Skip to main content
sharethis

BIOTHAI เปิดหลักฐานเชื่อมโยง 'ฟาร์มยี่สาร' ศูนย์กลางการระบาด 'ปลาหมอคางดำ' พบเส้นทางการแพร่ระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน ไม่ได้นำเข้าหลายครั้ง


แฟ้มภาพ

Thai PBS  รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารหายนะสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา กรณีปลาหมอคางดำ :การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ชาวประมงพื้นที่สมุทรสงคราม และประธาน สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากบริษัทซีพี ขออนุญาตอย่างถูกต้องมาทดลอง เพาะเลี้ยงที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งได้ร้องเรียนไปทุกที่แต่กฎหมายของไทยเหมือนใยแมงมุม จับได้แต่แมงหวี่แมงวัน แต่เจอพญาอินทรี กระพือปีกทีเดียวแมงมุมกระจาย ยกตัวอย่างเรื่องการจับยึดเรือประมงรายเล็ก แต่รายใหญ่กลับไม่กล้า

"มุมมองส่วนตัวไม่คิดว่าใครผิดใครถูก แต่เชื่อว่าคนที่ผิดคือคนที่ถืออำนาจรัฐ ถ้าไม่มือไม้ไม่อ่อนเซ็นอนุญาต ถ้านโยบายรัฐไม่เอื้อ เอกชนทำร้ายประชาชนไม่ได้"

น.ส.บุญยืน กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากได้คำตอบคือ วิธีการทำลายปลาหมอคางดำเพื่อไม่ให้ระบาด ไม่ใช่แค่จับมาทำอาหาร ทำอาหารสัตว์แต่เมื่อฉีดน้ำลงไปก็มีไข่หลุดรอดลงน้ำสาธารณะ และเห็นด้วยกับการปล่อยปลากระพงแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ตอนนี้ปล่อยน้ำ 30,000 ตัวจะเหลือรอดกี่ตัว

ส่วนนายวินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ถือว่า ไทยเผชิญการระบาดของปลาหมอคางดำในระดับรุนแรง เพราะสภาพอากาศเหมาะสม โดยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก. การแพร่กระจายของไข่ อาจไปโดยถูกนกโฉบพา หลุดเองลงแหล่งน้ำ และคนพาไป

ส่วนผลศึกษาของกรมประมง พบว่าปลาหมอคางดำกินดุ กินหมดบ่อได้ใน 3-4 ชั่วโมง จนเกิดความเสียหายมากใน 17 จังหวัด ข้อมูลสัตว์น้ำกุ้งขาวมากที่สุด 72% พบว่ากลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงระบบเปิดเกิดความเสียหายกว่าระบบปิด

การสำรวจปี 2561พบว่าพื้นที่ 48,000-50,000 ไร่ มีปลาหมอคางดำกว่า 1,573,000 ตัว สร้างความเสียหายเกือบ 350 ล้านบาทในพื้นที่ จ.สมุทร สงคราม และเพชรบุรี

เมื่อพบการระบาดรุนแรง เห็นว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ อาจเกิดขึ้นได้ชาติหน้า เพราะตอนนี้ ยังไม่เห็นความชัดเจน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยรัฐเป็นผู้กำหนดแนวทางความเสียหาย รวมถึงต้องติดตามประเมินความเสียหายต่อเนื่อง ปลาหมอคางดำ เป็นตัวสร้างความเสียหายระบบนิเวศใหญ่หลวง

ดร.ชวลิต วิทยานันท์นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กล่าวว่า การนำเข้าวงการปลาสวยงาม เป็นหนึ่งจุดที่เริ่มพบการหลุดรอดของปลาที่ขอนำเข้าแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ต่อมาพบในเขื่อนเขื่อนวชิราลงกรณ์ แม่น้ำแม่กลอง

"กรณีนี้มีการนำทดลองทำให้ลูกปลานิลทนเค็ม เพื่อให้เป็นหมัน ไม่มีมีปลาออกลูก แต่ผิดกับปลานิลจิตรลดาของ กรมประมง เอาไปเพาะเลี้ยงต่อได้"

