ้นเพื่อให้นักกีฬามีทั้งความสามารถในการดำรงชีวิต จากมุมมองของการใช้ชีวิตประจำวัน และยังสามารถลงทุนในการฝึกซ้อมของพวกเขาต่อไปได้" เฮิร์ชแลนด์ กล่าวกับสำนักข่าว Reuters

“ผมรู้จักนักกีฬาที่ได้รับเหรียญในการแข่งขันชิงแชมป์โลก แต่ยังต้องทำงาน 2 แห่งและอาศัยอยู่กับรูมเมท นี่เป็นความเข้าใจผิด ที่ว่าถ้าคุณได้ไปโอลิมปิก แสดงว่าคุณมีความมั่นคงทางการเงิน มันไม่เป็นความจริงเลย” เคราเซอร์ แชมป์กีฬายิงปืนในโอลิมปิก 2 ครั้งกล่าว ตามรายงานของ Reuters

นักกีฬากรีฑาโอลิมปิกจากประเทศอื่น ๆ เช่น คาร์สเทน วอร์โฮล์ม (Karsten Warholm) จากนอร์เวย์, อาร์มันด์ ดูปลานทิส (Armand Duplantis) จากสวีเดน และอังเดร เดอ กราส จากแคนาดา (Andre De Grasse) ก็ชื่นชมการเคลื่อนไหวของสมาคมกรีฑาโลกเช่นกัน แม้แต่นักกีฬาบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ก็ยังสนับสนุนแนวคิดนี้

“ในความคิดของผม นี่เป็นทิศทางที่ดีและถูกต้องของการพัฒนา” โทเปียส โคอุกคูลา (Topias Koukkula) นักเขย่งก้าวกระโดดชาวฟินแลนด์และประธานสมาคมนักกีฬาฟินแลนด์กล่าวกับ Play the Game

“กรีฑาเป็นกีฬาที่มีความเป็นสากลและมีการแข่งขันสูงมากในปัจจุบัน ผมคิดว่าการปฏิรูปนี้จะเป็นรูปธรรมของความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก นอกเหนือจากในระดับเชิงสัญลักษณ์”

โคอุกคูลาเสริมว่าในขณะที่เหรียญโอลิมปิกสามารถนำไปสู่รายได้จากการสนับสนุนโดยสปอนเซอร์ และแชมป์โอลิมปิกในบางประเทศได้รับเงินบำนาญ แต่ก็มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเทศต่าง ๆ และนักกีฬาชนิดต่าง ๆ

"ในภาพรวม รางวัลเงินสำหรับนักกรีฑายังคงน้อยเมื่อเทียบกับกีฬาบางประเภท เช่น การชนะรายการแกรนด์สแลมในเทนนิส นอกจากนี้ยังควรสังเกตว่าสมาคมกรีฑาโลกจ่ายรางวัลเงินให้กับ 8 อันดับแรกในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ซึ่งมีศักดิ์ศรีระดับเดียวกับการแข่งขันกรีฑาในโอลิมปิก"

นักเขย่งก้าวกระโดดชาวฟินแลนด์ซึ่งเคยเข้าใกล้แค่การผ่านเข้ารอบชิงแชมป์ยุโรปหลายครั้ง แต่ยังคงห่างไกลจากระดับโอลิมปิกกล่าวว่า อุดมการณ์ของการเป็นนักกีฬาสมัครเล่นซึ่งเป็นรากฐานของโอลิมปิกยังคงแข็งแกร่งในบางวงการกีฬา

"ในขณะที่กีฬากำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงพาณิชย์มากขึ้น โอลิมปิกถูกมองว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายสำหรับอุดมการณ์ 'กีฬาสมัครเล่น' แม้ว่านักกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะเป็นนักกีฬาอาชีพแล้วก็ตาม" โคอุกคูลา กล่าว


ที่มา:
Money for medals divides the Olympic movement (Lars Jørgensen, Play the Game, 14 May 2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net