ด้านนายอัคคพล เสนาณรงค์ อดีต ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม เสนอว่าให้เกษตรกรและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดและได้รับความเสียหายให้รวมกลุ่มเรียกร้องค่าเสียหาย และนำเข้ากระบวนการยุติธรรม และเอกชนที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ควรใจกว้าง จะได้มีโอกาสชี้แจงต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความปร่งใส

"ขึ้นกับว่าใครจะหาหลักฐานมาสนับสนุนให้มากกว่ากัน จริงแค่ไหนที่พบการระบาดปี 2555 ในแถบสมุทรสงคราม และผู้เสียหายต้องฟ้องแพ่งและหาทนายดีในการต่อสู้"

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เสนอว่า สามารถใช้มาตรา 97 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม มาฟ้องร้องค่าเสียหาย จากเอกชนที่เป็นผู้ก่อมลพิษ และเกิดคความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐโดยกรมประมง มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะมีการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่

BIOTHAI เปิดหลักฐานเชื่อมโยง 'ฟาร์มยี่สาร' ศูนย์กลางการระบาด 'ปลาหมอคางดำ'

Thai PBS  ยังรายงานว่านายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดหลักฐานใหม่กรณีปลาหมอคางดำระบาด โดยนำมาเผยแพร่ในเวทีเสวนา

ความสำคัญของหลักฐานใหม่

  • สังคมถูกทำให้เชื่อว่าปลา 2,000 ตัว ตายไปหมดภายใน 16 วัน และถูกฝังกลบไว้ที่ฟาร์มยี่สาร และสร้างตึกทับ
  • สังคมถูกทำให้เชื่อว่าซีพี ส่งตัวอย่างปลา 50 ตัว ให้กรมประมงแล้ว ตั้งแต่ ม.ค.2554 และกรมประมงถูกกดดันตกเป็นเป้าว่า ทำตัวอย่างปลาหาย
  • ไบโอไทย ก็ถูกทำให้เชื่อเช่นนั้น เมื่ออดีตพนักงานของฟาร์มยี่สารเริ่มต้นเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์มยี่สาร เพราะคำถามแรกของเรา คือพวกเขาฝังปลาไว้ที่ไหน?
  • ข้อมูลและภาพทั้งหมดที่ได้รับ ตอบคำถามได้ทั้งหมดว่าทำไมศูนย์กลางการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงมาจากคลองที่ล้อมรอบ และผ่านกลางฟาร์มของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด

ข้อมูลต่อมาทำไมฟาร์มยี่สาร จึงเป็นศูนย์กลางการระบาด

  • ซีพีเอฟเป็นบริษัทเอกชนรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 จากใบขออนุญาต ทั้งหมด 448 รายการ (อนุญาต 381 รายการ /ไม่อนุญาต 60 รายการ /ชะลอนำเข้า 7 รายการ)
  • รายงานของ กสม.ระบุชัดเจนว่า ซีพีละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ
  • เอกสารรายงานของกรมประมง ระบุชัดเจนว่า เริ่มต้นจาก คลองดอนจั่น คลองหลวงคลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในเขต ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง

หมายเหตุ ข้อมูลในประเทศไทย มีรายงานการนำเข้ามาตั้งแต่ ปี 2553 (ชัยวุฒิ สุดทองคง และคณะ,2017) พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ ในคลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ็ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ใน ต.แพรกหนามแดง กับ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ. สมุทรสาคร

และยังเข้าไปแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงปลา บ่อกุ้ง เกือบ 10,000 ไร่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปยังจังหวัดข้างเคียง อ.บ้านเหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่คลอง

ส่วนรายงานการศึกษาการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร โดยพบว่า

  • การระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน
  • ไม่ได้นำเข้ามาหลายครั้ง

ผลการศึกษาช่วยยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ ลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ

"ชี้ให้เห็นว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในมีแหล่งที่มาร่วมกัน"

ในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน และความแตกต่างระหว่างกลุ่ม haplotype อยู่ในระดับการเปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 ลำดับเบสเท่านั้น (ภาพที่ 4) ซึ่งสามารถอธิบายความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรแต่ละจังหวัดไว้ว่า เกิดจากกลไกของจีเนติกดริฟท์ หรือความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากปลาที่นำไปพื้นที่ใหม่มีจำนวนน้อย ขาดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างประชากร มากกว่าเกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net